คอลัมน์ สดจากเยาวชน : เด็กสืบลมหายใจ ผ้าไหมลายลูกแก้ว

คอลัมน์ สดจากเยาวชน จากโครงการเยาวชนเรียนรู้และอนุรักษ์ภูมิปัญญาการทอผ้าไหมลายลูกแก้วของชาวกูยในปีที่ผ่านมา มรดกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาที่มีมานานกว่า 100 ปี ของบ้านขี้นาค ตำบลตูม อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ ความร่วมมือระหว่างเด็กและเยาวชนในชุมชนกับปราชญ์ชาวบ้านครั้งนั้น นำมาสู่ผลลัพธ์เชิงรูปธรรม นั่นคือหนังสือรวบรวมองค์ความรู้เรื่องอุปกรณ์และ วิธีทอผ้าไหมลายลูกแก้ว

เมื่อมีโอกาสทำโครงการต่อในปีที่ 2 จึงลงตัวที่การจัดทำแหล่งเรียนรู้การทอผ้าชุมชนบ้านขี้นาค โดยนำชุดความรู้รวมถึงทักษะการทอผ้าที่ นุ่น-นิภาดา บุญท่วม อุมา-อุบลวรรณ ศิลาชัย ชมพู่-สิริวิมล ไชยภา แนน-จิฑาภรณ์ นาคนวล และ มด-ปทุมรัตน์ จันทอง เยาวชนบ้านขี้นาค กลุ่ม Spy kids มาขยายผลแก่เด็กและเยาวชนในชุมชน เกิดเป็นโครงการเรียนรู้การทอผ้าไหมกับกลุ่มเยาวชนบ้านขี้นาค โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

พี่แล สิดาวรรณ ไชยภา พี่เลี้ยงกลุ่มเยาวชน มองว่าทักษะชีวิตเกิดขึ้นได้จากการลงมือทำ ยิ่งเป็นการทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์เพื่อชุมชนจะยิ่งสร้างสำนึกให้เด็กและเยาวชนเกิดความรักและหวงแหนสิ่งดีๆ ในท้องถิ่น และช่วยอุดช่องว่างความสัมพันธ์ระหว่างวัยของคนในชุมชน

นุ่น เล่าว่า ผ้าไหมลายลูกแก้ว (ผ้าแก๊บในภาษากูย) พบเห็นได้ในชีวิตประจำวันของคนบ้านขี้นาค จนกลายเป็นความเคยชินที่ทำให้คนในชุมชนมองไม่เห็นคุณค่าและความพิเศษของภูมิปัญญาซึ่งเป็นเอกลักษณ์สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ จึงอยากเผยแพร่องค์ความรู้ที่รวบรวมมาได้จากโครงการปีก่อนให้คนอื่นรับรู้ด้วย

“แค่รู้อย่างเดียวไม่พอ ต้องลองและฝึกฝนทำเองจึงจะเกิดผล พวกเขาเชื่อว่าการเข้าฐานเรียนรู้โดยตรงกับผู้รู้จะสร้างนักทอผ้ามือใหม่ที่สนใจภูมิปัญญาการทอผ้าขึ้นมาได้อีกจำนวนหนึ่ง อีกทั้งเมื่อเด็กลุกขึ้นมาฟื้นฟูการทอผ้าอย่างเป็นรูปธรรม แรงกระเพื่อมนี้น่าจะเข้าไปกระตุ้นให้ผู้ใหญ่หันมาสนใจรื้อฟื้นการทอผ้าไหมลายลูกแก้วมากขึ้นไปอีก” ทีมงานบอกถึงวิธีคิดและวิธีทำงาน

เช่นเดียวกับ ชมพู่ และแนน เสริมว่า ไม่เพียงแค่ชี้แจงการทำงานให้ผู้ใหญ่ในชุมชนทราบ พวกเขายังนำข้อมูลที่เก็บได้จากปีก่อนมาอ่านทบทวน แล้วลงพื้นที่ไปพูดคุยกับผู้รู้เพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

แผนงานหลักของโครงการปีที่ 2 คือการชักชวนเด็กและเยาวชนจากทั้งในและนอกชุมชนเข้ามาเรียนรู้การทอผ้าไหมจากทั้ง 3 ฐานที่บ้านผู้รู้ เพื่อฝึกฝนทักษะการทอด้วยตัวเอง ทั้ง 3 ฐานประกอบด้วย ฐานที่ 1 ฐานเล็กๆ ส่งเสริมเด็กให้เรียนรู้ บ้านยายสำเนียง นาคนวล การฟอก กระตุกและปั่นไหม ฐานที่ 2 คุณครูพี่สอนน้อง บ้านยายแสงมณี จันทอง การทำเครือและการต่อไหม และฐานที่ 3 เรียนรู้ร่วมใจสู่ผ้าไหมลายลูกแก้ว บ้านยายเทพนิมิต ทวีชาติ การปั่นไหมใส่หลอดและการทอผ้าไหมลายลูกแก้ว

หลังออกแบบฐานการเรียนรู้แล้วเสร็จ ทีมงานจึงระดมพลเด็กและเยาวชนในหมู่บ้านมาร่วมทำกิจกรรมตามแหล่งเรียนรู้ โดยแบ่งกลุ่มกันนำจดหมาย ไปเชิญชวนตามคุ้มที่แต่ละคนอาศัยอยู่ประมาณ 30 หลังคาเรือน เลือกกลุ่มเป้าหมาย ตามบ้านคนรู้จักก่อน เมื่อถึงวันจริงมีเด็กและเยาวชนมาร่วมกิจกรรมประมาณ 20 คน เนื่องจากการเข้าฐานแต่ละครั้งใช้เวลามากกว่า 1 วัน ทำให้มีเด็กและเยาวชนสลับกันไปมาตามวันเวลาที่สะดวก

ยายแสงมณี จันทอง ผู้รู้ฐานที่ 2 เรื่องการทำเครือและการต่อไหม บอกว่า ดีใจที่ลูกหลานในชุมชนเข้ามาเรียนรู้การทอผ้าไหม เพื่อจะได้เป็นความรู้ติดตัวและนำไปประกอบอาชีพได้ ดีกว่าปล่อยให้ภูมิปัญญาสูญหายไปกับคนเฒ่าคนแก่ในชุมชน

วันนี้ ชุมชนบ้านขี้นาคได้ “ชุดองค์ความรู้” เรื่องอุปกรณ์และวิธีทอผ้าไหมลายลูกแก้ว ที่อุ่นใจได้ว่าภูมิปัญญานี้จะยังคงอยู่คู่ชุมชน โดยมีเยาวชนเป็นตัวตั้งตัวตีในการฟื้นภูมิปัญญา การทำงานของเยาวชนได้เข้าไปกระตุกให้คนในชุมชนตื่นตัวหันมาจับกี่ทอผ้า อีกครั้ง

 

 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์