สยามคูโบต้า จัดแคมป์ KUBOTA iGEN พาเยาวชน สร้างสรรค์ไอเดีย ออกแบบโมเดลธุรกิจการเกษตร

นายพิษณุ มิลินทานุช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการทั่วไป สายงานขาย การตลาดและบริการ บริษัท สยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า KUBOTA iGEN แคมป์เกษตรดิจิทัล เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นสำหรับลูกหลานครอบครัวสยามคูโบต้า โดยมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อสนับสนุนเกษตรกรวัยไอเจนที่มีศักยภาพในการเป็นเกษตรกรยุคใหม่ ให้เรียนรู้และสามารถประยุกต์ใช้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และสามารถต่อยอดการทำเกษตรกรรมจากครอบครัวได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับลูกหลานเกษตรกรในการทำการเกษตรและเป็นแบบอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ในการพัฒนาการทำการเกษตรในชุมชนของตนเอง

สำหรับ KUBOTA iGEN ปี 2 นี้ จะเป็นการพาน้องๆ 30 คน ไปพบกับแคมป์เกษตรสุดล้ำและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอด 4 วัน 3 คืน โดยจะได้เรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์การทำเกษตรสมัยใหม่ทั้งในแง่ทฤษฎีและการปฏิบัติจริง ณ คูโบต้าฟาร์ม ฟาร์มสร้างประสบการณ์เกษตรสมัยใหม่ของคูโบต้าในภูมิภาคอาเซียน และเปิดโลกการเรียนรู้การทำธุรกิจการเกษตรผ่านเครื่องมือออนไลน์และโซเชียลมีเดีย พร้อมพบแขกรับเชิญพิเศษที่มาบอกเล่าวิธีสร้างการขายผ่านแพลตฟอร์ม TIK TOK และผู้ที่ประสบความสำเร็จในด้านการเกษตร ได้แก่ คุณตี๋โอ วุฒิพงษ์ ลิขิตชีวัน Online Content Creator และเจ้าของเพจ “อาตี๋รีวิว”

คุณโอม อัครเดช ม่วงไม้ เจ้าของและผู้ก่อตั้งธรรมดาการ์เด้น และ คุณแนน วราภรณ์ มงคลแพทย์ ทายาทกิจการบ้านหมากม่วง อีกทั้งยังมีการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจการเกษตร เช่น เรื่องการเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตรและนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ การใช้ระบบเช่าเครื่องจักรกลการเกษตรบนดิจิทัลแพลตฟอร์มจับคู่ผู้ให้บริการสำหรับเกษตรกรรายย่อย การสร้างรายได้เพิ่มจากเครื่องจักรกลการเกษตร และการปลูกพืชที่สามารถสร้างรายได้ตลอดทั้งปี เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้น้องๆ จับกลุ่มลองเขียนแผนธุรกิจจากการนำองค์ความรู้ทั้งหมดที่ได้เรียนรู้ตลอด 4 วัน โดยแผนจะต้องประกอบไปด้วย 4 แนวคิดหลัก ได้แก่ Agri Business : แนวคิดการเป็น
เจ้าของกิจการ, Smart Farm : แนวคิดการจัดการพื้นที่ทางเกษตรกรรมโดยใช้เทคโนโลยี, Innovation : การฝึกฝนใช้นวัตกรรมทางความคิดเชิงสร้างสรรค์ผสมผสานนวัตกรรมทางเครื่องมือ และ Social Media : การตลาดและการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย แล้วนำเสนอให้แก่ผู้บริหารจากสยาม

คูโบต้า พร้อมรับฟังคำแนะนำ ซึ่งน้องๆ จะได้เรียนรู้ทั้งในเรื่องการสร้างคอนเนคชั่น การทำงานเป็นทีม และการสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกันทั้งในระยะเวลาที่ร่วมกิจกรรมและหลังจบกิจกรรม โดยเราเล็งเห็นว่าทุกอย่างที่น้องจะได้รับในกิจกรรมจะเป็นประโยชน์กับน้องๆ ทั้งในปัจจุบัน และอนาคตต่อไป

ด้าน นายสิริโชค ใสโว นักศึกษาปวช. ชั้นปีที่ 2 วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีขอนแก่น เยาวชนผู้เข้าร่วมกิจกรรม เล่าถึงแผนธุรกิจที่ได้ออกแบบว่า “ผมออกแบบฟาร์มผลไม้ที่สามารถให้ลูกค้ามีประสบการณ์ร่วมจากการไปเก็บผลผลิตเอง โดยมีนวัตกรรมเครื่องวัดความหวาน ความเปรี้ยว ความสุกของผลไม้ ที่ไม่ทำร้ายเนื้อของผลไม้ ซึ่งสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ครบทุกรสชาติไม่ว่าใครจะชอบรสชาติไหน นอกจากนี้ตระกร้าที่ไว้เก็บผลไม้เป็นการรับซื้อมาจากชุมชนรอบข้างเพื่อเป็นการสนับสนุนรายได้ให้แก่ชุมชน ที่บ้านผมมีปลูกไม้ผลอยู่แล้ว ผมมองว่าถ้าสานต่อเป็นเกษตรเชิงท่องเที่ยวคาเฟ่พืชสวนน่าจะดี ยิ่งคนมาเยอะเราก็สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนรอบข้างด้วย และมองเห็นการสร้างมูลค่าจากผลผลิตโดยการนำนวัตกรรมเข้ามาประยุกต์ใช้”

และ นางสาวจิตราภรณ์ โดยอาษา มัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนนครนายกวิทยาคม เยาวชนผู้ร่วมในกิจกรรมเล่าว่า น้องในกลุ่มที่ทำฟาร์มแตงโมมีปัญหาผลผลิตเสียหายถึงร้อยละ10 เกิดจากปัญหาศัตรูพืช และคนในชุมชนส่วนใหญ่ยังทำการเกษตรแบบใช้สารเคมีค่อนข้างมาก กลุ่มเลยช่วยกันออกแบบแผนธุรกิจเป็นฟาร์มแตงโมที่เป็นศูนย์การเรียนรู้ อยากให้คนในชุมชนเข้าถึงองค์ความรู้การใช้เทคโนโลยีในการเกษตรเพราะในอนาคตเราก็เข้าสู่ยุคดิจิทัลและการเรียนรู้การทำเกษตรที่ถูกต้อง ปลอดภัย และคุ้มทุน ภายในฟาร์มมีนวัตกรรมการใช้เครื่องดักจับและจำแนกชนิดแมลง โดยใช้สารฟีโรโมน ทำให้วางแผนจัดการแมลงได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการใช้สารเคมีอย่างเหมาะสม รวมถึงมีการใช้ระบบเกษตรอัจฉริยะควบคุมการเพาะปลูก ควบคุมความชื้น และสภาพอากาศ

“ผมมองว่าอาชีพเกษตรกรไม่ได้เป็นอาชีพที่ด้อยกว่าอาชีพอื่นเลย ผมคิดว่าเป็นหนึ่งในอาชีพที่ช่วยพัฒนาประเทศและพัฒนาโลกเลยด้วยซ้ำ แต่แค่ที่ทำมาเราอาจจะไม่รู้การทำอย่างถูกวิธี มันเลยได้ผลไม่เป็นไปตามที่หวัง ปัจจุบันมีนวัตกรรมมากมายที่เข้ามาช่วยการทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ พอผมได้มาค่ายนี้ผมได้เห็นภาพชัดขึ้น มองเห็นโอกาสในการทำเกษตรและได้ออกแบบแผนธุรกิจการเกษตรโดยวางแผนทำเป็นเกษตรเชิงท่องเที่ยวเป็นฟาร์มผสมผสาน ออกแบบพื้นที่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และมีการใช้นวัตกรรมรถปลูกผักทดแทนแรงงาน โดยพืชหลักในฟาร์มคือพวกพืชสมุนไพรและพืชกระท่อม เนื่องจากมองเห็นแนวโน้มการบริโภคสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรในไทยตอนนี้เติบโตสูงขึ้น และอาจจะเป็นพืชเศรษฐกิจสามารถสร้างรายได้ให้ประเทศได้ในอนาคต” นายธนภูมิ ธีระเดชพิทักษ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 2 มหาวิทยาลัยกรุงเทพ อีกหนึ่งในผู้ร่วมกิจกรรมกล่าว


สำหรับแฟนๆ นิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้าน หากต้องการนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านรายปักษ์ ส่งตรงถึงบ้าน รวดเร็วทันใจอ่านได้ในทุกๆ 15 วัน สามารถสมัครสมาชิกได้ที่ คลิกลิ้ง https://shorturl.asia/0zJwQ 📲- Line: @matichonbook หรือ สำนักพิมพ์มติชน เลขที่ 12 ถนนเทศบาลนฤมาล หมู่บ้านประชานิเวศน์ 1 แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900 ติดต่อฝ่ายขาย 02-589-0020 ต่อ 3354