กลุ่มยุวเกษตรกรในโรงเรียนบ้านต่างแคน ผลิตเกษตรอินทรีย์วิถีหนองบัว สู่อาหารกลางวันของโรงเรียน

โรงเรียนบ้านต่างแคน ตั้งอยู่ที่บ้านต่างแคน หมู่ที่ 15 ตำบลบ้านโคก อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู มีพื้นที่ 11 ไร่ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองบัวลำภู เขต 2 เปิดการเรียนการสอน 2 ระดับ คือ ระดับอนุบาล 1-2 และระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 ซึ่งเป็นโรงเรียนตามแนวพระราชดำริโครงการด้วยรักและห่วงใย ในพระราชูปถัมภ์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

โรงเรียนดำเนินงานภายใต้โครงการตามแนวพระราชดำริ จำนวน 6 กิจกรรม ประกอบด้วย 1. กิจกรรมเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน 2. กิจกรรมควบคุมและป้องกันการขาดสารไอโอดีน 3. กิจกรรมส่งเสริมคุณภาพการศึกษา 4. กิจกรรมฝึกทักษะอาชีพ 5. กิจกรรมส่งเสริมสหกรณ์โรงเรียน 6. กิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

จังหวัดติดตาม

ประชากรส่วนใหญ่ของบ้านต่างแคน ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เช่น ทำนา ทำไร่อ้อย ทำไร่มันสำปะหลัง และทำสวนยางพารา ซึ่งมีความรู้ความสามารถด้านการเกษตรจึงร่วมปรับปรุงและพัฒนางานเกษตรกับโรงเรียน ด้วยความร่วมมือจากผู้ปกครองนักเรียน ชุมชน และนักเรียนในโรงเรียนทำให้พื้นที่บริเวณโรงเรียนเหมาะสมสำหรับการทำกิจกรรมด้านการเกษตร ทางโรงเรียนได้จัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกรในโรงเรียนบ้านต่างแคน ขึ้นเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 เพื่อทำกิจกรรมพัฒนาความรู้ ประสบการณ์ด้านการเกษตร เคหกิจเกษตร เครื่องจักรกลเกษตร การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ขับเคลื่อนกลไกการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรร่วมกับที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร ถ่ายทอดความรู้ให้กับนักเรียนที่เป็นสมาชิกและไม่ได้เป็นสมาชิก กิจกรรมเหล่านี้ช่วยสร้างทักษะอาชีพ เสริมการเรียนรู้ทักษะชีวิต รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ การทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ และปลูกฝังทัศนคติของเยาวชนให้ตระหนักถึงคุณค่า และมีความภาคภูมิใจในอาชีพเกษตร

โรงเรียนบ้านต่างแคน ได้จัดการศึกษาโดยยึดผู้เรียนมีความสำคัญ จัดการศึกษาส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพได้ ยึดแนวทางตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลัก มีการประเมินโครงการ ปรับปรุง พัฒนา และได้ดำเนินกิจกรรมโครงการมาโดยตลอดอย่างต่อเนื่องเพื่อยึดถือเป็นแนวปฏิบัติอันเป็นการส่งเสริมทักษะและพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนอย่างต่อเนื่อง

จังหวัดติดตามให้กำลังใจสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกร

  1. เพื่อเสริมสร้างทัศนคติของสมาชิกยุวเกษตรกร ภูมิใจในคุณค่าของการเกษตรและยอมรับอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีพและเศรษฐกิจของประเทศ
  2. เพื่อให้สมาชิกยุวเกษตรกรได้รับความรู้และเทคโนโลยีการเกษตร เคหกิจเกษตร ธุรกิจเกษตร การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้องเหมาะสม สอดคล้องกับครอบครัวและท้องถิ่น
  3. เพื่อเสริมสร้างทักษะ ความรู้ความชำนาญด้านการเกษตร เคหกิจเกษตร ธุรกิจเกษตร การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมด้วยการปฏิบัติจริง
  4. เพื่อฝึกให้สมาชิกยุวเกษตรกร รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ รู้จักการทำงานเป็นหมู่คณะ ส่งเสริมการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย โดยอาศัยข้อบังคับและวิธีการดำเนินงานกลุ่มยุวเกษตรกรเป็นแนวทางการฝึกปฏิบัติ
  5. เพื่อส่งเสริมสมาชิกยุวเกษตรกรในการพัฒนาภาวะผู้นำ การอยู่ร่วมกันในสังคม การบริหารจัดการ และการพัฒนาอาชีพ เพื่อตนเอง ครอบครัว สังคม และชุมชน
  6. เพื่อส่งเสริมทักษะและคุณภาพชีวิตของนักเรียนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
  7. เพื่อให้นักเรียนนำทักษะความรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน

 

เป้าหมายของกลุ่มยุวเกษตรกร

สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร มีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพการเกษตร มีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีภาวะผู้นำ ก้าวทันการเปลี่ยนแปลง มีทักษะอาชีพการเกษตร และทักษะการดำเนินชีวิต ดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และเป็นพลเมืองดีของประเทศไทยในอนาคต

นำผลผลิตมาจำหน่าย

ความคิดริเริ่มและความฟันฝ่าอุปสรรค

อาจารย์บุญทัน มาลี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านต่างแคน เล่าให้ฟังว่า โรงเรียนบ้านต่างแคนได้ดำเนินงานโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันในพระราชดำริสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมุ่งเน้นให้นักเรียน ครู และผู้ปกครองร่วมกันทำการเกษตรในโรงเรียน แล้วนำผลผลิตที่ได้นำมาประกอบเป็นอาหารกลางวันสำหรับนักเรียน มีปราชญ์ชาวบ้าน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุน งบประมาณในการดำเนินการ และถ่ายทอดองค์ความรู้ ตามหลักวิชาการ ให้เป็นระบบมากขึ้น เพื่อเน้นให้สมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร ได้เรียนรู้หลักวิชาการทำการเกษตร เคหกิจเกษตร ตลอดจนการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่น มีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพการเกษตร อันจะเป็นการสืบทอดอาชีพการเกษตรต่อจากบรรพบุรุษ

การดำเนินงานของโครงการช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหารกลางวัน ยังทำให้เด็กนักเรียนได้รับความรู้ด้านโภชนาการและด้านการเกษตรแผนใหม่ สามารถนำไปใช้ประกอบเป็นอาชีพได้ ผลผลิตการเกษตรปลอดภัยจากสารพิษและได้มาตรฐาน จากโครงการนำมาจำหน่ายให้กับสหกรณ์โรงเรียน สหกรณ์จำหน่ายต่อไปยังโครงการอาหารกลางวัน และผลผลิตบางส่วนนำไปแปรรูป และจำหน่ายในท้องถิ่น

ประชุมสมาชิกยุวเกษตรกร

สมาชิกยุวเกษตรกร

สมาชิกยุวเกษตรกร ต้องมีความสนใจในงานด้านเกษตรและการพัฒนาตนเอง สมัครเข้าเป็นสมาชิกของกลุ่มยุวเกษตรกรด้วยความสมัครใจ และได้รับความเห็นชอบจากบิดา มารดา ของนักเรียน เข้าใจในวัตถุประสงค์และเห็นชอบในหลักวิธีการดำเนินงานของกลุ่มยุวเกษตรกรทุกประการโดยตลอด และยินดีปฏิบัติตามหลักวิธีการดำเนินงาน และข้อบังคับของกลุ่มยุวเกษตรกร ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 30 คน แยกเป็นชาย 14 คน หญิง 16 คน ส่วนใหญ่จะเป็นนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6

คณะกรรมการสภากลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านต่างแคน ประกอบด้วย

ประธานกลุ่ม เด็กหญิงกรรณ์ฑิกา ธรรมธวัช

รองประธาน เด็กหญิงสุปราณี ควงคุ้ม

เลขานุการ เด็กชายวุฒิกร พุชโก

เหรัญญิก เด็กหญิงชโลธร สุยบุดดา

ปฏิคม เด็กชายธันวา จันทะคีรี

ที่ปรึกษา นางสาวณิชาภัทร ดาวเรือง

ที่ปรึกษา นายสุบิน ยอดประทุม

 

บทบาทและหน้าที่ของคณะกรรมการสภายุวเกษตรกร

  1. จัดทำทะเบียนข้อมูลสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร ข้อมูลการประกอบอาชีพการเกษตรในท้องที่ตำบลที่กลุ่มยุวเกษตรกรตั้งอยู่
  2. ร่วมกับที่ปรึกษายุวเกษตรกร กำหนดแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมในการพัฒนาความรู้ทักษะการประกอบอาชีพของสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร
  3. จัดการประชุมคณะกรรมการสภายุวเกษตรกร เพื่อร่วมกันกำหนดวิธีการปฏิบัติงานของกลุ่มยุวเกษตรกร และประชุมสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร เพื่อถ่ายทอดความรู้ และฝึกปฏิบัติให้แก่สมาชิกยุวเกษตรกร
  4. ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐ องค์กร เอกชน เพื่อขอรับการสนับสนุนด้านวิชาการ งบประมาณ เพื่อนำมาใช้ในกิจกรรมของกลุ่มยุวเกษตรกร
  5. ให้การสนับสนุนช่วยเหลือการปฏิบัติงานของสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกร และเครือข่ายการดำเนินงานของกลุ่มยุวเกษตรกร
ฝึกปฏิบัติจริง

กิจกรรมของกลุ่มยุวเกษตรกรในโรงเรียนบ้านต่างแคน

อาจารย์บุญทัน เล่าต่ออีกว่า กลุ่มยุวเกษตรกรในโรงเรียนบ้านต่างแคน ได้เลือกปฏิบัติงานตามความสนใจและสมัครใจของตนเอง เพื่อให้ทุกคนได้มีโอกาสหาความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์จากการปฏิบัติจริง อันอาจจะเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพในวันข้างหน้า งานของสมาชิกกลุ่มยุวเกษตรกรในโรงเรียนบ้านต่างแคน แบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้

  1. งานส่วนบุคคล

งานส่วนบุคคล คือ กิจกรรมที่สมาชิกแต่ละคนสนใจและเลือกปฏิบัติ อาจจะทำที่บ้านหรือที่โรงเรียน ซึ่งงานส่วนบุคคลนี้จะช่วยฝึกสมาชิกให้รู้จักรับผิดชอบ มีความคิดริเริ่ม เรียนรู้จากประสบการณ์จริง เพื่อเป็นแนวทางในการประกอบอาชีพในวันข้างหน้า นอกจากนี้ ยังช่วยให้สมาชิกได้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ภูมิใจในงานของตนเอง ซึ่งบางครั้งอาจมีรายได้ด้วย ซึ่งกลุ่มยุวเกษตรกรของโรงเรียนบ้านต่างแคนได้จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการเกษตร จนสามารถนำไปใช้และเผยแพร่ให้กับผู้ปกครองได้ ได้แก่ กิจกรรมการปลูกพืชผักสวนครัว และพืชอื่นๆ

  1. งานกลุ่มย่อย

งานกลุ่มย่อย คือ กิจกรรมที่สมาชิกร่วมกันปฏิบัติและรับผิดชอบ โดยแบ่งเป็นกลุ่มย่อยตามความสนใจ ซึ่งแยกจากงานส่วนบุคคลและงานรวมของกลุ่ม โดยสมาชิกได้ร่วมกันปฏิบัติและรับผิดชอบ เป็นการฝึกปฏิบัติตามสาขาวิชาที่สมาชิกนั้นๆ สนใจ สร้างความสนิทสนมระหว่างสมาชิก ซึ่งกลุ่มยุวเกษตรกร ได้แบ่งกลุ่มกิจกรรมย่อยในการรับผิดชอบทั้งหมด 14 กลุ่ม มีสมาชิกในกลุ่ม 3-5 คน ดังนี้

กิจกรรมปลูกกล้วย ดำเนินการปลูกพันธุ์ต่างๆ ได้แก่ กล้วยน้ำว้า กล้วยไข่ กล้วยหอมทอง เป็นต้น โดยได้ฝึกปฏิบัติและเรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกกล้วย กำจัดวัชพืช ใส่ปุ๋ย ผลการดำเนินงาน ได้ผลผลิตส่งสหกรณ์โรงเรียน เพื่อจำหน่ายเข้าโครงการอาหารกลางวัน จำนวน 50 หวี ทำให้นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียน สุขภาพดี มีภาวะโภชนาการ น้ำหนัก ส่วนสูงได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน

กิจกรรมการปลูกฝรั่งกิมจู ดำเนินการปลูกฝรั่งพันธุ์กิมจู ฝึกปฏิบัติและเรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกฝรั่งกิมจู กำจัดวัชพืช ใส่ปุ๋ย ผลการดำเนินงาน ได้ผลผลิตส่งสหกรณ์โรงเรียน เพื่อจำหน่ายเข้าโครงการอาหารกลางวัน จำนวน 20 กิโลกรัม ทำให้นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียน สุขภาพดี มีภาวะโภชนาการ น้ำหนัก ส่วนสูงได้ตามเกณฑ์มาตรฐาน

กิจกรรมการปลูกข้าว 2 งาน ดำเนินการปลูกและฝึกปฏิบัติและเรียนรู้บำรุงรักษาข้าวให้เจริญงอกงาม จนได้ผลผลิตมาส่งให้กับสหกรณ์โรงเรียน เพื่อจำหน่ายเข้ากิจกรรมอื่นๆ ในอุทยานการเกษตรเพื่อโครงการอาหารกลางวัน ได้ผลผลิตจำนวน 120 กิโลกรัม

กิจกรรมการปลูกข้าวโพด จำนวน 2 งาน ดำเนินการปลูกและฝึกปฏิบัติและเรียนรู้บำรุงรักษาข้าวโพดพันธุ์สวีทไวท์ ให้เจริญงอกงามอยู่เสมอ จนได้ผลผลิตมาส่งให้กับสหกรณ์โรงเรียน เพื่อจำหน่ายเข้าโครงการอาหารกลางวัน ได้ผลผลิตจำนวน 100 กิโลกรัม

กิจกรรมการปลูกแก้วมังกร จำนวน 15 ต้น ดำเนินการปลูกและฝึกปฏิบัติและเรียนรู้บำรุงรักษาแก้วมังกร ให้เจริญงอกงามอยู่เสมอ จนได้ผลผลิตมาส่งให้กับสหกรณ์โรงเรียน เพื่อจำหน่ายเข้าโครงการอาหารกลางวัน ได้ผลผลิตจำนวน 20 กิโลกรัม

กิจกรรมปลูกมะนาวในวงบ่อซีเมนต์ จำนวน 10 บ่อ ปลูกและได้ฝึกปฏิบัติและเรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกมะนาวในท่อซีเมนต์ ผลการดำเนินงาน ทำให้มีผลผลิตส่งให้กับสหกรณ์โรงเรียน เพื่อจำหน่ายเข้าโครงการอาหารกลางวัน จำนวน 130 กิโลกรัม

กิจกรรมการเลี้ยงไก่ไข่ จำนวน 100 ตัว ฝึกปฏิบัติและเรียนรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงไก่ไข่ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ ทำให้มีผลผลิตส่งให้กับสหกรณ์โรงเรียน เพื่อจำหน่ายเข้าโครงการอาหารกลางวัน ได้ผลผลิตไข่ไก่ จำนวน 600 แผง

กิจกรรมการเลี้ยงไก่เนื้อ จำนวน 200 ตัว ฝึกปฏิบัติและเรียนรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงไก่เนื้อที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ จนได้ผลผลิตส่งให้กับสหกรณ์โรงเรียน เพื่อจำหน่ายเข้าโครงการอาหารกลางวัน ได้ผลผลิตจำนวน 200 กิโลกรัม

ฝึกซ้อมการประชุม

กิจกรรมการเลี้ยงปลาแบบพึ่งพาสัมพันธ์ ปล่อยปลาพันธุ์ต่างๆ จำนวน 10,000 ตัว ดูแลให้อาหารปลาเพิ่มเติมจากมูลไก่ที่หล่นจากโรงเลี้ยงไก่ไข่ จนได้ผลผลิตส่งให้กับสหกรณ์โรงเรียน เพื่อจำหน่ายเข้าโครงการอาหารกลางวัน ผลผลิต 150 กิโลกรัม

กิจกรรมการเลี้ยงเป็ดเทศ จำนวน 16 ตัว ฝึกปฏิบัติและเรียนรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงเป็ดเทศ ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่เนื่องจากกำลังเริ่มเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวน จึงยังไม่มีผลผลิตจำหน่ายเข้าโครงการอาหารกลางวัน

กิจกรรมการเลี้ยงหมูป่า จำนวน 15 ตัว ฝึกปฏิบัติและเรียนรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงหมูป่า อาหารที่ใช้เลี้ยงคือ กากมันสำปะหลังหมักยีสต์ และเศษอาหารกลางวัน ส่งผลทำให้หมูป่าที่เลี้ยงไว้เจริญเติบโต แพร่พันธุ์เพิ่มจำนวนมากขึ้น ทำให้ได้ผลผลิตส่งให้กับสหกรณ์โรงเรียน เพื่อจำหน่ายเข้าโครงการอาหารกลางวัน ได้จำนวนผลผลิต 60 กิโลกรัม

กิจกรรมการเลี้ยงกบ จำนวน 500 ตัว ฝึกปฏิบัติและเรียนรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงกบพ่อพันธุ์ที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่เนื่องจากกำลังเริ่มเลี้ยงเพื่อขยายพันธุ์เพื่อเพิ่มจำนวน จึงยังไม่มีผลผลิตจำหน่ายเข้าโครงการอาหารกลางวัน

กิจกรรมปลูกมะละกอ ดำเนินการปลูกมะละกอ จำนวน 61 ต้น โดยฝึกปฏิบัติและเรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกมะละกอ กำจัดวัชพืช ใส่ปุ๋ย ผลการดำเนินงานได้ผลผลิตขายส่งให้สหกรณ์โรงเรียน เพื่อจำหน่ายต่อให้โครงการอาหารกลางวัน จำนวน 228 กิโลกรัม ทำให้นักเรียนมีรายได้ระหว่างเรียน และได้รับประทานอาหารที่สดใหม่ ปลอดสารพิษ

กิจกรรมปลูกพืชผักสวนครัว จำนวน 10 แปลง ปลูกพืชผักสวนครัวตามฤดูกาล ฝึกปฏิบัติและเรียนรู้เกี่ยวกับการปลูกพืชผักสวนครัว ผักที่ปลูก ได้แก่ ข้าวโพด ผักบุ้งจีน คะน้า ผักชีหอม ฟักทอง บวบ ฟักเขียว เป็นต้น ทำให้ผลผลิตมาส่งให้กับสหกรณ์โรงเรียนเพื่อจำหน่ายเข้าโครงการอาหารกลางวัน ผลผลิตจำนวน 60 กิโลกรัม

 

ความมั่นคงและฐานะทางเศรษฐกิจของสถาบัน

การดำเนินงานของกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านต่างแคนทั้ง 3 ประเภท คือ งานส่วนบุคคล งานกลุ่มย่อย และงานรวม ซึ่งส่วนมากเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวกับด้านการเกษตรในอุทยานการเกษตรเพื่อโครงการอาหารกลางวัน ผลผลิตจากการดำเนินงานทั้งหมดในอุทยานการเกษตรจะขายให้สหกรณ์โรงเรียน แล้วสหกรณ์โรงเรียนจึงขายต่อให้โครงการอาหารกลางวันและชุมชน ทำให้กลุ่มยุวเกษตรกรมีรายได้จากการขายผลผลิตและเกิดเงินหมุนเวียนภายในโรงเรียน

กิจกรรมสหกรณ์โรงเรียน ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งให้นักเรียนมีความรู้เกี่ยวกับหลักสหกรณ์ และส่งเสริมให้นักเรียนได้มีการฝึกปฏิบัติ สามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน

วิธีการดำเนินงาน

  1. สรุปผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมา ต่อที่ประชุมคณะครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนบ้านต่างแคน
  2. จัดหาสถานที่ วัสดุ ครุภัณฑ์ เพื่อดำเนินกิจกรรมส่งเสริมสหกรณ์ในโรงเรียนในส่วนที่ยังไม่เพียงพอ โดยจัดซื้อตู้เก็บของ
  3. แต่งตั้งครูและนักเรียนรับผิดชอบในการดำเนินกิจกรรม ตามโครงการส่งเสริมสหกรณ์ในโรงเรียน และกำหนดบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบให้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5-6 โดยทำตารางการปฏิบัติงาน ให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริง ดังนี้

3.1 คณะกรรมการออมทรัพย์

3.2 คณะกรรมการจัดซื้อสินค้า

3.3 คณะกรรมการขายสินค้า

3.4 คณะกรรมการจัดทำบัญชี

3.5 คณะกรรมการตรวจสอบบัญชี

  1. เปิดสมัครรับสมาชิกสหกรณ์และระดมเงินออมทรัพย์โดยการประชาสัมพันธ์เสียงตามสาย เอกสารแผ่นพับ โปสเตอร์ และนักเรียนประชาสัมพันธ์
  2. ติดต่อประสานงานกับชุมชน และหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อให้ความรู้กับนักเรียนและชุมชน โดยการจัดอบรม เผยแพร่เอกสาร และศึกษาดูงานเพิ่มความรู้ และให้การสนับสนุนด้านงบประมาณ วัสดุอุปกรณ์
  3. จัดประชาสัมพันธ์เกี่ยวการดำเนินกิจกรรมสหกรณ์ในโรงเรียนให้ชุมชนทราบในเรื่อง การเป็นสมาชิกสหกรณ์ การลงหุ้น ราคาสินค้า ประโยชน์ที่จะได้รับ
  4. จัดจำหน่ายสินค้าและจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย การซื้อขายสินค้าประจำวัน
  5. ประชุมสมาชิกภาคเรียนละ 1 ครั้ง เพื่อรายงานผลการดำเนินงาน และประชุมใหญ่เมื่อสิ้นปีการศึกษา เพื่อปันผลแก่สมาชิก
  6. สรุปและประเมินผลการดำเนินกิจกรรมเมื่อสิ้นปีการศึกษา

ผลการดำเนินงาน

  1. ครู นักเรียนได้เรียนรู้ระบบของสหกรณ์โดยการฝึกปฏิบัติจริง สามารถดำเนินกิจกรรมโครงการโดยการระดมหุ้น ระดมเงินออม จัดระบบการจัดการทั้งคณะกรรมการดำเนินงานและระบบบัญชีได้อย่างถูกต้อง
  2. นักเรียนเป็นสมาชิกที่ดีได้รับบริการ และสามารถดำเนินกิจกรรมสหกรณ์ได้อย่างถูกต้อง นักเรียนที่มารับบริการทุกคนเข้าแถวซื้อสินค้า ทำให้ผู้ขายสินค้าสามารถขายสินค้าได้อย่างถูกต้อง นักเรียนมีคุณธรรม จริยธรรม ไม่เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันและกัน
  3. สมาชิกได้รับบริการสินค้า ราคายุติธรรม และมีการปันผลเมื่อสิ้นปีการศึกษา สินค้าบางชนิดสหกรณ์จำหน่ายได้ถูกกว่า น้ำตาล น้ำปลา ทำให้ผู้ปกครองบางคนมาใช้บริการของสหกรณ์โรงเรียนในการซื้อสินค้าไปใช้ในครอบครัว โดยเฉพาะสหกรณ์โรงเรียนได้รับซื้อสินค้าจากโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันของโรงเรียนบ้านต่างแคน เพื่อจำหน่ายให้โครงการอาหารกลางวัน ส่งผลให้มีการหมุนเวียนของเงินทุน สินค้าภายในโรงเรียน และกิจกรรมต่างๆ ดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง สามารถพึ่งพาตนเองได้

 

กิจกรรมด้านสาธารณประโยชน์
และการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

เป็นโครงการที่มุ่งการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ตามแผนปฏิรูปการเรียนรู้ เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญมุ่งส่งเสริมให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริง มีทักษะ ขั้นตอนการทำงานเป็นระบบกลุ่ม หมู่คณะมีความเสียสละเพื่อส่วนรวม กระตุ้นให้นักเรียนได้แสดงออกอย่างเหมาะสม สร้างสรรค์ การพัฒนาสภาพแวดล้อมในโรงเรียน นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง และจะต้องพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง อันจะเอื้อต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สถานศึกษา มีความร่มรื่น สวยงามน่าอยู่ นักเรียนภูมิใจในสถานศึกษาของตนเอง ซึ่งมีกิจกรรม ดังนี้

1.1 กิจกรรมการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ

1.2 กิจกรรมการบำรุงดูแลรักษาตกแต่งไม้ดอกไม้ประดับ

1.3 กิจกรรมการทำปุ๋ยหมัก

1.4 กิจกรรมการทำสวนหย่อม

1.5 กิจกรรมการกำจัดขยะ

1.6 กิจกรรมการทำเขตบริการ

1.7 โครงการปลูกป่าและบวชป่าชุมชนบ้านต่างแคน

โครงการปลูกป่าและบวชป่าชุมชนบ้านต่างแคน เป็นการร่วมมือกันระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน เป็นการร่วมกันแสดงพลังบวร (บ้าน วัด โรงเรียน) เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในป่าชุมชน โดยได้ร่วมกันกำหนดวันปลูกป่าและบวชป่าในชุมชนปีละ 1 ครั้ง

1.8 โครงการวันพระพัฒนาสู่ความเข้มแข็ง

โครงการวันพระพัฒนาสู่ความเข้มแข็ง เป็นการร่วมมือกันระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน เป็นการร่วมกันแสดงพลังบวร (บ้าน วัด โรงเรียน) ในการทำความสะอาดบริเวณทางเข้าชุมชนและในชุมชนบ้านต่างแคน เพื่อให้เกิดความรักความสามัคคี และปลูกฝังจิตสำนึกให้คนในชุมชนได้ร่วมกันรักษาความสะอาดและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

จากการดำเนินงานตามกิจกรรมอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดประโยชน์แก่นักเรียน โรงเรียน และชุมชน ทำให้โรงเรียนมีสภาพแวดล้อมดีขึ้น ปลอดจากขยะ สะอาด ร่มรื่น น่าอยู่ สวยงาม และเอื้ออำนวยต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน นักเรียนได้ใช้ประโยชน์เป็นแหล่งเรียนรู้ พักผ่อน เกิดความภูมิใจในผลงานของตนเองที่ได้ปฏิบัติกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่ม เกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ ทำให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เป็นแบบอย่างที่ดี จนได้การยกย่องชมเชยจากบุคคลทั่วไป

อาจารย์บุญทัน เล่าต่อไปอีกว่า จากการดำเนินงานผลผลิตต่างๆ จำหน่ายเข้าระบบสหกรณ์โรงเรียนสหกรณ์โรงเรียนจำหน่ายผลผลิตให้โครงการอาหารกลางวัน ทำให้เกิดการหมุนเวียนเงินภายในโรงเรียน กลุ่มยุวเกษตรกรประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์/เป้าหมายที่กำหนดไว้ สมาชิกยุวเกษตรกรมีทัศนคติที่ดี ภูมิใจในคุณค่าของการเกษตรและยอมรับอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีพและเศรษฐกิจของประเทศ สมาชิกยุวเกษตรกรมีความรู้และเทคโนโลยีการเกษตร เคหกิจเกษตร ธุรกิจเกษตร การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่ถูกต้องเหมาะสม สอดคล้องกับครอบครัวและท้องถิ่น สมาชิกยุวเกษตรกรมีทักษะ ความชำนาญด้านการเกษตร เคหกิจเกษตร ธุรกิจเกษตร การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมและปฏิบัติจริง สมาชิกยุวเกษตรกร รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ รู้จักการทำงานเป็นหมู่คณะ สมาชิกยุวเกษตรกรมีการพัฒนาภาวะผู้นำ การอยู่ร่วมกันในสังคม การบริหารจัดการ และการพัฒนาอาชีพ เพื่อตนเอง ครอบครัว สังคม และชุมชน สมาชิกยุวเกษตรกรมีความรู้และทักษะการใช้ชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และทำให้โรงเรียนบ้านต่างแคนได้รับรางวัลต่างๆ เป็นที่ยอมรับของบุคคลทั้งภายในภายนอก และเป็นสถานที่ศึกษาดูงาน

……….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ.2564


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354