ยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านฉลอง ภูเก็ต เริ่มจากโครงการอาหารกลางวัน ต่อยอดเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านฉลอง ตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 โดยอาจารย์ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร เห็นความสำคัญของการเกษตร ซึ่งเป็นอาชีพหลักของประเทศ และต้องการให้กิจกรรมการเกษตรเป็นตัวเสริมการเรียนรู้ทักษะชีวิตให้แก่เด็กๆ ในช่วงที่อยู่ในโรงเรียน

แนวคิดนี้ เกิดขึ้นจากความสงสารเด็กที่ห่ออาหารมากินมื้อกลางวัน ซึ่งเด็กแต่ละคนมีฐานะความเป็นอยู่ไม่เท่ากัน บางรายมีฐานะ ก็มีอาหารกลางวันมากพอเหลือแบ่งให้เพื่อนได้ บางรายมีน้อยถึงไม่มี ก็ขอแบ่งอาหารกลางวันจากเพื่อน หรืออดบ้างตามอัตภาพ จึงเริ่มจากปรับพื้นที่ด้านหลังโรงเรียนสำหรับปลูกกล้วย และเพาะเห็ด เพื่อนำมาเป็นอาหารให้กับเด็กๆ ทำให้เด็กๆ ได้รับประโยชน์และเกิดความสนใจ เป็นบ่อเกิดของการรู้จักการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ การทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ

สิ่งสำคัญที่สุด คือ การปลูกฝังทัศนคติของเด็กให้ตระหนักถึงคุณค่า และมีความภาคภูมิใจในอาชีพการเกษตร รู้จักใช้ชีวิตตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

กลุ่มยุวเกษตรกร ได้จัดกระบวนการเรียนรู้ผ่านกระบวนการกลุ่มยุวเกษตรกรและพัฒนาความรู้ของกลุ่มยุวเกษตรกร โดยเข้าร่วมอบรมถ่ายทอดความรู้ ฝึกปฏิบัติตามโครงการต่างๆ เกี่ยวกับการปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา เพาะเห็ด การผลิตปุ๋ย เคหกิจเกษตร และกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้มีการขยายกิจกรรมการเรียนรู้เพิ่มขึ้น และสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรได้ดำเนินกิจกรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องจากรุ่นสู่รุ่น โดยมีที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกรให้คำปรึกษาแนะนำ

นวัตกรรม หรือภูมิปัญญาที่นำมาใช้ในการดำเนินการทุกกิจกรรมฐานการเรียนของกลุ่มยุวเกษตรกร มีการนำนวัตกรรม หรือภูมิปัญญามาปรับประยุกต์ใช้ พร้อมทั้งบูรณาการกับ STEM Education อาทิ ฐานการเรียนรู้ถังขยะไม่มีวันเต็ม เริ่มจากปัญหาขยะที่มากถึง 680 ตัน ต่อวัน และปริมาณขยะอินทรีย์ของโรงเรียนบ้านฉลอง 40-50 กิโลกรัม ต่อวัน แต่ประสิทธิภาพของศูนย์เตาเผาสามารถกำจัดขยะได้ไม่เกิน 700 ตัน ต่อวัน ประกอบกับอัตราการเพิ่มขึ้นของขยะที่มีร้อยละ 7 ต่อปี

กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านฉลอง จึงมีแนวคิดดำเนินกิจกรรมฐานการเรียนรู้ถังขยะไม่มีวันเต็ม เพื่อลดปัญหาขยะอินทรีย์ในโรงเรียน เพื่อต่อยอดสู่ครอบครัว และชุมชนต่อไป

กลุ่มยุวเกษตรกรได้เรียนรู้การย่อยสลายขยะอินทรีย์ในโรงเรียน โดย “ธรรมชาติจัดการธรรมชาติ” ด้วยการนำเศษอาหารจากการรับประทานอาหารกลางวันใส่ในถังหมักขยะอินทรีย์ ซึ่งเป็นภาชนะที่ออกแบบเฉพาะคิดค้นร่วมกัน โดยที่ปรึกษายุวเกษตรกรและสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร แล้วซ้อนทับด้วยใบไม้แห้งสลับกันไปเรื่อยๆ ใช้เวลาในการย่อยสลายประมาณ 2 เดือน

ผลที่ได้จากนวัตกรรม คือ น้ำหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ และหนอนแม่โจ้ ซึ่งเป็นตัวอ่อนของแมลงคล้ายแมลงวัน ที่มีชื่อสามัญว่า Black Soldier Fly ที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการหมักมาใช้เลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นโปรตีนเสริมสำหรับเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ สามารถลดต้นทุนค่าอาหารและไข่แดงมีสีแดงกว่า เลี้ยงด้วยอาหารทั่วไป การบูรณาการ STEM ได้แก่ S (วิทยาศาสตร์) : วิธีการจัดการขยะ การย่อยสลาย การทำปฏิกิริยาระหว่างอากาศและขยะ T (เทคโนโลยี) : การสืบค้นคว้าข้อมูล นวัตกรรมหนอนแม่โจ้ E (วิศวกรรม) : ถังหมักขยะอินทรีย์ M (คณิตศาสตร์) : การชั่ง ตวง วัดการคำนวณปริมาณขยะ การคำนวณระยะเวลาการย่อยสลาย การคำนวณปริมาณน้ำหนัก เป็นต้น

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านฉลอง คือ

  1. เพื่อเสริมสร้างทัศนคติของสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร ให้ภูมิใจในคุณค่าของผลผลิตการเกษตรที่ตนเองผลิต และยอมรับอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีพ
  2. เพื่อให้สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรได้รับความรู้และเทคโนโลยีการเกษตร เคหกิจเกษตร ธุรกิจเกษตร การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้องเหมาะสม สอดคล้องกับครอบครัวและท้องถิ่นตำบลฉลอง
  3. เพื่อเสริมสร้างทักษะ ความชำนาญด้านการเกษตร เคหกิจเกษตร ธุรกิจเกษตร การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยการปฏิบัติจริง
  4. เพื่อฝึกให้สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร ได้รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ การทำงานเป็นหมู่คณะ และส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย โดยอาศัยข้อบังคับและวิธีการดำเนินงานของกลุ่มยุวเกษตรกร
  5. เพื่อพัฒนากลุ่มยุวเกษตรกรให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน

กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านฉลอง มีการวางแผนกิจกรรมของกลุ่มอย่างชัดเจน กิจกรรมบ่มเพาะทางความคิด ปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเกษตรกรรม ทักษะวิชาการและการปฏิบัติ พัฒนารูปแบบการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้มาตรฐาน ตรงตามต้องการ และความปลอดภัยของผู้บริโภค เพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร การพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนายุวเกษตรกร และมีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของกลุ่มอย่างชัดเจน โดยดำเนินการประชุมสมาชิกกลุ่มและให้ที่ประชุมเลือกตั้งสมาชิกเป็นคณะกรรมการสภายุวเกษตรกร เพื่อทำหน้าที่เป็นตัวแทนในการดำเนินงานของกลุ่มยุวเกษตรกร ดำรงตำแหน่งคราวละ 1 ปี จำนวน 5 คน ประกอบด้วย ประธาน รองประธาน เลขานุการ เหรัญญิก และปฏิคม

กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านฉลอง สามารถดำเนินกิจกรรมได้อย่างต่อเนื่อง ขับเคลื่อนโดยกลุ่มยุวเกษตรกร ที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร คนในชุมชนและภาคีเครือข่าย มีการวางแผนการดำเนินงานทั้งในงานส่วนบุคคล งานกลุ่มย่อย และงานรวม โดยสามารถจัดหุ้นและการบริหารจัดการเงินทุนในการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มที่มีประสิทธิภาพ ดังนี้

  1. การสนับสนุนปัจจัยการผลิต เงินรางวัลจากการส่งผลงานเข้าประกวด ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานกลุ่มยุวเกษตรกรและขยายผลไปสู่ชุมชน
  2. ผลผลิตทางการเกษตรที่นอกเหนือจากการจำหน่าย จะนำเข้าโครงการอาหารกลางวัน เพื่อนำมาประกอบเป็นอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้แก่เด็กๆ นักเรียนในโรงเรียน
  3. จัดทำโครงการ “เปลี่ยนขยะให้เป็นสิ่งของ” เพื่อให้สมาชิกกลุ่มและนักเรียนได้เห็นคุณค่าของขยะ ซึ่งสามารถเปลี่ยนเป็นสิ่งของที่มีประโยชน์ได้ โดยได้รับการสนับสนุนสิ่งของต่างๆ จากวัดไชยธาราราม และวัดหลวงปู่สุภา รวมถึงเทศบาลตำบลฉลอง เกิดความร่วมมือร่วมใจทั้งบ้าน วัด โรงเรียน ซึ่งสามารถลดปัญญาขยะทั้งโรงเรียน ครอบครัว และชุมชน
  4. การจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย โดยมีครูประจำฐานการเรียนรู้เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลให้คำปรึกษาในเรื่องการเงินและบัญชีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลผลิตทางการเกษตร

ทั้งงานจากส่วนบุคคล งานรวม และกลุ่มย่อยร่วมกับสมาชิก โดยมีคณะกรรมการร่วมตรวจสอบการใช้จ่าย อีกทั้งยังมีการส่งเสริมการออมของสมาชิกทุกคน ด้วยการเปิดบัญชีออมเงิน และมีเงินทุนหมุนเวียนของกลุ่มยุวเกษตรกร จำนวน 74,865.65 บาท เพื่อนำรายได้มาต่อยอดในการดำเนินกิจกรรมต่อๆ ไป

นอกจากนี้ ยังมีการทำกิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์ และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านฉลอง เป็นกลุ่มเยาวชนตัวอย่างของชุมชน ที่เข้าร่วมและสนับสนุนการทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ทั้งของโรงเรียน วัด และชุมชนเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เด็กได้รู้จักทำกิจกรรมเพื่อส่วนรวม เพื่อฝึกความอดทน เสียสละ และเพิ่มความรักใคร่สามัคคีในหมู่คณะ มีการปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกแก่สมาชิกด้านสาธารณประโยชน์ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ ร่วมรณรงค์เก็บขยะที่แหลมพรหมเทพ โครงการวัดสิ่งแวดล้อมโลก ร่วมสร้างจิตสำนึกชุมชนในโครงการทำดีตามรอยพ่อ โครงการเยาวชนรักษ์พงไพร กิจกรรมสร้างฝายถวายในหลวง ปลูกป่าชายเลนเพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติป่าชายเลน เข้าร่วมโครงการภูเก็ตไร้ขยะ บวชป่าเฉลิมพระเกียรติ กิจกรรมรณรงค์การปลูกหญ้าแฝก กิจกรรมธนาคารขยะ กิจกรรมถังขยะไม่มีวันเต็ม การใช้ปุ๋ยหมักจากทะลายปาล์ม การใช้น้ำหมักชีวภาพแทนการใช้ปุ๋ยเคมี เป็นต้น

สอบถามเพิ่มเติม หรือให้การสนับสนุนส่งเสริมการทำกิจกรรมยุวเกษตรกร ของโรงเรียนบ้านฉลอง ติดต่อได้ที่ กลุ่มยุวเกษตรกร ที่ทำการกลุ่ม เลขที่ 48/1 หมู่ที่ 6 ตำบลฉลอง อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต โทรศัพท์ (076) 381-947