กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านน้ำมิน พะเยา ทำศูนย์เรียนรู้ฯ ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

โรงเรียนบ้านน้ำมิน หมู่ที่ 6 ตำบลแม่ลาว อำเภอเชียงคำ จังหวัดพะเยา จัดตั้งกลุ่มยุวเกษตรกรขึ้น เมื่อปี 2552 เพราะโรงเรียนเล็งเห็นถึงความสำคัญของการทำการเกษตร มีการจัดสรรพื้นที่ด้านหลังโรงเรียน จำนวน 2 ไร่ 3 งาน 35 ตารางวา เพื่อทำเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ในการทำกิจกรรมด้านการเกษตรต่างๆ และใช้พื้นที่ภายในโรงเรียนเพื่อทำกิจกรรมด้านอื่นๆ เช่น ด้านเคหกิจเกษตร แปรรูป การออมทรัพย์ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

เพราะโรงเรียนมีสภาพแวดล้อมเป็นชุมชนเก่า มีวัฒนธรรมเดิมที่ดี และส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมถึงร้อยละ 99 และยังมีนักเรียนชาวไทยภูเขา เข้ามาเรียนรู้ด้วย ที่สำคัญโรงเรียนบ้านน้ำมิน เคยได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนประเทศไทย เข้ารับรางวัลโรงเรียนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 2 ปี พ.ศ. 2558” (The 2ed ASEAN Eco-schools Award 2015) และได้รับการประเมินเป็นศูนย์การเรียนรู้ Eco-schools โรงเรียนยังเป็นศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

การดำเนินงานของกลุ่มยุวเกษตรกร โรงเรียนบ้านน้ำมิน มีหลากหลาย ประกอบไปด้วยแปลงสาธิตปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ ปลูกผักพื้นบ้าน การเพาะถั่วงอก การเลี้ยงกบ การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ การเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ การเลี้ยงเป็ดพันธุ์ไข่ การเลี้ยงไก่พื้นเมือง การเลี้ยงหมูอินทรีย์ การเลี้ยงไส้เดือน การทำน้ำยาอเนกประสงค์ การทำน้ำมันไบโอดีเซล การทำปุ๋ยหมัก การปักผ้าชนเผ่า กิจกรรมธนาคารขยะ กิจกรรมสหกรณ์ กิจกรรมโรงเรียนธนาคารบ้านน้ำมิน ร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สาขาบ้านทราย เพื่อให้สมาชิกรู้จักการออม และการบริหารเงินที่ได้จากการทำโครงการและการช่วยผู้ปกครองประกอบอาชีพด้านการเกษตรด้วย

นอกจากนี้ กลุ่มยุวเกษตรกรยังได้พัฒนาสมาชิกให้รู้จักหน้าที่การช่วยเหลือสังคม การใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ร่วมกิจกรรมด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เช่น การปลูกต้นไม้ในที่สาธารณะให้ชุมชนน่าอยู่ การรณรงค์ต่อต้านยาเสพติด รณรงค์กำจัดลูกน้ำและยุงลาย การจัดการขยะ การประหยัดน้ำ ไฟฟ้า โดยน้อมนำเอาแนวพระราชดำริฯ มาใช้ และยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ประกอบการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของสมาชิก

ในการปฏิบัติงานแต่ละกิจกรรม คณะกรรมการและสมาชิกได้มีการประชุมปรึกษาหารือวางแผนในการทำกิจกรรม เพื่อศึกษาแนวทางในการทำกิจกรรมและความเป็นไปได้ของกิจกรรมและผลที่จะเกิดขึ้น หลังจากการทำกิจกรรมเสร็จเรียบร้อยก็มีการประชุมสรุปผลการทำงานร่วมกัน โดยมีสมุดบันทึกประจำกลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านน้ำมิน สรุปผลการดำเนินงานและกิจกรรม ประวัติของกลุ่มยุวเกษตรกร มีการบันทึกการดำเนินของกลุ่มเป็นระยะ เพื่อการกำกับติดตามและร่วมกันส่งเสริมและแก้ปัญหา รวมทั้งคำนึงถึงผลกำไร-ขาดทุนของกลุ่มด้วย

กลุ่มยุวเกษตรกร เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนากลุ่มให้ยั่งยืน จึงมีแนวคิดในการบริหารจัดการกลุ่ม โดยให้สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนากลุ่ม พัฒนาผลิตภัณฑ์ ผลิตผลต่างๆ ของกลุ่ม เริ่มตั้งแต่การระดมความคิดร่างกฎระเบียบ ข้อบังคับกลุ่ม กำหนดให้มีการประชุมกลุ่ม เดือนละ 1 ครั้ง เพื่อร่วมกันวิเคราะห์ปัญหา พร้อมหาแนวทางปรับ แก้ไข

เงินทุนที่กลุ่มจัดหามา ได้มาจากการขายผลผลิตทางการเกษตรผ่านร้านค้าสหกรณ์ของโรงเรียน เช่น ขายผักสวนครัวตามฤดูกาล ขายเห็ด ขายสัตว์เลี้ยงตามฤดูกาล หรือขนาด อายุ เช่น ปลาดุก กบ ไข่ไก่ หมูอินทรีย์ ไก่พื้นเมือง และยังได้รับการสนับสนุนทุนจากโครงการอาหารกลางวันแบบยั่งยืน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากโครงการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงในสถานศึกษา

ผลผลิตจากแปลงเกษตร เช่น พืชผักต่างๆ ตามฤดูกาล และจากกิจกรรมการเลี้ยงสัตว์ ส่วนใหญ่จะนำมาบริโภคเป็นอาหารกลางวันในโรงเรียน และประกอบอาหารเลี้ยงนักเรียนพักนอน (นักเรียนบ้านไกล) ส่วนที่เหลือจะจำหน่ายชุมชนโดยรอบโรงเรียน

การปลูกผักปลอดสารพิษ เป็นการปลูกพืชผักตามฤดูกาล เช่น ผักชี ผักกาดเขียวปลี ผักบุ้ง ผักสลัด กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก คะน้า พริก มะเขือ ตะไคร้ ปลูกผักพื้นบ้านเป็นการปลูกพืชผักที่มีและรู้จักในท้องถิ่น เช่น ชะอม ผักกูด ผักหนาม ตูน ผักหวานบ้าน

เลี้ยงกบในบ่อซีเมนต์ จำนวน 200 ตัว เลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ จำนวน 1,000 ตัว เลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ จำนวน 200 ตัว เลี้ยงเป็ดพันธุ์ไข่ จำนวน 20 ตัว การเพาะเห็ดนางฟ้า นางรม เป็นการนำก้อนเชื้อเห็ดนางฟ้า นางรม มาบ่มเพาะไว้ในโรงเรือน โดยควบคุมอุณหภูมิความชื้นจนเห็ดแตกดอกออกมาจากก้อน

การเพาะถั่วงอก เป็นการเพาะถั่วงอกให้ขาวตามธรรมชาติ โดยใช้จุลินทรีย์ EM ขยาย เป็นตัวเร่ง เลี้ยงไก่พื้นเมือง (สามสายเลือด) จำนวน 50 ตัว เลี้ยงไส้เดือนในกะละมัง จำนวน 3 กะละมัง เลี้ยงไก่พื้นเมือง จำนวน 20 ตัว เลี้ยงหมูพื้นบ้าน จำนวน 5 ตัว ปลูกเสาวรส บวบ น้ำเต้า กล้วย ตามบริเวณรั้ว ปลูกพืชผัก ผลไม้ ผลที่ได้รับสมาชิกกลุ่มได้บริโภคและสร้างรายได้ระหว่างเรียน เป็นการส่งเสริมให้สมาชิกกลุ่มได้ฝึกปฏิบัติจริง สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน

มีโรงเรือนทำปุ๋ยหมักเป็นการจัดการขยะที่ย่อยสลายได้ให้เกิดประโยชน์ โดยการนำเศษใบไม้ เศษวัชพืชต่างๆ เศษผักและผลไม้มาหมักในถังตามขั้นตอนและวิธีการน้ำหมักชีวภาพ เป็นการจัดการขยะที่ย่อยสลายได้ให้เกิดประโยชน์ นอกจากนี้ ในการทำน้ำส้มควันไม้ ยังเป็นการนำเอากิ่งไม้ที่ได้จากการตอนกิ่งไม้หรือหักโค่นมาเผาเอาน้ำส้มควันไม้ และได้ถ่านมาขาย หรือใช้ประโยชน์ต่อไป การทำน้ำมันไบโอดีเซล โดยนำเอาน้ำมันที่ใช้แล้วจากการทอด มาผลิตตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์จนได้น้ำมันมาใช้กับรถยนต์โรงเรียน ทำให้มีน้ำมันไบโอดีเซลใช้เอง และใช้พลังงานทดแทน ประหยัดงบประมาณ

ทั้งหมดทั้งมวล ทำให้โรงเรียนบ้านน้ำมิน ได้รับรางวัลที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและสิ่งแวดล้อมระดับจังหวัดและระดับประเทศ จำนวนมาก