ไปเยี่ยมชม… งาน “ประชารัฐร่วมพัฒนา สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา” กับอุปกรณ์ดำนาชนิดที่ไม่ใช้พลังงาน

วิทยาลัยเทคนิคชัยนาท กับอุปกรณ์ดำนาชนิดที่ไม่ใช้พลังงาน

เรื่องราวหลากหลายมากมายที่เกิดขึ้นในระหว่างเส้นทางการก้าวเดินของชีวิตที่ผ่านมา คือบทเรียนแห่งชีวิตทั้งสิ้น สุดท้ายจะเหลือไว้แค่ความทรงจำซึ่งเราไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้อีก สามารถทำได้แค่นำมาเพื่อเป็นกรณีศึกษาเท่านั้น หรือบางเรื่องราวเช่นกันจะหาได้จากการศึกษาเรื่องราวที่ได้พบเห็น ทุกเรื่องราวมีแตกต่างกันไป สมหวังหรือผิดหวัง สุขหรือทุกข์ อยู่ที่ว่าเราจะต้องการหรือเลือกนำเอาตัวอย่างแบบไหนมาเพื่อมาเป็นประยุกต์ให้ได้กับความต้องการของตัวเองมากกว่า เนื่องจากเราทุกคนล้วนต่างความคิด ต่างที่มา และต่างความต้องการ เมื่อเป็นเช่นนี้ทุกคนจำเป็นต้องเลือกเส้นทางการเดินไปบนถนนชีวิตของตัวเองด้วยตัวเองเช่นกัน

ก่อนอื่น ขอขอบพระคุณและกราบสวัสดีแฟนๆ ทุกท่านจากนิตยสารนิตยสารเทคโนโลยีชาวบ้านและผู้เขียน ที่แฟนๆ ให้การตอบรับอย่างอบอุ่นตลอดมา ให้แรงใจกันต่อไปนะครับ หลังจากที่ผมได้นำผลงานที่ได้ไปเยี่ยมชมงาน “ประชารัฐร่วมพัฒนา สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา” การประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ระดับชาติ พุทธศักราช 2560 ณ ห้อง MCC HALL ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ สาขาบางกะปิ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นผลงานเยาวชนนักศึกษาจากอาชีวศึกษาทั่วประเทศ ที่ได้ผ่านการประกวดชนะเลิศระดับภาคมาก่อนหน้านี้ จัดโดยสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และได้คัดสรรมานำเสนอแฟนๆ ในคอลัมน์นี้

ปรากฏว่าได้รับการตอบรับจากแฟนๆ เช่นกัน และส่งเสียงไปหาพร้อมกับบอกว่าอย่าลืมขอให้นำเสนออีก อย่างน้อยแฟนๆ ที่ติดตามคอลัมน์นี้จะได้สามารถรับทราบว่าสถาบันที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาที่มีอยู่ทั่วประเทศนั้น ได้เปิดสอนสาขาหรือแผนกวิชาอะไรกันบ้าง และมีผลงานที่เกิดจากการออกแบบสร้างสรรค์จากฝีมือเยาวชนที่ศึกษาเหล่านั้นเป็นเช่นไรกันบ้าง ขอขอบคุณอีกครั้งที่ผู้ใหญ่ของแผ่นดินให้ความสนใจกับเรื่องดีๆ อย่างนี้

จากผลงานทั้งหมด 240 ผลงาน ในจำนวนสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ จำนวน 11 ประเภท ที่หลากหลายกันไป และจากหลายสาขาวิชาที่เปิดสอนเช่นกัน แต่มีเป้าหมายเดียวกันคือให้เป็นผลงานที่เกิดจาก “นักเรียนคิด นักเรียนทำ โดยมีครู-อาจารย์เป็นที่ปรึกษา” เพื่อให้งานที่สำเร็จรูปออกมาเป็นชิ้นงานที่สามารถนำไปใช้ได้จริง งานทุกชิ้นล้วนน่าสนใจเป็นอย่างมาก เยาวชนอาชีวะเหล่านั้นต่างมีความตั้งใจสร้างสรรค์ให้ผลงานที่ได้ออกมาเหมาะสมกับที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นอย่างน่าภาคถูมิใจ กับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาอย่างยิ่ง

สำหรับปักษ์นี้ผมมีมานำเสนออีกครั้ง ก่อนอื่น ขอชื่นชมกับคณะกรรมการเป็นอย่างมากที่สามารถตั้งโจทย์ประเภทด้านเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อให้เยาวชนนักศึกษาระดับอาชีวศึกษาเหล่านั้นได้ออกแบบ พร้อมสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาเพื่อตอบสนองเกษตรกรที่เรียกว่า ชาวนากระดูกสันหลังของประเทศ โดยเน้นให้ออกแบบสร้างสรรค์ที่ใช้ชื่อว่า “เครื่องมืออุปกรณ์เพื่อการดำนา”

หลังจากได้มีสิ่งประดิษฐ์ประเภทดังกล่าวกว่า 100 ผลงาน จากระดับภาคและได้รับการคัดเลือกผ่านเข้ามาในระดับชาติ จำนวนทั้งสิ้น 20 ผลงาน หลังจากที่ผมได้ไปเยี่ยมชมจึงได้คัดสรรมานำเสนอแฟนๆ จำนวน 4 ชิ้น จากทุกภาค เพื่อที่นำเสนอให้แฟนๆ หรือหากเกษตรกรชาวนาหรือแฟนๆ ท่านใดมีความสนใจจะสามารถติดต่อเพื่อให้กำลังใจแก่พวกเขาเยาวชนอาชีวะเหล่านี้ได้บ้าง

วิทยาลัยสารพัดช่างอุตรดิตถ์

เริ่มจากผลงานสิ่งประดิษฐ์ชิ้นแรก เป็นของ วิทยาลัยสารพัดช่างอุตรดิตถ์ จากแนวคิดของทีมงานหลังจากที่ได้ไปศึกษาการทำนาแบบโยนกล้า เป็นวิธีทำนาแบบใหม่ที่นำมาใช้แทนการปักดำด้วยเครื่อง สามารถควบคุมข้าว วัชพืช และประหยัดเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยการเพาะต้นกล้าในถาดหลุม ประมาณ 15 วัน นำไปโยนในแปลงนาที่เตรียมไว้ แต่การโยนต้นกล้านั้นจะกระจายตัวไม่เป็นระเบียบ เมื่อต้นกล้าแตกกอชาวนาไม่สามารถเข้าไปจัดการดูแลกำจัดวัชพืชหรือใส่ปุ๋ยได้สะดวก

ทีมงานจึงได้มีแนวคิดเพื่อออกแบบสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ โดยใช้ชื่อว่า “มือถือทำนา” สำหรับเพื่อช่วยให้ชาวนาสามารถเป็นเครื่องมือช่วยในการทำนาให้เป็นระเบียบ ต้นข้าวแตกกอได้ดี และสามารถเข้าไปจัดการวัชพืชและใส่ปุ๋ยได้อย่างสะดวก สุดท้าย ช่วยลดอาการปวดหลังของชาวนาได้อีกด้วย ทีมงานประกอบด้วย คุณชัยวัฒน์ ทัพหน้า คุณกนกพล แก้วทอง และ คุณกนกวรรณ ฟักช่วย มี ว่าที่ร้อยโทอุเทน คำเงิน เป็นคุณครูที่ปรึกษา

มือถือทำนาสิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ มีขนาดกว้าง 40 ยาว 154 สูง 150 เซนติเมตร มีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม มีจำนวนท่อหยอด 4 ท่อ ระยะห่างแถว 30 เซนติเมตร จำนวนต้นกล้าที่ใช้ 57,600 เมล็ด ต่อ 1 ไร่ ใช้เวลาทำงาน 20 ชั่วโมง ต่อไร่ วิธีใช้ นำอุปกรณ์มือถือดำนาวางลงในแปลง ให้ชิดขอบคันนาสำหรับเพื่อจะได้กะระยะ ต่อมานำถาดเพาะกล้าที่เตรียมไว้มาวางบนแท่น ต่อมาหยิบต้นกล้าในถาดหยอดลงท่อ ต้นกล้าจะตรงลงไปตามแนวที่เราได้กะระยะไว้ ทำไปจนหมดแถวแล้วยกมือถือทำนาไปด้านหลังเพื่อเริ่มแถวใหม่หยอดต้นกล้าไปเรื่อยๆ จนหมดแปลงนา สุดท้ายชาวนาจะได้ต้นกล้าที่เป็นแถวเรียบร้อยสวยงาม

สนใจติดต่อรายละเอียด วิทยาลัยสารพัดช่างอุตรดิตถ์ เลขที่ 17 ถนนอินใจมี ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์ โทร. (055) 416-879 หรือ (081) 044-9538

สิ่งประดิษฐ์ชิ้นต่อมา เป็นผลงานจากวิทยาลัยการอาชีพบางแก้ว จังหวัดพัทลุง ใช้ชื่อว่า “อุปกรณ์ปักดำนาบางแก้ว” ประกอบด้วย คุณณัฐภัทร เกตุชู คุณกล้าณรงค์ ฤทธิเดช คุณชาญยุทธ แก้วบุตร และ คุณศรุตา ซิวเตี้ย โดยมี คุณอรุณ จันทร์ผลึก คุณสมศักดิ์ พรหมบุญทอง คุณวันดี บุณยะเดช และ คุณธีรชัย ย่องจีน เป็นคุณครูที่ปรึกษา

ทีมงานวิทยาลัยการอาชีพบางแก้ว กับผลงาน “อุปกรณ์ปักดำนาแก้ว”

จากแนวคิดที่เหมือนกับวิทยาลัยสารพัดช่างอุตรดิตถ์ คือมีเป้าหมายเดียวกันคือต้องการออกแบบและสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ออกมาสำหรับเป็นอุปกรณ์สำหรับช่วยให้ชาวนาลดปัญหาการปวดเมื่อยกับการดำนา และลดการใช้พลังงานเพราะอุปกรณ์นี้ไม่ต้องใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ที่สำคัญคือใช้ง่ายและสะดวก ปลอดภัย

วัสดุอุปกรณ์ที่นำมาประกอบเป็นสิ่งประดิษฐ์มีเหล็กเส้นกลมและแบน ยึดติดด้วยน๊อตกับท่อ พีวีซี สำหรับใส่ต้นกล้าโดยมีสปริงเป็นตัวช่วยสำหรับให้ต้นกล้าลงสู่ตำแหน่งที่ต้องการ มีขั้นตอนการใช้งานดังนี้ เตรียมต้นกล้าพันธุ์ข้าวที่ต้องการดำโดยการนำมาสะพายไว้ใกล้ลำตัว นำอุปกรณ์ปักดำนาบางแก้วมาวางในตำแหน่งที่ต้องการ ต้นกล้าใส่ลงในท่อประมาณครั้งละ 3-4 ต้น ใช้มือกดสปริงจะทำให้ต้นกล้าลงไปตามท่อและพร้อมปักลงดิน เมื่อเสร็จเรียบร้อยยกอุปกรณ์ เพื่อไปที่ตำแหน่งใหม่ปฏิบัติเหมือนเดิมเช่นนี้ไปจนกว่าจะแล้วเสร็จตามที่ต้องการ

สำหรับผลงานชิ้นต่อมา จากวิทยาลัยเทคนิคเดชอุดม อุบลราชธานี ชื่อ “อุปกรณ์ดำนา DTEC” ทีมงานประกอบด้วย คุณธนาศักดิ์ สีสิทธิ์ คุณสิทธินนท์ ศรีแก้ว คุณเจริญยุทธิ์ ละเมิ้ด และ คุณตฤณวีร์ บัวงาม มี คุณโกวิทย์ เคาเลิศ คุณสายฝน สาระผล คุณเพ็ญศรี กุลพัฒน์ คุณสมภาน เจตนา และ คุณธนากร ปวะบุตร เป็นคุณครูที่ปรึกษา

วิทยาลัยเทคนิคเดชอุดม กับผลงานที่ชื่อว่า “อุปกรณ์ดำนา DTEC”

สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้มีแนวความคิดการทำงานจะคล้ายกับ 2 สถาบันด้วยเช่นกันคือ การนำท่อสำหรับมาเป็นตัวช่วยในการบังคับต้นกล้าให้ลงสู่ตำแหน่งที่ต้องการ จะแตกต่างกันที่วัสดุที่นำมาใช้และรูปแบบของสิ่งประดิษฐ์หลากหลายกันออกไป สิ่งประดิษฐ์ชิ้นนี้ใช้วัสดุเป็นท่อสแตนเลส นำมาตัดให้ได้ตามขนาดแล้วนำมาเชื่อมประกอบตามที่ได้ออกแบบไว้ ประโยชน์ที่ชาวนาได้รับคือสามารถช่วยลดระยะเวลาในการดำนา สะดวก และประหยัดแรงงานคนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการดำนาให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

สนใจ ติดต่อรายละเอียดได้ที่ วิทยาลัยเทคนิคเดชอุดม เลขที่ 337ถนนโชคชัย-เดชอุดม อำเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี โทร. (045) 326-098

สำหรับผลงานสิ่งประดิษฐ์ต่อไปนี้ถือว่าสุดยอดเยี่ยมจริงๆ ครับ เนื่องจากเยาวชนนักศึกษาอาชีวศึกษาส่วนมากผลงานสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวกับอุปกรณ์เพื่อการดำนาจะออกแบบสร้างสรรค์ในลักษณะงานที่ไม่ต่างกันมากนักในลักษณะใกล้เคียงกัน โดยมีรูปแบบคือ นำต้นกล้าปล่อยลงมาตามท่อจะต่างกันในลักษณะส่วนประกอบของวัสดุเป็นส่วนใหญ่

แต่สำหรับผลงานของนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคชัยนาท จะแตกต่างไปอย่างรูปแบบอื่น ทีมงานประกอบด้วย คุณณัฐวร จอนพงษ์ คุณมนตรี จอนพงษ์ คุณสหรัฐ แซ่โค้ว คุณภัทรชระ มีชีพกิจ และ คุณช่อฤทัย ใจเย็น มี คุณณิชยา รัศมี คุณชาคริต สุขสิงห์ คุณสุพรพรรณ อาจการคิด คุณสมเกียรติ นุชพงษ์ และ คุณประสาท จอนพงษ์ เป็นคุณครูที่ปรึกษา

เนื่องจากทีมงานมีแนวคิดว่าการทำนาที่ใช้แรงคนนั้นจะค่อนข้างเสียเวลาและถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีเครื่องช่วยในการดำนาแต่จะเป็นเครื่องขนาดที่ใหญ่ ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมารับจ้างดำนา ซึ่งจะทำให้เกษตรกรต้องเพิ่มต้นทุน  หลังจากได้ศึกษาจนมั่นใจว่าจะสามารถมีแนวคิดเพื่อออกแบบและสรรค์ให้ออกมาเป็นชิ้นงานสำเร็จ ที่จะสามารถเป็นอุปกรณ์ดำนาได้ชนิดที่ไม่ใช้พลังงาน แต่สามารถทำงานได้รวดเร็วกว่าแรงงานคนและประหยัดกว่าการใช้เครื่องดำนา ใช้ต้นกล้าอายุประมาณ 2-3 สัปดาห์ สามารถใช้เวลาดำนา 1 ไร่ ไม่เกิน 1 ชั่วโมง

วิทยาลัยเทคนิคชัยนาท กับอุปกรณ์ดำนาชนิดที่ไม่ใช้พลังงาน

คุณสมบัติหรือคุณสมบัติเฉพาะคือเป็นอุปกรณ์ที่ตั้งอยู่บนสกี มีต้นกล้าพันธุ์ข้าววางอยู่ เป็นชั้นบนถาดที่สามารถเลื่อนได้ด้วยกลไกสำหรับการดันต้นกล้าเพื่อกันต้นกล้าไม่ให้ออกจากตัวเกี่ยวกล้า สิ่งประดิษฐ์อุปกรณ์ดำนานี้มีส่วนประกอบคือ มือหมุน จานโซ่ ชุดกลไกการเลื่อนถาด ชุดจิกต้นกล้า กลไกการปักต้นกล้า ถาดต้นกล้า และสกี  (สกี หมายถึง การนำเอาแผ่นโลหะหรือแผ่นไม้มาทำเป็นแผ่น โดยไม่มีล้อ ใช้วางอุปกรณ์สำหรับดำนา ด้วยการเคลื่อนที่โดยการดึงหรือลากสกี สกีจะเคลื่อนที่ไปบนโคลนโดยอาศัยความลื่นของโคลนเพื่อเป็นการลดแรงเสียดทาน)

สนใจติดต่อรายละเอียด วิทยาลัยเทคนิคชัยนาท เลขที่ 336 หมู่ที่ 5 ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท โทร. (056) 411-276 หรือ (092) 273-8528

สุดท้าย ผลงานทั้ง 4 ชิ้น ออกแบบสร้างสรรค์ที่เกิดจากฝีมือของเยาวชนนักศึกษาจากสถาบันอาชีวศึกษาจากหลากหลายสถาบันที่มีอยู่ทั่วประเทศ สิ่งประดิษฐ์ทุกชิ้นออกแบบเพื่อนำมาตอบสนองพี่น้องชาวนา ทุกสิ่งประดิษฐ์ล้วนมีเป้าหมายเหมือนกันคือต้องการประหยัดแรงงาน และที่สำคัญคือให้สามารถทำงานได้ง่ายไม่ยุ่งยาก สะดวก และปลอดภัย

หลากหลายสิ่งประดิษฐ์ หลากหลายประเภท จากฝีมือของเยาวชนอาชีวะที่ได้ออกแบบสร้างสรรค์ขึ้นมานั้นมีอีกหลายชิ้นงานที่น่าสนใจอย่างยิ่ง ผมจะนำมาเสนอเพื่อให้แฟนๆ ที่สนใจจะได้รับทราบว่าการศึกษาระดับอาชีวศึกษาในปัจจุบันนั้นมีการศึกษาทุกสถาบัน ล้วนเน้นให้เยาวชนได้สร้างสรรค์ผลงานหลังจากได้เรียนภาคทฤษฎีในห้องเรียนออกมาเป็นชิ้นงานจากการทำงานร่วมกันเป็นทีม และจะพยายามที่จะเลือกสรรสิ่งประดิษฐ์ที่คิดว่าแฟนๆ ก็น่าสนใจด้วยเช่นกัน ติดตามกันนะครับ

สิ่งประดิษฐ์เหล่านี้เป็นของเยาวชน “อาชีวะฝีมือชน คนสร้างชาติ” ทุกชิ้นงาน จะเห็นได้ว่าสามารถนำไปใช้งานได้จริงอย่างดี หรือหากว่าได้มีการนำไปต่อยอดให้สมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้นจะสามารถนำไปผลิตเชิงพาณิชย์ได้อย่างดีเยี่ยม ผู้ใหญ่ทั้งหลายในแผ่นดินนี้ต้องหันมาสนใจและช่วยสนับสนุนกันนะครับ ขอบคุณ สวัสดี