อุปกรณ์ตัดไม่ตก ใช้เก็บใบตอง คุ้มคุณภาพ ของนักศึกษาวิทยาลัยการอาชีพตรัง

เป็นระเบียบของการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ที่กำหนดให้นักศึกษาต้องนำวิชาเรียนพื้นฐานที่เรียนไปตั้งแต่เริ่มศึกษาในระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ในทุกวิชาที่เกี่ยวข้องกับสายงานตัวเอง มาประยุกต์เพื่อคิดโครงงานวิจัยให้เกิดชิ้นงานหรือสิ่งประดิษฐ์ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์หรือช่วยแก้ปัญหาให้กับท้องถิ่นหรือชุมชน และต้องเป็นชิ้นงานที่ไม่ได้ทำเพื่อตนเอง

เมื่อถึงเทอมสุดท้ายของการศึกษา นักศึกษา ระดับชั้น ปวส. ปีที่ 2 กลุ่มหนึ่ง นำเสนออุปกรณ์ตัดใบกล้วย โดยใช้ชื่อว่า “อุปกรณ์ตัดไม่ตก”

แนวคิดนี้ เป็นของ นายนัทธพงศ์ อินทรขัน นายอากร ขำเกลี้ยง และ นายนลธวัช หัวเขา อดีตนักศึกษาแผนกช่างยนต์ วิทยาลัยการอาชีพตรัง

ทั้ง 3 คน ให้คำตอบถึงแนวคิดว่า ผู้สูงอายุในชุมชนส่วนใหญ่ไม่ได้ประกอบอาชีพ ประกอบกับบริเวณที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ปลูกกล้วยตานี ผู้สูงอายุเกือบทั้งหมดจึงหารายได้จากการตัดใบกล้วยตานีไปขาย โดยใช้มีดทำครัวผูกติดกับไม้ที่มีขนาดยาว เช่น ไม้ไผ่ ด้วยยางในของรถจักรยานยนต์ เพื่อให้ด้ามมีดมีความยาวมากพอที่จะตัดก้านใบกล้วย เมื่อใช้ไปสักระยะการผูกเกิดหลวม เป็นเหตุให้มีดหล่น ผู้ใช้ถูกมีดบาด หรือการตัดก้านใบกล้วยแล้ว ใบกล้วยจะหล่นลงพื้น เมื่อหล่นถูกต้นไม้ ดิน หรือวัสดุอื่นที่พื้น โอกาสที่ใบกล้วยจะแตกมีสูง

จากนั้น เมื่อลองศึกษาการนำใบกล้วยตานีไปจำหน่าย พบว่า พ่อค้าที่รับซื้อจะให้ราคาจากคุณภาพของใบกล้วย หากใบกล้วยไม่แตก หรือฉีกแตกไม่เกิน 3 แฉก ถือว่าเป็นใบกล้วย เกรด A จะได้ราคาดี หากใบกล้วยแตกมาก ถือว่าตกเกรด ก็จะให้ราคาถูกลง

“แนวคิดการทำสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ ก็เพื่อแก้ปัญหามีดหล่นบาดผู้ใช้ และช่วยให้ใบตองไม่หล่นลงพื้น ลดโอกาสใบกล้วยแตก ซึ่งเป็นผลให้ราคารับซื้อถูก เมื่อใบกล้วยคุณภาพดี ราคาซื้อขายใบกล้วยก็ดีไปด้วย”

เมื่อแนวคิดนี้นำมาเสนอให้กับครูที่ปรึกษา ได้แก่ อาจารย์สิฐวิชญ์ แต้มประสิทธิ อาจารย์เธียรศักดิ์ ศรีขำ และ อาจารย์มนัส แก้วกูล จึงถูกนำมาขัดเกลา เพื่อให้สิ่งประดิษฐ์ออกมาสมบูรณ์แบบที่สุด

อาจารย์สิฐวิชญ์ กล่าวว่า นับตั้งแต่เริ่มนำเสนอแนวคิด ให้ข้อเสนอแนะ มีการปรับแก้เพื่อให้ชิ้นงานออกมาสมบูรณ์ที่สุด ใช้ระยะเวลาประมาณ 4 เดือน จึงได้สิ่งประดิษฐ์ที่สมบูรณ์แบบ โดยสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ส่งเข้าประกวดได้รับรางวัลที่ 3 ของสิ่งประดิษฐ์ประเภทที่ 1 ของสิ่งประดิษฐ์ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต ในการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับภาคใต้ และได้รับรางวัลที่ 1 ของสิ่งประดิษฐ์ด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต ในการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับชาติ

“ในระยะแรกปรับแก้อยู่หลายครั้ง เกี่ยวกับกลไกและวัสดุที่ใช้ประดิษฐ์ เริ่มต้นจากการทำโครงสร้างทั้งหมดด้วยสแตนเลส ปรับแก้จากใบมีดสแตนเลสเป็นใบมีดของเครื่องตัดหญ้า เพราะใบมีดมีความสำคัญมาก ต้องตัดในครั้งเดียวให้ใบกล้วยขาด และไม่เกิดสนิม หรือการทำความสะอาดยางกล้วยที่ติดใบมีดทำได้ลำบาก ซึ่งใบมีดของเครื่องตัดหญ้าเป็นคำตอบ จึงนำมาใช้แทนใบมีดสแตนเลสเดิม เมื่อยางกล้วยติดที่ใบมีด ก็ทำความสะอาดได้และนำกลับไปใช้ได้ตลอดอายุการใช้งานของอุปกรณ์ โดยประมาณไม่ต่ำกว่า 20 ปี แน่นอน”

คุณประโยชน์ที่เห็นได้ชัด และตรงกับวัตถุประสงค์ของการทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์ คือ ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตกลุ่มเกษตรกรผู้ตัดใบตองจำหน่ายให้มีเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อใช้ในการตัดใบตองจำหน่าย ซึ่งช่วยให้การจำหน่ายใบตองมีราคาสูงขึ้นไปด้วย เนื่องจากใบตองที่ตัดมาจำหน่ายไม่แตกหัก และสามารถช่วยลดระยะเวลาในการตัดใบตองให้น้อยลงด้วย

คุณลักษณะของอุปกรณ์ตัดไม่ตก มีใบมีดอยู่ด้านบน รูปร่างคล้ายตัวยู ด้านข้างมีเหล็กยื่นออกไปคล้ายงวงช้าง มีปลายแหลมเพื่อเสียบก้านใบตอง ด้านล่างมีสปริง สามารถเคลื่อนที่ขึ้นลงได้

“ตอนเราตัดเสร็จ ใบกล้วยจะติดกับใบมีด ตัวตัดจะติดกับปลายมีด มีตัวเกี่ยวใบไม่ให้ตกพื้น เมื่อนำลงมาก็สามารถสไลซ์ด้ามให้สั้นยาวตามความถนัดของผู้ใช้ ตัวงวงช้างจะงอขึ้นบนและมีเหล็กเสียบ 4 ตัว แทงก้านใบ เมื่อแทงติดผู้ใช้ก็ดันด้ามขึ้นไป ใบมีดก็จะเลื่อนขึ้นไปตัดก้านกล้วยที่ติดกับต้นจนขาด จากนั้นจะหนีบติดอยู่กับใบมีดที่ออกแบบไว้ เมื่อสไลซ์ด้ามลงมา ก็ถอดใบกล้วยออก เมื่อใบกล้วยไม่ตกถึงพื้นก็ไม่มีรอยฉีกขาด ทำให้ใบกล้วยที่นำไปขายได้ราคาดี”

สำหรับปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ และเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการแตกของใบกล้วย คือ สภาพดินฟ้าอากาศที่ไม่เป็นใจ โดยเฉพาะลมแรง ยังไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งในฤดูนั้นๆ จะทำให้ใบตองเกิดปัญหาฉีกขาดมาก เกษตรกรผู้ตัดใบกล้วยขายไม่ได้ราคา

ต้นทุนการผลิตประมาณ 600 บาท ถือว่าเป็นราคาที่เกษตรกรพอใจ รับได้ ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรที่สนใจสั่งซื้อจากวิทยาลัยการอาชีพตรังจำนวนมาก แต่ติดปัญหาการผลิต ที่มีบุคลากรสำหรับการผลิตน้อย เนื่องจากนักศึกษาเพิ่งสำเร็จการศึกษาออกไป ทำให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องและสามารถประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์นี้ได้ มีเพียงอาจารย์ 3 ท่าน ประกอบกับมีภารกิจหน้าที่ในการสอนและอื่นๆ ตามหน้าที่อาจารย์ ทำให้ผลิตได้น้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร

แต่อย่างไรก็ตาม ถือเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจของนักศึกษาและอาจารย์ของวิทยาลัยการอาชีพตรัง เพราะตรงตามวัตถุประสงค์ คือ ช่วยแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรผู้ตัดใบตองจำหน่าย และยังคงรับออเดอร์ได้อย่างต่อเนื่อง แต่ต้องรอ เพราะบุคลากรไม่เพียงพอตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ทั้งนี้ ผู้สนใจ ติดต่อได้ที่ อาจารย์สิฐวิชญ์ แต้มประสิทธิ ครูที่ปรึกษา โทรศัพท์ 087-629-0544 หรือติดต่อได้ที่ วิทยาลัยการอาชีพตรัง เลขที่ 70 หมู่ที่ 4 ถนนตรัง-ปะเหลียน อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ในวันและเวลาราชการ

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ.2564