เด็กเก่ง ปลูกเมล่อนอินทรีย์ บนพื้นที่ 72 ตารางเมตร ผลผลิตงาม ขายได้ราคาดี

กว่า 100 ปีมาแล้ว ที่โรงเรียนบ้านแก่นท้าว (อโศกวุฒิกรสงเคราะห์) ตำบลเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา ก่อตั้งมาจนถึงปัจจุบัน ผ่านการเรียนการสอนมาหลายต่อหลายรุ่น แต่เพราะพื้นที่โรงเรียนมีน้อย เพียง 6 ไร่ 30 ตารางวา ทำให้อาคารเรียนและพื้นที่ทุกอย่างต้องจัดระเบียบอย่างเป็นระบบให้ดี เพื่อประโยชน์ใช้สอยอย่างเต็มที่

ที่ผ่านมา ทราบว่าโรงเรียนจัดการเรียนการสอนในแบบโรงเรียนขยายโอกาส คือ มีการเรียนการสอนในระดับชั้นปฐมวัยถึงระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น มีบุคลากรด้านการสอน 14 คน มีนักเรียนเพียง 143 คน เท่านั้น

อาจารย์ศศิธร จ๋าพิมาย ผู้อำนวยการโรงเรียน
อาจารย์ศศิธร จ๋าพิมาย ผู้อำนวยการโรงเรียน

อาจารย์ศศิธร จ๋าพิมาย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแก่นท้าว (อโศกวุฒิกรสงเคราะห์) เปิดเผยว่า โรงเรียนมีพื้นที่น้อย การให้ความสำคัญด้านพื้นที่เกษตรภายในโรงเรียนก็ไม่ได้น้อยไปด้วย แต่เป็นการจัดพื้นที่ให้เหมาะสมตามพื้นที่ที่มีอยู่ โดยให้ความสำคัญกับรายวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ ซึ่งมีอาชีพเกษตรอยู่ในการเรียนการสอนรายวิชานี้ด้วย และการให้นักเรียนได้เรียนรู้ในภาคปฏิบัติ ถือเป็นสิ่งจำเป็น การจัดการแปลงผักสวนครัวไว้ให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติ จึงมีมาโดยตลอด รวมถึงการจัดแปลงสวนสมรม ที่ปลูกพืชหลายชนิดคละกันภายในสวน เพื่อประหยัดพื้นที่ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ทำให้นักเรียนก็ได้เรียนรู้พืชหลายชนิดในแปลงเดียวกัน

“เด็กนักเรียนโรงเรียนเราเกือบทั้งหมดจะอ่อนในเชิงวิชาการ นักเรียนส่วนใหญ่หลังจากจบการศึกษาระดับมัธยมต้นของโรงเรียนจะมุ่งเข้าเรียนในสายอาชีพ ดังนั้น เราจึงมองหาจุดแข็งเสริมให้กับนักเรียน ซึ่งเห็นว่าการส่งเสริมเรื่องของอาชีพจะเป็นพื้นฐานให้นักเรียนมีความถนัดและเรียนรู้ในสายอาชีพได้ดียิ่งขึ้น”

 

พื้นที่น้อย ปลูกพืชเป็นแปลงสมรม

ผู้อำนวยการโรงเรียน บอกด้วยว่า พื้นที่ที่จัดให้เป็นพื้นที่เกษตรของโรงเรียนมีไม่มากนัก แต่เพื่อครอบคลุมจึงจัดเป็นสวนสมรม พื้นที่ 24 ตารางเมตร สำหรับปลูกผักและไม้ผลไว้หลายชนิด เช่น ตะไคร้ มะนาว กะเพรา คะน้า กวางตุ้ง มีไม้ผลปลูกแซมไว้รับประทาน เช่น มะละกอ กล้วย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังกันพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้สำหรับปลูกไม้พื้นบ้าน ไม้ป่า สำหรับให้นักเรียนได้ศึกษา เช่น ตะขบป่า เป็นไม้พื้นบ้านที่อดีตพบเห็นได้บ่อย และใช้ประโยชน์จากผลและเนื้อไม้  แต่ปัจจุบันต้นตะขบป่าพบเห็นได้ยาก จึงปลูกไว้เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษา

Advertisement
เด็กนักเรียนต่างตื่นเต้นกับแปลงเมล่อนอินทรีย์
เด็กนักเรียนต่างตื่นเต้นกับแปลงเมล่อนอินทรีย์

นอกเหนือจากแปลงเกษตรที่จัดทำเป็นสวนสมรมแล้ว โรงเรียนยังปันพื้นที่สร้างบ่อซีเมนต์สำหรับเลี้ยงปลาดุก ครั้งละ 2,000-3,000 ตัว เด็กนักเรียนเป็นคนดูแลในวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ ให้อาหาร เปลี่ยนน้ำ และเมื่อได้อายุจับ ก็จะจับขาย ซึ่งเป็นการเลี้ยงสัตว์เพียงชนิดเดียวที่โรงเรียนดำเนินการอยู่

อาจารย์ศศิธร บอกว่า ในอนาคตอยู่ระหว่างการเตรียมพื้นที่ใหม่สำหรับการเลี้ยงไก่ไข่ในโรงเรือน เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ที่หลากหลาย ซึ่งจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนพฤศจิกายนนี้

Advertisement

 

มั่นใจพืชเศรษฐกิจ เป็นแรงบันดาลใจให้เด็ก

เพราะโรงเรียนมีความมุ่งมั่นเสริมสร้างพื้นฐานด้านอาชีพให้กับเด็กนักเรียน จึงพุ่งเป้าไปที่การเรียนรู้อย่างละเอียดทุกขั้นตอน ทำให้โรงเรียนมองเห็นโอกาสของพืชเศรษฐกิจที่อนาคตนักเรียนอาจจะนำไปต่อยอดเป็นอาชีพและสร้างรายได้ให้กับตัวนักเรียนและครอบครัว ซึ่ง “เมล่อน” ยังคงเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มไปได้ดีในตลาดไม้ผล ประกอบกับ อาจารย์บรรจด โกะสูงเนิน อาจารย์ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจพอเพียงและการเกษตรของโรงเรียนทั้งหมดให้ความสนใจ จึงเดินทางไปศึกษาการทำโรงเรือนเมล่อน รวมถึงรายละเอียดในการปลูก การดูแลรักษา การเก็บเกี่ยว ทั้งหมด

ได้ครั้งละหลายร้อยกิโลกรัม
ได้ครั้งละหลายร้อยกิโลกรัม

อาจารย์ศศิธร บอกว่า อาจารย์บรรจดนำความรู้ทั้งหมดกลับมายังโรงเรียน และของบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา นครราชสีมา เขต 4 เพื่อจัดสร้างแปลงเมล่อนสาธิต สำหรับให้นักเรียนได้เรียนรู้ ทั้งยังเป็นแปลงสาธิตให้กับชุมชนเข้ามาศึกษาดูงาน ซึ่งปัจจุบันได้ทำโรงเรือนมาตรฐาน ขนาด 72 ตารางเมตร เรียบร้อยแล้ว

“เรามองว่า พืชเศรษฐกิจชนิดนี้จะช่วยให้เด็กเกิดแรงบันดาลใจให้เด็กนักเรียนอยากทำ เพราะมองเห็นผลกำไรในการประกอบอาชีพ เปลี่ยนความคิดเด็กที่มองว่าอาชีพเกษตรกรมีความก้าวหน้าน้อย ให้เป็นอาชีพเกษตรกรสามารถทำรายได้เลี้ยงครอบครัวได้อย่างสบาย จึงคิดนำมาเป็นตัวอย่างให้กับนักเรียนได้เรียนรู้”

ที่สำคัญ การปลูกเมล่อนในครั้งนี้ จริงจังและให้ความสำคัญกับการปลูกเมล่อนแบบอินทรีย์ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เด็กนักเรียนเห็นชัดว่า ผลผลิตที่ได้เมื่อออกสู่ตลาดราคาจะสูงกว่าปกติ และมีแรงบันดาลใจในการทำการเกษตรมากขึ้น

ถุงทองซ่อนแซบ ฝีมือนักเรียน
ถุงทองซ่อนแซบ ฝีมือนักเรียน

ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแก่นท้าว (อโศกวุฒิกรสงเคราะห์) อธิบายว่า แปลงเมล่อนที่มีอยู่บนพื้นที่ 72 ตารางเมตร เป็นแปลงสาธิต เปิดให้ชาวบ้านหรือชุมชนเข้ามาศึกษาเพิ่มเติม มีอาจารย์บรรจดเป็นผู้ให้ข้อมูลกับผู้สนใจ และบรรจุเข้าเป็นหลักสูตรอาชีพเพิ่มเติมในวิชาการงานพื้นฐานอาชีพของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยมีอาจารย์บรรจด เป็นผู้สอน

“เราเริ่มให้ความสำคัญกับแปลงเมล่อนสาธิต ตั้งแต่ปลายปี 2558 ปล่อยให้นักเรียนทุกระดับชั้นเข้าไปศึกษาในแปลงเมล่อน โดยมีอาจารย์บรรจดทำหน้าที่อธิบายในแต่ละขั้นตอนของการปลูก การดูแลรักษา โรคและแมลง และอื่นๆ ในทุกขั้นตอนของการทำแปลงเมล่อน เท่าที่สังเกต เด็กจะตื่นเต้นมากทุกครั้งที่พาเข้าไปในแปลง เพราะเป็นพืชที่เชื่อว่าเด็กนักเรียนไม่ได้พบเห็นในพื้นที่แน่นอน เมื่อได้เข้าไปสัมผัสของจริง เด็กจึงพร้อมจะเปิดรับความรู้ที่ป้อนให้อย่างเต็มที่”

นับตั้งแต่ลงแปลงปลูก เมล่อนให้ผลผลิตแล้ว 1 รุ่น เมื่อเริ่มติดผล เด็กๆ ต่างเฝ้าคอยรอดูผลเจริญเติบโตเป็นผลใหญ่ จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 100 ผล หลังเก็บผลผลิตมาในล็อตแรก เด็กนักเรียนได้ชื่นชมกับผลผลิตและยังไม่นำออกจำหน่าย แม้ว่าจะมีผู้สนใจติดต่อขอซื้อก็ตาม เพราะผลผลิตล็อตแรกสร้างความตื่นเต้นและความสุขให้กับอาจารย์และนักเรียน จึงนำไปใช้ประโยชน์ให้กับโรงเรียนด้วยการมอบให้กับหน่วยงานภายนอกที่เดินทางมาเยี่ยมชมโรงเรียน นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งของเมล่อนที่ไม่ได้จำหน่าย ยังนำไปให้เด็กนักเรียนได้รับประทาน

โรงเรือนเมล่อน ที่เด็กนักเรียนภาคภูมิใจ
โรงเรือนเมล่อน ที่เด็กนักเรียนภาคภูมิใจ

ความโดดเด่นของแปลงเมล่อนของโรงเรียนบ้านแก่นท้าว (อโศกวุฒิกรสงเคราะห์) คือ เมล่อนปลอดสาร อาจารย์ศศิธร บอกว่า อยากให้เรียกว่าเมล่อนอินทรีย์ เพราะเราทำปลอดสารทั้งหมด และใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ไม่มีสารเคมีมาเกี่ยวข้อง เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ถึงการทำเกษตรอินทรีย์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องดี โดยเราสอนไปถึงการหมักปุ๋ยอินทรีย์ใช้เอง การไล่แมลงศัตรูพืชด้วยภูมิปัญญาชาวบ้านจากสมุนไพร และเมื่อผลผลิตออกมา ราคาของผลผลิตที่จำหน่ายก็สามารถจำหน่ายในราคาที่สูงกว่าท้องตลาดได้

ในอนาคต โรงเรียนตั้งเป้าเพาะกล้าเมล่อน ให้นักเรียนที่สนใจนำกลับไปปลูกที่บ้าน เพราะเชื่อว่านักเรียนสามารถทำได้ และช่วยเพิ่มรายได้ให้กับนักเรียนและครอบครัวอีกทาง รวมถึงมองพืชเศรษฐกิจชนิดอื่นที่เชื่อว่าสามารถสร้างรายได้ให้กับครอบครัวของนักเรียนได้อีก เช่น มะเขือเทศราชินี ฟักทองยักษ์ เป็นต้น

อิฐบล็อกตัวต่อ ผลงานของนักเรียนชาย
อิฐบล็อกตัวต่อ ผลงานของนักเรียนชาย

“นอกจากแปลงพืชเศรษฐกิจที่โรงเรียนส่งเสริมให้กับนักเรียนแล้ว เรายังเสริมความรู้ในเชิงอาชีพด้านอื่นให้กับนักเรียนด้วย เช่น การทำอิฐบล็อกตัวต่อจำหน่าย เด็กนักเรียนจะมีรายได้จากการทำอิฐบล็อกตัวต่อ ชิ้นละ 5 บาท และการทำถุงทองซ่อนแซบ เป็นของทานเล่นที่ขึ้นชื่อของโรงเรียน เป็นฝีมือของนักเรียนลงมือทำเอง จากการนำยำหมี่สูตรโบราณของนครราชสีมาที่เหลือ นำมาห่อเกี้ยวแล้วทอด นำไปขายยังตลาดชุมชน ได้รับความสนใจมาก ซึ่งนักเรียนเองก็จะมีรายได้จากการทำจำหน่ายด้วย”

เด็กหญิงอัญชริกา สุขมังสา หรือ น้องครีม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กล่าวว่า มีพื้นฐานในการทำเกษตรในครัวเรือนมาบ้าง เพราะเคยช่วยคุณตาปลูกมะนาว พริก และพืชสวนครัวอื่น แต่ในโรงเรียนมีหน้าที่รับผิดชอบหมักปุ๋ย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการปลูกต้นไม้ การหมักปุ๋ย ทำโดยการนำใบไม้แห้ง ขี้วัว มาหมักรวมกัน ใช้เวลาในการหมัก เมื่อได้ที่ก็นำไปใส่ให้กับต้นไม้ในแปลง ส่วนเมล่อนเป็นผลไม้ที่น่าสนใจ เพราะอร่อย น่ากิน และได้รับความรู้มากมายจากการที่โรงเรียนทำแปลงเมล่อนขึ้น และเชื่อว่าอนาคตเมล่อนจะเป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่ช่วยสร้างอาชีพได้

เด็กหญิงพณิดา เถียรจันทึก หรือ น้องจิ๋ว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เล่าว่า หน้าที่ที่โรงเรียน คือ การรับผิดชอบดูแลต้นมะละกอ พบว่า มะละกอเป็นตัวเรียกแมลงต่างๆ ให้เข้ามาในสวนสมรม จึงต้องย้ายต้นมะละกอออกจากแปลง เพื่อลดจำนวนแมลงศัตรูพืชลง ในแต่ละวันที่มาโรงเรียนต้องรดน้ำต้นไม้ในตอนเช้าและตอนเย็นก่อนกลับบ้าน คิดว่า ความรู้ด้านการเกษตรเป็นสิ่งจำเป็น เพราะสามารถนำไปเป็นอาชีพในอนาคตและสร้างรายได้ให้กับครอบครัว

สำหรับ เด็กหญิงพนิดา หงวนสูงเนิน หรือ น้องดา นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 กล่าวถึงแปลงเมล่อน ว่า ชอบเมล่อน เพราะคิดว่าสามารถนำไปเป็นอาชีพได้ ตอนนี้เรียนรู้การทำเมล่อนมาบ้างแล้ว เข้าใจวิธีการปลูก การดูแลรักษา ทุกครั้งที่มีโอกาสลงแปลงเม่ล่อน จะได้รับความรู้ใหม่ๆ อยู่เสมอ เช่น การใส่ปุ๋ยให้กับเมล่อน ควรใส่ปุ๋ยบริเวณโคน ใส่ไม่เยอะ และควรใส่ปุ๋ย 5 วัน ต่อครั้ง เท่านั้น

“สำหรับหนู คิดว่า ถ้าเด็กทุกคนไม่มีความรู้เรื่องเกษตร จะทำให้เขาไม่มีความสุข เพราะเกษตรเป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน”

ด้าน เด็กหญิงศิรดา อู๋จันทึก หรือ น้องฟิล์ม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 บอกว่า ความรู้เรื่องการเกษตรสำคัญกับเรา เพราะเป็นอาชีพได้ หน้าที่สำคัญที่โรงเรียน คือ การดูแลการเลี้ยงปลาดุก ในทุกวันจะต้องมาให้อาหารปลาดุก ต้องสังเกตว่าปลากินอาหารอิ่มหรือไม่ ไม่ควรให้เยอะเกินไปเพราะอาจทำให้น้ำเสีย การเลี้ยงปลาสำหรับน้องฟิล์มถือเป็นเรื่องง่าย เมื่อเลี้ยงปลาดุกไประยะเวลาหนึ่งก็จับขาย โดยให้เด็กผู้ชายลงไปในบ่อ วิดน้ำออกให้เหลือน้อย แล้วจับปลาขึ้นมาขายเข้าโครงการอาหารกลางวัน หากจับปลาได้มากเกินความต้องการก็จะนำไปขายยังตลาดชุมชน สร้างรายได้ให้กับโรงเรียนอีกทาง

ถึงเวลาจับปลาดุกขาย
ถึงเวลาจับปลาดุกขาย

ปัจจุบัน โรงเรียนบ้านแก่นท้าว (อโศกวุฒิกรสงเคราะห์) ได้รับความสนใจในเรื่องการทำแปลงเมล่อนอินทรีย์อย่างมาก และเป็นต้นแบบให้กับสถานศึกษาหลายแห่งที่สนใจปลูกพืชเศรษฐกิจในโรงเรียน จัดได้ว่าเป็นโรงเรียนที่ฉีกแบบการทำเกษตรในโรงเรียนยุคนี้ สนใจเยี่ยมชมการปลูกเมล่อนในโรงเรือน ของโรงเรียนบ้านแก่นท้าว (อโศกวุฒิกรสงเคราะห์) สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์ศศิธร จ๋าพิมาย ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแก่นท้าว (อโศกวุฒิกรสงเคราะห์) โทรศัพท์ (087) 965-5957