โรงเรียน ตชด. บ้านบาโรย สะเดา สงขลา ใช้ธรรมชาติปลูกจิตสำนึกรักเกษตร

พื้นที่อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ในอดีตเป็นพื้นที่สีแดง ที่ภาครัฐต้องเข้าไปจัดระเบียบและควบคุม เพื่อให้พื้นที่ปรับเปลี่ยนสภาพ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงเกษตรกรรมและเป็นที่อยู่อาศัย แม้จะผ่านเนิ่นนานมาหลายสิบปี มีประชาชนเข้าไปตั้งถิ่นฐานจำนวนมากแล้ว แต่ปัจจุบันพื้นที่เกือบทั้งหมดก็ยังคงเป็นพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ แม้จะมีประชาชนอยู่อาศัยในรูปของชุมชนและหมู่บ้าน และเมื่อมีชุมชน แน่นอนว่าสถานศึกษาเป็นสิ่งจำเป็น จึงมีการก่อตั้งสถานศึกษาเพื่อรองรับประชากรที่จะเพิ่มขึ้น

โรงเรียนลำดับต้นๆ ของอำเภอสะเดา เป็นโรงเรียนที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 จังหวัดสงขลา ชื่อโรงเรียนจึงมีคำว่า “ตำรวจตระเวนชายแดน” รวมอยู่ด้วย

กิจกรรมเลี้ยงไก่ไข่

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านบาโรย ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 11 ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา แม้จะขึ้นตรงกับกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 จังหวัดสงขลา แต่ก็เป็นโรงเรียนที่อยู่ในพระราชานุเคราะห์ฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ ทอดพระเนตรโครงการฝึกอาชีพ การสาธิตการเรียนการสอน ห้องเรียนวิชาคอมพิวเตอร์ ห้องเรียนวิทยาศาสตร์ การปรุงอาหารกลางวันเลี้ยงนักเรียน ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหาร โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ห้องสมุด กิจกรรมสหกรณ์นักเรียน ชั้นเรียนเด็กก่อนวัยเรียน และห้องพยาบาล

โรงเรือนผักไฮโดรโปนิกส์และผักปลอดสาร

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านบาโรย สังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดนพื้นที่รับผิดชอบของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 43 จังหวัดสงขลา เปิดทำการสอนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 โดยเปิดสอนตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา ถึงระดับประถมศึกษา ปัจจุบันมีนักเรียนเกือบ 200 คน

มีโรงปุ๋ยหมักเอง

โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เป็นโครงการสำคัญที่จัดให้มีครูเกษตร ทำหน้าที่รับผิดชอบโครงการ ซึ่งครูเกษตรในที่นี้ไม่ได้เรียนจบหรือมีความรู้ทางด้านเกษตรแม้แต่น้อย แต่เพราะพื้นฐานครอบครัวเป็นเกษตรกร ความรู้ที่สะสมมาตลอดการใช้ชีวิตจึงเป็นสิ่งที่นำมาถ่ายทอดเป็นความรู้ให้กับลูกศิษย์ได้

โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน แบ่งออกเป็นหลายส่วน โดยโรงเรียนมีแนวคิดว่า ควรปลูกทุกอย่างที่ปลูกได้ เนื่องจากโรงเรียนมีสภาพพื้นที่ที่ไม่เหมาะสำหรับการทำเกษตรกรรม พื้นดินส่วนใหญ่มีแร่ธาตุในดินที่ไม่สมบูรณ์ มีความเป็นกรดและด่างมาก ทำให้พืชบางชนิดต้องปรับวิธีการปลูก หรือต้องปรับสภาพดินให้ดีก่อนปลูก

กิจกรรมที่ดำเนินภายในโครงการ มีดังนี้

1.การเลี้ยงปลาบ่อดิน มีทั้งหมด 5 บ่อ เป็นบ่อขนาด กว้าง 7 เมตร ยาว 30 เมตร แยกเลี้ยงปลากินพืชและปลากินเนื้อไว้ต่างบ่อ ปลากินเนื้อที่เลี้ยงไว้ คือ ปลาดุก เพราะอายุการเลี้ยงสั้น อาจปล่อยปลาสวายในบ่อปลาดุกด้วย แต่ต้องให้ปลาสวายตัวใหญ่กว่าปลาดุก จึงจะไม่ถูกปลาดุกกิน ในการเลี้ยงปลาดุกแต่ละรอบ จะเลี้ยงเพียง 2,000 ตัว เท่านั้น เพื่อไม่ให้มากเกินความสามารถในการเลี้ยง

ในจำนวน 5 บ่อ จะเลี้ยงปลาไม่ครบทุกบ่อพร้อมกัน เพื่อพักบ่อไว้บ้างและสลับบ่อเลี้ยง เช่น เลี้ยงปลา 3 บ่อ พักบ่อ 2 บ่อ หรือ เลี้ยงปลา 2 บ่อ พักบ่อ 3 บ่อ เป็นต้น

สำหรับปลากินพืช เป็นปลาเบญจพรรณ แต่เน้นที่ปลานิลและปลาตะเพียน เพราะนำไปประกอบอาหารได้มากกว่าปลาชนิดอื่น

เมื่อเลี้ยงปลาครบอายุการจับ บางครั้งใช้แหหว่าน บางครั้งใช้วิธีวิดน้ำออกจากบ่อ ปลาที่จับได้จะนับน้ำหนักผ่านระบบสหกรณ์ของโรงเรียน เพื่อขายให้กับโรงครัว หากมีมากก็ขายให้กับผู้ปกครองนักเรียน หรือชาวบ้านที่สนใจ โดยราคาขายจะถูกกว่าท้องตลาด 20 เปอร์เซ็นต์

  1. การเลี้ยงไก่ แบ่งออกเป็นการเลี้ยงไก่ไข่ และไก่พื้นเมือง

การเลี้ยงไก่ไข่ มีจำนวน 200 ตัว สามารถเก็บไข่ไก่ได้มากไม่ต่ำกว่าวันละ 100 ฟอง เป็นการเลี้ยงแบบทำโรงเรือน ล้อมคอกไว้ ปล่อยให้เดินคุ้ยเขี่ยตามอิสระ เพื่อให้ไก่ได้อยู่อาศัยตามธรรมชาติมากที่สุด

การเลี้ยงไก่ ประกอบด้วย ไก่เนื้อ ทั้งหมดเลี้ยงไว้เพื่อรับประทาน ส่วนไก่พื้นเมือง เป็นไก่ดำพันธุ์มองโกเลีย และไก่ดำพันธุ์ภูพาน โดยไก่พื้นเมืองเลี้ยงไว้เพื่อให้นักเรียนศึกษา

  1. การทำสวนยางพารา มีทั้งสิ้น 8 ไร่ เป็นยางอายุ 14 ปี เปิดกรีดได้แล้ว ซึ่งปัจจุบันจ้างคนกรีดเป็นรายได้เข้าสหกรณ์ของโรงเรียน
  2. การปลูกกล้วยน้ำว้า จำนวน 3 ไร่ มีระบบน้ำหยดภายในแปลงเรียบร้อย การทำสวนกล้วยลักษณะนี้ก็เพื่อให้นักเรียนเห็นความแตกต่างในการดูแลแปลงเกษตร
  3. สวนสมรม มีพืชกินได้หลายชนิด อาทิ มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวแกง
  4. ป่าชุมชน ปลูกไม้ยืนต้น เช่น กระถิน ไผ่ สำหรับศึกษา
  5. โรงเรือนเพาะเห็ด ไม่ได้ทำในทุกฤดูกาล ขึ้นอยู่กับภารกิจของครูเกษตรและนักเรียนในแต่ละภาคเรียน
  6. ผักสวนครัว มีการเพาะปลูกที่แตกต่าง เช่น ผักกางมุ้ง ผักไร้ดิน ผักไฮโดรโปนิกส์ และผักลงแปลงปกติ เพื่อให้นักเรียนเห็นความแตกต่างของการทำการเกษตร

กิจกรรมทั้งหมดเน้นไปที่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 เพราะเป็นเด็กนักเรียนที่มีวุฒิภาวะความรับผิดชอบค่อนข้างสูง ในหลายกิจกรรมต้องอาศัยความเข้าใจ เช่น การเลี้ยงปลา การเลี้ยงไก่ ซึ่งทุกกิจกรรมจะแบ่งกลุ่มรับผิดชอบในการดูแล โดยไม่ได้มีการจดบันทึกการทำกิจกรรมของนักเรียน

เนื่องจากเห็นว่านักเรียนทุกคนมีความรับผิดชอบในตัวเองดี และไม่ควรกำหนดกฎเกณฑ์ให้นักเรียนรู้สึกว่าถูกบังคับ ต้องการให้นักเรียนสมัครใจเอง เพื่อสร้างจิตสำนึกที่ดี ทั้งนี้ กิจกรรมกลุ่มยังคงเป็นให้นักเรียนรับผิดชอบเป็นกลุ่ม แต่ถ้านักเรียนต้องการมีแปลงเป็นของตนเอง ครูจะแบ่งให้ดูแลและรับผิดชอบของตนเอง เพื่อความภูมิใจของตัวนักเรียนเอง

ข้อแตกต่างจากโรงเรียนที่มีกิจกรรมยุวเกษตรแห่งอื่น ก็คือ ที่นี่ไม่ได้บังคับเด็ก ไม่ได้ตั้งกฎอะไร แต่แบ่งกลุ่มให้เขาทำงาน นักเรียนจะรับผิดชอบงานของตนเองโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น ที่ผ่านมา การมอบหมายงานให้นักเรียนทำจะไม่เกิน 15 นาที เพราะเห็นว่าหากนานกว่านั้นตามธรรมชาติของเด็ก อาจทำให้เด็กนักเรียนไม่อยากร่วมกิจกรรม เนื่องจากโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านบาโรย เป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของชุมชน ทำให้การพัฒนาการเกษตรมีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อกิจกรรมใหญ่ที่มีขึ้นในโรงเรียน ต้องการแรงงาน จะขอความร่วมมือจากผู้ปกครองนักเรียนมาช่วยทุกครั้งและได้รับความร่วมมือที่ดีทุกครั้ง เฉลี่ยกิจกรรมที่ต้องการแรงงาน เดือนละ 2 ครั้ง เช่น การจับปลา การวิดบ่อ เป็นต้น

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านบาโรย แห่งนี้ ถือเป็นโรงเรียนที่มีผู้ปกครองให้ความไว้ใจ ส่งบุตรหลานมาเรียนมากที่สุดแห่งหนึ่งในอำเภอสะเดา แม้ว่าจะตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า ทุรกันดาร แต่ก็รับเด็กนักเรียนไว้และใส่ใจมากที่สุด เช่น การเดินทางที่ยากลำบากของเด็กนักเรียนชุมชนบ้านผาดำ ที่ยังคงใช้ประปาภูเขา และไม่มีไฟฟ้าเข้าถึง และหากเกิดภัยธรรมชาติเด็กนักเรียนไม่สามารถเดินทางมาเรียนได้ ครู ตชด. ที่นี่ จะจัดห้องพักไว้ให้เด็กนักเรียนได้พักค้าง กรณีไม่สามารถเดินทางไปกลับระหว่างบ้านพักและโรงเรียนได้

คุณบุญตัน จอมใจ ชายวัย 74 ปี ชาวอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมาตั้งถิ่นฐานอยู่อำเภอสะเดา จนกลายเป็นชาวสะเดาไปแล้วหลายสิบปี ใครๆ ก็เรียกคุณบุญตัน ว่า ปราชญ์ชาวบ้าน เพราะคุณบุญตัน นำความรู้ทางการเกษตรที่มี นำมาถ่ายทอดให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนทุกวัน โดยไม่คิดมูลค่า

“ผมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ที่ทำให้วัยเด็กที่ยากจนของผมได้เรียนหนังสือ ผมจึงอยากนำความรู้ที่ผมมี มาถ่ายทอดให้กับเด็กๆ เช่น วิธีการสังเกตดินเปรี้ยว ดินเค็ม และวิธีแก้ไขให้ดินเปรี้ยวหรือดินเค็มมีค่า pH ที่เป็นกลาง เพื่อให้ต้นไม้สามารถเจริญเติบโตได้ตามปกติ”

ความเห็นของเด็กๆ ที่มีต่อโครงการอาหารกลางวัน ประมวลสรุปได้ว่า เด็กนักเรียนชอบทำกิจกรรมที่แตกต่างกัน ซึ่งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านบาโรย ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เข้าถึงได้ไม่ง่ายนัก แต่การทุ่มเทการทำงานของครูผู้สอนและเด็กนักเรียนที่ตั้งใจเรียน ทำให้โรงเรียนได้รับการพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของชุมชน

หากสนใจเยี่ยมชมหรือศึกษาเป็นต้นแบบการทำงาน ติดต่อได้ที่ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านบาโรย หมู่ที่ 11 ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา