นักศึกษาอาชีวะ ไอเดียเจ๋ง โชว์สิ่งประดิษฐ์จากกึ๋น “รถดำนาบังคับวิทยุ” ลดแรงงานคน ป้องกันโรคฉี่หนู

“คนไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก” ประโยคนี้เป็นอีกบทพิสูจน์หนึ่งผ่านผลงานความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษาอาชีวะทั่วประเทศ ที่พากันนำไอเดียมาอวดโฉมเข้าแข่งขันในงาน “การประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ และการแข่งขันหุ่นยนต์ยุวชนอาชีวศึกษา ระดับชาติ ประจำปี 2560” ซึ่งในงานนี้ทำให้เห็นว่า วัยรุ่นไทยตั้งใจนำสิ่งที่เรียนมาสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ขอเพียงมีอาจารย์เป็นพี่เลี้ยงประคับประคอง และมีสถาบันการศึกษาอัดฉีดน้ำเลี้ยง หรือให้เงินทุนด้านการศึกษาและวิจัย เพียงเท่านี้ก็จะเกิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ที่จะสร้างรายได้ให้กับนักศึกษา สถาบันการศึกษา และประเทศชาติตามมา

 

แอพพลิเคชั่นคาร์แคร์ ไอเดีย น.ศ.อาชีวะแพร่

แนวคิดจากผลงานสร้างสรรค์ที่สะดุดตาไม่น้อย และเข้ากับกระแสไทยแลนด์ 4.0 คือ แอพพลิเคชั่น “คาร์แคร์ ออนไลน์” (Car Care Online) ซึ่งจัดอยู่ในผลงานการประกวดประเภทที่ 10 คือ ประเภทสิ่งประดิษฐ์ด้านนวัตกรรมซอฟต์แวร์และระบบสมองกลฝังตัว โดยเป็นผลงานของนักศึกษา ชั้นปีที่ 2 คณะคอมพิวเตอร์ธุรกิจ วิทยาลัยอาชีวศึกษาแพร่ นำทีมโดย นางสาวเพ็ญนภา มลิวรรณ์, นางสาวญาสุมินทร์ อุอินทร์ และ นายจิตติ เวียงนาค โดยมีอาจารย์ที่คอยประคับประคอง คือ ว่าที่ร้อยตรี เรวัธ จิตจง ครูวิทยฐานะชำนาญการ วิทยาลัยอาชีวศึกษาแพร่

ว่าที่ร้อยตรี เรวัธ จิตจง อาจารย์ผู้ดูแล “คาร์แคร์ ออนไลน์”

สำหรับไอเดียของคาร์แคร์ ออนไลน์ นั้น นางสาวเพ็ญนภา ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมเล่าว่า เกิดจากแนวคิดที่ต้องการให้เกิดความสะดวกสบายทั้งกับเจ้าของธุรกิจร้านคาร์แคร์ และลูกค้าที่ใช้บริการ จึงได้คิดแอพพลิเคชั่น “คาร์แคร์ ออนไลน์” ขึ้นมา เพื่อให้ลูกค้าที่ใช้บริการล้างรถดูได้ว่า ถ้าต้องการจองคิวล้างรถจะสามารถไปใช้บริการได้เวลาใดบ้าง โดยไม่ต้องโทรศัพท์ไปสอบถามทางร้าน หรือเสี่ยงไปตระเวนหาร้านคาร์แคร์เอง

“เหตุผลที่เราคิดแอพพลิเคชั่นนี้เพราะว่า เดี๋ยวนี้คนใช้รถมากขึ้น และคนก็ไปใช้บริการคาร์แคร์ออนไลน์มากขึ้นด้วย ถ้าไม่มีแอพพลิเคชั่นนี้ พอไปถึงร้านปุ๊บ ร้านก็อาจจะเต็ม การบริการก็อาจจะไม่ค่อยทั่วถึงเท่าไหร่ ก็เลยพัฒนาแอพพลิเคชั่นนี้ขึ้นมา เพื่อจะเป็นส่วนช่วยไม่ให้ลูกค้าเสียเวลา” นางสาวเพ็ญนภา เล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเอง

ทีมนักศึกษาวิทยาลัยอาชีวศึกษาแพร่

สิ่งที่น่าภูมิใจก็คือ นักศึกษาจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาแพร่ นำความรู้จากในห้องเรียนในภาควิชาโปรแกรมมาตรฐานเปิด และการค้นคว้าจากอินเตอร์เน็ต มาประกอบกันเป็นความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นผ่านผลงานแอพพลิเคชั่น “คาร์แคร์ ออนไลน์” แต่ถึงกระนั้น ผลการทดลองค้นคว้าก็ย่อมมีปัญหาและอุปสรรคเป็นธรรมดา เพราะผลงานของนักศึกษากลุ่มนี้ก็เปรียบเสมือนนักวิทยาศาสตร์ดิจิตอล ที่กำลังค้นคว้าทดลองสิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น และปัญหาที่พวกเขาเจอก็คือ แอพพลิเคชั่นนี้ยังไม่สามารถยกเลิกการให้บริการได้ทันที หากจะยกเลิกการจองคิวคาร์แคร์ ลูกค้าจะต้องใช้โทรศัพท์เข้าไปแจ้งที่ร้านคาร์แคร์นั้นๆ

Advertisement

“พวกเราใช้เวลาในการคิดโปรแกรม 3-4 เดือน ก็จะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่เราก็จะมาแก้ไขกันว่ามันมีปัญหาตรงไหน เช่น ตอนนี้แอพพลิเคชั่นของเรายังไม่สามารถยกเลิกการบริการได้ เราก็ต้องมาทำการยกเลิกการบริการให้ หมายถึง ลูกค้าไม่สามารถยกเลิกได้เอง ถ้าจะยกเลิกต้องโทร.ไปทางร้าน ส่วนลูกค้าตอนนี้ที่ใช้บริการแอพพลิเคชั่นนี้ โดยเป็นในส่วนเจ้าของธุรกิจคาร์แคร์ประมาณ 20 กว่าร้าน” นางสาวเพ็ญนภา เล่าให้ฟังด้วยความภูมิใจในผลงานที่ได้ผ่านการทดลองใช้มาแล้วระดับหนึ่งจนพบอุปสรรคและปัญหาที่ต้องแก้ไขต่อไป

 

Advertisement

รถตุ๊กตุ๊กดับเพลิง ผลงานชิ้นโบว์แดง เทคนิคระยอง

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจในงานนี้คือ นักศึกษาอาชีวะมีความคิดต่อยอดผลงานประดิษฐ์แบบเบ็ดเสร็จในตัว เช่น เมื่อคิดประดิษฐ์สิ่งใดสิ่งหนึ่งก็คิดเรื่องการตลาดไปในตัวว่า เมื่อประดิษฐ์ออกมาแล้วไม่ได้หวังรางวัลจากการประกวดเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการให้สิ่งประดิษฐ์ที่คิดค้นขึ้นมาใช้งานได้จริง และที่สำคัญสามารถสร้างเม็ดเงินมาสู่เจ้าของไอเดีย สถาบันการศึกษา และประเทศชาติได้ เช่น รถตุ๊กตุ๊กดับเพลิง (FIRE TUK TUK) เป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์ของกลุ่มนักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคระยอง ที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อจะนำตัวโมเดลแรกบริจาคให้กับสถานีดับเพลิงของจังหวัดระยอง และตั้งใจให้เป็นโมเดลเพื่อจำหน่ายให้กับพื้นที่ชุมชนที่ต้องการรถตุ๊กตุ๊กดับเพลิงไว้ใช้งาน

กลุ่มนักศึกษา และอาจารย์จากเทคนิคระยอง

“คาดหวังจะใช้ได้จริง และบริจาคให้กับดับเพลิงจังหวัดระยอง รวมทั้งต้องการทำขาย เพราะทำขึ้นมาเพื่อให้ใช้ได้จริง ไม่ใช่ประกวดเพียงอย่างเดียว ต้นทุนประมาณ 200,000-300,000 กว่าบาท ถ้าทำขายก็ 400,000 กว่าบาท แต่ก็ขึ้นอยู่กับสเป๊กของที่ลูกค้าจะสั่งมาด้วย และเทคโนโลยีที่เรานำมาติดเพิ่ม ราคาตัวนั้นก็จะสูงขึ้นมา” นายพนม ถนอมวงศ์ หนึ่งในทีมนักศึกษาเล่าให้ฟัง

สำหรับส่วนประกอบสำคัญของ “รถตุ๊กตุ๊กดับเพลิง” ประกอบด้วย ลำโพงขยายเสียง, สปอตไลท์, อุปกรณ์ปฐมพยาบาล, ปั๊มน้ำแรงดันสูง, แท็งก์บรรจุน้ำ 300 ลิตร, ถังดับเพลิง, ปั๊มสูบและฉีดน้ำแรงดันสูง, เครื่องมือสนับสนุนการปฏิบัติงาน และไฟไซเรน

นายพนม เล่าให้ฟังว่า รถตุ๊กตุ๊กดับเพลิง บรรทุกน้ำได้ 300 ลิตร และเมื่อถึงเวลาน้ำเราหมด สามารถเอาน้ำจากรถใหญ่เข้ามาที่รถเราได้ เพราะรถจะได้ทำงานต่อเนื่อง ใช้งานได้จริง เพื่อตอบโจทย์ความเป็นเมืองใหญ่ เป็นหมู่บ้าน ที่มีสิ่งก่อสร้างมากมาย ถนนคับแคบเป็นซอยเล็กๆ ยากแก่การเข้าถึงของรถใหญ่ ก็เลยคิดค้นเอารถตุ๊กตุ๊กมาทำ เพราะรถตุ๊กตุ๊กก็เป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย ซึ่งมีการใช้เวลาในการพัฒนา 3 เดือน

ผลงานรถตุ๊กตุ๊กดับเพลิง นับว่าเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของวิทยาลัยเทคนิคระยอง โดยมีการระดมสรรพกำลังทีมงานนักศึกษาทั้งหมด 10 คน ทั้งจากสาขาเทคนิคการผลิต, เทคนิคยานยนต์ และเทคนิคโลหะ ได้แก่ นายอาฐิเทพ ยานะโส, นายนิรุทธิ์  ชูเจริญ, นายณัฐกร ทรัพย์เจ้าพระยา, นายปิญชาน์ แสงแก้ว, นายณัฐพนธ์ ไกรทอง, นายพลวัฒน์ นาคหัสดีคงภัทร์, นายพนม ถนอมวงศ์, นายเมธี พุ่มพะเนิน, นายชนุตม์ จรรยายงค์ และ นายจักรี เชาวมงคล รวมถึงทีมงานอาจารย์ที่ปรึกษา 5 ท่าน ทั้งจากแผนกช่างยนต์, แผนกช่างโลหะการ และ ช่างกลโรงงาน ได้แก่ นายประภาส พวงชื่น, นายณรงค์ โม้ลี, นายนิมิต โคตะยันต์, นายพรชัย ยินดี และ นายฐิติพงษ์ วุฒิพงษ์

หนึ่งในคณาจารย์จากวิทยาลัยเทคนิคระยองถึงกับเอ่ยปากว่า ได้รับการสนับสนุนจากวิทยาลัยเป็นอย่างดี ทำให้มีโอกาสประดิษฐ์ “รถตุ๊กตุ๊กดับเพลิง” ใช้ในการบรรเทาสาธารณภัย ซึ่งเป็นการป้องกันเบื้องต้นที่รถขนาดใหญ่อาจจะเข้าถึงช้า แต่รถตุ๊กตุ๊กดับเพลิงสามารถไปถึงที่เกิดเหตุได้ก่อน ก็จะทำให้ป้องกันไฟไม่ให้ลุกลาม หรือถ้าเป็นไฟที่ไม่รุนแรงก็สามารถดับได้ทันที เพราะรถตุ๊กตุ๊กดับเพลิงมีอุปกรณ์ถังดับเพลิงพร้อม

“รถตุ๊กตุ๊กดับเพลิง” จากเทคนิคระยอง

ในอนาคตอาจมีการติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง เช่น เครื่องยิงลูกบอลดับเพลิง เมื่อโยนเข้าที่เกิดเหตุก็สามารถจะดับเพลิงได้ทันที แต่จะต้องมีการทดสอบในขั้นตอนต่อไปอีก เพราะปัจจุบันได้ทดลองใช้แล้ว ประสิทธิภาพใช้ได้ ปริมาณน้ำน้อย แค่ 300 ลิตร แต่เมื่อปริมาณน้ำหมดสามารถใช้ปั๊มที่ดูดน้ำจากภายนอกเข้ามาได้ และยังมีถังดับเพลิงเพิ่มไปอีก ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้จะถูกนำมาใช้อย่างไร ขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ด้วย

อุปกรณ์ภายในรถตุ๊กตุ๊กดับเพลิง

นอกจากไอเดียการนำเทคโนโลยีมาใช้ทั้งเรื่องการบรรเทาสาธารณภัยแล้ว ในส่วนของนักศึกษาอาชีวะจากทั่วประเทศยังมีสิ่งประดิษฐ์ที่ส่งเสริมภาคเกษตรกรรมที่สำคัญของประเทศไทยด้วย โดยเฉพาะเรื่องการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ในการทำนา

 

ร้อยเอ็ด คิด “รถดำนาบังคับวิทยุ” ลดแรงงานคน ป้องกันโรคฉี่หนู

อีกสีสันหนึ่งจากผลงานประดิษฐ์ของนักศึกษาอาชีวะจากทั่วประเทศ นั่นคือ “รถดำนาบังคับวิทยุ” จากวิทยาลัยการอาชีพร้อยเอ็ด ที่คิดค้นสิ่งประดิษฐ์นี้ขึ้นมา เพราะต้องการลดต้นทุนในการดำนา และลดการเสี่ยงของชาวนาในการเกิดโรคฉี่หนู รวมทั้งลดต้นทุนในการว่าจ้าง โดยมีทีมงานนักศึกษาที่ร่วมกันคิดค้น ได้แก่ นายจตุพล หอกลาง, นายศุภชัย หลักคำพันธุ์ และ นายสุทธิพงศ์ ผดุงสันต์ รวมทั้งมีนักศึกษาที่มีหน้าที่ในการนำเสนองานบนเวทีต่างหาก ซึ่งจะต้องใช้ทักษะด้านภาษาอังกฤษ คือ นางสาวกนกวรรณ ศรีมงคล

ส่วนทีมงานครูที่ปรึกษาที่คอยเป็นพี่เลี้ยงให้ ได้แก่ นายวรภพ โพนคำหล, ว่าที่ร้อยตรี สมรรถชัย บุญโพธิ์, นางสาวมะลิวัลย์ นราธร และ นางสาวร่มเกล้า สาลี นอกจากนี้ ผลงานของนักศึกษาวิทยาลัยการอาชีพร้อยเอ็ด ยังได้รับการสนับสนุนจากคณะผู้บริหารตั้งแต่ระดับผู้อำนวยการลงไปถึงฝ่ายพัฒนาการกิจการนักเรียนนักศึกษา ซึ่งมีขั้นตอนการศึกษาการสร้างผลงานประดิษฐ์โดยเริ่มจากศึกษาการทำนาข้าวโดยการปักดำ, การออกแบบและเขียนแบบด้วยโปรแกรมเขียนแบบด้วยคอมพิวเตอร์, ดำเนินการสร้างรถดำนาบังคับวิทยุ, ทดลองการใช้งานรถดำนาบังคับวิทยุ, เก็บข้อมูลแบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ทดลองใช้และผู้เชี่ยวชาญจากศูนย์ส่งเสริมเทคโนโลยีการเกษตร ด้านวิศวกรรมการเกษตรจังหวัดร้อยเอ็ด, สรุปผล และจัดทำเอกสารเพื่อส่งเข้าประกวด

กระบอกดำนา ผลงานจากวิทยาลัยการอาชีพไกลกังวล

นายจตุพล หนึ่งในทีมงานเล่าให้ฟังว่า ผลงานชิ้นนี้มีการนำไปใช้ในพื้นที่จริง และประสบความสำเร็จ ทำงานได้จริง รวมทั้งเกิดการยอมรับจากการทดลองว่าลดเวลาในการดำนาได้จริง โดยใช้คนแค่คนเดียว คือ คนบังคับ และไม่ต้องลงไปดำนาเองให้เปียกน้ำ ส่วนต้นทุนการผลิต ประมาณ 35,000 บาท

ขณะที่หนึ่งในคณาจารย์ที่ปรึกษาบอกว่า เหตุผลด้านแรงงานที่มีราคาสูงขึ้น และโอกาสเสี่ยงในการติดโรคฉี่หนูเมื่อเวลาชาวนาไปยืนสัมผัสน้ำนานๆ จึงต้องสร้างตัวนี้ขึ้นมาป้องกัน และทดลองใช้งานก็ใช้งานได้ดี แต่ตอนนี้ตัวประสิทธิภาพเปรียบเทียบกับคนทำนาจริงๆ ช่วงที่เราสร้างคือ เดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม มันเป็นฤดูเกี่ยวข้าวแล้ว จึงยังไม่ได้เปรียบเทียบ เพราะชาวนาจะทำนาจริงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม แต่ถ้าโดยตัวมันเองมันทำงานได้ดี ส่วนเทคโนโลยีอยากให้เป็นเทคโนโลยีมากขึ้น ในอนาคตอาจมีการติดตั้งกล้องที่มีสัญญาณไวไฟ เพื่อให้เห็นภาพด้านหน้าซึ่งเป็นพื้นที่นาได้ชัดเจน จากปัจจุบันได้ดัดแปลงแป้นเกมกดมาเชื่อมต่อระบบวิทยุและมอเตอร์เครื่องกลให้มีการทำงานสอดคล้องกันอย่างเป็นระบบ

ทั้งหมดเป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนของไอเดียของนักศึกษาอาชีวะจากทั่วประเทศเท่านั้น ซึ่งแต่ละแห่งก็มีแนวคิดที่โดดเด่นแตกต่างกันไป อย่างวิทยาลัยการอาชีพวังไกลกังวล อาชีวศึกษาจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้คิดค้นเครื่องมืออุปกรณ์เพื่อการดำนา “กระบอกดำนา” โดยไม่ต้องก้มลงปัก โดยมาจากแนวคิดที่ว่า สามารถทำให้ชาวนามีสุขภาพดีขึ้น ไม่ต้องก้มดำนาให้ปวดหลัง หรือตรากตรำก้มหน้าหลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดินอีกต่อไป โดยจัดเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เข้าประกวดในประเภทที่ 8 ด้านเทคโนโลยีการเกษตร

เพราะฉะนั้น ปีหน้าฟ้าใหม่ นักศึกษาอาชีวะรุ่นต่อๆ ไป เตรียมตัวทำการบ้านกันตั้งแต่เนิ่น วางแผนคิดประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่ออวดโฉม และเพื่อเป็นโอกาสในการต่อยอดนำสิ่งประดิษฐ์ออกจำหน่ายนำรายได้สู่ตัวเอง ครอบครัว สถาบันการศึกษา และประเทศชาติ ซึ่งดูจากงานในปีนี้แล้ว นอกจากรายได้ที่จะตามมาแล้ว อนาคตของนักศึกษาอาชีวะยังไปได้อีกไกล เพราะมีโอกาสนำความรู้จากการประดิษฐ์นวัตกรรมใหม่ๆ ไปศึกษาต่อด้านวิศวกรรมศาสตร์ และสาขาอื่นๆ ได้อีกตามที่ใจชอบได้อีกด้วย

โอกาสหน้าจะพาไปสัมผัสกับไอเดียสิ่งประดิษฐ์ที่น่าทึ่ง จากสมองสองมือของนักศึกษาอาชีวะ ที่ทำให้วงการเกษตรกรรมได้พัฒนาก้าวไกลไม่แพ้ประเทศใด