ยุวเกษตรกร โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37 กระบี่ ปิ๊งไอเดีย ใช้ผักตบชวา ปรับปรุงดินเพื่อการเกษตร

กลุ่มยุวเกษตรกร ไม่ได้ถูกตั้งขึ้นในโรงเรียนทุกแห่ง แต่ได้รับการก่อตั้งขึ้น ตามความเห็นของโรงเรียนในการส่งเสริมกิจกรรมนอกเวลาเรียนให้เด็กนักเรียนมีความรู้ มีพื้นฐานอาชีพ รู้จักการดำรงชีวิตอย่างแท้จริง

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37 อำเภอเขาพนม จังหวัดกระบี่ เป็นอีกแห่งที่มีการก่อตั้งกลุ่มยุวเกษตรกรขึ้น เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้เด็กในโรงเรียนได้เรียนรู้ด้านอาชีพ นำประสบการณ์ไปปรับใช้ในการดำรงชีวิตในสังคมอย่างเข้มแข็ง ซึ่งปี 2552 ที่ผ่านมา โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37 ได้รับคัดเลือกให้ได้รับรางวัลสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ในฐานะกลุ่มยุวเกษตรกร

นักเรียนทั้งหมดของโรงเรียนมีประมาณ 800 คน จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 การเรียนการสอน เน้นอาชีพและส่งเสริมวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ซึ่งเด็กนักเรียนที่มีความสามารถโรงเรียนจะส่งเสริมสนับสนุนให้ได้เรียนต่อไปถึงระดับปริญญาตรี

กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เยาวชนเกษตรกร ได้เรียนรู้หลักวิชาการการเกษตร ได้รู้จักวางแผนในการทำงานอย่างเป็นระบบและทำงานร่วมกับผู้อื่น การนำประสบการณ์ไปประกอบอาชีพ และภาวะความเป็นผู้นำ

การจัดการในกลุ่ม จะเน้นให้นักเรียนมีบทบาทหลัก แต่จะมีอาจารย์เป็นผู้ให้คำแนะนำปรึกษา ตลอดจนองค์กรภายนอกจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานเกษตรจังหวัด สำนักงานเกษตรอำเภอ ให้คำชี้แนะทางการเกษตร เป็นต้น

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37 ได้ดำเนินกิจกรรมหลักๆ ด้านการเกษตร ทั้งปลูกพืชผักสวนครัวในวงบ่อซีเมนต์ การเพาะเห็ดฟาง การเลี้ยงสัตว์ เพื่อนำผลผลิตไปสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียน และเป็นการวางพื้นฐานการประกอบอาชีพให้แก่นักเรียน และคนในชุมชนปลูกพืชผักกินเอง เพื่อลดรายจ่าย ส่วนที่เหลือจำหน่ายเพิ่มรายได้ จนกลายเป็นอาชีพหลักของครัวเรือนในพื้นที่

นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 คนหนึ่ง เล่าว่า บ้านเดิมอยู่จังหวัดสุราษฎร์ธานี แต่ย้ายตามพ่อแม่มาอยู่ที่จังหวัดกระบี่ มีพี่น้องทั้งหมด 4 คน เป็นคนที่ 2 เริ่มเรียนรู้และทำการเกษตรในกลุ่มยุวเกษตรกร เมื่อเรียนอยู่มัธยมศึกษาปีที่ 2 เริ่มจากการเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ตลอดจนการปลูกผัก ซึ่งทุกกระบวนการจะมีอาจารย์ที่ปรึกษาให้คำแนะนำ และได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการเพิ่มเติม เช่น กรมปศุสัตว์ เป็นต้น

สำหรับผักที่ปลูก ได้แก่ ผักกาดขาว ผักคะน้า ผักบุ้ง ซึ่งบางส่วนนอกจากจะบริโภคภายในโรงเรียนแล้ว ยังสามารถนำส่งขายตลาดเทศบาลได้ด้วย ซึ่งรายได้จะเก็บไว้ในกองทุน เด็กนักเรียนจะเริ่มทำการเกษตร เมื่อเรียนอยู่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5

ที่ผ่านมา การเพาะปลูกต่างๆ ใช้แรงงานคนในการดูแลรักษาเป็นหลัก แต่การใช้แรงงานคนในการดูแลนั้น มักพบปัญหาในหลายด้าน เนื่องจากการประสบการณ์และขาดการเอาใจใส่ ทำให้คุณภาพผลผลิตไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เนื่องจากปัญหาในการดูแลพืชบางชนิดที่มีระยะเวลาเติบโตสั้น และมีองค์ประกอบโครงสร้างละเอียดอ่อน เสียหายง่าย การปลูกและการผลิตจึงมักประสบอุปสรรคและปัญหาต่างๆ อยู่เสมอ ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งปริมาณและคุณภาพ ตั้งแต่เริ่มปลูกจนถึงมือผู้บริโภค

นักเรียนในกลุ่มยุวเกษตรกร ของโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37 ได้ช่วยกันคิดค้นระบบอัตโนมัติ ที่สามารถควบคุมการรดน้ำและการใส่ปุ๋ยให้อยู่ในปริมาณที่พอเหมาะ และไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานในการเฝ้าดู และประสบความสำเร็จในปี 2561 ทำให้เกิดไอเดียการทำโครงงานระบบแปลงเกษตร loT ซึ่งแบ่งการทำงานออกเป็น 2 ระบบ คือ

  1. สั่งการทำงานของระบบผ่านมือถือ
  2. ระบบการทำงานแบบอัตโนมัติ โดยเมื่อเซนเซอร์ตรวจวัดค่าปริมาณความชื้นในดินแล้ว พบว่า ค่าความชื้นต่ำกว่าที่ตั้งไว้ Raspberry Pi จะส่งคำสั่งให้ระบบปล่อยน้ำ เพื่อรดน้ำแปลงเกษตรกรเป็นเวลา 10-30 นาที แล้วแต่พื้นที่ปลูก และเมื่อถึงเวลาให้ปุ๋ย ก็จะสั่งจ่ายปุ๋ยทุก 15 วัน Raspberry Pi จะสั่งให้ระบบจ่ายปุ๋ยทำงาน เพื่อให้ปุ๋ยแก่พืชที่ปลูกอยู่ ซึ่งโครงงานระบบแปลงเกษตร loT นี้ สามารถรดน้ำและใส่ปุ๋ยแปลงสาธิตได้ตามโปรแกรม และตรวจเช็กว่า ระบบขัดข้อง ผู้ควบคุมดูแลก็จะสามารถสั่งให้รดน้ำและใส่ปุ๋ยผ่านมือถือ หรือคอมพิวเตอร์ได้ ทั้งนี้ ค่าต่างๆ ที่ป้อนเข้าสู่โปรแกรมทั้งระยะเวลาและการให้น้ำ ให้ปุ๋ย และค่าความชื้น ต้องมีการศึกษาหาข้อมูลให้เหมาะสมกับชนิดของพืชที่จะปลูกลงแปลงเกษตรด้วย

นอกจากนี้ ในปี 2563 โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37 ซึ่งเน้นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ให้ความสำคัญกับการปลูกผัก การเลี้ยงสัตว์ โรงเรียนจึงนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้หารายได้ระหว่างเรียนจากการปลูกผักส่งโรงครัวแล้วนำมาประกอบอาหาร แต่ทางโรงเรียนได้ประสบปัญหาเกี่ยวกับดิน เพราะโรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่ดินขาดธาตุอาหาร ไม่เหมาะแก่การเพาะปลูก

เด็กนักเรียนจึงช่วยกันคิดค้นการบำรุงดิน โดยนำดินที่หมักด้วยผักตบชวา ซึ่งเป็นดินผสมพร้อมปลูกเหมาะกับการปลูกพืชทุกชนิด มาใช้เป็นดินปลูก ซึ่งผักตบชวามีประโยชน์ สามารถนำมาใช้ได้หลากหลายเหมาะกับการเกษตร

ผักตบชวา สามารถนำมาใช้ทำปุ๋ยหมัก สำหรับการปลูกพืชผักต่างๆ เนื่องจากผักตบชวามีโพแทสเซียมอยู่มากเป็นพิเศษ ส่วนฟอสฟอรัสและไนโตรเจนก็มีอยู่พอสมควร เมื่อนำมาใช้คลุมต้นไม้ที่ปลูกไว้ก็จะเกิดความชุ่มชื้น เนื่องจากผักชนิดนี้มีคุณสมบัติในการอุ้มน้ำได้ดี ผักตบชวาที่มีจำนวนมาก ยังช่วยกรองสารอินทรีย์ที่ละเอียดและจุลินทรีย์ที่อาศัยเกาะอยู่ที่ราก จึงช่วยดูดสารเหล่านี้ไว้ด้วยอีกทางหนึ่ง แต่ถ้าน้ำเสียนั้นมีสารพิษในปริมาณมาก หรือน้ำเสียมาก การใช้ผักตบชวาเพื่อบำบัดน้ำเสียจะให้ผลช้า และอาจทำให้น้ำเน่าได้ จึงควรใช้ผักตบชวาร่วมกับการบำบัดน้ำเสียระบบอื่นไปด้วย จึงจะได้ผลดี

การบำบัดน้ำเสียด้วยระบบอื่นนั้น นักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 37 เห็นความสำคัญของนาโนเซลลูโลสของน้ำสับปะรด คือสารที่อยู่ในพืชและผักทุกชนิดที่ถูกการสังเคราะห์แสง มีความเป็นเส้นใย และมีคุณสมบัติในการกักเก็บ จึงได้เอาความเป็นเซลลูโลสนี้มาทำให้อยู่ในระดับนาโน ซึ่งเป็นระดับที่คนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และทางโรงเรียนได้เน้นให้นักเรียนได้รับประทานอาหารผัก ผลไม้ที่ปลอดสารพิษ เพราะการปลูกผักโดยปัจจุบัน ส่วนใหญ่ใช้สารเคมีหรือยาฆ่าศัตรูพืช และก่อให้เกิดปัญหาสารตกค้างในดิน กลุ่มยุวเกษตรกรกลุ่มนี้ จึงได้นำเซลลูโลส (cellulose) เป็นคาร์โบไฮเดรต (carbohydrate) ประเภทพอลิแซ็กคาไรด์ (polysaccharide) ประเภท ฮอโมพอลิแซ็กคาไรด์ (homopolysaccharide) ที่มีน้ำหนักโมเลกุลสูง ประกอบด้วย น้ำตาลกลูโคส (glucose) เซลลูโลส เป็นโครงสร้างหลักของผนังเซลล์พืช เช่น ผลไม้ ผัก และเมล็ดธัญพืช โดยอยู่รวมกับเฮมิเซลลูโลส และเพกทินเซลลูโลส จัดเป็นเส้นใยอาหาร (dietary fiber) ชนิดที่ไม่ละลายในน้ำ และไม่สามารถย่อยได้ด้วยเอนไซม์ในระบบทางเดินอาหารของมนุษย์ และสัตว์กระเพาะเดี่ยว มาใช้

ผลสรุปจากปัญหาที่พบ เด็กนักเรียนได้จัดทำแปลงผักสาธิตด้วยนาโนเทคโนโลยีผ่านระบบ loT ขึ้น เพื่อช่วยในการแก้ปัญหา โดยนำผักตบชวานั้นมาบูรณาการใช้แทนดิน ซึ่งผักตบชวานั้นเป็นวัชพืชที่มีการเจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และมีสารที่เป็นประโยชน์ ได้แก่ โปรตีนไลซีน และแคโรทีนสูง อีกทั้งยังมีแคลเซียม และฟอสฟอรัส โดยนำไปหั่นและปั่นให้ละเอียด แล้วนำมาคลุกเคล้ากับดิน เพื่อให้ดินมีแร่ธาตุมากขึ้น เหมาะแก่การเจริญเติบโตของพืชผัก ให้พืชผักที่ได้มีคุณภาพ เหมาะแก่การนำไปปรุงเป็นอาหารให้นักเรียนในโรงเรียนรับประทาน

นอกจากนี้ นักเรียนยังนำตัว kid-bright มาประยุกต์ใช้ในการทำโครงงาน ทำให้เกิดแนวคิดใหม่มาใช้แก้ปัญหา โดยนำเทคโนโลยีในยุค Thailand 4.0 โดยระบบสมองกลคอมพิวเตอร์ในการคิดคำนวณและควบคุมการทำงานของเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ จึงได้จัดทำโครงงาน แปลงผักสาธิตด้วยนาโนเทคโนโลยีผ่านระบบ loT เพื่อมาแก้ไขปัญหาในการปลูกพืชผัก และยังสามารถนำมาปรับใช้ในโรงเรียนและชุมชนได้

โครงงานระบบแปลงเกษตร loT ช่วยรดน้ำและใส่ปุ๋ย
โครงงานแปลงผักสาธิต ด้วยนาโนเทคโนโลยีผ่านระบบ loT