โรงเรียนดอนสีนวนฯ ทำเกษตรทฤษฎีใหม่ สร้างทัศนคติให้เห็นคุณค่าของการเกษตร

โรงเรียนดอนสีนวน (สำนักงานสลากกินแบ่งสงเคราะห์ 523) ตั้งอยู่ที่ตำบลหนองแซง อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท เป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่เปิดสอนในระดับอนุบาลถึงชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลหนองแซง อำเภอหันคา จังหวัดชัยนาท ทางโรงเรียนได้เล็งเห็นแนวทางที่จะส่งเสริมให้เด็กๆ และเยาวชน และเด็กบางกลุ่มที่ผู้ปกครองมีปัญหาทางการเงิน ไม่สามารถส่งเสียบุตรหลานให้เรียนต่อในระดับชั้นที่สูงขึ้นไปได้ ทางโรงเรียนจึงได้หาแนวทางที่จะส่งเสริมให้เด็กๆ เหล่านี้ได้มีอาชีพไว้หาเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต เพื่อที่เด็กๆ ส่วนนี้เมื่อจบการศึกษาไปแล้วจะนำความรู้ที่ได้รับไปประกอบอาชีพที่สุจริตจะได้ไม่เป็นภาระของสังคม และไม่ไปสร้างปัญหาให้กับสังคมในภายภาคหน้า

แปลงผักของกลุ่มยุวเกษตรกร

โรงเรียนดอนสีนวนฯ ได้มีการจัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกรขึ้น ตามแนวคิดของโรงเรียนได้มองเห็นความสำคัญของการประกอบอาชีพเกษตรกรรม ตามแนวพระราชดำริเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากเป็นโรงเรียนที่นักเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวเกษตรกร มีฐานะยากจน ซึ่งมีพื้นฐานการประกอบอาชีพเกษตรกรรม จึงได้ดำเนินการโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่

ยุวเกษตรกรฝึกทำน้ำยาล้างจาน

และขึ้นทะเบียนเป็นกลุ่ม “ยุวเกษตรกรในโรงเรียนดอนสีนวน” เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2540 เริ่มแรก มีสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร 21 คน ชาย 11 คน หญิง 10 คน ในปี 2557 มีสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร 40 คน ทั้งนี้ การจัดตั้งเพื่อสร้างทัศนคติให้เห็นคุณค่าของการเกษตร ปลูกฝังให้นักเรียนทุกคนได้รับความรู้และเทคโนโลยีการเกษตร เคหกิจเกษตร ธุรกิจเกษตร การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อนำความรู้และทักษะดังกล่าวเชื่อมโยงสู่การประกอบอาชีพเกษตรกรรม

ทำน้ำยาอเนกประสงค์

การเรียนรู้ของกลุ่ม “ยุวเกษตรกรในโรงเรียนดอนสีนวน” เรียนรู้การประกอบอาชีพอิสระเพื่อการมีรายได้ระหว่างเรียน ส่งเสริมและสนับสนุนให้นักเรียนมีความรู้ ทักษะและทัศนคติที่ดีต่อการประกอบอาชีพอิสระ สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการศึกษาต่อ หรือสร้างงานประกอบอาชีพอิสระส่วนตัวต่อไปในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง และมีประสบการณ์มากขึ้น พร้อมทั้งมีรายได้ระหว่างเรียนจากการจัดกิจกรรมนั้นซึ่งประกอบด้วยความหลากหลายกิจกรรม แบ่งออกเป็น งานรวม คืองานที่สมาชิกทุกคนในกลุ่มร่วมกันดำเนินการ ได้แก่ ทำปุ๋ยหมัก การปรับปรุงสภาพพื้นที่แปลงเกษตร และ งานย่อย คืองานที่สมาชิกบางคนในกลุ่มร่วมกันดำเนินการ แบ่งเป็น 5 งาน คือ งานเพาะเห็ดนางฟ้าภูฏาน ได้แก่ การเขี่ยเชื้อ การดูแล การให้น้ำ การเกิดโรค การเก็บ การจำหน่าย การตลาด การทำบัญชี งานแปรรูปผลผลิต ได้แก่ การทำแหนมเห็ด การทำเห็ดสวรรค์ กล้วยฉาบ งานทำน้ำยาอเนกประสงค์ ได้แก่ น้ำยาล้างจาน น้ำยาล้างห้องน้ำ น้ำยาถูพื้น น้ำยาซักผ้า งานเพาะปลูกพืชผักสมุนไพรและผักสวนครัว ได้แก่ งานปลูกพืชผักสวนครัว การปลูกมะนาว และงานปลูกข้าว ได้แก่ ข้าว กข ข้าวเจ๊กเชย

ร่วมปลูกป่ากับชุมชน

นอกจากนี้ ยังมีงานส่วนบุคคล เป็นงานที่ให้สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรเลือกนำความรู้และทักษะไปปฏิบัติที่บ้านตนเองตามความสนใจ เช่น การปลูกพืชผักชนิดต่างๆ เช่น การปลูกส้มโอ การปลูกแก้วมังกร การปลูกมะปราง และพืชผักต่างๆ

ทั้งยังยึดโคกหนองนาโมเดล มาเป็นแนวคิดในการสร้างสรรค์และดำเนินกิจกรรม

ร่วมกับชุมชนเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าว

โรงเรียนดอนสีนวนฯ มีพื้นที่และลักษณะดินเป็นดินทราย มีเนื้อดินบนเป็นดินทราย หรือดินทรายปนร่วน ดินมีการระบายน้ำดีจนถึงดีเกินไป ไม่อุ้มน้ำ ทำให้ดินเก็บน้ำไว้ไม่อยู่ และเกิดการกร่อนได้ง่าย เพื่อแก้ปัญหาจึงได้นำแนวคิดโคกหนองนาโมเดลมาใช้ในการแก้ปัญหา

โคกหนองนาโมเดล เป็นการจัดการพื้นที่ซึ่งเหมาะกับพื้นที่การเกษตร ได้ผสมผสานเกษตรทฤษฎีใหม่เข้ากับภูมิปัญญาพื้นบ้านแปลงสู่ค้าภาษาไทยที่ชาวบ้านเข้าใจ

ง่ายๆ คือ “โคก หนอง นา” โดยยึดหลักว่า ส่วนดินที่ขุดทำหนองน้ำนั้น บนโคกปลูก “ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง” ตามแนวทางพระราชดำริในหลวงรัชกาลที่ 9 มีขั้นตอนดังนี้

เตรียมพื้นที่นา ปลูกข้าวบนพื้นที่ 2 งาน
  1. ห่มดิน ทำการห่มดินในพื้นที่ทั้งหมดก่อน เพื่อปรับสภาพ ดินให้มีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้น
  2. หนองน้ำ เพื่อให้น้ำกระจายไปเต็มพื้นที่ ให้ขุด “คลองไส้ไก่” หรือคลองระบายน้ำรอบพื้นที่ ตามภูมิปัญญาชาวบ้านโดยขุดให้คดเคี้ยวไปตามพื้นที่เพื่อให้น้ำกระจายเต็มพื้นที่เพิ่มความชุ่มชื้น ลดพลังงานในการรดน้ำต้นไม้ ฝายทดน้ำ เพื่อเก็บน้ำเข้าไว้ในพื้นที่ให้มากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อพื้นที่โดยรอบไม่มีการกักเก็บน้ำ น้ำจะหลากลงมายังหนองน้ำ และคลองไส้ไก่ ให้ทำฝายทดน้ำเก็บไว้ใช้ยามหน้าแล้ง ปลูกหญ้าแฝก ไว้รอบๆ หนองและคลองไส้ไก่ เพื่อดูดซับน้ำและป้องกันการพังทลาย
  3. นา ให้ยกคันนาให้สูงและกว้าง โดยสูง 1-1.2 เมตร ความกว้างตามความเหมาะสม เพื่อให้นา สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้ในยามน้ำหลากพื้นที่โดยรอบ ทำการปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อเป็นอาหารกลางวันและจำหน่ายให้กับผู้ปกครองนักเรียน ทำนาน้ำลึก ปลูกข้าวอินทรีย์พื้นบ้าน โดยเริ่มจากการฟื้นฟูดิน ด้วยการทำเกษตรอินทรีย์ คืนชีวิตเล็กๆ หรือจุลินทรีย์กลับคืนแผ่นดิน ข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่เติบโตด้วยดินที่อุดมจะมีภูมิคุ้มกันต่อโรคและแมลง

จากการสอบถามนักเรียนสมาชิกยุวเกษตรกร ทราบว่า นอกจากการฝึกเรียนรู้และปลูกฝังทัศนคติที่ดีต่ออาชีพด้านการเกษตร สมาชิกจะได้พิ่มความสามารถในการบริหารและการจัดการสถาบัน ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ รู้จักการทำงานเป็นหมู่คณะ ส่งเสริมการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย โดยอาศัยข้อบังคับและวิธีการดำเนินงานยุวเกษตรเป็นแนวทางการฝึกหัด มีการวางแผนกิจกรรมต่างๆ ทั้งงานของกลุ่มแบบส่วนรวม งานกลุ่มย่อย และงานส่วนบุคคล การกำหนดบทบาทหน้าที่ของกลุ่ม โดยการประชุมเลือกตั้งคณะกรรมการสภายุวเกษตรกรทุก 2 ปี เพื่อให้สมาชิกได้มีการเลือกผู้นำตามระบอบประชาธิปไตย บริหารงานและการจัดการในรูปของคณะกรรมการอย่างชัดเจน

นาข้าว กข 43

ซึ่งได้รับความร่วมมือจากสมาชิกปฏิบัติตามกฎกติกาของกลุ่ม การสร้างผู้นำและพัฒนาศักยภาพผู้นำกลุ่มยุวเกษตรกร เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาได้สร้างความเชื่อมั่นพัฒนาขึ้นตามลำดับ สมาชิกจะดำเนินกิจกรรมโดยแบ่งกิจกรรมตามกลุ่มย่อยที่มีความสนใจในแต่ละกิจกรรม บริหารกิจกรรมเพื่อไม่ให้เกิดความซับซ้อนในงานกลุ่มย่อยที่ต้องดำเนินการ รวมทั้งเป็นแกนกลางในการบริหารกิจกรรมการวางแผนการปฏิบัติของสมาชิกกลุ่มย่อย การดำเนินงานจะมีการสร้างข้อตกลงและระเบียบในการทำกิจกรรมของกลุ่ม ให้สมาชิกเข้าร่วมตามความสนใจและความถนัด

โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่

กลุ่มยุวเกษตรกร มีการประเมินผลเพื่อการสรุปผลการดำเนินงานตามแผนงาน โดยให้มีการประชุมเป็นประจำ จัดทำเอกสารและบัญชีรายรับ-รายจ่าย โดยสมาชิกในกลุ่มเป็นผู้จดบันทึกกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน วางแผนและแบ่งงานให้สมาชิกร่วมดำเนินการ มีสมุดบันทึกประจำกลุ่ม ประจำกลุ่มย่อย และสมุดบันทึกกิจกรรมของสมาชิกรายบุคคล เพื่อใช้สำหรับการวางแผนปฏิบัติงานในแต่ละวัน รวมทั้งการนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนและปรับปรุงกิจกรรม ควบคู่กับการประเมินผลงานของกลุ่ม ว่าผลการดำเนินงานสำเร็จตามวัตถุประสงค์ ทั้งการเรียนรู้ ความสามารถดำเนินกระบวนการในการประกอบธุรกิจที่ได้รับการฝึกประสบการณ์ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ได้รู้จักคิดและแก้ปัญหาด้วยตนเองได้ และรู้จักการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มเพื่อหารายได้ระหว่างเรียนตามสภาพ และความสามารถของตนเองอย่างมีความสุข มีนิสัยรักการทำงานและยังส่งเสริมให้ยุวเกษตรกรได้รู้จักคิดสร้างงาน เพื่อเลี้ยงชีพและประกอบอาชีพสุจริตต่อไปในอนาคต มีความรับผิดชอบและมีระเบียบวินัยต่อตนเอง และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ได้รู้จักประหยัดและอดออมในการใช้ทรัพยากรในการปฏิบัติโครงการ อีกทั้งยังมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่เพื่อนร่วมงาน สามารถพึ่งตนเองได้จากการประกอบอาชีพในระหว่างที่ยังศึกษาอยู่ในโรงเรียน นำประสบการณ์ไปประกอบอาชีพเบื้องต้นเลี้ยงตนเองได้ เป็นผู้นำท้องถิ่นได้

จากการสังเกตพบว่า ยุวเกษตรกรมีความพึงพอใจในการดำเนินงานและผลประโยชน์ที่แต่ละโครงการจัดแบ่งให้ และยุวเกษตรกรยังได้เรียนรู้กลยุทธ์ในการจัดหาตลาด และจัดจำหน่ายผลผลิตของตนเอง

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก วันพฤหัสที่ 21 มกราคม พ.ศ.2564