ยุวเกษตรกร โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 25 แพร่ เรียนรู้จากการลงมือจริง สร้างทักษะและรายได้

โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 25 จังหวัดแพร่ เป็นสถานศึกษาที่จัดการศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาสทางการศึกษา ในเขตพื้นที่บริการจังหวัดแพร่และจังหวัดอุตรดิตถ์มีพื้นที่ทั้งหมด 289 ไร่ 1 งาน 7 ตารางวาได้เปิดทำการสอนครั้งแรก เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2538 โดยเปิดการเรียนการสอนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ปัจจุบันจัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เป็นโรงเรียนแบบสหศึกษาประเภทอยู่ประจำ

โรงเรียนจัดการเรียนการสอนโดยมุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้รับพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียนให้เกิดทักษะการเรียนรู้ทั้ง ทักษะวิชาการ ทักษะวิชาชีพและทักษะชีวิต ตลอดจนกิจกรรมการเรียนรู้ตามความสนใจและความถนัดของนักเรียน เช่น กิจกรรมด้านศิลปะ ดนตรี กีฬา เพื่อให้นักเรียนได้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย

ปี 2547 เด็กนักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 25 ซึ่งตั้งอยู่หมู่ 4 ตำบลแม่ยางตาล อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ รวมกลุ่มก่อตั้งกลุ่มยุวเกษตรกร เริ่มต้นด้วยสมาชิก 150 คน และครูที่ปรึกษา 3 คน โดยวางเป้าหมายหลักของกลุ่มยุวเกษตรกรในการทำกิจกรรมเกษตร บูรณาการกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้หลักธรรมาภิบาล

การบูรณาการกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้หลักธรรมาภิบาล เพื่อพัฒนานักเรียนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ มีคุณธรรม มีจริยธรรม มีปัญญา มีความสุข มีความเป็นไทย ประกอบอาชีพการเกษตรภายใต้วิสัยทัศน์ของเกษตรกร มีการเรียนรู้สู่การปฏิบัติ ผลิตอาหารปลอดภัย สร้างรากฐานสู่ AEC มุ่งปลูกจิตสำนึกให้ยุวเกษตรกร มีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเกษตรกรรม และมุ่งเน้นให้ให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกลุ่มแบบมืออาชีพ ใช้หลักปรัชญาทำงาน หลักเศรษฐกิจพอเพียง อีกทั้งการให้นักเรียนลงมือปฏิบัติเอง จะเป็นการสร้างให้เกิดทักษะ กระบวนการประกอบอาชีพการเกษตรอนาคต การมีรายได้ระหว่างเรียน และพัฒนาให้เป็นผู้นำการเกษตรในอนาคต

กิจกรรมทางการเกษตร ได้แก่ การทำนาข้าว และการแปรรูปข้าว การปลูกผักปลอดสารพิษ การเลี้ยงปลาพื้นบ้าน การเลี้ยงปลานิล การเลี้ยงปลาดุกในกระชัง การเลี้ยงปลาดุกในวงบ่อซีเมนต์ การเลี้ยงไก่สามสายเลือด การเลี้ยงไก่พื้นบ้าน การทำปุ๋ยหมักชีวภาพ การเพาะเห็ด การจัดตั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ และงานส่งเสริมอาชีพเพื่อการมีรายได้ระหว่างเรียน จำนวน 26 อาชีพ

ครูที่ปรึกษากลุ่มยุวเกษตรกร เล่าว่า เดิมโรงเรียนมีพื้นที่บ่อน้ำ 1 บ่อ จึงปรับปรุงบ่อน้ำให้เป็นบ่อเลี้ยงปลา โดยเลี้ยงปลานิลปล่อยในบ่อ และทำกระชังสำหรับเลี้ยงปลาดุก เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการประมง โดยอาหารปลานำมาจากเศษอาหารที่เหลือจากอาหารกลางวันของโรงเรียน เป็นการเลี้ยงปลาตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเมื่อปลาอยู่ในวัยที่จับได้ เด็กนักเรียนจะช่วยกันจับขึ้นมาเพื่อทำเป็นอาหารกลางวัน ลดค่าใช้จ่ายของโรงเรียน

การปลูกพืชผักสวนครัว ได้จัดทำเป็นแปลงปลูกไว้ เช่น กะหล่ำปลี ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ผักบุ้ง เป็นต้น ส่วนผักสวนครัวที่เป็นพืชเถาหรือไม้เลื้อย จะทำโครงไว้ให้เกาะ เช่น ถั่วฝักยาว บวบ เป็นต้น

การทำงานของกลุ่มยุวเกษตรกร ก่อให้เกิดกระบวนการมีส่วนร่วม สร้างภาวะผู้นำ สมาชิกยุวเกษตรกรจะได้ร่วมกิจกรรมทั้งทฤษฎี ปฏิบัติ มีกฎระเบียบกลุ่มให้ยุวเกษตรกรเรียนรู้จากการทำงานจริง โดยยุวเกษตรกรทุกคนมีคติประจำใจว่า “เลิร์นนิ่งบายดูอิ้ง” และจะทำให้ดียิ่งกว่าดีที่สุด นอกจากนี้ กลุ่มยุวเกษตรกรได้ใช้เวลานอกเหนือจากการทำกิจกรรมการเกษตรในโรงเรียนช่วยเหลือสังคม ด้วยการร่วมปลูกต้นไม้ในพื้นที่สาธารณะ เพื่อให้ชุมชนน่าอยู่ ส่งผลให้กลุ่มยุวเกษตรกรได้รับคัดเลือกให้เป็นสถาบันเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 2556 ซึ่งเห็นได้ชัดว่าการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มยุวเกษตรกร เป็นการบริหารจัดการอย่างมืออาชีพ เพราะเห็นถึงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน และวางรากฐานระยะยาวให้ยุวเกษตรกรทุกคน เพื่อสานต่อเป็นอาชีพต่อไปในอนาคต

นอกจากนี้ ยังมีการฝึกให้นักเรียนได้ทำการย้อมสีผ้าแบบธรรมชาติ การถักพรหมเช็ดเท้า การเสริมสวย การตัดเย็บเสื้อผ้าทำขนมและผ้าด้นมือ เพื่อจำหน่ายและบริการชุมชน สามารถสร้างรายได้และเป็นอาชีพติดตัวของเด็กนักเรียนอีกด้วย

แม้โรงเรียนจะวางรากฐานการเรียนการสอน เพื่อให้นักเรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อเป็นอาชีพในอนาคตได้ และได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากองค์กรภาครัฐและเอกชนบ้าง แต่ด้วยจำนวนนักเรียนที่อยู่ประจำและด้อยโอกาสมีจำนวนมาก จึงยังถือว่าไม่เพียงพอต่อความต้องการของเด็กที่กำลังเจริญเติบโตไปเป็นอนาคตของชาติ

หากต้องการส่งเสริมสนับสนุน สามารถติดต่อได้ที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 25 หมู่ที่ 4 ตำบลแม่ยางตาล อำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ โทรศัพท์ 054-597-184