ยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านทุ่งอิฐ แนวคิด 8 ฐานบันดาลสุข สู่ Smart group Model

ยุวเกษตรกรในประเทศไทย หมายถึงเด็กและเยาวชน อายุ 10-25 ปี ที่สนใจการเกษตร รวมตัวกันในระดับหมู่บ้าน ขอจัดตั้งเป็นกลุ่มยุวเกษตรกรต่อสำนักงานเกษตรอำเภอและจังหวัด เพื่อรับบริการความรู้วิชาการเกษตรและเคหกิจเกษตรจากโครงการส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่ ส่วนใหญ่เป็นโครงการอบรมความรู้ที่เหมาะสมกับอาชีพการเกษตรในท้องถิ่น กลุ่ม  ยุวเกษตรกรส่วนใหญ่มีสมาชิก 15-30 คน อายุใกล้เคียงกัน หรือเรียนอยู่ชั้นเดียวกัน มีทั้งประเภทกลุ่มในโรงเรียน กลุ่มนอกโรงเรียน และกลุ่มผสม โดยมีเกษตรกรในท้องถิ่นอาสาสมัครเป็น “ที่ปรึกษายุวเกษตรกร” ประจำกลุ่ม ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงดูแลให้คำแนะนำกลุ่มในการดำเนินงานและกิจกรรม

เครื่องหมายยุวเกษตรกร มีรูปร่างลักษณะมาจากใบโคลเวอร์สีเขียว 4 แฉก แต่ละแฉกบรรจุอักษร “ก” สีขาว อักษร ก ย่อมาจาก

เกศ หมายถึง การฝึกใช้สมอง

กมล หมายถึง การฝึกจิตใจ

กร หมายถึง การฝึกใช้มือ

กาย หมายถึง การฝึกพลานามัย

คุณปฐมาพร บัวมาศ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทุ่งอิฐ เล่าให้ฟังว่า กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านทุ่งอิฐ เป็นกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นภายในโรงเรียน เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2556 มีที่ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 4 ตำบลย่านซื่อ อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง โดยมีกลุ่มนักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งอิฐที่ตระหนักถึงความสำคัญของอาชีพเกษตรอันเป็นอาชีพหลักของคนไทย เป็นอาชีพที่สร้างอาหารและผูกพันกับวิถีชีวิตชุมชนบ้านทุ่งอิฐ ประกอบกับโรงเรียนบ้านทุ่งอิฐที่กลุ่มยุวเกษตรกรกำลังศึกษาอยู่ เป็นสถานศึกษาที่มีขนาดเล็ก โรงเรียนได้รับผลกระทบด้านงบประมาณสนับสนุนอาหารกลางวันที่มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ

การจัดตั้งกลุ่มจึงมีวัตถุประสงค์เพื่อปลูกฝังให้สมาชิกมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพเกษตรกร เรียนรู้การทำเกษตร และเรียนรู้กระบวนการทำงานในรูปแบบกลุ่ม รู้จักการบริหาร การแก้ปัญหา และเป็นการเพิ่มวัตถุดิบที่มีความสด สะอาด ปลอดภัย และมีราคาถูกกว่าท้องตลาดให้กับโครงการอาหารกลางวันอีกด้วย ปัจจุบัน มีสมาชิก 21 ราย มีสมาชิกสมทบ (นักเรียนชุมนุมเกษตรเพื่อชีวิต ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3) 47 ราย มีที่ปรึกษากลุ่มฯ หลัก จำนวน 3 คน ที่ปรึกษาในพื้นที่ 6 คน

กลุ่มยุวเกษตรกรโรงเรียนบ้านทุ่งอิฐ ดำเนินกิจกรรมของกลุ่มภายใต้ชื่อ กิจกรรม 8 ฐาน บันดาลสุข ประกอบด้วยกิจกรรมฐาน ดังนี้

 

ที่ ฐาน   แนวคิด/วิธีดำเนินงาน ผลการดำเนินงาน
1 ประมง เป็นฐานการเลี้ยงปลาดุกกับบ่อซีเมนต์ จำนวน 2 บ่อ ดำเนินงานด้วยรวมกลุ่มกันการศึกษาหาความรู้ประสานงาน ขอความร่วมมือระหว่างเพื่อนนักเรียน คณะครู ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษา ร่วมกันดูแลเอาใจใส่ นักเรียนแบ่งเวรประจำวัน ผลัดเปลี่ยนกันทำหน้าที่

-ดูแล ให้อาหาร การรดน้ำ ใส่ปุ๋ย

-การนำเศษอาหารมาทำปุ๋ยหมัก

-เกิดกระบวนการเรียนรู้วิถีการทำนา ได้ให้ความรู้เรื่องการทำนา และร่วมกันขับเคลื่อนให้เกิดการทำนาข้าวร่วมกัน

1.นักเรียนได้เรียนรู้และเกิดคุณธรรม จริยธรรม จากการทำกิจกรรม

2.โรงเรียนมีวัตถุดิบในการประกอบอาหารกลางวันได้มากขึ้น

3.สามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับนักเรียนได้

2 ปศุสัตว์ เป็นกิจกรรมการเลี้ยงไก่ไข่
3 พืชผัก เป็นกิจกรรมทำการเกษตรโดยการปลูกพืชผัก ได้แก่ มะนาว ผักหวาน ผักบุ้ง กวางตุ้ง ข้าวโพดหวาน ชะอม เป็นต้น
4 ขยายผลผลิต การขยายพันธุ์พืช โดยการเก็บเมล็ดพันธุ์ การตอนกิ่ง ทาบกิ่ง ปักชำ เป็นต้น
5 ทำนา การปลูกข้าวนาปี
6 ลดต้นทุน การทำปุ๋ยหมัก น้ำหมัก
7 แปรรูป การทำปลาดุกแดดเดียว
8 สหกรณ์ การทำงานร่วมกันแบบสหกรณ์เป็นกิจกรรมที่ต้องพร้อมทั้งกายและใจ  วิธีการสหกรณ์เป็นรากฐานของระบบประชาธิปไตย

 

คุณสรวง พรหมบุญทอง เกษตรอำเภอกันตัง กล่าวว่า จากการส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มยุวเกษตรกร โรงเรียนบ้านทุ่งอิฐ มีจุดมุ่งหมายที่สมาชิกรับรู้ร่วมกัน คือ การน้อมนำเอาหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน การมีทัศนคติที่ดีต่ออาชีพการเกษตรกรรม เห็นคุณค่าความสำคัญในการประกอบอาชีพเกษตรซึ่งเป็นฐานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สามารถเป็นผู้นำ ผู้ตามที่ดี มีความรับผิดชอบ มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตย มีจิตสาธารณะ รู้จักหวงแหนและอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม จากผลการดำเนินการ กลุ่มฯ สามารถดำเนินการได้เป็นอย่างดีถือว่าเป็นเป็น Smart Group ที่มีคุณภาพ การันตีจากการได้รับรางวัลเป็นกลุ่มยุวเกษตรกรดีเด่นระดับจังหวัด ประจำปี 2560 และปี 2564

สนใจติดต่อสอบถามเพิ่มเติม คุณปฐมพร บัวมาศ เบอร์โทร 099-469-2874 หรือสำนักงานเกษตรอำเภอกันตัง 075-251-742