โรงเรียนบ้านเขาไม้แก้ว ปราจีนบุรี ทำเกษตรอินทรีย์และชีวภาพ ผูกสำนึกโรงเรียนรักชุมชน

ก้าวย่างเข้าเดือนเมษายน เริ่มต้นฤดูร้อนของทุกปี แน่นอนว่าความร้อนที่พุ่งทะยานไปในทุกย่างก้าว ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรทุกชนิดถูกลดทอนความอุดมสมบูรณ์และการเจริญเติบโตไปด้วยความแห้งแล้งที่มาพร้อมกับฤดูร้อนที่เริ่มขึ้น

ปัญหาการขาดแคลนน้ำใช้ในภาคเกษตรทุกฤดูร้อน มีให้เห็นเกือบทุกแห่ง

ในสถานศึกษาที่มีพื้นที่สำหรับทำการเกษตร นอกจากต้องเผชิญภาวะความแห้งแล้งในฤดูร้อนแล้ว ช่วงที่น่าเห็นใจที่สุด นอกจากตลอดฤดูร้อนแล้ว ระหว่างปิดภาคเรียนยังต้องเตรียมความพร้อมไว้สำหรับการเกษตรที่ยังเหลืออยู่ให้ตลอดรอดฝั่งถึงเปิดภาคเรียนถัดไป

อาจารย์สานิตย์ เจนสัญญายุทธ

โรงเรียนวัดเขาไม้แก้ว หมู่ที่ 4 บ้านเขาไม้แก้ว ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี ตั้งอยู่ห่างจากถนนสายหลักไปไม่กี่กิโลเมตร แต่บริเวณโดยรอบของโรงเรียนมีสภาพป่าที่ไม่สมบูรณ์นัก อาจารย์สานิตย์ เจนสัญญายุทธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเขาไม้แก้ว บอกว่า สภาพความแห้งแล้งที่เห็นมาตลอดการเดินทางก่อนจะถึงโรงเรียน มีให้เห็นเกือบทุกฤดูกาล ยิ่งเข้าฤดูร้อนการจัดการด้านการเกษตรภายในโรงเรียนก็ยิ่งยาก แต่ความโชคดีของโรงเรียนเขาไม้แก้วก็ยังมี ตรงที่ชุมชนมีความร่วมมือร่วมใจ ส่งเสริมกิจกรรมเกษตรภายในโรงเรียน และเปิดใจรับกิจกรรมที่เด็กนักเรียนทำร่วมกับชุมชน แม้ในช่วงปิดภาคเรียนที่ยังมีกิจกรรมทางการเกษตรต่อเนื่องต้องดูแล ชุมชนก็ยังมีเกษตรกรและเด็กนักเรียนที่อยู่บ้านใกล้โรงเรียน เสียสละเวลามาดูแลการเกษตรที่โรงเรียนให้

โรงเรียนบ้านเขาไม้แก้ว เปิดการเรียนการสอนในระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาตอนต้น มีนักเรียน 531 คน อาจารย์และบุคลากร 31 คน

โรงเรียนมีพื้นที่ทั้งหมด 25 ไร่ ไม่นับรวมที่นาอีก 7 ไร่ครึ่ง ที่เพิ่งซื้อต่อจากชาวบ้านเป็นเพียงที่นา ที่ตั้งใจให้นักเรียนได้เรียนรู้กระบวนการปลูกข้าวทั้งหมด

ก่อนหน้านี้ การปลูกข้าวสำหรับนักเรียน เริ่มขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 ด้วยที่นาเช่า 3 ไร่ หลังจากนั้น เช่าที่นาเพิ่ม ซึ่งโรงเรียนพยายามเก็บหอมรอมริบ เพื่อขอซื้อผืนนาต่อจากชาวบ้าน และในที่สุดก็ซื้อมาใช้ประโยชน์ในกิจกรรมการเกษตรของโรงเรียนได้

โครงการอาหารกลางวัน เป็นโครงการที่โรงเรียนให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะนอกจากงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้เฉพาะนักเรียนชั้นประถมในโครงการอาหารกลางวันแล้ว โรงเรียนต้องการให้นักเรียนได้มีอาหารกลางวันรับประทานตามโภชนาการที่ดีเหมือนกันหมดทุกคน จึงจัดอาหารกลางวันไว้สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลและนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นทั้งหมดด้วย

ภาระนี้จึงตกอยู่กับโรงเรียน และการซื้อผืนนาสำหรับให้นักเรียนได้เรียนรู้กระบวนการปลูกข้าว แล้วสิ่งที่ได้รับต่อจากนั้นคือ นักเรียนมีข้าวกินเอง ไม่ต้องซื้อ รวมถึงผลผลิตที่โรงเรียนให้ความสำคัญไปกับภาคการเกษตร โดยแบ่งพื้นที่ให้ทำการเกษตรมากถึง 8 ไร่เศษ แบ่งเป็นผืนนา 7 ไร่ครึ่ง และที่เหลือเป็นกิจกรรมทางการเกษตรที่เรียกได้ว่า ครบวงจร

“ปัญหามีเพียงฤดูแล้ง แม้กระทั่งแหล่งน้ำที่ขุดไว้เป็นบ่อดิน ปล่อยปลานิลไว้ตามธรรมชาติก็แห้งขอด เจาะบาดาลไว้ก็ไม่เพียงพอ ตอนนี้ของบประมาณจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ในการเดินท่อส่งน้ำจากคลองที่อยู่ห่างจากโรงเรียน 250 เมตร เพื่อส่งน้ำมาใช้ในช่วงฤดูแล้ง คาดว่าจะช่วยแก้ปัญหาขาดน้ำใช้ได้”

ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเขาไม้แก้ว บอกด้วยว่า โรงเรียนให้ความสำคัญในภาคเกษตรมากพอสมควร เพราะเชื่อว่าเด็กนักเรียนที่มีภูมิลำเนาในต่างจังหวัด ห่างไกลเมืองหลวง โอกาสได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่องไม่ครบ 100 เปอร์เซ็นต์ จึงจำเป็นต้องปูพื้นฐานวิชาชีพที่ใกล้ตัวไว้ให้ และการเกษตรในโรงเรียนที่ดำเนินอยู่ขณะนี้ เป็นเกษตรอินทรีย์ที่มีปราชญ์ชาวบ้านในชุมชนเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้

พื้นที่ 8 ไร่เศษ แบ่งเป็นผืนนามากถึง 7 ไร่ครึ่ง ที่เหลือเป็นพื้นที่การเกษตรอื่น ได้แก่ โรงเรือนปลูกเห็ด เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลา ปลูกไม้ผล และพืชผักสวนครัว ทุกๆ กิจกรรมเป็นเกษตรอินทรีย์

ไข่ไก่ที่ได้ ไม่เคยพอ

เช่น การเลี้ยงไก่ไข่ เป็นการเลี้ยงปล่อย ล้อมรั้วไว้และทำโรงเรือนให้ รวมถึงเปิดเพลงให้ไก่ไข่ฟัง เพราะเชื่อว่าไก่ไข่จะอารมณ์ดีและให้ไข่สมบูรณ์ ส่วนอาหารให้วันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น เป็นอาหารที่คิดสูตรขึ้นเอง ตัวอย่างอาหารไก่ไข่เป็นอาหารที่หมักเอง โดยใช้วัตถุดิบเป็นน้ำตาลทรายแดง 1 กิโลกรัม รำ 5 กิโลกรัม หยวกกล้วย 10 กิโลกรัม หมักรวมกันนาน 7 วัน จากนั้นนำไปให้ไก่ไข่กินได้ ซึ่งสามารถลดต้นทุนการเลี้ยงไก่ไข่ได้มากถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ในแต่ละวันเก็บไข่ไก่ได้มาก 70-100 ฟอง เมื่อเลี้ยงไก่ไข่ 200 ตัว

ไม้ผล ให้ความสำคัญกับไม้ยืนต้น เช่น มะขาม ปลูกไว้โดยรอบโรงเรียนมากกว่า 40 ต้น เพื่อใช้ประโยชน์ในทางให้ร่มเงา ต้นฝรั่งไว้กินผล ซึ่งไม้ผลทั้งสองชนิดนี้ยังมีไว้สำหรับให้นักเรียนเรียนรู้เรื่องการขยายพันธุ์ไม้

ปลานิล ปล่อยในบ่อดิน ให้อาหารวันละครั้ง รอให้เจริญเติบโตเต็มวัย ก็จับมาเข้าโครงการอาหารกลางวัน หากเหลือก็ขายให้กับชุมชน

โรงเรือนเห็ด ปัจจุบัน เพาะเห็ดนางรมฮังการี เห็ดฟาง เพราะให้ผลผลิตมาก สามารถนำไปแปรรูปเป็นน้ำพริกเห็ด เห็ดทอด หรือเห็ดสามรส จำหน่ายได้ด้วย

แปลงผักสวนครัว ปลูกผักระยะสั้นไว้ใช้ในโครงการอาหารกลางวัน หมุนเวียนไปหลายชนิด เช่น ผักบุ้ง กวางตุ้ง ผักกาด ฟักทอง กะเพรา โหระพา พริก คะน้า เป็นต้น

อาจารย์กาญจนา ศรีสุนทร อาจารย์ที่ปรึกษาด้านเกษตร โรงเรียนบ้านเขาไม้แก้ว เล่าว่า การทำการเกษตรของโรงเรียนเน้นการทำเกษตรอินทรีย์ แม้ในบางกิจกรรมจำเป็นต้องใช้สารเคมีบ้างก็ส่วนน้อย เช่น การกำจัดแมลงศัตรูพืช ก็ทำน้ำหมักชีวภาพไล่แมลงเอง โดยมีปราชญ์ชาวบ้านใกล้เคียงเป็นวิทยากรถ่ายทอดการทำน้ำหมักให้กับเด็กนักเรียน โดยใช้พืชพื้นถิ่นที่ให้เกิดประโยชน์ เช่น น้ำหมักจากฝักคูน สะเดา และยาสูบ

อาจารย์กาญจนา ศรีสุนทร

“ทุกๆ กิจกรรมเมื่อได้ผลผลิตแล้ว จะนำเข้าโครงการอาหารกลางวันเป็นลำดับแรก เมื่อเหลือจากนำเข้าโครงการอาหารกลางวัน จึงจะแพ็กใส่ถุงสำหรับขายให้ผู้ปกครอง อาจารย์ และชุมชน ซึ่งราคาขายจะถูกกว่าท้องตลาด แม้ว่าจะเป็นเกษตรอินทรีย์ แต่ก็ไม่ได้ต้องการกำไรมาก ต้องการเพียงนำมาเป็นค่าใช้จ่ายร่วมกับโครงการอาหารกลางวันเท่านั้น”

อาจารย์รติสัยน์ ธนะปาละ

นอกเหนือจากกิจกรรมทางการเกษตรภายในโรงเรียน นักเรียนโรงเรียนบ้านเขาไม้แก้ว ยังให้ความสำคัญภาคเกษตรนอกโรงเรียน เริ่มต้นจากการเขียนโครงการของนักเรียน โดย อาจารย์รติสัยน์ ธนะปาละ รองผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเขาไม้แก้ว เล่าให้ฟังว่า โรงเรียนจัดตั้งกลุ่มจิตอาสาขึ้น มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึง มัธยมศึกษาปีที่ 3 สมัครเป็นสมาชิกจำนวนกว่า 100 คน ใช้เวลาว่างจากการเรียน โดยเฉพาะเสาร์หรืออาทิตย์ ปลูกไม้ยืนต้นที่ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น มะรุม ขี้เหล็ก ติ้ว แค คูน มะขาม ตามแนวถนนและบริเวณที่ว่างสาธารณะของชุมชน นอกจากนี้ ยังรวมกลุ่มดูแลผู้สูงอายุด้วยการนวดประคบให้กับผู้สูงอายุ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และการปลูกต้นไม้ทำแนวกันไฟ และฝายชะลอน้ำให้กับเขาไม้แก้ว จนเป็นกิจกรรมที่ได้รับรางวัลระดับจังหวัดมาแล้ว

เด็กชายนำโชค แม่นแก้ว

เด็กชายนำโชค แม่นแก้ว หรือ น้องอิฐ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ประธานกลุ่มยุวเกษตรกร เล่าว่า ทำหน้าที่รับผิดชอบนาข้าวของโรงเรียน การทำนาครั้งแรกรู้สึกตื่นเต้น และภูมิใจตนเองที่สามารถปลูกข้าวได้ และเรียนรู้ขั้นตอนการทำนา ซึ่งสำหรับตนถือว่าไม่ยาก นอกจากนี้ ยังต้องดูแลสวนสมุนไพรของโรงเรียน เป็นเรื่องที่ดี เพราะได้นำสมุนไพรมาแปรรูปได้ประโยชน์หลายอย่าง เช่น น้ำอัญชันผสมมะนาว นำไปขายให้กับครูและชาวบ้าน เป็นรายได้เข้าโรงเรียนด้วย

เด็กหญิงรัตนาวลี สงเหล่า

ด้าน เด็กหญิงรัตนาวลี สงเหล่า หรือ น้องโบว์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 บอกว่า ชอบการทำแปลงผักสวนครัวมากที่สุด เพราะเป็นงานใกล้ตัว ทำได้ทุกที่และไม่ยาก การมีความรู้เรื่องเกษตรเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะถือเป็นพื้นฐานที่ควรมีติดตัวไว้ หากเติบโตขึ้นก็ถือเป็นอาชีพหนึ่งที่ไม่ต้องพึ่งพาใคร ซึ่งทุกๆ วัน ดิฉันต้องช่วยครอบครัวดูแลแปลงผักที่ปลูกไว้จำหน่าย จึงนับได้ว่าการเกษตรช่วยคนให้มีอาชีพได้จริงๆ

เด็กหญิงอรัญญา กุมใจ

ส่วน เด็กหญิงอรัญญา กุมใจ หรือ น้องอั๋น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 กล่าวว่า ครอบครัวมีอาชีพรับจ้าง แต่มีพื้นที่บริเวณบ้านว่าง พี่ชายจึงทำแปลงผัก ปลูกพืชสมุนไพรและปลูกไม้ผล ซึ่งดิฉันเป็นหลักในการช่วยพี่ชายทำแปลงเกษตรนี้ เพราะต้องการช่วยเหลือพี่ชายและแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายภายในครอบครัว ซึ่งที่ผ่านมาได้เรียนรู้การกำจัดวัชพืชและแมลงศัตรูพืชโดยใช้น้ำหมักชีวภาพ จึงนำความรู้นี้มาใช้กับแปลงผักของบ้าน ทำให้ผลผลิตที่ได้ปลอดสาร ขายได้ราคา

เด็กหญิงพรรณพษา พันทอง

สำหรับ เด็กหญิงพรรณพษา พันทอง หรือ น้องนิ้ง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เล่าว่า ครอบครัวทำเกษตรเป็นอาชีพหลัก โดยทำนาข้าว ทำไร่ข้าวโพด ทำไร่อ้อย และปลูกลำไยไว้บนพื้นที่ 1 ไร่ สำหรับกินและแบ่งปันเพื่อนบ้าน

เมื่อถามน้องนิ้งว่า เข้าใจคำว่าเกษตรอินทรีย์มากแค่ไหน และนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง น้องนิ้ง ตอบว่า เกษตรอินทรีย์ คือ การไม่นำสารเคมีเข้ามาใช้ในแปลงเกษตรเลยแม้แต่น้อย ซึ่งความรู้ส่วนนี้เราต้องเข้าใจว่าเราไม่มีความรู้มาเลย จึงควรสอบถามผู้รู้ หรือค้นหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต และหากใครมีความรู้เรื่องเกษตรอินทรีย์ที่ดีพอ ก็ควรถ่ายทอดให้กับผู้สนใจและคนที่ไม่รู้ เพื่อให้นำไปใช้ประโยชน์ในการทำการเกษตรในชีวิตประจำวันได้

เด็กหญิงบงกชพร สุวรรณศร

ส่งท้ายที่ เด็กหญิงบงกชพร สุวรรณศร หรือ น้องเชียร์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เล่าว่า สมัครเข้าร่วมกลุ่มยุวเกษตรกรด้วยความเต็มใจ เพราะชอบการทำการเกษตร ได้รับผิดชอบการดูแลโรงเรือนเห็ด ปัจจุบัน ได้เรียนรู้การเพาะเห็ดและปลูกผัก ซึ่งการเพาะเห็ดไม่ใช่เรื่องยาก หากใส่ใจ และอยากฝากบอกเยาวชนทุกคนว่า การทำการเกษตรไม่ได้ลำบากอะไร ขึ้นอยู่กับว่ามีใจที่จะทำหรือไม่เท่านั้น

นักเรียน 5 คน ที่เป็นตัวแทนของโรงเรียนบ้านเขาไม้แก้ว เป็นเพียงเสี้ยวตัวอย่างแนวความคิดที่นำมาเปิดเผย ยังมีนักเรียนอีกจำนวนมากของโรงเรียนที่มีใจรักในการเกษตร ที่พร้อมจะสร้างสรรค์ทั้งในโรงเรียนและชุมชนที่อาศัยอยู่ จึงควรได้รับการส่งเสริม หากหน่วยงานใดต้องการส่งเสริมสนับสนุนโรงเรียนบ้านเขาไม้แก้ว สามารถติดต่อไปยัง อาจารย์สานิตย์ เจนสัญญายุทธ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเขาไม้แก้ว หมู่ที่ 4 บ้านเขาไม้แก้ว ตำบลเขาไม้แก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี