โรงเรียน ตชด.เบญจมะ 1 ตั้งในหุบเขา ล้อมด้วยดอยสูง ในถิ่นทุรกันดาร

บ้านสามหมื่น หมู่ที่ 6 ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ เดิมเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าม้ง มูเซอแดง และมูเซอเหลือง มาก่อน ต่อมาได้อพยพออกไป บ้านสามหมื่น เป็นพื้นที่คาบเกี่ยวรอยต่อ 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่, อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้เฒ่าผู้แก่ ได้เรียกสภาพพื้นที่นี้ว่า “ซางเหมิ่ง” แปลว่า “ประตูสามบาน” ซึ่งเปรียบเสมือนประตูที่เปิดเชื่อมติดต่อไปสู่ 3 พื้นที่ดังกล่าว และทางหน่วยงานของราชการได้เขียน และเรียกหมู่บ้านนี้ว่า “หมู่บ้านสามหมื่น” จึงได้ใช้ชื่อ “หมู่บ้านสามหมื่น” มาจนถึงปัจจุบัน

สภาพหมู่บ้านสามหมื่น หรือ ซางเหมิ่ง-ประตูสามบาน

เมื่อ ปี พ.ศ. 2500 ชนเผ่าลีซู หรือ ลีซอ จากอำเภอพร้าว และบ้านเลาวู อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ประมาณ 80 ครัวเรือน ได้อพยพเข้ามาอยู่อาศัย โดยมี นายงอปุ หรี่จา เป็นผู้นำชาวบ้าน โดยมาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำกองอำนวยการกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ (หนองน้ำ กรป.) ต่อมา นายเลาชาง เลายีปา ผู้นำตามธรรมชาติ ได้อพยพชาวบ้านมาอยู่ในพื้นที่ ณ บ้านสามหมื่น ในปัจจุบัน

ประชากรในหมู่บ้านสามหมื่น เป็นชาวไทยภูเขา 4 กลุ่มชาติพันธุ์ คือ เผ่าลีซู (ลีซอ), จีน, ไทยใหญ่ และปะหล่อง (ดาละอั้ง) ปัจจุบัน มีทั้งหมด 126 ครัวเรือน ประชากร 658 คน เป็นชาย 348 คน และหญิง 310 คน

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเบญจมะ 1

อาณาเขต

ทิศเหนือ ติดต่อ หมู่บ้านห้วยหก อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่

ทิศใต้ ติดต่อ หน่วยจัดการต้นน้ำดอยสามหมื่น อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

ทิศตะวันออก ติดต่อ บ้านน้ำรู หมู่ที่ 5 ตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

ทิศตะวันตก ติดต่อ ตำบลเวียงเหนือ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

เด็กนักเรียนที่น่ารักน่าเอ็นดู ได้รับความเมตตาจากผู้ใจบุญ มอบเสื้อกันหนาว ของใช้ส่วนตัว อุปกรณ์การเรียนการสอน ขนม นม และข้าวสารอาหารแห้ง

เส้นทางสู่หมู่บ้านสามหมื่น อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นถนนลูกรัง สูงชัน ทางวิบาก ต้องใช้รถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ หรือมอเตอร์ไซค์วิบาก ไปได้ 3 ทาง ได้แก่ 1. เส้นทางจากอำเภอเวียงแหง – บ้านห้วยหก –บ้านสามหมื่น ระยะทาง ประมาณ 20 กิโลเมตร ใช้เวลา ประมาณ 1.30 ชั่วโมง 2. เส้นทางจากเมืองคอง อำเภอเชียงดาว –บ้านสามหมื่น ระยะทาง ประมาณ 25 กิโลเมตร ใช้เวลา ประมาณ 1.30 ชั่วโมง 3. เส้นทางจากห้วยน้ำดัง – บ้านสามหมื่น ระยะทาง ประมาณ 22 กิโลเมตร ใช้เวลา ประมาณ 1.30 ชั่วโมง

วิถีเกษตรกรที่บ้านสามหมื่น ก็เหมือนกับชนเผ่าชาติพันธุ์ต่างๆ ที่นิยมปลูกข้าวโพด ข้าวไร่ พืชผักสวนครัว ไม้ผล เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู และพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ กาแฟดอยสามหมื่น ที่มีคุณภาพหอมชื่นใจ และขมถึงใจ เพราะปลูกในพื้นที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,400 เมตร ทำให้กาแฟมีสารกาเฟอีนที่มีคุณภาพสูงมาก สำหรับผู้ที่สนใจผลผลิตกาแฟ เพื่อนำไปต่อยอดทางธุรกิจสร้างแบรนด์สินค้าใหม่ ติดต่อได้ที่ ผู้ใหญ่ยงยุทธ โทร. (063) 116-1117 หรือ ครูดา โทร. (062) 293-3244

เลี้ยงไก่

ความเป็นมาของ โรงเรียนตระเวนชายแดนเบญจมะ 1

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเบญจมะ 1 บ้านสามหมื่น หมู่ที่ 6 ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งพิกัด MB 579496 จัดตั้งขึ้นเมื่อ วันที่ 1 มิถุนายน 2508 โดยราษฎรบ้านดอยสามหมื่น ชนเผ่าลีซอ ได้ร้องขอไปยัง กก.ตชด.เขต 5 (เดิม) ให้จัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนขึ้นที่บ้านสามหมื่น เพื่อให้เด็กและเยาวชนในหมู่บ้านได้เรียนรู้หนังสือ สามารถอ่านเขียนและพูดภาษาไทยได้ เปิดทำการสอนครั้งแรกมีนักเรียน จำนวน 38 คน เป็นชาย 20 คน และเป็นหญิง 18 คน มีครูทำการสอน 2 คน คือ สิบตำรวจแซม ศักดิ์เอี่ยม ทำหน้าที่ครูใหญ่ และ พลตำรวจสมัครประสิทธิ์ อินทราโมทย์ เป็นครูผู้สอน

ได้เรียนรู้

ต่อมาสมาคมเบญจมบพิตร ได้ทูลเกล้าฯ ถวายเงินโดยเสด็จพระราชกุศลแด่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อก่อสร้างอาคารเรียน จำนวน 20,000 บาท โดยมี นายคำหริ่ง จองเช เป็นผู้รับเหมาการก่อสร้างอาคารเรียนถาวร ขนาด กว้าง 9 เมตร ยาว 16 เมตร สร้างเสร็จ วันที่ 17 สิงหาคม 2508 และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดอาคารเรียน เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2510 และพระราชทานนามว่า “โรงเรียนเบญจมะ 1” ต่อมาในปี พ.ศ. 2528 กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน ได้เพิ่มคำว่า “ตชด.” หน้าเบญจมะ 1 เป็น “โรงเรียน ตชด.เบญจมะ 1”

อาหารกลางวัน

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริและทรงเยี่ยมราษฎร จำนวน 5 ครั้ง ดังนี้

ครั้งที่ 1 วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2538

ครั้งที่ 2 วันที่ 19 มกราคม 2544

ครั้งที่ 3 วันที่ 19 มกราคม 2550

ครั้งที่ 4 วันที่ 16 มกราคม 2555

ครั้งที่ 5 วันที่ 27พฤศจิกายน 2560

แปลงผัก

ปัจจุบัน โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเบญจมะ 1 มีพื้นที่ทั้งหมด จำนวน 4 ไร่ 2 งาน โดย ดาบตำรวจหญิงรำพึง ต่อปัญญา เป็นครูใหญ่ และมีครู ตชด. และพลเรือน เป็นครูผู้สอนอีก 7 คน มีนักเรียน  82 คน เป็นชาย 53 คน, หญิง 29 คน ทำการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 ถึง ป.6

โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน

ทำให้เด็กได้เรียนรู้การเกษตร และมีอาหารได้รับประทาน

กาแฟของเกษตรกร

โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นโครงการที่ได้มุ่งเน้นให้นักเรียน ครู และผู้ปกครอง ได้มีส่วนร่วมกันในการทำการเกษตรในโรงเรียน แล้วนำผลผลิตที่ได้มาประกอบอาหารกลางวัน โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานเงิน สิ่งของ พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ วัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตร และวัสดุอุปกรณ์ในการประกอบอาหารให้แก่โรงเรียนในโครงการ วัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กนักเรียนได้มีอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการได้บริโภคตลอดปีการศึกษา โดยใช้ผลผลิตที่เกิดจากการทำการเกษตรภายในโรงเรียน นำมาประกอบเป็นอาหารกลางวันให้แก่เด็กนักเรียน อีกทั้งเด็กนักเรียนยังได้รับความรู้ทางโภชนาการและการเกษตรแผนใหม่ เพื่อได้นำไปประกอบอาชีพได้ต่อไป

พระอธิการศราวุธ สุทฺธสีโล เจ้าอาวาสวัดกำแพงแลง ตำบลท่าราบ อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี และบริษัท อี โคเทค พาร์ท จำกัด ร่วมกันบริจาค และเปลี่ยนแผงโซล่าเซลล์ รวมทั้งอุปกรณ์ ให้แก่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเบญจมะ 1 บ้านสามหมื่น เป็นเงิน 100,000 บาท เพื่อผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ให้กับโรงเรียน

โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ของ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเบญจมะ 1 เด็กนักเรียนได้เรียนรู้การเกษตรตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง โดยทุกวัน ตั้งแต่เวลา 15.00 น. จนถึงเวลา 16.00 น. ครูผู้สอนจะนำเด็กนักเรียนทุกคนได้ลงมือปฏิบัติในภาคสนาม เช่น การเตรียมดิน การปลูก การดูแลรักษาพืชผักสวนครัว/พืชไร่/ไม้ดอกไม้ประดับ/ไม้ผล เป็นต้น รวมทั้งการเลี้ยงดูแลไก่พันธุ์ไข่, ไก่พันธุ์เนื้อ, การเลี้ยงสุกร อีกทั้งทางโรงเรียนยังได้ขยายผลทางการเกษตรต่างๆ ไปสู่ครอบครัวผู้ปกครองและชุมชน เพื่อที่จะได้มีส่วนร่วมในการนำผลผลิตทางการเกษตรที่ได้มาร่วมประกอบเลี้ยงอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียนอีกทางหนึ่ง

โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จึงนับได้ว่าเป็นโครงการเรียนรู้จากการทำจริงที่ให้ประโยชน์อย่างแท้จริงแก่เด็กนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และชุมชน ในการพัฒนาความรู้ทางการเกษตรและทางโภชนาการ