ดู ยุวเกษตรมืออาชีพ ทำงาน โรงเรียนบ้านควนยาง จังหวัดตรัง

พื้นที่ภาคใต้ที่เรียกกันว่าเป็นพื้นที่ ฝนแปด แดดสี่ เห็นท่าจะจริง เพราะระหว่างฤดูหนาวที่มีโอกาสไปเยือนจังหวัดตรัง ไม่ได้สัมผัสอากาศหนาวเลยแม้แต่น้อย แต่กลับมีลมเย็นเป็นระลอก ทั้งยังมีฝนปรอยให้เห็นเป็นช่วงๆ ผู้ประสบพบเจอก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่พบ เพื่อหลีกเลี่ยงอาการป่วยที่อาจมาเยือน

เช่นเดียวกับ โรงเรียนบ้านควนยาง หมู่ที่ 9 ตำบลทุ่งค่าย อำเภอย่านตาขาว จังหวัดตรัง ที่ดินมีสภาพเป็นดินเปรี้ยว ไม่เหมาะแก่การปลูกพืช แต่กลุ่มยุวเกษตรที่มีอยู่เกือบ 70 ชีวิต ก็ร่วมแรงลงสมอง หาวิธีแก้ปัญหาดินเปรี้ยว เพื่อให้ปลูกพืช โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านมาเสริม ซึ่งได้ผลอย่างดี

อาจารย์ภูนารถ จันทร์ย่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านควนยาง เล่าความเป็นมาของโรงเรียนให้ฟังอย่างละเอียด เริ่มจากที่ตั้งของโรงเรียนที่ไม่ได้ตั้งอยู่บริเวณปัจจุบัน แต่ต้องย้ายมาโดยได้รับที่ดินบริจาคจากชาวบ้าน 5 ไร่ เพราะสถานที่ตั้งเดิมไม่สะดวกต่อการเดินทางของนักเรียน เมื่อนักเรียนเพิ่มจำนวนมากขึ้น โรงเรียนจึงจัดสรรงบประมาณซื้อเพิ่ม ทำให้ปัจจุบันมีที่ดินของโรงเรียนกว่า 8 ไร่ มีอาคารเรียนชั้นเดียว 3 หลัง

อาจารย์ภูนารถ ไม่ถึงกับเป็นผู้เริ่มต้นทำการเกษตรภายในโรงเรียนคนแรกเสียทีเดียว แต่เป็นผู้มาต่อยอด และบริหารจัดการให้โรงเรียนเป็นระบบ จากเดิมในปี 2542 มีเพียงการเลี้ยงหมูและปลูกพืชอีกเล็กน้อย เมื่อปัญหาที่ชัดเจนกว่าของโรงเรียนคือ การทำให้จำนวนเด็กทุพพลภาพทางโภชนาการหมดไป อาจารย์ภูนารถ จึงตั้งเป้ามาที่การส่งเสริมให้เด็กนักเรียนมีอาหารกลางวันที่ดี ได้รับโภชนาการครบถ้วน แต่เมื่อพิจารณาจากงบประมาณที่รัฐบาลให้มาเป็นค่าอาหารกลางวันสำหรับเด็กทุพพลภาพแล้ว ไม่เพียงพอต่อจำนวนเด็กที่ประสบปัญหาแท้จริง เพราะเด็กจำนวนหนึ่งที่ยากจน ด้อยโอกาส ครอบครัวแตกแยก ก็จัดอยู่ในกลุ่มที่อยู่ในภาวะทุพพลภาพทางโภชนาการต่ำเช่นกัน

“ผมวางแผนบริหารจัดการอาหารกลางวันให้มีคุณภาพ เมื่องบประมาณน้อย เด็กเยอะ จึงปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ป้อนเข้าสู่โครงการอาหารกลางวันทั้งหมด ต้นทุนถูก เด็กได้รับสารอาหารและโภชนาการที่ครบถ้วน แต่เมื่อไม่มีเงินทุน ผมจึงนำเงินส่วนตัวเป็นเงินทุนสำหรับเริ่มโครงการ เมื่อโครงการดำเนินไปได้และมีกำไร ค่อยคืนเงินทุน”

แม้โรงเรียนจะมีพื้นที่ 8 ไร่เศษ แต่ความสำคัญของการเกษตรไม่น้อยหน้า จึงจัดสรรให้พื้นที่การเกษตรมากถึง 2 ไร่ แบ่งหมวดหมู่เป็น กลุ่มพืช และกลุ่มสัตว์

กลุ่มพืช แบ่งเป็นพืชกินเร็ว ใช้เวลาปลูกสั้น เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้ง และพืชเสริม ได้แก่ ไผ่ มะนาว และเห็ด ทั้งนี้ กลุ่มพืชจะเน้นไปที่พืชที่สามารถนำมาใช้ในโครงการอาหารกลางวันได้

1392958001

กลุ่มสัตว์ แบ่งเป็น ไก่ไข่ หมู และปลาดุก

นอกจากนี้ มูลสัตว์จากหมูจะเก็บใส่ถัง เติมน้ำหมัก อีเอ็ม เพื่อให้มูลหมูแห้ง เมื่อแห้งแล้วก็นำไปใช้ประโยชน์ในการบำรุงดิน เพราะดินในพื้นที่ของโรงเรียนประสบปัญหาดินเปรี้ยว การปลูกพืชต้องใช้วิธียกร่อง และเติมมูลสัตว์จากน้ำหมัก อีเอ็ม บำรุงดิน สามารถช่วยการเจริญเติบโตของพืชได้ดี

“โรงเรียนเน้นไปที่การเลี้ยงสัตว์มากกว่าปลูกพืช เพราะดินเปรี้ยว แต่ก็ยังคงพืชบางชนิดไว้ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในโครงการอาหารกลางวัน”

เพื่อให้การดำเนินกิจกรรมด้านการเกษตรได้ผลดี จึงจัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรขึ้นในปี 2550 โดยนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ทุกคน จะเป็นสมาชิกกลุ่มยุวเกษตร โดยนักเรียนแต่ละคนจะสมัครเข้ากลุ่มดูแลพืชหรือสัตว์ตามความสมัครใจ กิจกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับยุวเกษตร มีทั้งสิ้น 6 กิจกรรม ประกอบด้วย พืช หมู ไก่ไข่ เห็ด ปลาดุก และผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหาร

การเลี้ยงปลาดุกบ่อดิน ขนาดบ่อกว้าง 6 เมตร ยาว 10 เมตร เลี้ยงปล่อย ให้อาหารเม็ดสำเร็จรูป เมื่อต้องการใช้ในโครงการอาหารกลางวัน ก็จะเหวี่ยงแหให้ได้ตามปริมาณที่ต้องการบริโภค ส่วนปลาดุกที่เหลือยังคงเลี้ยงต่อไป เมื่อต้องการบริโภคจึงจะเหวี่ยงแหตามปริมาณที่ต้องการอีก

เด็กชายกฤษฎา ตุลยสุข หรือ น้องบิ๊ก หัวหน้าโครงการเลี้ยงปลาดุกบ่อดิน อธิบายว่า ปลาดุกบ่อดินเมื่อจับขึ้นมาขาย จะขายให้กับชุมชนในราคากิโลกรัมละ 60 บาท ซึ่งต้องเหลือจากการเก็บไว้สำหรับบริโภคในโครงการอาหารกลางวันแล้ว ส่วนการให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปนั้น จะให้ในเวลาเช้าและเย็น แบ่งเวรรับผิดชอบ ซึ่งขั้นตอนยากที่สุดของการเลี้ยงปลาดุกบ่อดินคือ การลงไปในบ่อเพื่อจับปลาขึ้นมาบริโภคหรือขาย ส่วนตัวชอบการเลี้ยงปลามาก ซึ่งตั้งเป้าว่าจะเลี้ยงปลานิลเป็นอาชีพเสริม เพราะปลานิลขายได้ราคาดี

คุณฤทธิเดช สุขคง นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรปฏิบัติการ สำนักงานเกษตรอำเภอย่านตาขาว ให้ข้อมูลว่า นับแต่โรงเรียนมีโครงการยุวเกษตร ทางเกษตรอำเภอได้เข้ามาสนับสนุนในการจัดหาเมล็ดพันธุ์พืช การให้ความรู้ในการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์อย่างเต็มที่ เช่น ที่ผ่านมาโรงเรียนจัดตั้งโรงเรือนเพาะเห็ดนางรม สำนักงานเกษตรอำเภอได้จัดส่งเจ้าหน้าที่มาถ่ายทอดความรู้การทำก้อนเชื้อเห็ด เพื่อลดค่าใช้จ่ายให้กับโรงเรียน ผ่านนักเรียนซึ่งเป็นตัวแทน และนักเรียนเหล่านี้จะนำไปถ่ายทอดให้กับชุมชน เมื่อชุมชนเข้ามาศึกษาดูงาน

ว่าที่ร้อยตรีกิตติ สงด้วง อาจารย์โรงเรียนบ้านควนยาง หัวหน้าโครงการเศรษฐกิจพอเพียง และอาจารย์ที่ปรึกษากลุ่มเลี้ยงหมู กล่าวว่า การเลี้ยงหมูถือเป็นกิจกรรมที่ท้าทายมากกว่ากิจกรรมอื่น เพราะเป็นการเลี้ยงโดยนำทฤษฎีมาปฏิบัติ จดบันทึกข้อมูลเชิงเปรียบเทียบ เพื่อศึกษาอาหารที่มีผลต่อการเจริญเติบโตและความแข็งแรงของหมู โดยคอกแรกแยกเลี้ยงหมูป่าไว้ ให้อาหารเป็นเศษอาหารจากโครงการอาหารกลางวัน ส่วนอีก 2 คอก เป็นหมูชนิดเดียวกัน แต่ต่างกันตรงสูตรอาหาร

หมูคอกที่ 1 ให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปเท่านั้น

ส่วนหมูคอกที่ 2 ให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปในเวลาเช้า และให้อาหารผสมจากเศษอาหาร หยวกกล้วยที่หมักด้วย อีเอ็ม ในเวลากลางวัน

โรงเรียนบ้านควนยาง โดยกลุ่มยุวเกษตร ศึกษาการเจริญเติบโตของหมูจากวิธีการให้อาหารที่แตกต่างกันไปครบ 1 รอบแล้ว พบว่า หมูคอกที่กินอาหารผสมจากเศษอาหาร และหยวกกล้วยที่หมักด้วย อีเอ็ม จะเป็นหมูที่มีความแข็งแรง เจริญเติบโตรวดเร็ว เนื้อสดมีสีแดงกว่า มันในชิ้นเนื้อน้อยกว่า

ที่น่าสนใจมากกว่ากลุ่มยุวเกษตรแห่งอื่นของโรงเรียนนี้คือ การชำแหละหมูที่หลายโรงเรียนไม่นิยมทำ แต่สำหรับที่นี่ เมื่อหมูได้น้ำหนักตัวที่ดี จะนำไปส่งโรงเชือดเพื่อชำแหละ เสียค่าใช้จ่าย 200 บาท จากนั้นจะนำหมูที่ชำแหละแล้วมาแบ่งให้กับโครงการอาหารกลางวันตามปริมาณที่ต้องการ แบ่งขายให้กับโรงเรียนในเครือข่ายใกล้เคียงในราคาถูก จำนวนที่เหลือหลังจากนั้นจะนำใส่ถุง ถุงละ 1 กิโลกรัม แยกส่วนหัวหมู ขา หาง และอวัยวะภายใน แบ่งขายเป็นกิโลกรัมหรือชิ้นแล้วแต่ตกลง จากนั้นจะนำขึ้นรถขยายเสียงตระเวนเร่ขายตามหมู่บ้าน ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี ทำให้ทุกครั้งของการขายไม่เคยเหลือ

เด็กชายอรรถพล เอมบุตร หรือ น้องปอนด์ หัวหน้ากลุ่มยุวเกษตร ซึ่งดูแลการเลี้ยงหมู เล่าว่า อาหารเม็ดสำเร็จรูปสำหรับเลี้ยงหมู ใช้วันละ 6 กิโลกรัม สำหรับหมู 6 ตัว ซึ่งแบ่งเวรกันมาให้อาหารหมู ส่วนการล้างคอกหมู ซึ่งถือว่าเป็นงานหนักต้องช่วยกัน โดยเลือกไม่ล้างคอกหมู แต่ใช้การตักมูลหมูใส่ถัง แล้วเติม อีเอ็ม ทุกวัน เปลี่ยนมูลหมูเป็นปุ๋ยชีวภาพ เพื่อส่งให้กับกลุ่มพืช ช่วยลดความเปรี้ยวของดิน

กลุ่มยุวเกษตรที่โดดเด่นอีกกลุ่มคือ กลุ่มเลี้ยงไก่ไข่ ซึ่งผู้อำนวยการโรงเรียน บอกว่า ไก่ไข่มีทั้งสิ้น 71 ตัว ก่อนหน้านี้การเลี้ยงไก่ไข่เลี้ยงแบบปล่อยมาโดยตลอด แต่ประสบปัญหาการนับจำนวนไข่และไม่ทราบว่า แม่ไก่ตัวไหนให้ไข่บ้าง นอกจากนี้ ไข่ยังถูกทำลายโดยแม่ไก่ที่จิกไข่กิน เมื่อได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตรอำเภอย่านตาขาว จึงปรับการเลี้ยงแบบปล่อย มาเป็นการเลี้ยงแบบยืนกรง เพื่อเช็กอัตราการให้ไข่ของไก่ และสามารถเก็บไข่ไก่ได้ทุกวัน ซึ่งจะแบ่งไว้ใช้ในโครงการอาหารกลางวัน หากเหลือจะนำไปจำหน่ายให้กับชุมชน

เด็กชายธีรศักดิ์ แก้วสียงค์ หรือ น้องโจ หัวหน้ากลุ่มยุวเกษตรเลี้ยงไก่ไข่ เล่าว่า ในทุกวันจะจัดเวรมาให้อาหารไก่ทุกเช้า พร้อมกับเปิดน้ำเข้ารางน้ำให้ไก่ ใช้อาหารเม็ดสำเร็จรูปสำหรับสัตว์ปีก และทุกวันเวลา 14.00 น. จะเก็บไข่ไก่ โดยจะได้ไข่ไก่ไม่น้อยกว่า 60 ฟอง ต่อวัน ส่วนวันเสาร์และอาทิตย์ก็รับอาสาสมัครมาให้อาหารไก่และเก็บไข่ไก่ด้วย ซึ่งการเลี้ยงไก่ไข่แบบยืนกรงจัดว่าง่ายกว่าการเลี้ยงไก่ไข่แบบปล่อย เพราะจะเก็บไข่ไก่และจับไก่ได้ง่ายกว่า

เมื่อหมดปีการศึกษา โรงเรียนจะนำกำไรจากการทำกิจกรรมทุกกิจกรรมมาคำนวณค่าใช้จ่าย เพื่อนำกำไรที่ได้มาแบ่งครึ่งระหว่างโรงเรียนและกลุ่มยุวเกษตรแต่ละกลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มจะได้กำไรไม่เท่ากัน จำนวนกำไรที่แต่ละกลุ่มยุวเกษตรได้รับ จะนำไปแบ่งให้กับสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรนั้นๆ ในจำนวนที่เท่ากันอีกทอด

สิ่งที่โรงเรียนวางโครงการเพื่อต่อยอดการทำการเกษตรให้กับนักเรียนอีกโครงการคือ โครงการ 1 คน 1 อาชีพ มอบให้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ทุกคน เขียนโครงการด้านเกษตรที่ต้องการทำมาคนละ 1 โครงการ มีงบประมาณให้โครงการละ 500 บาท โดยมีครูที่ปรึกษาตระเวนสำรวจความเป็นไปได้ของโครงการก่อนอนุมัติงบประมาณให้ และติดต่อตรวจสอบระหว่างดำเนินโครงการ กระทั่งเสร็จสิ้นโครงการ

โดยสรุปการจัดทำโครงการยุวเกษตรของโรงเรียนบ้านควนยาง คือ

  1. ต้นทุนการผลิตอาหารกลางวันลดลง
  2. เด็กนักเรียนได้รับประทานอาหารที่ปลอดสารพิษ เพราะผลผลิตส่วนใหญ่โรงเรียนสามารถผลิตได้เอง และ
  3. เด็กนักเรียน ได้รับความรู้และประสบการณ์ นำไปต่อยอดได้ในอนาคต

แม้จะดูเหมือนว่าโรงเรียนประสบความสำเร็จในโครงการยุวเกษตรและโครงการอาหารกลางวันมาในระดับหนึ่ง แต่เรื่องของการปลูกพืชยังดูเหมือนไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เหตุเพราะพื้นที่ประสบปัญหาดินเปรี้ยว หากใครมีข้อเสนอแนะ หรือต้องการเยี่ยมชมความสำเร็จของกลุ่มยุวเกษตรตัวน้อยๆ ของโรงเรียนบ้านควนยางแห่งนี้ ติดต่อล่วงหน้าได้ที่ อาจารย์ภูนารถ จันทร์ย่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านควนยาง โทร. (081) 956-2015 ยินดีต้อนรับ