โรงเรียนบ้านต่างแคน หนองบัวลำภู สร้างอุทยานการเกษตร คน-สัตว์-พืช อยู่ร่วมกัน

โรงเรียนบ้านต่างแคน ตำบลบ้านโคก อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นโรงเรียนที่มีพื้นที่เล็ก หากเทียบกับโรงเรียนอื่นที่ตั้งอยู่ยังต่างจังหวัด ก่อตั้งมายาวนานเข้าสู่ปีที่ 61 แล้ว

ครูบุญทัน มาลี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านต่างแคน

พื้นที่ทั้งหมด 11 ไร่ เกือบครึ่งหนึ่งของพื้นที่ ถูกจัดสรรให้เป็นแปลงเกษตร ในจำนวนนี้รวมพื้นที่บ่อน้ำขนาดใหญ่ไว้ด้วย

ครูบุญทัน มาลี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านต่างแคน เล่าว่า โรงเรียนก่อตั้งมานาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502 พื้นที่ตัวอาคารและพื้นที่แปลงเกษตร ถูกแบ่งไว้เช่นนี้นานมากแล้ว โดยพื้นที่แปลงเกษตรเกือบ 4 ไร่ เป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่เพียง 1 บ่อมาแต่เดิม แต่ยังจัดสรรไม่เป็นสัดส่วน แต่ปัจจุบัน บ่อน้ำขนาดใหญ่ถูกแบ่งด้วยการทำคันบ่อ แบ่งออกเป็น 3 บ่อด้วยกัน เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการทำแปลงเกษตรได้สะดวกมากขึ้น

ครูสว่าง จักรจิตร์ ครูผู้ดูแลกิจกรรมเกษตรของโรงเรียน

โรงเรียนบ้านต่างแคน เป็นโรงเรียนระดับประถมศึกษา มีการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 130 คน ครู 15 คน

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 โรงเรียนเข้าร่วมโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ตามโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เป็น 1 ในอีกหลายโครงการที่เข้าร่วมกิจกรรมในโครงการพระราชดำริ

คุณสุบิน ยอดประทุม ปราชญ์ชาวบ้าน ใช้เวลาว่างเป็นวิทยากรสอนการทำการเกษตรให้กับนักเรียน

“โรงเรียนให้ความสำคัญกับโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เพราะต้องการให้เด็กได้เรียนรู้ครบทุกด้าน ทั้งการปลูกพืช การเลี้ยงสัตว์ และให้เด็กมองเห็นการทำการเกษตรเป็นเรื่องใกล้ตัว สามารถเลี้ยงครอบครัวได้ พวกเราเรียกพื้นที่ทำการเกษตร 5 ไร่นี้ว่า อุทยานการเกษตร”

กิจกรรมเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เน้นให้เด็กนักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง โดย ครูสว่าง จิตรจักร์ ครูผู้ดูแลกิจกรรมเกษตรของโรงเรียน เป็นผู้จัดแบ่งการลงแปลงของเด็กนักเรียนให้สอดคล้องกับเวลาเรียน ตามที่กระทรวงศึกษาธิการได้วางไว้ โดยเน้นกิจกรรมในช่วงชั่วโมงท้ายของการเรียนในแต่ละวัน

คุณชัยรัตน์ ยอดทัพ เกษตรอำเภอสุวรรณคูหา อำนวยความสะดวกในพื้นที่

ในแปลงกิจกรรมการเกษตร ที่เรียกว่า “อุทยานการเกษตร” พื้นที่ 5 ไร่ ที่ระบุไว้ข้างต้น ครูสว่าง อธิบายการจัดสรรพื้นที่ได้ตามนี้

– บ่อ ขนาด 4 ไร่ ทำคันดินกั้นระหว่างบ่อ แล้วลงปลูกพืชบริเวณคันบ่อ เน้นพืชและไม้ผลที่ให้ผลผลิตรับประทานได้ เช่น แค มะพร้าวน้ำหอม มะนาว ชะอม กล้วย เป็นต้น

เด็กหญิงขวัญฤทัย หงษาลึก หรือ น้องแตงโม

– ด้านหน้าทางเข้าอุทยานการเกษตร เป็นพื้นที่ลุ่ม จึงทำนาข้าวเหนียวในฤดูการทำนา เมื่อหมดฤดูทำนา จะปรับพื้นที่ปลูกพืชระยะสั้น เช่น ฟักทอง บวบ แตงกวา ฟัก เป็นต้น

เด็กหญิงณัฎฐากร รักธรรม หรือ น้องภพรัก

– พื้นที่ระหว่างบ่อ ที่ปรับเป็นพื้นที่กว้างขนาดเกือบ 1 ไร่ ลงปลูกพืชผักสวนครัว ทั้งในแปลงปลูกและวงบ่อ อาทิ กะหล่ำปลี ผักบุ้ง ผักชีไทย ผักชีลาว พริก มะนาว หน่อไม้ฝรั่ง และผักตามฤดูกาล

– ไม้ผลหลายชนิด ปลูกกระจายทั่วตามพื้นที่ เช่น ฝรั่ง ละมุด กล้วย มะละกอ มะม่วง แก้วมังกร

เด็กชายธันวา จันทะคิรี หรือ น้องวา

– ในบ่อ เลี้ยงปลานิล ปลาตะเพียน และปลาในกลุ่มปลากินพืช ปลามีการจับเป็นรอบ ขายให้กับสหกรณ์โรงเรียนเพื่อขายต่อให้กับโครงการอาหารกลางวัน ตามปริมาณที่เด็กนักเรียนต้องการ และบางส่วนจับขึ้นมาเพื่อนำไปมอบให้กับชุมชนในการจัดกิจกรรมของชุมชน เช่น งานทอดกฐิน งานทอดผ้าป่า โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย

– โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ แรกเริ่มจำนวน 200 ตัว ปัจจุบัน เหลือเพียง 100 ตัว เก็บไข่ได้วันละ 70-80 ฟอง ส่วนที่ปลดระวางก็จำหน่ายเป็นไก่เนื้อ

เด็กชายภัทรมงคล หงษีลา หรือ น้องโฟกัส

– โรงเรือนเป็ดเทศ เก็บไข่มารับประทาน และจำหน่ายเป็นเป็ดเนื้อออกไป

– หมูป่าพันธุ์หน้ายาว ปัจจุบันมีจำนวน 14 ตัว เลี้ยงเป็นหมูขุน เมื่อน้ำหนักได้ที่ก็นำมาประกอบอาหารหรือจำหน่ายเป็นเนื้อหมู

เด็กหญิงภัควดี จันทร์หล่ม หรือ น้องเกด

กิจกรรมการเกษตรในส่วนที่เป็นการเลี้ยงสัตว์ มีต้นทุนที่สูง ครูบุญทัน บอกว่า หากยังต้องซื้ออาหารเม็ดสำเร็จรูปเลี้ยงสัตว์ ก็อาจจะต้องยกเลิกเลี้ยงสัตว์บางชนิด เพราะโรงเรียนไม่มีต้นทุนดำเนินกิจกรรมต่อ แต่จะพยายามใช้วัตถุดิบภายในแปลงเกษตรช่วยลดต้นทุนเรื่องอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ลง เพื่อให้กิจกรรมดำเนินต่อได้

เมนูจากไก่ที่เลี้ยงไว้

เมื่อถามถึงค่าใช้จ่ายในการซื้อวัตถุดิบเพื่อใช้ประกอบอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านต่างแคน แจงว่า แม้จะมีวัตถุดิบจากในแปลงเกษตรของตนเอง แต่ก็ไม่ได้ลดค่าใช้จ่ายลงมากนัก เนื่องจากการซื้อวัตถุดิบจากสหกรณ์ของโรงเรียนนั้น ยังคงจำหน่ายตามราคาท้องตลาด แต่ปริมาณให้มากกว่าปกติทั่วไป

กองปุ๋ยหมัก

ในแต่ละกิจกรรม จะมีพี่นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เป็นแกนหลักของกลุ่ม กระจายจัดสรรน้องๆ ตามระดับชั้นเข้ากลุ่ม เพื่อให้ทุกกลุ่มมีเด็กนักเรียนครบทุกระดับ แต่กิจกรรมลงแปลงเกษตร จะอนุญาตเฉพาะนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาเท่านั้น ระดับชั้นอนุบาลยังเล็ก เกรงว่าจะเกิดอันตราย จึงงดเว้น แต่ในปีการศึกษา 2563 เป็นต้นไป จะจัดวางกิจกรรมใหม่ เพื่อให้เกิดการหมุนเวียน คือ แบ่งระดับชั้นตามกิจกรรมแต่ละกิจกรรม เพื่อให้ครบกิจกรรมเมื่อจบการศึกษาในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 พอดี

การดำเนินกิจกรรมเดิมของนักเรียนก่อนปรับใหม่ จะมีนักเรียนคละชั้นกลุ่มละ 7-12 คน มีครูประจำกลุ่มทำหน้าที่เป็นครูที่ปรึกษา ซึ่งนักเรียนจะลงแปลงวันละ 1 ครั้ง ยกเว้นบางกิจกรรม เช่น ไก่ไข่ เป็ดเทศ จะลงแปลงกิจกรรมวันละ 2 ครั้ง ส่วนปิดเทอมและวันหยุดเสาร์อาทิตย์ จะมอบให้เป็นหน้าที่ของนักการภารโรงแทน

ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านต่างแคน บอกว่า พื้นฐานเดิมของเด็กนักเรียนทั้งหมด ผู้ปกครองทำเกษตรกรรม จำนวนร้อยละ 20 เป็นเด็กที่ไม่ได้อาศัยอยู่กับพ่อแม่ แต่อยู่กับญาติ จึงเป็นเรื่องโชคดีของเด็กๆ ที่มีพื้นฐานการเกษตรอยู่บ้าง และสภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยการเกษตร การหันเหความสนใจของเด็กนักเรียนไปยังสิ่งอื่นจึงเกิดขึ้นได้น้อย เมื่อโรงเรียนป้อนกิจกรรมการเกษตร ซึ่งเป็นวิชาชีพเหล่านี้ให้ เด็กนักเรียนจึงรับไปอย่างไม่มีข้อกังขาและแทรกซึมเข้าไปได้ง่าย ไม่มีแรงต่อต้านใดๆ

เมื่อถามถึงความจำเป็นในการเติมความรู้ในภาคเกษตรและการลงแปลงเกษตรให้กับเด็กนักเรียน ครูบุญทัน กล่าวว่า กิจกรรมที่มีขึ้นเพราะมองไปถึงอนาคตของเด็กนักเรียน หากวันหนึ่งอาชีพที่ไม่มั่นคง ไม่แน่นอน และต้องกลับบ้านเกิด อย่างน้อยเด็กนักเรียนเหล่านี้จะยังมีวิชาชีพเกษตรติดตัว สามารถดำเนินชีวิตต่อได้หรือจะใช้เพื่อประกอบเป็นอาชีพในอนาคตก็ได้

เด็กหญิงขวัญฤทัย หงษาลึก หรือ น้องแตงโม นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อายุ 12 ปี เล่าว่า กิจกรรมเกษตรที่รับผิดชอบคือการปลูกผักสวนครัว ในทุกเช้าต้องมารดน้ำ โดยใช้สายยางสูบจากบ่อน้ำ เก็บวัชพืชออกจากแปลงผัก ส่วนตัวชอบการปลูกผัก เพราะเป็นกิจกรรมเกษตรที่ไม่ยาก และอยากปลูกเอง เพราะไม่ต้องซื้อ

เด็กหญิงณัฎฐากร รักธรรม หรือ น้องภพรัก นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อายุ 12 ปี บอกว่า ชอบกิจกรรมการปลูกผักสวนครัวมากที่สุด หากใครไม่เคยทำต้องลองแล้วจะรัก การปลูกผักทำได้ไม่ยาก เริ่มจากการพรวนดินให้ร่วน เก็บหินก้อนใหญ่ออก รดน้ำให้ชุ่ม จากนั้นใช้เสียมขุดดินให้เป็นรู เพื่อนำเมล็ดพันธุ์ผักหยอด กลบดินแล้วรดน้ำให้ชุ่มอีกครั้ง

ด้าน เด็กชายธันวา จันทะคิรี หรือ น้องวา นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 อายุ 11 ปี เล่าว่า รับผิดชอบกิจกรรมการเลี้ยงหมูป่าพันธุ์หน้ายาว ต้องนำอาหารกลางวันที่เหลือจากเด็กนักเรียนไปให้กับหมูป่ากินในตอนกลางวัน แม้ว่าการเลี้ยงหมูยากกว่าการเลี้ยงเป็ดหรือไก่ แต่ก็ชอบเลี้ยงหมูมากกว่า

ส่วน เด็กชายภัทรมงคล หงษีลา หรือ น้องโฟกัส นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อายุ 12 ปี อธิบายว่า รับผิดชอบกิจกรรมเลี้ยงไก่ไข่ ในทุกวันต้องไปที่โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ 2 ครั้ง ตอนเช้าไปให้อาหารและน้ำ ตอนบ่ายเก็บไข่ไก่ และต้องทำความสะอาดโรงเรือนสัปดาห์ละครั้ง เก็บมูลไก่สัปดาห์ละครั้งเช่นกัน แต่นำมูลไก่ไปหมักรวมในกองปุ๋ยหมัก เพื่อทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองภายในโรงเรียน

สำหรับ เด็กหญิงภัควดี จันทร์หล่ม หรือ น้องเกด นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อายุ 12 ปี บอกด้วยว่า หากเรียนจบแล้ว ต้องกลับมาอยู่บ้าน คงต้องอาศัยพื้นฐานการทำเกษตรเดิมที่มีประกอบอาชีพ หรือหากมีอาชีพของตนเองอยู่แล้วก็จะปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเอง เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและได้รับประทานผักสดปลอดสารพิษด้วย

แม้ว่าภาพรวมของโรงเรียนบ้านต่างแคนจะดูเหมือนครบถ้วนสมบูรณ์แล้วก็ตาม แต่ก็มีบางส่วนที่ขาดตกบกพร่องอยู่ ครูบุญทัน จึงนำเสนอแนวคิดว่า หากมีผู้ใหญ่ใจดีต้องการส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมภาคเกษตรให้กับเด็กนักเรียน โรงเรียนยังขาดส่วนของระบบน้ำที่สมบูรณ์อยู่ ปัจจุบัน ต้องลากสายยางดูดน้ำจากบ่อน้ำขึ้นมา หากมีระบบน้ำที่ดีจะทำให้เกิดความคล่องตัวในการทำการเกษตรสำหรับเด็กๆ มากกว่านี้

สอบถามหรือติดต่อเพิ่มเติมได้ที่ ครูบุญทัน มาลี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านต่างแคน ตำบลบ้านโคก อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู โทรศัพท์ (087) 100-7400 หรือ ครูสว่าง จิตรจักร์ โทรศัพท์ (087) 866-1683