โรงเรียนบ้านโคกจำเริญ สุรินทร์ ต้นแบบ การจัดการอาหารในโรงเรียน

มุมหนึ่งของประเทศไทย ในแถบพื้นที่ภาคอีสาน โรงเรียนบ้านโคกจำเริญ ตำบลตานี อำเภอปราสาท จังหวัดสุรินทร์ เป็นโรงเรียนหนึ่งที่ให้ความสำคัญกับการเกษตร โดยมีเป้าหมายที่การจัดการด้านอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียนอย่างถูกสุขลักษณะ

โรงเรียนบ้านโคกจำเริญ อยู่ในสังกัดสำนักงานพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุรินทร์ เขต 3 เป็นหนึ่งในโรงเรียนที่ให้ความสำคัญกับการจัดการอาหารกลางวันให้กับนักเรียน ซึ่งได้รับการคัดเลือกเป็น 1 ใน 12 พื้นที่นำร่องและลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการขับเคลื่อนสนับสนุนระบบการจัดการอาหารในโรงเรียนและชุมชนจังหวัดสุรินทร์ ระหว่าง คณะผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล และผู้นำชุมชน

อย่างที่กล่าวข้างต้น เมื่อโรงเรียนให้ความสำคัญกับโภชนาการของนักเรียน จึงเห็นได้ว่าที่ผ่านมา โรงเรียนได้มีการดำเนินงานอย่างเข้มแข็ง เพื่อการจัดการอาหารในโรงเรียนสำหรับเด็กนักเรียน ที่มีอยู่ทั้งสิ้น 235 คน โดยการสร้างการมีส่วนร่วมของคณะครู นักเรียน และผู้ปกครอง ช่วยกันจัดหาและผลิตวัตถุดิบ พืช ผัก ผลไม้ นำมาทำอาหารให้เด็กๆ ได้รับประทานอย่างถูกต้องตามโปรแกรม Thai School Lunch (คู่มือการจัดระบบอาหารกลางวัน)

โปรแกรมดังกล่าว เป็นโปรแกรมที่ทางสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนา “เกณฑ์มาตรฐานอาหารกลางวันโรงเรียนไทย” สำหรับเด็กวัย 6-12 ปี โดยพัฒนาเป็นซอฟต์แวร์ที่แสดงคุณค่าสารอาหารด้วย “ระบบคะแนนคุณค่าสารอาหาร” ซึ่งแรกเริ่มพัฒนาเป็นแผ่นซีดีสำหรับติดตั้งโปรแกรมลงคอมพิวเตอร์ แต่มีปัญหาเรื่องการกระจายให้เกิดการใช้งานอย่างทั่วถึง จึงได้ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) พัฒนาโปรแกรมให้สามารถใช้งานผ่านเว็บไซต์ได้

ในอดีต การจัดการอาหารกลางวันของที่นี่ ไม่ได้แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ คือ จ้างเหมาแม่ครัวมาทำอาหารให้ด้วยราคาที่ต่ำสุด ส่งผลต่อคุณค่าทางโภชนาการที่แปรผันไปในทิศทางเดียวกันตามไปด้วย เมื่อเห็นสภาพปัญหา ทุกฝ่ายจึงคิดหาทางออก จนได้ข้อสรุปว่า “ต้องให้ชุมชนและผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วม” และกลายเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการอาหารกลางวันให้กับเด็กๆ

โรงเรียนบ้านโคกจำเริญ มีพื้นที่ 45 ไร่ ส่วนหนึ่งถูกจัดสรรให้เป็นแปลงผักขนาดใหญ่ จำนวน 4 แปลง ผักที่ปลูก เช่น คะน้า ผักบุ้ง ตะไคร้ พริก ฟักทอง และอื่นๆ อีกมากมาย โดยมีนักเรียนเป็นผู้ดูแล ตั้งแต่การเตรียมดิน หว่านเมล็ด รดน้ำ เก็บเกี่ยว นอกจากนี้ยังมีบ่อเลี้ยงปลา โรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ ซึ่งผลผลิตทั้งหมดจะถูกส่งเข้าสหกรณ์โรงเรียนเพื่อขายให้กับโครงการอาหารกลางวัน นอกจากสร้างรายได้ให้กับนักเรียนทุกระดับชั้น สร้างประสบการณ์ชีวิต ยังช่วยสร้างความมั่นคงทางแหล่งอาหารให้กับโรงเรียนอีกทางหนึ่ง

นอกเหนือจากวัตถุดิบที่ทางโรงเรียนผลิตขึ้นเองแล้ว ทางโรงเรียนยังเน้นการรับซื้อวัตถุดิบจากชุมชนให้มากที่สุด โดยพืช ผัก และเนื้อสัตว์ที่รับซื้อ จะต้องสด สะอาด ปลอดภัย ในส่วนข้าว จะมีทั้งรับซื้อและการขอรับบริจาคจากพ่อแม่ ผู้ปกครอง

ด้านโรงอาหารและโรงครัว มีการปรับปรุงพัฒนาให้ได้มาตรฐานตามหลักสุขาภิบาล สร้างบรรยากาศที่ดีในการรับประทานอาหาร โดยเมื่อถึงช่วงเที่ยงนักเรียนชั้น ป.4 ถึง ป.6 จะมาช่วยกันจัดเตรียมภาชนะและช่วยกันตักอาหารให้น้องๆ ซึ่งการตักอาหารจะถูกสอนมาเป็นอย่างดี ด้วยการตักอาหารให้ได้ปริมาณตามความต้องการของเด็กแต่ละคน โดยเฉพาะที่มีภาวะทุพโภชนาการเด็กอ้วนและเด็กผอมจะมีการแยกออกมานั่งต่างหาก และที่ขาดไม่ได้ คือ ผลไม้ตามฤดูกาล ที่ต้องมีให้เด็กๆ ได้รับประทานทุกวัน

การดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งมาจากวิสัยทัศน์ของ อาจารย์ถวิล บุญเจียม ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านโคกจำเริญ ที่พยายามอย่างสูงเพื่อให้ลูกศิษย์ของตัวเองได้รับประทานอาหารที่ดี โดยมีจุดเริ่มต้นจากเดิมที่ทางโรงเรียนบ้านโคกจำเริญให้นักเรียนเตรียมมื้อเที่ยงมาจากที่บ้านส่วนหนึ่ง และทางโรงเรียนจะทำอาหารเสริมให้อีกส่วนหนึ่ง

แต่ปัญหาที่อาจารย์ถวิลพบ คือ เด็กนักเรียนส่วนใหญ่อาศัยอยู่กับ ปู่ ยา ตา ยาย เพราะพ่อแม่ต้องไปทำงานต่างจังหวัด ทำให้นักเรียนไม่ได้รับการใส่ใจเรื่องอาหารที่เหมาะกับช่วงวัยมากนัก ทางคณะครูและผู้ปกครองจึงได้ระดมความคิดกันว่าทำอย่างไรให้เด็กได้รับประทานอาหารที่ดี และได้ข้อสรุปในการประชุมผู้ปกครองว่า โรงเรียนจะเป็นเจ้าภาพจัดทำอาหารแบบครบวงจรเอง จนนำไปสู่แปลงผักภายในโรงเรียน และส่วนหนึ่งก็จะรับซื้อ รับบริจาคจากชุมชน

แปลงผักที่เกิดขึ้น มีวัตถุประสงค์ขั้นต้นเพียงแค่ “ทำอย่างไรก็ได้ ให้เด็กได้มีแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดภัย”

แต่ต่อมาพบว่า แปลงผักช่วยให้นักเรียนได้ฝึกประสบการณ์เรียนรู้ด้วยตัวเอง ปลูกเอง ขายเอง ส่วนงบประมาณจากโครงการอาหารกลางวันก็เป็นเสมือนต้นทุนที่ทางโรงเรียนนำมาต่อยอดจัดทำแปลงเรียนรู้ต่างๆ ส่งผลให้เงินก็จะหมุนเวียนอยู่ในชุมชน และโรงเรียนมีแหล่งผลผลิตที่มีคุณภาพสำหรับเด็กนักเรียน

“ถ้าเราไม่นำเงินมาหมุนเวียน โดยคิดแต่จะจัดซื้อจากข้างนอกเข้ามาเพียงอย่างเดียว ก็เหมือนกับเงินสูญเปล่าไปฟรีๆ” อาจารย์ถวิล ระบุถึงแนวคิดตนเอง

ขณะเดียวกัน โรงเรียนบ้านโคกจำเริญยังได้ส่งผ่านความรู้เรื่องการจัดการอาหารให้พ่อ แม่ ผู้ปกครอง นำไปใช้ที่บ้าน เช่น การให้ความสำคัญกับอาหารมื้อเช้า การรับประทานผักและผลไม้เป็นประจำ อันส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการบริโภคของเด็กนักเรียนไปในทางที่ดียิ่งขึ้น

เมื่อแปลงผักเด็กนักเรียนปลูกเอง ดูแลเอง ตามที่วางไว้ว่าโรงเรียนจะเป็นเจ้าภาพในการทำอาหารแบบครบวงจรเอง ก็ทำให้โรงเรียนสามารถควบคุมวัตถุดิบ เครื่องปรุง ให้สด สะอาด ปลอดภัย ส่งผลต่อคุณภาพอาหารที่ดีขึ้นเป็นลำดับ ทำให้มั่นใจได้ว่าวันนี้และในอนาคตเด็กๆ บ้านโคกจำเริญจะมีอาหารที่ดี สะอาด ปลอดภัย ไว้รับประทานอย่างแน่นอน

และนี่ถือเป็นแบบอย่างของระบบการจัดการอาหารในโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดอีกแห่งหนึ่งของประเทศ