โรงเรียนตชด.บ้านต้นมะม่วง ไทรโยค นำร่องสร้างกองทุนเกษตร ขยายผลเข้าชุมชน

ปี พ.ศ. 2523 โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านต้นมะม่วง หมู่ที่ 7 บ้านพุหว้า ตำบลกระแจะ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 13 ได้เริ่มดำเนินงานตามโครงการพระราชดำริ อาทิ โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน โครงการส่งเสริมสหกรณ์ โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน โครงการฝึกอาชีพ โครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดาร เป็นต้น

สอดคล้องกับวัตถุประสงค์เดิมของการก่อตั้งโรงเรียน ที่ต้องการส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาของเด็กในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานทุนการศึกษาแก่นักเรียนที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมา

พ.ต.ต. วิรัช วรรณะพุก

ในการเรียนการสอนการเกษตร ด้วยโรงเรียนมีพื้นที่เป็นพื้นที่ลาดเชิงเขา ทำให้ในทุกๆ ปี โดยเฉพาะฤดูฝน เมื่อเกิดฝนตกหนัก น้ำหลาก การทำการเกษตรลงดินจึงเป็นเรื่องยาก เมื่อลงทุนไปไม่นานก็เกิดความเสียหายจากน้ำหลากที่เกิดขึ้นบ่อย

การเรียนการสอนวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ ที่มีเรื่องของการทำการเกษตรรวมอยู่ด้วย ระยะแรกจึงเป็นการทำการแปลงชั่วคราว เพื่อให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริง เพราะเกรงว่าแปลงถาวรที่สร้างไว้จะถูกภัยธรรมชาติทำลาย

พ.ต.ต. วิรัช วรรณะพุก ครูใหญ่โรงเรียนตชด.บ้านต้นมะม่วง ให้ข้อมูลว่า หลังเริ่มดำเนินโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ทำให้ต้นทุนในการเริ่มต้นทำการเกษตรภายในโรงเรียนอย่างจริงจังมีมากขึ้น จึงจัดตั้งกองทุนกิจกรรมพืชผัก โดยผลผลิตทั้งหมดขายให้กับสหกรณ์โรงเรียน และโครงการอาหารกลางวันนำเงินมาซื้อจากสหกรณ์โรงเรียนไปอีกทอด ผลต่างเป็นกำไรนำเข้าสหกรณ์โรงเรียน และมีการปันผลให้เด็กนักเรียนที่เป็นสมาชิกสหกรณ์โรงเรียนก่อนจบการศึกษาในแต่ละปี

ด.ต. สุวัฒน์ แววเพ็ชร

เม็ดเงินที่ได้จากการขายผลผลิตให้กับสหกรณ์โรงเรียน นักเรียนจะนำไปฝากธนาคาร เพื่อเป็นกองทุนกิจกรรมพืชผัก ไว้สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนอย่างยั่งยืน

พื้นที่ทั้งหมดของโรงเรียนมีทั้งสิ้น 18 ไร่ 2 งาน 75 ตารางวา คิดเป็นพื้นที่ทำการเกษตรทั้งหมดรวมกันประมาณ 5 ไร่

พ.ต.ต. วิรัช กล่าวว่า ปัญหาเดิมที่เคยประสบ คือ เมื่อถึงฤดูฝนจะพบกับภัยธรรมชาติ เกิดน้ำหลาก พาแปลงเกษตรของนักเรียนไปกับกระแสน้ำ เพราะเป็นพื้นที่ลาดเชิงเขา เราจึงแก้ปัญหาโดยการก่ออิฐบล็อกสำหรับทำแปลงผักเป็นแนวปะทะน้ำ เราติดตั้งสปริงเกลอร์สำหรับรดน้ำ แต่ยังคงมีบัวรดน้ำไว้ให้เด็กได้ใช้

“ในอดีตเราใช้วิธีขุดดิน เมื่อประสบปัญหาเราจำเป็นต้องแก้ โดยการก่ออิฐบล็อกเป็นตัวปะทะน้ำ ไม่ให้แปลงผักพังทลายเสียหายไปกับกระแสน้ำ ส่วนการรดน้ำ เมื่อก่อนเราเดินรดด้วยบัวรดน้ำ แต่ปัจจุบันเราติดสปริงเกลอร์ ซึ่งการทำเช่นนี้ไม่ได้ส่งเสริมให้เด็กขี้เกียจใช้บัวรดน้ำเดินรด แต่เพราะต้องการให้เด็กเห็นเทคโนโลยีทางการเกษตรใหม่ๆ”

เด็กหญิงณัฐริกา ทองอิ่ม

ด.ต. สุวัฒน์ แววเพ็ชร ครูที่ปรึกษาโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน เล่าให้ฟังถึงรายละเอียดของการทำการเกษตรภายในโรงเรียนให้ฟังว่า เป้าหมายของการทำการเกษตร ก็เพื่อนำไปบริโภคในโครงการอาหารกลางวัน มีพืชผักกินเองโดยไม่ต้องซื้อจากภายนอก แต่เราก็ทำในรูปแบบของการซื้อ-ขายผ่านสหกรณ์โรงเรียน เพื่อให้เด็กรู้จักการซื้อ-ขาย ปันผล ออม เรียกว่าเป็นการผลิตเพื่อบริโภค

ครูใหญ่โรงเรียนตชด.บ้านต้นมะม่วง บอกว่า เป็นความโชคดีของโรงเรียนที่มีหน่วยงานสนองโครงการอยู่โดยรอบ จึงให้ความช่วยเหลือในการเริ่มดำเนินกิจกรรมทางการเกษตร เช่น ปศุสัตว์ ประมง สหกรณ์

เด็กหญิงน้ำทิพย์ นาคะมา

สำหรับการทำการเกษตรภายในโรงเรียน มีดังนี้

  1. ปลูกผักตามฤดูกาล พืชผักหลายชนิดปลูกในได้ทุกฤดู แต่เมื่อถึงฤดูฝนโรงเรียนจะเน้นปลูกพืชประเภทไม้เลื้อย เนื่องจากฤดูฝนโรคเชื้อราเกิดขึ้นได้ง่าย หากเกิดเชื้อราพืชผักจะเสียหาย โดยพืชที่เน้นปลูกในฤดูฝน คือ แตงร้าน ถั่วฝักยาว บวบ น้ำเต้า ฟัก เป็นต้น
  2. ผลไม้ ประกอบด้วย กล้วย มะละกอ ฝรั่ง หม่อน แก้วมังกร ขนุน มะม่วง และเสาวรส ทั้งหมดนี้ผลผลิตสามารถนำมารับประทานได้ทุกฤดูกาล หมุนเวียนให้เด็กนักเรียนได้รับวิตามินและเกลือแร่ได้อีกทาง
  3. หมูพันธุ์ลาร์จไวท์ (Large White) ในระยะแรกโรงเรียนได้พันธุ์มาจากหน่วยทหารพัฒนา จำนวน 5 ตัว เป็นหมูพันธุ์ลาร์จไวท์ผสมกับพันธุ์เหมยซาน ข้อดีคือ กินง่าย แต่ข้อเสียคือ โตช้า เมื่อครบกำหนดขายคอกแรก จำนวน 5 ตัวนี้ก็ขายออกไปเป็นเงินทุน เพื่อนำมาซื้อจากสำนักปศุสัตว์ เป็นหมูพันธุ์ลาร์จไวท์แท้ จำนวน 10 ตัว ซึ่งเลือกพันธุ์ลาร์จไวท์ เนื่องจากต้องการให้หมูโตเร็ว เมื่อขายจะได้คุ้มทุน
  4. ไก่ไข่ ปัจจุบันมีจำนวน 150 ตัว ในแต่ละวันเก็บไข่ได้ไม่ต่ำกว่า 80 ฟอง นอกจากนี้ ยังมีไก่พื้นเมืองอีก 3 สายพันธุ์ เพื่อให้นักเรียนได้ศึกษา
  5. เป็ดบาบารี จำนวน 60 ตัว เป็ดกากี แคมพ์เบลล์ อีกกว่า 100 ตัว โดยก่อนหน้ามีจำนวนมากกว่านี้ แต่เนื่องจากถึงอายุการนำไปเป็นอาหาร ก็ถูกนำเข้าโรงครัวเป็นอาหารกลางวัน ส่วนไข่เป็ดเก็บมาทำไข่เค็ม เป็นการสอนนักเรียนให้แปรรูปและจำหน่ายเป็นสินค้าภายในโรงเรียน
  6. กบนาผสมบูลฟร็อกในบ่อซีเมนต์ จำนวน 3,000 ตัว เมื่อกบถึงอายุจับนำไปเข้าโรงครัว ส่วนที่เหลือจากโรงครัวจะนำไปจำหน่าย เพื่อนำเงินเข้ากองทุนกิจกรรมเลี้ยงกบ
  7. ปลาดุกในบ่อซีเมนต์ ลงครั้งละหลายพันตัว ซึ่งการเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ โรงเรียนให้เหตุผลว่า พื้นที่บริเวณรอบของโรงเรียนสูง อยู่ริมเขา และดินเก็บน้ำไม่อยู่ จึงต้องเลือกเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ ซึ่งอนาคตอยู่ระหว่างกรมทรัพยากรน้ำบาดาลเข้ามาให้ความช่วยเหลือ ในการขุดดิน นำผ้าใบ เหนียว ปูและใช้ดินปะในลักษณะของบ่อดินถาวระ เพื่อให้เก็บกักน้ำได้
  8. การปลูกถั่วมะแฮะ ปัจจุบันปลูกบนพื้นที่ 3 งาน เป็นถั่วที่ให้คุณค่าทางสารอาหารประเภทโปรตีนและวิตามินบีสูง ซึ่งนำมาประกอบอาหารเป็นอาหารหวานเสริมให้กับนักเรียน
  9. ปุ๋ยหมัก รวมถึงน้ำหมักชีวภาพ ซึ่งทั้งสองอย่างใช้วัตถุดิบที่เหลือจากโรงครัวมาหมัก เป็นการจัดการของเสียให้มีคุณประโยชน์
เด็กชายสุรพงษ์ ใจมั่น

ด.ต. สุวัฒน์ กล่าวว่า เวลา 15.00 น. ของทุกวัน เด็กทั้งหมดของโรงเรียนจะลงไปที่แปลงเกษตร เด็กเล็กจะถอนวัชพืช เด็กโตจะขุดแปลง และหากเด็กนักเรียนคนไหนรับผิดชอบกิจกรรมอะไรก็สามารถกระจายไปทำกิจกรรมนั้นได้

การเลือกกิจกรรมยังคงให้ครูที่ปรึกษาและครูประจำชั้นเป็นผู้เลือกให้ เพื่อความเหมาะสมของกิจกรรมและเด็ก เพราะกิจกรรมบางประเภทเป็นกิจกรรมที่อาศัยความรับผิดชอบค่อนข้างสูง จำเป็นต้องให้เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลายเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งครูที่ปรึกษาโครงการอาหารกลางวันเห็นว่ายังไม่ควรสลับสับเปลี่ยนกิจกรรมให้เด็กรับผิดชอบบ่อยครั้งนัก เนื่องจากเด็กต้องใช้เวลาเรียนรู้ การปล่อยให้เด็กคุ้นชินและเข้าใจในกิจกรรมนั้นๆ อย่างเต็มที่จะดีกว่า

เด็กหญิงณัฐริกา ทองอิ่ม หรือ น้องกอหญ้า อายุ 12 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กล่าวว่า ชอบกิจกรรมการปลูกพืชผักสวนครัวมาก ในทุกวันเวลา 15.00 น. จะเก็บผักส่งเข้าโรงครัว และรดน้ำผักไปพร้อมๆ กัน ซึ่งต้องหมั่นสังเกตด้วยว่าแปลงผักมีแมลงหรือวัชพืชมารบกวนหรือไม่ หากพบก็ต้องทำลายทิ้ง

เด็กชายภาคภูมิ บุญธรรม

ด้าน เด็กหญิงน้ำทิพย์ นาคะมา หรือ น้องมิว อายุ 12 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เล่าว่า ชอบลงแปลงพืชผักสวนครัว เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทำได้ง่าย เช่น ต้องการปลูกผัก ก็นำเมล็ดที่ได้มาเพาะต้นกล้า จากนั้นเตรียมแปลงด้วยการขุดแปลง เกลี่ยดินให้เสมอ คลุมด้วยฟาง แล้วจึงนำต้นกล้าที่เพาะไว้มาลงปลูก ยกเว้นพืชบางชนิด เช่น ผักบุ้ง สามารถหว่านเมล็ดลงไปได้โดยไม่ต้องเพาะกล้าก่อน

ส่วน เด็กชายสุรพงษ์ ใจมั่น หรือ น้องอาร์ท อายุ 13 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 บอกว่า ชอบกิจกรรมเลี้ยงกบ เลี้ยงเป็ด และเลี้ยงไก่ ชอบอยู่กับสัตว์ ไม่เคยรู้สึกรังเกียจแม้ว่าจะต้องเก็บมูลสัตว์หรือต้องทำความสะอาดสถานที่เลี้ยง เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องสนุก ใกล้ตัว และเราสามารถนำความรู้เหล่านี้ไปปรับใช้เองที่บ้าน

สำหรับ เด็กชายภาคภูมิ บุญธรรม หรือ น้องแฟ้ง อายุ 11 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 อธิบายว่า ความรับผิดชอบในกิจกรรมเกษตรที่โรงเรียนคือ แปลงผัก เพราะที่บ้านปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเอง ไม่ต้องซื้อ ซึ่งก็นำความรู้จากกิจกรรมเกษตรที่โรงเรียนไปลองปฏิบัติ นอกจากนี้ อาชีพของครอบครัวคือตัดไม้ไผ่ที่ใช้ทำกระบอกข้าวหลามขาย ก็ถือเป็นอาชีพหนึ่งของเกษตรกรรม และตนเองก็รักในอาชีพเกษตรกรรมอยู่แล้ว หากจบการศึกษาแล้วไม่มีงานทำ ก็จะเริ่มต้นทำเกษตรกรรม

หลังจากดำเนินกิจกรรมดังกล่าวมานานเกือบ 30 ปี ทำให้โรงเรียนมีความเข้มแข็ง เป็นต้นแบบของเศรษฐกิจพอเพียง การดำเนินกิจกรรมสหกรณ์ และการดำเนินกิจกรรมกองทุนต่างๆ ในโรงเรียน ชุมชนเข้ามาเรียนรู้และนำไปทำแบบอย่าง โดยเฉพาะเด็กนักเรียนสามารถนำไปปฏิบัติที่บ้าน เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายในการซื้อพืชผักสวนครัวลงได้อย่างไม่น่าเชื่อ

นอกจากนี้ การดำเนินกิจกรรมอย่างเข้มแข็ง ทำให้โรงเรียนได้รับรางวัลโล่พระราชทาน อันดับ 1 ของประเทศ ในการจัดการเรียนการสอนระบบสหกรณ์ ในปี พ.ศ. 2559 ที่ผ่านมา

ท่านใดสนใจระบบการบริหารจัดการของโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านต้นมะม่วง สามารถติดต่อได้ที่ หมู่ที่ 7 บ้านพุหว้า ตำบลกระแจะ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี หรือโทรศัพท์มาที่ พ.ต.ต. วิรัช วรรณะพุก ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านต้นมะม่วง โทรศัพท์ (084) 540-2934