กรมป่าไม้ – ซีพีเอฟ เปิดพื้นที่ต้อนรับน้อง ๆ ค่าย SMART-i CAMP ศึกษาระบบนิเวศ “เขาพระยาเดินธง” 

“โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” ต.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ผืนป่าที่เป็นต้นแบบของการอนุรักษ์และฟื้นฟู ภายใต้ความร่วมมือ 3 ประสาน โดยภาครัฐ ชุมชน และบริษัทเอกชน ประกอบด้วย กรมป่าไม้ ชุมชนรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ร่วมดำเนินการมาตั้งแต่ปี  2559 ในพื้นที่ป่าต้นน้ำลุ่มน้ำป่าสักพื้นที่ 6,971 ไร่ ซึ่งปัจจุบันได้พลิกฟื้นจากป่าเขาหัวโล้นสู่ผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งเรียนรู้กระบวนการฟื้นฟูป่าให้กับเด็ก เยาวชน สถานศึกษา และผู้ที่สนใจ

เมื่อเร็วๆ นี้ ค่าย SMART-i CAMP นำเด็กๆ อายุ 6-14 ปี ลงพื้นที่ศึกษาและทำกิจกรรมที่ “โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง” โดยมี นายถนอมพงษ์ สังข์ธูป หัวหน้าโครงการฟื้นฟูสภาพป่าไม้เขาพระยาเดินธง  กรมป่าไม้ และ นายอนุชิต ศรีสุระ คณะทำงานโครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง ให้การต้อนรับ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการฯ การเพาะกล้า กระบวนการฟื้นฟูป่า

นายถนอมพงษ์ สังข์ธูป หัวหน้าโครงการฟื้นฟูสภาพป่าไม้เขาพระยาเดินธง กล่าวว่า ประสบการณ์จากกิจกรรมภาคปฏิบัติที่น้องๆ ค่าย SMART-i CAMP ได้รับ นอกจากเรียนรู้รูปแบบการปลูกป่าในพื้นที่ ซึ่งประกอบด้วย 4 รูปแบบ ตามสภาพของพื้นที่ การฟื้นฟูป่า การเพาะกล้า เด็กๆ ยังได้ร่วมกิจกรรมฐานการเรียนรู้ อาทิ การสร้างฝายชะลอน้ำ  การทำ Seed Ball ที่ถูกตามหลักวิชาการของกรมป่าไม้ กิจกรรมยิง Seed Ball เดินเทรลศึกษาระบบนิเวศป่าในเวลากลางคืน ฯลฯ โดยเด็กๆ ให้ความสนใจสอบถามเกี่ยวกับเรื่องการปลูกป่า การทำ Seed Ball และสัตว์ที่เข้ามาอยู่อาศัยในพื้นที่

ด้าน นายศิริภพ โสมาภา หรือ คุณครูแก๊ป ผู้ก่อตั้ง SMART i -Academy กล่าวว่า วัตถุประสงค์หลักของการจัดค่าย 7 Habits for teens By SMART-i Camp เป็นการพัฒนาภาวะผู้นำ เป็นการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนรู้จากสิ่งรอบๆ ตัว รวมถึงทีม Trainer ครูพี่เลี้ยง เพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ในค่าย เด็กๆ ได้เรียนรู้จากการตั้งเป้าหมาย ลงมือทำ ผ่านการลองผิด ลองถูก ซึ่งกิจกรรมลงพื้นที่ที่เขาพระยาเดินธงในครั้งนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการจัดค่ายฯ ที่ถือเป็นแบบทดสอบกำลังใจ เพื่อให้เด็กๆ รู้จักผนึกพลังผสานความต่าง ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง อาทิ กิจกรรมสร้างฝายชะลอน้ำ ซึ่งเด็กๆ ต้องช่วยกันยกก้อนหินมาวางเสริมความแข็งแรงของฝาย กิจกรรมเดินเทรลในเวลากลางคืน ที่สำคัญคือ กระบวนการถอดบทเรียน ด้วยการชวนเด็กๆ คุยเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นจากบทเรียนที่น่าประทับใจ

สำหรับโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง เป็นความร่วมมือ 3 ประสาน โดยภาครัฐ คือ กรมป่าไม้ ชุมชนรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง และซีพีเอฟ อนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าเพิ่มเติม บริเวณผืนป่าต้นน้ำลุ่มน้ำป่าสัก ซึ่งดำเนินการไปแล้วรวม 6,971 ไร่ เริ่มต้นโครงการเมื่อปี 2559 ปัจจุบัน เข้าสู่ระยะที่สอง (ปี 2564-2568) เป็นผืนป่าต้นแบบให้กับผืนป่าอื่นๆ ของประเทศ จากความสำเร็จในการปลูกป่า 4 รูปแบบ ตามความเหมาะสมของพื้นที่ ต่อยอดจากการอนุรักษ์และฟื้นฟูผืนป่า ให้เป็นห้องเรียนธรรมชาติให้กับเด็ก เยาวชน ประชาชนที่สนใจ และหน่วยงานต่างๆ สามารถเข้ามาเรียนรู้กระบวนการฟื้นฟูป่า และสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า