เทคนิค “สมุทรสงคราม” โชว์นวัตกรรมเด็กอาชีวะ ‘รถบดนาเกลือพลังงานแสงอาทิตย์’

การทำนาเกลือเป็นอาชีพหนึ่งซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านในเขตจังหวัดที่มีพื้นที่ติดทะเล ผ่านการคิดค้นและทดลองจนพบวิธีการ ขั้นตอนต่างๆ ของการผลิตเกลือสมุทรหรือเกลือทะเล นับเป็นการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับวิถีชีวิตอย่างผสมกลมกลืน

จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นแหล่งผลิตเกลือทะเลที่สำคัญของภาคกลาง แต่ปัจจุบันหลงเหลือให้เห็นน้อยลงเต็มที เนื่องจากราคาเกลือถูกลงทุกวันๆ ความไม่คุ้มทุนที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนจากน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในรถบดนาเกลือ ทำให้ชาวนาหรือผู้ผลิตเกลือจำต้องปล่อยพื้นที่ให้รกร้างไปตามธรรมชาติ

หลังทราบสภาพปัญหาดังกล่าว กลุ่มนักศึกษาปริญญาตรีต่อเนื่องวิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม ประกอบด้วย อำนาจ จันทร, ชนะพล มิ่งสรรพางค์, ภาณุพันธ์ มังษา, อานันท์ คณาวงษ์, ยศธร ตันตรง, กอบชัย คุ้มเปี่ยม, ศักดิ์ชาย คำหมาย, รัฐพงษ์ ปานผ่อง, ฐิติพันธ์ ดีหมื่นไวย์, ทองสุข หนูกระจ่าง และ ศราวุฒิ เสมสุวรรณ จึงร่วมกันคิดออกแบบนวัตกรรม “รถบดนาเกลือพลังงานแสงอาทิตย์” เพื่อเป็นเครื่องกลที่ช่วยลดต้นทุนให้ชาวนาเกลือในช่วงเกลือราคาตกต่ำ โดยใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ ตอบโจทย์ในเรื่องการลดต้นทุนการผลิต ทำให้นาเกลือสะอาด ไม่มีน้ำมันรั่วไหลลงในนา โดยใช้เวลาคิด ออกแบบ ทดลอง วิจัยและพัฒนาต่อยอดถึง 1 ปีเต็ม จนสามารถผลิตรถบดนาเกลือพลังงานแสงอาทิตย์ต้นแบบได้สำเร็จ

ปรรณวัฒน์ ทองสวัสดิ์ อาจารย์ประจำหลักสูตรเทคโนโลยีแม่พิมพ์ กล่าวว่า แนวคิดของการสร้างรถบดนาเกลือพลังงานแสงอาทิตย์เกิดจาก รศ.ดร. วิโรจ อิ่มพิทักษ์ นายกสภาสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของสถาบันที่ต้องการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมสู่อาชีพและชุมชน ตนจึงเริ่มที่รายวิชาการศึกษางานและสู่กระบวนการศึกษาในรูปแบบ R&D นำองค์ความรู้ที่นักศึกษาลงพื้นที่ศึกษาขั้นตอนการทำนาเกลือที่ได้ทั้งหมดกลับมาประมวลว่าจะพัฒนาอะไรที่สอดคล้องกับโครงสร้างหลักสูตรของนักศึกษาที่เรียน ซึ่งตัวตอบโจทย์ดังกล่าวคือ “รถบดนาเกลือพลังงานแสงอาทิตย์”

ดร. ศรายุทธ ทองอุทัย รองผู้อำนวยการสถาบันการอาชีวศึกษาภาคกลาง 5 ในฐานะที่ปรึกษา กล่าวว่า ที่ผ่านมาจะพบว่าการศึกษาของนักศึกษาที่ทำงานวิจัยมากมายไม่ถูกนำมาต่อยอด แต่รถบดนาเกลือพลังงานแสงอาทิตย์คันนี้ถือเป็นการต่อยอดนำผลงานวิจัยของนักศึกษามาสร้างมูลค่าตอบสนองโจทย์ของชุมชน ถือเป็นนวัตกรรม เพราะมีงานวิจัยรองรับ

“เริ่มต้นจากการออกแบบด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ จากนั้นสร้างชิ้นส่วนต่างๆ เช่น โครงสร้าง เพื่อให้ได้ชิ้นส่วนที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด ซึ่งการออกแบบครั้งนี้ทำให้รถบดนาเกลือพลังงานแสงอาทิตย์ต่างจากรถบดนาเกลือทั่วไปที่จะขับหน้าแต่เลี้ยวหลัง คือรถคันนี้จะเลี้ยวด้านหน้า และขับหลังด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ นวัตกรรมนี้ถือเป็นอาชีวะตอบโจทย์” ดร. ศรายุทธ กล่าว

อำนาจ จันทร นักศึกษาสาขาเทคโนโลยีแม่พิมพ์ ระดับปริญญาตรี วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม หัวหน้าทีมวิจัยและพัฒนา กล่าวว่า รถบดนาเกลือพลังงานแสงอาทิตย์เป็นนวัตกรรมสู่ชุมชน สามารถทำงานได้ตลอดทั้งปีจากพลังงานแสงอาทิตย์ โดยการออกแบบโครงสร้างใหม่ทั้งหมดด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อให้มีสมรรถนะสูงสุด มีการออกแบบให้ขับเคลื่อนล้อหลังและล้อบังคับทิศทางล้อหน้า เพื่อให้ง่ายต่อการขับขี่ หลังคาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ 48 โวลต์ ชาร์จไฟได้สูงสุด 327 วัตต์/ชั่วโมง ให้กำลังไฟ 6.4 แอมป์ ต่อพ่วงกับแบตเตอรี่ 12 โวลต์ 4 ลูก ซึ่งต่อกันเป็นอนุกรมให้กำลังไฟ 48 โวลต์ จ่ายให้มอเตอร์ 48 โวลต์ 1,000 วัตต์ ให้กำลังขับเคลื่อนรถน้ำหนักได้ 500 กิโลกรัมขึ้นไป โดยขับเคลื่อนล้อหลังด้วยระบบล้อบดและล้อยาง ทำความเร็วสูงสุดได้ประมาณ 20 กิโลเมตร/ชั่วโมง

“เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งาน ทีมงานได้ออกแบบฟังก์ชั่นอเนกประสงค์เปลี่ยนเป็นล้อยางเสริมกระบะบรรทุกสินค้าในพื้นที่ อีกทั้งติดตั้งอุปกรณ์แปลงกระแสไฟฟ้าเป็น 220 โวลต์ ทำให้รถบดคันนี้เป็นปลั๊กไฟเคลื่อนที่จ่ายไฟฟ้าให้เครื่องสูบน้ำ แสงไฟฟ้าส่องสว่าง หรืออุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ได้อีกด้วย โดยราคาต้นทุนทั้งหมดประมาณ 120,000 บาท แต่หากชาวนาเกลือจะนำนวัตกรรมนี้ไปใช้สร้างโครงสร้างรถและล้อบดเดิม จะมีค่าใช้จ่ายเพียงค่าแบตเตอรี่รถยนต์ 12 โวลต์ 4 ลูกอาจใช้ของเก่าได้ แผงโซลาร์เซลล์และมอเตอร์ขับเคลื่อน รวมแล้วประมาณไม่เกิน 30,000 บาท ชาวนาเกลือท่านใดสนใจติดต่อได้ที่วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม ตำบลลาดใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม

การเรียนอาชีวศึกษาตอบโจทย์การพัฒนาประเทศค่อนข้างสูง โดยเฉพาะสาขาแม่พิมพ์ ซึ่งประเทศไทยอุตสาหกรรมหลักคือการผลิตรถยนต์ จึงจำเป็นต้องมีแม่พิมพ์ใหม่ๆ มากขึ้น จะทำให้นักศึกษาหางานทำได้ง่ายขึ้น ในสายตาของคนภายนอกมองว่าอาชีวศึกษามักมีเรื่องทะเลาะกัน ถือว่าเป็นเรื่องปกติของวัยรุ่นทั่วไป เป็นเหมือนกันทุกที่ แต่อาชีวศึกษาจะถูกจับจ้องเป็นพิเศษ ความจริงแล้วบุคลากรที่จบจากอาชีวศึกษาจำนวนมากที่สร้างสรรค์ผลงานให้ประเทศชาติ อยากให้ประชาชนทั่วไปมองอาชีวศึกษาในแง่บวกบ้าง” อำนาจ กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน บุญปลอด เจริญฤทธิ์ ปราชญ์ชาวบ้านด้านนาเกลือ กล่าวว่า ในกระบวนการทำนาเกลือ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการบดดินในนาเกลือให้แน่นเรียบเพื่อง่ายต่อการเก็บเกลือ ในขั้นตอนนี้เดิมต้องใช้รถบดเกลือที่ใช้น้ำมัน ซึ่งคิดเป็นต้นทุนการผลิตระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนพฤษภาคมเป็นเงินประมาณ 50,000 บาท อีกทั้งบางพื้นที่ยังมีน้ำมันรั่วไหลลงพื้น ดังนั้น รถบดนาเกลือพลังงานแสงอาทิตย์คันนี้สามารถตอบโจทย์ให้กับชาวนาเกลือเป็นอย่างมาก ซึ่งนอกจากจะลดต้นทุนการผลิตอย่างมากแล้ว ยังทำให้เกลือสมุทรไม่มีสารตกค้างด้วย

 

ขอบคุณข้อมูลจาก ขจร โพธิ์นิ่มไทย