ม.เกษตร รุกแผนงานยุวชนอาสา เพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย ที่กาฬสินธุ์

แผนงานยุวชนสร้างชาติ ถือเป็นวาระแห่งชาติที่เน้นการปฏิรูปสถาบันอุดมศึกษาให้เอื้อต่อการจัดระบบนิเวศการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนในยุคสมัยใหม่ กล่าวคือ มีชุมชนเป็นฐาน ลดเวลาเรียนในชั้นเรียน และเน้นการฝึกปฏิบัติ

นักศึกษา เข้าร่วมโครงการยุวชนสร้างชาติ

สถานศึกษาหลายแห่งเริ่มดำเนินการ มีการตั้งเป้าหมายเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ สำหรับที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร เข้าดำเนินการ โดยใช้ชื่อโครงการเสริมสร้างศักยภาพเกษตรกรในการเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย (Black Soldier Fly Larvae) เพื่อเป็นอาหารสัตว์โปรตีนสูง โดยการพึ่งพาตนเองตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และกำหนดพื้นที่ในอำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์

เป้าหมาย คือ การเพิ่มศักยภาพและพัฒนาความรู้ให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่ ในที่นี้รวมถึงนิสิต นักศึกษา นักเรียน ซึ่งถือว่าเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่ ที่มีความพร้อมเป็นต้นแบบที่เรียกว่า ยุวชนอาสา

ผศ.ดร. ศมณพร สุทธิบาก อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เริ่มเข้าไปสำรวจและคัดเลือกครัวเรือนต้นแบบ เพื่อให้เป็นครัวเรือนที่มีศักยภาพในการเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย เพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์โปรตีนสูง โดยเข้าสำรวจไปแล้ว 2 ครั้ง และได้คัดเลือกครอบครัวต้นแบบในการเป็นศูนย์การเรียนรู้ โดยการพึ่งพาตนเองตามหลักคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง จำนวน 15 ครัวเรือน ซึ่งข้อมูลพื้นฐานของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ทั้ง 15 ครอบครัว จากข้อมูลของศูนย์ประสานงานโครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือยอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่า เกษตรกรเลี้ยงไก่ไข่ จำนวน 20-50 ตัว ต่อครัวเรือน โดยมีต้นทุนด้านอาหารไก่ไข่ 22-42 บาท ต่อตัว ต่อเดือน และมีรายได้จากการขายไข่ไก่อยู่ที่ 34-80 บาท ต่อตัว ต่อเดือน

หลังการสำรวจและคัดเลือกครัวเรือนต้นแบบ จึงเริ่มฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการในการติดตั้งระบบการเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย เพื่อเป็นอาหารสัตว์โปรตีนสูงในระดับครัวเรือนขึ้น

การอบรมเสร็จสิ้นไปแล้ว มีผู้ผ่านการอบรม 100 คน

เนื้อหาของการอบรม ประกอบด้วย ผังเส้นทางแนวทางการจัดการขยะมูลฝอยในชุมชน วงจรชีวิตและความรู้เกี่ยวกับแมลงวันลาย ประโยชน์หนอนแมลงวันลาย การประยุกต์ใช้หนอนแมลงวันลายในการกำจัดขยะอินทรีย์ในระดับครัวเรือน การเตรียมอาหารล่อแมลงวันลายตามธรรมชาติ องค์ประกอบระบบเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลายในระดับครัวเรือน หลักการและข้อปฏิบัติในการเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลายในระดับครัวเรือน การดูแลระบบเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลายในระดับครัวเรือน ปัจจัยความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย กรณีศึกษาการเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลายจากจังหวัดสกลนคร

ผู้เข้าอบรมเป็นเกษตรกร จำนวนร้อยละ 76.50 รองลงมาเป็นนักศึกษาและนักเรียน ร้อยละ 14.70 ซึ่งจากการอบรม ผู้ที่เข้าร่วมอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลายเพิ่มขึ้น จากระดับน้อยเป็นระดับมากที่สุด

การให้ความช่วยเหลือสำหรับผู้ที่เข้าร่วมอบรม ทั้งเกษตรกร ผู้สนใจ และนักเรียน นิสิต นักศึกษา ด้วยการติดตั้งระบบการเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย เพื่อเป็นอาหารสัตว์โปรตีนสูงในระดับครัวเรือน ทำโดยออกแบบระบบการเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลายเพื่อเป็นอาหารสัตว์โปรตีนสูงในระดับครัวเรือน โดยผู้เชี่ยวชาญในการเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลายร่วมกับนิสิตภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม, จัดทำระบบการเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลายเพื่อเป็นอาหารสัตว์โปรตีนสูงในระดับครัวเรือนต้นแบบ จำนวน 2 โรงเรือน เพื่อทดสอบระบบการให้อาหาร และการเพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ ณ ศูนย์กำจัดขยะอินทรีย์บ้านโนนศาลา ตำบลเชียงเครือ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร, ติดตั้งระบบการเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลายระดับครัวเรือน จำนวน 15 แห่ง ณ อำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์, เพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลายเพื่อเตรียมพ่อ-แม่พันธุ์ ณ ศูนย์จัดการขยะอินทรีย์โดยหนอนแมลงวันลาย ชุมชนบ้านโนนศาลา ตำบลเชียงเครือ จังหวัดสกลนคร เพื่อนำไปขยายผล ณ พื้นที่ดำเนินโครงการ อำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ และอบรมการเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย การดูแลรักษาระบบ และการป้องกันศัตรูหนอนแมลงวันลายในรายครัวเรือนทั้งสิ้น 15 แห่ง

ในครั้งนี้ มีนิสิตที่เข้าร่วมโครงการผ่านการอบรม จำนวน 7 คน ได้ความรู้ในการเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลาย ทั้งยังร่วมออกแบบและติดตั้งระบบเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลายในระดับครัวเรือน โดยมหาวิทยาลัยคาดหวังว่า จะทำให้ผู้เรียนมีความเข้าใจและปฏิบัติได้ในด้านสิ่งแวดล้อม ผ่านการลงมือปฏิบัติด้วยตนเองตามนโยบายของรัฐ “คัดแยกก่อนทิ้ง” และก่อให้เกิดจิตสำนึกที่จะให้ความร่วมมือและปฏิบัติตนในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทำให้อยู่ในสภาพที่ดีเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตของทุกคน นอกจากนี้ ยังช่วยเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ สามารถลดต้นทุนอาหารไก่ไข่ได้โดยการเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลายเพื่อเป็นอาหารไก่ไข่ และชุมชนสามารถลดปริมาณขยะอินทรีย์ที่จะนำไปกำจัดและลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะอินทรีย์

ผศ.ดร. ศมณพร สุทธิบาก อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตเฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสกลนคร ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานโครงการต่อเนื่องจนจบ นิสิตและนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการนอกเหนือจากผ่านการอบรม มีความรู้และความเข้าใจในการเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลายแล้ว ยังได้ร่วมออกแบบและติดตั้งระบบเพาะเลี้ยงหนอนแมลงวันลายในระดับครัวเรือนติดตัวไปอีกด้วย

สิ่งที่เกษตรกร ชาวบ้านในชุมชน นิสิต นักศึกษา จะได้รับคือ ผลการเรียนรู้ทักษะ โดยส่งผลถึงทักษะด้านชีวิตและอาชีพ โดยผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองเพื่อยกระดับความรู้ความชำนาญ เพื่อขยายขอบเขตการเรียนรู้ และโอกาสที่จะทำให้เกิดความเชี่ยวชาญ และเกิดกระบวนการเรียนรู้ต่อเนื่องตลอดชีวิต