น้ำดื่มยุวะ กิจกรรมเด่นโรงเรียนวัดหนองตะเฆ่ ปลูกจิตอาสา ทำเกษตรชีวภาพ

จากถนนสายพหลโยธิน อันเป็นถนนสายหลักสายที่ 1 ของประเทศ ห่างออกไปเพียง 5 กิโลเมตร และห่างจากชุมชนที่เป็นตลาดใหญ่ มีผู้คนสัญจรหลากหลาย เพียง 3 กิโลเมตร เป็นที่ตั้งของโรงเรียนวัดหนองตะเฆ่ ตำบลหนองจรเข้ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ซึ่งหากพิจารณาจากสิ่งแวดล้อมโดยรอบโรงเรียนแล้ว น่าจะเป็นโรงเรียนที่มีความพร้อมในเรื่องของบุคลากร นักเรียน การเรียนการสอน และวัสดุอุปกรณ์ที่อำนวยการสอน แต่แท้ที่จริง เมื่อได้พูดคุยกับอาจารย์จิรัฐยา พิมพ์แสง ผู้อำนวยการ โรงเรียนวัดหนองตะเฆ่ แล้วพบว่า โรงเรียนยังต้องการส่งเสริมสนับสนุนอีกหลายด้าน สภาพแวดล้อมโดยรอบโรงเรียนที่มีความเจริญก้าวหน้า ไม่ได้หมายความว่าโรงเรียนมีความพร้อมในทุกด้านตามไปด้วย

โรงเรียนวัดหนองตะเฆ่ เป็นโรงเรียนขยายโอกาส มีการเรียนการสอนระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนต้น ตั้งอยู่บนที่ดินของโรงเรียนเองเพียง 5 ไร่ จากการบริจาคของผู้มีจิตศรัทธา ส่วนอีก 11 ไร่ เป็นที่ดินของวัดที่ให้โรงเรียนนำมาใช้สอย

โรงเรียนและวัด ตั้งอยู่ห่างกันแค่คืบ การเข้าออกโรงเรียนใช้ทางเข้าออกเดียวกับวัด เป็นโรงเรียนวัดอย่างแท้จริง มีอาคารเรียน 2 หลัง อาคารอเนกประสงค์ สนามกีฬา และพื้นที่ทำการเกษตรอีกไม่มากนัก

แม้จะเป็นโรงเรียนขยายโอกาส ที่มีนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น แต่ก็มีจำนวนนักเรียนเพียง 207 คน เท่านั้น

พื้นที่ทั้งหมด 11 ไร่ จัดสรรให้ใช้สอยพื้นที่อย่างลงตัว โรงเรียนให้ความสำคัญกับส่งเสริมการเกษตรให้กับเด็กนักเรียน จัดสรรพื้นที่ประมาณ 2 ไร่ เป็นพื้นที่สำหรับการเกษตร แต่ไม่ได้เป็นผืนเดียวกันทั้งหมด กิจกรรมที่เกี่ยวข้องการเกษตร กระจายอยู่โดยรอบบริเวณโรงเรียน

“โรงเรียนเริ่มจับการเกษตรอย่างจริงจัง เมื่อปี 2553 ที่ผ่านมา โดยเริ่มจากอาจารย์ท่านหนึ่งที่มีทักษะด้านเกษตร พูดคุยกับชุมชน ขอคำแนะนำจากปราชญ์ชาวบ้านในการทำกิจกรรมเกษตรในโรงเรียน และก่อตั้งกลุ่มยุวเกษตรกรขึ้น เริ่มทำกิจกรรมเกษตรในโรงเรียนอย่างเป็นรูปธรรม กระทั่งพากลุ่มยุวเกษตรกรของโรงเรียนเข้าประกวดระดับจังหวัด และได้รับรางวัลมาแล้วหลายรางวัล แต่ปัจจุบัน อาจารย์ท่านนี้เกษียนอายุราชการ ทำให้อาจารย์ที่มีอยู่พยายามประคองกิจกรรมทางการเกษตรให้ดำเนินไปด้วยดีอย่างมีประสิทธิภาพ แต่ด้วยบุคลากรทั้งหมดของโรงเรียนที่มีอยู่ไม่มีทักษะด้านการเกษตร ได้รับเพียงความช่วยเหลือจากปราชญ์ชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตรอำเภอหนองแค ทำให้กิจกรรมเกษตรยังคงดำเนินต่อ” อาจารย์จิรัฐยา กล่าว

อาจารย์ทรงวุฒิ ศรีปรีชา อาจารย์ที่ปรึกษาด้านเกษตร

อาจารย์ทรงวุฒิ ศรีปรีชา อาจารย์ที่ปรึกษาด้านเกษตร โรงเรียนวัดหนองตะเฆ่ เล่าว่า แม้ว่าอาจารย์จะไม่มีทักษะด้านเกษตร แต่ด้วยเด็กนักเรียนมีผู้ปกครองที่มีภูมิลำเนาเป็นคนในพื้นที่ และมีพื้นฐานการทำการเกษตรมากกว่า ร้อยละ 80 ทำให้เด็กนักเรียนมีทักษะด้านการเกษตรมาพอสมควร โรงเรียนจึงทำหน้าที่สานต่อและส่งเสริมเพื่อเพิ่มทักษะการทำการเกษตรให้กับนักเรียน ประกอบกับนโยบายของโรงเรียนที่ทราบดีว่า โรงเรียนมีทักษะด้านวิชาการไม่เทียบเท่าโรงเรียนใกล้เคียง นักเรียนของโรงเรียนจึงควรได้รับการส่งเสริมด้านการเกษตร เพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันและอนาคตได้

“การส่งเสริมด้านการเกษตรให้กับเด็กนักเรียน ก็เพื่อให้เด็กนักเรียนนำกลับไปทำต่อที่บ้านได้ นำไปใช้ในครอบครัว ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี มีเด็กนักเรียนบางคนนำกลับไปทำที่บ้าน เช่น เลี้ยงไก่ เพาะเห็ด ปลูกผัก และเลี้ยงกบ”

เก็บไข่ได้ไม่ต่ำกว่า 100 ฟอง ต่อวัน


การแบ่งการดูแลกิจกรรมด้านการเกษตรของโรงเรียน โรงเรียนให้ความสำคัญไปที่นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นที่มีหน้าที่หลักในการรับผิดชอบแต่ละกิจกรรม ส่วนนักเรียนระดับประถมศึกษา ให้ศึกษาเฉพาะรายชั่วโมงเรียนวิทยาศาสตร์ การงานพื้นฐานอาชีพ และกิจกรรมพัฒนาตน ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้

กิจกรรมด้านการเกษตรของโรงเรียนแบ่งเป็นฐานการเรียนรู้

  1. การเลี้ยงไก่ไข่ จากแรกเริ่มเลี้ยงไก่ไข่ จำนวน 250 ตัว ปัจจุบัน ไก่ไข่เหลือเพียง 150 ตัว แต่ก็ยังสามารถเก็บไข่ไก่ได้วันละไม่ต่ำกว่า 100 ฟอง
  2. 2. น้ำดื่มยุวะ ผลิตโดยกลุ่มยุวเกษตรกรวัดหนองตะเฆ่ มีระบบขั้นตอนการกรองน้ำที่ได้มาตรฐาน โดยได้รับอุปกรณ์และโรงกรองน้ำจากกรมทรัพยากรน้ำบาดาล มีการสุ่มตัวอย่างตรวจหาเชื้อตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทางเป็นประจำ ปัจจุบัน ผลิตตามออเดอร์ ซึ่งลูกค้าจะมารับน้ำดื่มยุวะด้วยตนเอง
  3. เพาะเห็ด เดิมเป็นการซื้อก้อนเชื้อเห็ดภูฎาน ในราคาก้อนละ 7-8 บาท ปัจจุบัน โรงเรียนมีแนวคิดผลิตก้อนเชื้อเห็ดภูฎานเอง โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องอัดก้อนเห็ดจากเกษตรกรผู้ผลิตเห็ดรายใหญ่ในจังหวัดสระบุรี เพื่อให้เด็กนักเรียนสามารถผลิตก้อนเชื้อเห็ดได้เอง ซึ่งที่ผ่านมาในการเพาะเห็ด 100 ก้อน สามารถเก็บจำหน่ายได้วันละอย่างน้อย 10 กิโลกรัม ราคาขายกิโลกรัมละ 60 บาท
  4. กิจกรรมเคหกิจ เป็นการสอนให้เด็กนักเรียนผลิตเครื่องใช้ในครัวเรือน เช่น น้ำยาล้างจาน แชมพู ครีม น้ำยาปรับผ้านุ่ม เพื่อให้เด็กนักเรียนสามารถนำกลับไปทำเองได้ที่บ้าน
  5. การเลี้ยงปลา เนื่องจากบริเวณโรงเรียนมีการขุดร่องน้ำผ่านพื้นที่ของโรงเรียน โรงเรียนจึงทำฝายกั้นหัวและท้ายของร่องน้ำไว้ เพื่อเลี้ยงปลานิล ปลาสวาย และเลี้ยงปลาดุกในกระชัง
  6. การเลี้ยงกบบูลฟร็อก
  7. การทำปุ๋ยหมัก โดยผลิตจากเศษผัก เศษอาหาร นอกจากนี้ยังเก็บผักตบชวาเมื่อมีการลอกคลอง เพื่อนำมาหมักเป็นปุ๋ยหมักชีวภาพ
  8. แปลงผักสวนครัว ส่วนนี้เน้นเป็นผักที่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น เช่น ผักบุ้ง กวางตุ้ง พริก คะน้า กะเพรา มะนาว นอกจากนี้ ยังปลูกไม้ผลไว้บางส่วน ได้แก่ กล้วย และฝรั่ง

การดูแลหลักในแต่ละกิจกรรม โรงเรียนเน้นให้นักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนี้ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 รับผิดชอบการปลูกผักสวนครัว ได้แก่ ผักบุ้ง กวางตุ้ง คะน้า พริก ส่วนมัธยมศึกษาปีที่ 2 รับผิดชอบการปลูกผักสวนครัว ได้แก่ พริก กะเพรา มะนาว และไม้ผล ได้แก่ กล้วยและฝรั่ง รวมถึงการเพาะเห็ด ส่วนมัธยมศึกษาปีที่ 3 รับผิดชอบการเลี้ยงไก่ไข่ การเลี้ยงปลา การเลี้ยงกบ และกิจกรรมการผลิตน้ำดื่มยุวะ ส่วนกิจกรรมการทำปุ๋ยชีวภาพ กิจกรรมเคหกิจ นักเรียนร่วมกันรับผิดชอบ โดยมีชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เป็นผู้ดูแลหลัก

อาจารย์จิรัฐยา พิมพ์แสง ผู้อำนวยการ โรงเรียนวัดหนองตะเฆ่

อาจารย์จิรัฐยา บอกด้วยว่า ทุกๆ กิจกรรมการเกษตร ไม่ได้นำแบบประเมินมาใช้กับนักเรียน เป็นการทำกิจกรรมด้วยจิตอาสา ใช้เวลาว่างจากการเรียนให้กับกิจกรรมการเกษตร ผลผลิตที่ได้ทั้งหมดมีเป้าหมายหลัก คือ นำส่งเข้าสหกรณ์ของโรงเรียน จากนั้นนำไปใช้ในโครงการอาหารกลางวัน เมื่อผลผลิตมีมากเกินความต้องการในโครงการอาหารกลางวัน จึงจะประกาศขายให้กับผู้ปกครอง ครู และชุมชน ซึ่งก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด อย่างไรก็ตาม นักเรียนและบุคลากรจะได้รับการปันผลจากการจำหน่ายผลผลิตที่ได้ในช่วงปลายปีการศึกษาทุกคน

เด็กชายธีรเดช ภควดีกุล

เด็กชายธีรเดช ภควดีกุล หรือ น้องอั้ม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ประธานกลุ่มยุวเกษตรกร กล่าวว่า พ่อกับแม่ทำงานโรงงาน แต่เคยเห็นตากับยายปลูกต้นไม้ เลี้ยงไก่ ก็อยากทำบ้าง ตอนนั้นยังอยู่ชั้นประถมศึกษา เมื่อขึ้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จึงสมัครเข้ากลุ่มยุวเกษตรกร และได้รับเลือกให้เป็นประธานกลุ่ม ซึ่งต้องจัดการทุกอย่างโดยเฉพาะการตรวจสอบความผิดพลาด การรับฟังปัญหาและอุปสรรค เพื่อแก้ไขและรายงานให้กับอาจารย์ที่ปรึกษาทราบ

“ส่วนตัวผมชอบการเกษตรมากครับ เคยนำก้อนเชื้อเห็ดภูฎานจากโรงเรียนไปเพาะที่บ้าน ก็ได้ผลดี นอกจากนี้ยังปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเองที่บ้าน และเลี้ยงไก่ไข่ ทำให้ไม่ต้องซื้อไข่และผัก เป็นการประหยัดช่วยครอบครัวอีกทางหนึ่งด้วย”

เด็กชายธาราดล ทาดี

เด็กชายธาราดล ทาดี หรือ น้องเทอร์โบ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ทำหน้าที่รองประธานกลุ่มยุวเกษตรกร เล่าว่า ครอบครัวค้าขาย ไม่ได้ทำการเกษตรใดๆ แต่เพราะสนใจจึงช่วยพ่อปลูกผักและผลไม้ ทั้งผักและผลไม้ที่ปลูกไว้ เมื่อมีมากเกินรับประทาน จึงนำไปขาย มีรายได้เสริมให้กับครอบครัว สำหรับกิจกรรมการเกษตรที่โรงเรียน ตนรับผิดชอบดูแลการเพาะเห็ด การปลูกฝรั่ง การปลูกมะนาว ในการเพาะเห็ดไม่ใช่เรื่องยาก อยากแนะนำเรื่องการเพาะเห็ดให้กับทุกคนว่า ต้องใส่ใจ รดน้ำเช้า กลางวัน และเย็น เห็ดเป็นพืชที่ต้องการความชื้น หากขาดน้ำเห็ดจะเกิดปัญหา อาจไม่ออกดอกให้ หรือออกดอกมาแล้วลีบ เก็บขายไม่ได้ ดังนั้น อยากบอกให้ทุกคนเข้าใจว่า พืชต้องการการใส่ใจทุกๆ ชนิด ไม่เฉพาะเห็ด

เด็กหญิงเปรมฤดี ช่างกระโทก

ด้าน เด็กหญิงเปรมฤดี ช่างกระโทก หรือ น้องเฟิร์น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 บอกว่า ชอบการปลูกผักสวนครัว เพราะปลูกง่าย ดูแลง่าย และเจริญเติบโตไว ง่ายต่อการขาย ตลาดต้องการอย่างต่อเนื่อง ในทุกๆ วัน สิ่งที่ต้องทำคือการทำเวรโรงเรียนให้เรียบร้อย จากนั้นจึงให้เวลากับการดูแลผักสวนครัว ควรรดน้ำในเวลาเช้าและเวลาเย็น ในเวลากลางวันไม่ควรรดน้ำให้กับผัก เพราะแดดร้อน ผักอาจจะตายได้

เด็กหญิงอุทัยวัล วงษ์แก้ว

ส่วน เด็กหญิงอุทัยวัล วงษ์แก้ว หรือ น้องแก้ว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 กล่าวว่า เมื่อครั้งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 รับผิดชอบการปลูกผักสวนครัว แต่ปัจจุบันรับผิดชอบการเลี้ยงไก่ไข่ ในทุกวันกิจกรรมที่ต้องทำ คือ การให้อาหารไก่ และเปิดเพลงให้ไก่ฟัง เพราะเมื่อไก่ฟังเพลงแล้วอารมณ์ดี จะทำให้ไก่ออกไข่ให้ทุกวัน นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ทำความสะอาดกรงไก่ ส่วนการเก็บไข่ เป็นหน้าที่ของพี่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3

เด็กหญิงวราลักษณ์ สุนทร

สำหรับ เด็กหญิงวราลักษณ์ สุนทร หรือ น้องแนน นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เลขานุการกลุ่มยุวเกษตรกร เล่าว่า แม้จะเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 แต่ก็มีความสามารถหลายอย่าง และรักที่จะทำการเกษตร ไม่เฉพาะที่โรงเรียน เพราะที่บ้านก็ปลูกผักสวนครัวไว้ด้วยเหมือนกัน

น้ำดื่มยุวะ

“ที่หนูอยากเรียนรู้มากที่สุด คือ กระบวนการผลิตน้ำดื่มยุวเกษตรกร แต่เพราะหนูยังอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เลยยังไม่ได้รับผิดชอบเอง ต้องรอให้โตกว่านี้ก่อน อีกเพียง 2 ปี หนูก็ได้ลงมือทำและเรียนรู้ด้วยตนเองแล้ว อย่างไรก็ตาม หนูอยากฝากถึงเพื่อนๆ นักเรียนด้วยกันที่มีโอกาสได้ลงมือทำการเกษตร ไม่ว่าจะกิจกรรมใดก็ตาม อย่าทิ้งโอกาสนั้น เพราะเป็นโอกาสทองที่จะทำให้เราได้ศึกษาเรียนรู้พื้นฐานการดำรงชีวิตของเรา นอกจากนี้ การทำการเกษตรจะช่วยให้เราสามารถนำมาเป็นอาชีพได้ ทำให้เราใช้ชีวิตอย่างพอเพียงตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อีกด้วย”

ในท้ายที่สุด กิจกรรมทางการเกษตรที่หลากหลายของโรงเรียนวัดหนองตะเฆ่ ตำบลหนองจรเข้ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ที่มีหลากหลาย ก็สามารถดำเนินได้อย่างมีระบบภายในพื้นที่เล็กๆ ของโรงเรียนวัดหนองตะเฆ่ ทั้งยังมีนักเรียนและบุคลากรจำนวนไม่มากช่วยกันดำเนินการ ซึ่งหากต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุนกิจกรรมด้านการเกษตรให้กับโรงเรียนวัดหนองตะเฆ่ ก็เป็นเรื่องน่ายินดี สามารถติดต่อได้ที่ อาจารย์จิรัฐยา พิมพ์แสง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดหนองตะเฆ่ โทรศัพท์ (089) 084-8693 หรือเข้าไปเยี่ยมชมโรงเรียนได้ที่ โรงเรียนวัดหนองตะเฆ่ บ้านหนองตะเฆ่ ตำบลหนองจรเข้ อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ได้ในวัน และเวลาราชการ