โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 สตูล รับนักเรียนด้อยโอกาส สอนทำเกษตรเพื่อดำรงชีพ

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 ตั้งอยู่หมู่ที่ 7 ตำบลเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูล

โรงเรียนแห่งนี้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2549 ซึ่งตรงกับวันครองราชย์ครบ 60 ปี ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช กระทรวงศึกษาธิการ ได้ประกาศจัดตั้ง “โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 จังหวัดสตูล” เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 เนื่องในวโรกาสฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี

นายภานุกานต์ กาญจนจำนงค์

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 จังหวัดสตูล เปิดสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นโรงเรียนสหศึกษา ประเภทอยู่ประจำ จัดการศึกษาสำหรับนักเรียนด้อยโอกาส 10 ประเภท ได้แก่

  1. เด็กที่ถูกบังคับให้ขายแรงงาน หรือแรงงานเด็ก
  2. เด็กเร่ร่อน
  3. เด็กที่อยู่ในธุรกิจบริการทางเพศ
  4. เด็กที่ถูกทอดทิ้ง
  5. เด็กที่ถูกทำร้ายทารุณ
  6. เด็กยากจนมาก
  7. เด็กในชนกลุ่มน้อย
  8. เด็กที่มีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด
  9. เด็กที่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ โรคติดต่อร้ายแรงที่สังคมรังเกียจ
    และ 10. เด็กในสถานพินิจและคุ้มครองเด็ก

เมื่อเป็นโรงเรียนประเภทอยู่ประจำ อาหารการกินสำหรับเด็กนักเรียนจึงมีความจำเป็น โรงเรียนจึงจัดให้มีโครงการอาหารกลางวัน และพื้นที่สำหรับปลูกพืช เป็นกิจกรรมเกษตรในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้มีวัตถุดิบในการประกอบอาหารสำหรับเด็ก ลดค่าใช้จ่ายที่ต้องเกิดขึ้น

นายภานุกานต์ กาญจนจำนงค์ ออกให้ความรู้กับชุมชนแทนผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่สำนักงานเกษตร

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 ได้จัดทำโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สนองพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สร้างรายได้ให้กับนักเรียน โดย ดร. มาณี ฉัตรชัยวงศ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 จังหวัดสตูล กล่าวว่า โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 จังหวัดสตูล มีนักเรียน 457 คน มีพื้นที่ 260 ไร่เศษ เด็กนักเรียนทั้งหมดเป็นเด็กที่ด้อยโอกาส ถูกทอดทิ้ง ทำให้ครูเกิดแนวคิดให้เด็กเหล่านี้ได้มีรายได้เพิ่มขึ้น นอกเหนือจากที่ได้รับการจัดสรรจากรัฐบาล โรงเรียนจึงจัดทำโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อนำสู่เศรษฐกิจพอเพียงด้วยการส่งเสริมใน 4 เรื่อง ได้แก่ การเกษตร การประมง ปศุสัตว์ และสิ่งแวดล้อม

ผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 บอกด้วยว่า โรงเรียนได้จัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรขึ้น โดยมุ่งเน้นให้เด็กนักเรียนได้รู้จักการทำการเกษตร เช่น การปลูกผักสวนครัว การเตรียมพื้นที่ปลูก การพรวนดิน การยกแปลง การปรับปรุงเนื้อดิน กำหนดหลุมปลูก และการดูแลรักษา ส่งเสริมการทำการเกษตรแบบผสมผสานโดยมีอาจารย์เป็นพี่เลี้ยง อาทิ เลี้ยงปลาดุก ฟาร์มเห็ดนางฟ้า เมื่อจบโครงการจะมีการนำไปขายยังท้องตลาด นำเงินมาแบ่งให้กับเด็กนักเรียนที่จัดทำโครงการ เพื่อเป็นทุนการศึกษาโดยขณะนี้เด็กนักเรียนทั้ง 457 คน มีเงินฝากในบัญชีทุกคน เมื่อเด็กจบการศึกษาจะสามารถประกอบอาชีพได้ หรือเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ไม่เป็นภาระแก่สังคม แต่กลับให้ความช่วยเหลือสังคมได้อีกทางหนึ่งด้วย

สำหรับตัวอย่างของการพัฒนาอาชีพเกษตรให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนแห่งนี้ พบว่า นายภานุกานต์ กาญจนจำนงค์ ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นประธานกลุ่มยุวเกษตรกรของโรงเรียน ตั้งแต่ปี 2561 เพื่อให้เป็นผู้นำของน้องและเพื่อนนักเรียนในโรงเรียน เนื่องจากที่ผ่านมา นายภานุกานต์ มีความโดดเด่นในเรื่องของการมีภาวะความเป็นผู้นำ และมีความรู้ในกิจกรรม 4 กิจกรรม ลงมือทำเอง ให้ความรู้กับเพื่อน เพราะครอบครัวมีพื้นฐานเกษตรกร มีรายได้หลักจากการทำการเกษตร และช่วยครอบครัวทำเกษตรกรรมมาโดยตลอด

เมื่อเข้ามาศึกษา สถานศึกษาพอเพียง โรงเรียนได้เน้นกิจกรรมเกษตร นายภานุกานต์ ได้นำกิจกรรมเกษตรครอบครัวมาปรับใช้ และนำเกษตรวิถีใหม่จากโรงเรียนไปปรับใช้กับครอบครัวของตนเอง ในหลายโอกาสได้ออกทำหน้าที่เป็นผู้ให้ความรู้แก่ชุมชน โดยรับเอาความรู้จากผู้นำหมู่บ้านและเกษตรอำเภอไปเผยแพร่ต่อยังชาวบ้าน ดังเช่น ชาวบ้านหมู่ที่ 11 ตำบลกำแพง อำเภอละงู จังหวัดสตูล ที่มีการเลี้ยงเป็ดกันจำนวนมาก นายภานุกานต์ จึงให้ความรู้เรื่องการนำไข่เป็ดมาแปรรูปเป็นไข่เป็ดดองเค็ม เพื่อส่งไปจำหน่ายยังตลาดละงู เพราะจำนวนไข่เป็ดที่มีจำนวนมาก หากจำหน่ายออกไม่ทันจะทำให้คุณภาพไข่เป็ดเสื่อม จึงควรแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า

ยายกลิ่น ด้วงขวิด ยายของนายภานุกานต์ ซึ่งเลี้ยงนายภานุกานต์มาตั้งแต่ยังเล็ก เล่าว่า ยายมีอาชีพปลูกผักขาย มีผักหลายชนิดที่จำหน่าย แต่ที่ปลูกมากคือ ผักเสี้ยน โดยก่อนจะนำผักเสี้ยนไปขายจะนำไปดองให้มีรสชาติก่อน ซึ่งนายภานุกานต์เป็นเด็กดี ตั้งใจเรียน กลับจากโรงเรียนจะช่วยยายตัดผัก ดองผัก และนำไปส่งแม่ค้าใกล้บ้าน มีความขยันไม่เคยปริปากบ่น

ซึ่งที่ผ่านมา นายภานุกานต์ ยังอุทิศตนเป็นประโยชน์กับชุมชน โดยใช้เวลาว่างที่พอมีไปช่วยทำงานในโรงงานผลิตถั่วงอกของชุมชน ซึ่งมีน้ำที่ผ่านกรรมวิธีต่างๆ ไหลไปรวมกันที่บ่อกักเก็บ โดยนำเสนอความคิดเรื่องการลดน้ำเสียด้วยการสูบน้ำกลับไปใช้รดผักในโครงการ เป็นการประหยัดต้นทุนอีกด้วย

และด้วยโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 เป็นโรงเรียนสหศึกษา ประเภทอยู่ประจำ จัดการศึกษาสำหรับนักเรียนด้อยโอกาส 10 ประเภท จึงขาดแคลนการสนับสนุนในหลายด้าน หากผู้สนใจส่งเสริมการศึกษาให้กับเด็ก สามารถติดต่อไปได้ที่ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 42 เลขที่ 299 หมู่ที่ 7 ตำบลเกตรี อำเภอเมือง จังหวัดสตูล