โรงเรียนบ้านป่าทุ่ง สายบุรี ปัตตานี ปลูกฝังปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เป็นอำเภอที่มีแม่น้ำสายบุรี หล่อเลี้ยงวิถีชีวิตความเป็นชนบท การดำนา ปลูกข้าว ยังคงมีให้เห็นในทุกพื้นที่ ไม่เว้นแม้แต่ในภาคใต้ ปลายด้ามขวานทอง ที่บางโอกาสถูกมองว่าอยู่ห่างไกลความเจริญ แท้จริงแล้ว ความห่างไกลเหล่านี้เป็นสิ่งกระตุ้นเตือนไม่ให้ลืมรากเหง้าการดำรงชีวิตของบรรพบุรุษไม่ให้สูญหายไป

เกษตรกรรม ก็เช่นกัน การปลูกฝังผ่านเยาวชนเป็นแนวคิดที่มีมาเนิ่นนาน แม้จะประเมินไม่ได้ชัดว่าประสบความสำเร็จหรือไม่ แต่อย่างน้อยก็เป็นช่องทางที่ได้ปลูกฝังให้เยาวชนสำนึกรักในบ้านเกิด

โรงเรียนบ้านป่าทุ่ง ตั้งอยู่ที่หมู่ 4 ตำบลบางเก่า อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี มี คุณสุวิทย์ หวัดแท่น ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน เปิดการเรียนการสอนในระดับอนุบาลถึงระดับประถมศึกษา

ด้วยพื้นที่อยู่ห่างไกล จึงรองรับนักเรียนบริเวณใกล้เคียงทั้งหมด และสภาพสังคมปัจจุบันปัญหาเด็กด้อยโอกาสมีสูง โรงเรียนจึงเป็นแหล่งพักพิงที่ดีที่สุด ครูจึงมีความสำคัญกับนักเรียนมาก ซึ่งการป้อนความรู้นอกเหนือจากวิชาเรียน เพื่อให้นักเรียนสามารถดำรงชีวิตได้เองจึงเป็นสิ่งสำคัญ

โรงเรียนจึงตั้งเป้าให้ความสำคัญกับการเกษตร เพราะเป็นฐานของการดำรงชีพใกล้ตัว จัดสรรพื้นที่การเกษตรไว้โดยรอบโรงเรียน และแบ่งเป็นฐานการเรียนรู้ถึง 7 ฐาน

ผู้อำนวยการโรงเรียน ให้ข้อมูลว่า โรงเรียนตั้งอยู่ในชุมชน ในพื้นที่ลุ่มน้ำสายบุรี และเป็นโรงเรียนขับเคลื่อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 ซึ่งได้พัฒนาความก้าวหน้าในหลายกิจกรม โดยกิจกรรมต่างๆ โรงเรียนเน้นให้สร้างประสบการณ์และทักษะในการเรียนรู้ การประกอบอาชีพของนักเรียน จึงมุ่งเน้นในภาคเกษตรกรรม เพื่อปลูกฝังปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

กองปุ๋ยหมักที่ทำขึ้นไว้ใช้เองภายในโรงเรียน

“โรงเรียนเรา มีโครงการยุวเกษตร เริ่มก่อตั้งมาเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2559 แรกเริ่มมีสมาชิก 18 คน ปัจจุบันมีสมาชิก 25 คน มีการสืบทอดกิจกรรมจากรุ่นสู่รุ่น มีวัตถุประสงค์ให้นักเรียนได้เรียนรู้อาชีพการเกษตรโดยการปฏิบัติจริงที่โรงเรียน และมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเกษตร และยอมรับว่าอาชีพเกษตรเป็นอาชีพที่มีเกียรติ ซึ่งโรงเรียนไม่ได้มุ่งหวังผลเฉพาะภายในโรงเรียน แต่ต้องการให้มีการขยายผลไปสู่การปฏิบัติที่บ้านของนักเรียนด้วย”

แปลงผักสวนครัว

ฐานการเรียนรู้ ด้านเกษตรกรรมของโรงเรียน แบ่งเป็น 7 ฐานการเรียนรู้ ได้แก่

  1. ฐานปุ๋ยหมักชีวภาพ โดยใช้วัสดุเหลือใช้ในโรงเรียนมาทำปุ๋ยหมัก เพื่อลดต้นทุนและกำจัดขยะในโรงเรียน โดยมีหมอดินอาสา และสำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัดปัตตานี มาเป็นวิทยากรสอนและอนุเคราะห์กากน้ำตาลและสารพด.1
  2. ฐานผักสวนครัว ฐานนี้มีขึ้นเพื่อให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ปลูกผักสวนครัวโดยไม่ใช้สารเคมี ใช้ปุ๋ยที่ผลิตขึ้นเองในโรงเรียน เรียนรู้การดูแลรักษาและการเก็บเกี่ยวผักสวนครัว แปลงผักทั้งหมดได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์จากสำนักงานเกษตรอำเภอสายบุรี และศูนย์ศึกษาพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ จังหวัดนราธิวาส
  3. ฐานไก่ไข่และเป็ดไข่ นักเรียนจะได้เรียนรู้การเลี้ยงเป็ดไข่และไก่ไข่ โดยวัตถุประสงค์หลัก เพื่อเป็นอาหารกลางวันให้กับนักเรียน และนำไข่เป็ดและไข่ไก่ส่งเป็นวัตถุดิบให้กับกลุ่มแปรรูปผลผลิตไข่เค็มดินพรุสมุนไพรภายในโรงเรียน โดยมีเครือข่ายที่ให้การสนับสนุน ได้แก่ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอสายบุรี และสำนักงานเกษตรอำเภอสายบุรี
  4. ฐานเพาะห็ด นักเรียนจะได้เรียนรู้กระบวนการทำงานตามขั้นตอนของการเพาะเห็ด เป็นการฝึกฝนทักษะอาชีพการเพาะเห็ดอย่างหนึ่ง ซึ่งผลผลิตที่ได้ นำไปสนับสนุนอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียน นอกจากนี้ เห็ดส่วนหนึ่งจะแบ่งไปสำหรับการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เห็ดสมุนไพร ให้เด็กนักเรียนทานและจำหน่ายให้กับประชาชนที่สนใจทั่วไป
  5. ฐานการเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ ฐานนี้ทำให้นักเรียนได้เรียนรู้การเลี้ยง การดูแล การปล่อยพันธุ์ปลาถึงจับปลาจำหน่ายให้กับสหกรณ์โรงเรียน ซึ่งปลาดุกยังนำไปเป็นวัตถุดิบสำหรับประกอบอาหารกลางวันให้กับนักเรียนอีกด้วย
  6. ฐานแปรรูปผลผลิต มุ่งเน้นการนำทรัพยากรในท้องถิ่นมาใช้ เรียนรู้กระบวนการแปรรูป เพื่อประหยัดและลดต้นทุนการผลิตผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น ไข่เค็มสมุนไพร เป็นการใช้ไข่เป็ด ดินพรุ ดินปลวก แกลบ ใบเตย ที่มีอยู่แล้วบริเวณโรงเรียนและในท้องถิ่น ซึ่งความแตกต่างจากไข่เค็มที่อื่นตรงการใช้ดินพรุ เพราะดินพรุมีปริมาณกำมะถันจำนวนมากและมีความเหนียวยึดติดเปลือกไข่ได้ดี มีความเหมาะสมนำมาทำไข่เค็ม ส่วนใบเตยมีกลิ่นหอม ช่วยบำรุงหัวใจ
  7. ฐานอนุรักษ์นาข้าว ฐานนี้เป็นฐานหลักที่ช่วยให้นักเรียนได้เรียนรู้การทำนาของบรรพบุรุษ ซึ่งเป็นอาชีพดั้งเดิม การสอนจะเน้นการทำนาแบบอนุรักษ์ การทำนาแบบดั้งเดิม เพื่อให้ได้ผลผลิตนำไปต่อยอดในการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวในท้องถิ่น
ผลไม้ก็มี

ครูรอฮีม อีแต ครูที่ปรึกษาด้านการเกษตร บอกว่า นอกเหนือจากฐานการเรียนรู้ทั้ง 7 ฐาน ที่เป็นฐานหลักสำคัญภายในโรงเรียนแล้ว พื้นที่ว่างที่ยังพอมีอยู่จะหาพืชระยะสั้นที่ดูแลง่ายมาสอนให้นักเรียนปลูก ดูแล ซึ่งล่าสุดได้นำข้าวโพดพันธุ์ทับทิมสยามมาลงปลูก และให้ผลผลิตที่ดี นำไปเข้าโครงการอาหารกลางวัน ทั้งยังเหลือพอนำไปจำหน่ายให้กับผู้สนใจในชุมชนด้วย

นาข้าว เด็กๆ ได้ลุยเต็มที่

อย่างไรก็ตาม โรงเรียนบ้านป่าทุ่ง ก็ยังคงเป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนและบุคลากรครูไม่มากนัก งบประมาณจึงไม่มากพอจะทุ่มให้กับการสอนที่โรงเรียนตั้งเป้าไว้ ดังนั้น หากผู้ใหญ่ใจดีท่านใด ต้องการสนับสนุนและส่งเสริมการเกษตรให้กับนักเรียน สามารถติดต่อได้ที่ โรงเรียนบ้านป่าทุ่ง หมู่ที่ 4 ตำบลบางเก่า อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี โทรศัพท์ (073) 420-237

โรงเรือนเพาะเห็ด
ฐานเป็ดไข่และไก่ไข่
ไข่เค็มดินพรุสมุนไพร
กลุ่มแปรรูป ทำไข่เค็มดินพรุสมุนไพร
การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์

……..

พิเศษ! สมัครสมาชิกนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปี (24 ฉบับ) ลดราคาทันที 15% พร้อมแถมฟรีอีก1เดือน สมัครได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธ.ค. 63 เท่านั้น! คลิกดูรายละเอียดที่นี่