โรงเรียนตชด.เฮงเค็ลไทย ทุ่งมะเซอย่อ กาญจนบุรี ทำแผนการเรียนเกษตร ให้เด็กมีทางเลือก

เมื่อต้นปี 2560 ที่ผ่านมา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเยือนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเฮงเค็ลไทย ณ บ้านทุ่งมะเซอย่อ ตำบลบ้องตี้ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี เพื่อทรงติดตามผลการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเฮงเค็ลไทย มีนักเรียน จำนวน 172 คน พื้นที่บริการสำหรับนักเรียน จำนวน 2 หมู่บ้าน ใน 2 ตำบล ในจำนวนนี้มีเด็กนักเรียนที่บ้านอยู่ห่างไกลโรงเรียนมาก ไม่สามารถเดินทางไป-กลับได้ในทุกวัน 5 คน จำเป็นต้องพักที่บ้านพักครู ซึ่งยังว่างอยู่จากที่ครูมีบ้านพักในพื้นที่อยู่แล้ว

จำนวนบุคลากรผู้สอนมีจำนวน 9 คน พื้นที่ทั้งหมดของโรงเรียน 25 ไร่ พื้นที่ทั้งหมดของโรงเรียนที่ดูเหมือนมาก แต่พื้นที่และอาคารสำหรับใช้สอยในการเรียนการสอนไม่ได้ใช้เต็มพื้นที่ ยังคงเป็นพื้นที่ใช้สำหรับปลูกต้นไม้ มีต้นไม้ขึ้นอยู่แล้วตามพื้นที่เดิม ส่วนการจัดสรรให้เป็นแปลงเกษตรและพื้นที่ใช้สอยทางการเกษตร มีทั้งสิ้นราว 5-6 ไร่

เด็กทั้งหมดจำนวน 172 คน เป็นเด็กไร้สัญชาติกว่า 40 คน แต่ด้วยเป็นสถาบันการศึกษาที่มีคุณธรรม จริยธรรม ในการให้ความรู้จึงรับไว้ดูแล ทั้งยังมีอาหารกลางวันให้กินเช่นเดียวกับเด็กนักเรียนทุกคน ซึ่งแน่นอนค่าใช้จ่ายในอาหารกลางวันที่ต้องดูแลเด็กจำนวนเกือบ 200 คน ไม่น้อยเลยสำหรับโรงเรียนตชด.แห่งนี้  แม้จะได้รับเงินสนับสนุนค่าอาหารกลางวันจากหน่วยงานภาครัฐ แต่ก็ไม่เพียงพอ การช่วยเหลือตัวเองจึงเป็นทางออกวิธีเดียว

ร.ต.อ. มนัส ลิสะนิ ครูใหญ่โรงเรียนตชด.เฮงเค็ลไทย เล่าว่า โรงเรียนก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 ชื่อโรงเรียนตชด.บ้านทุ่งมะเซอย่อ ต่อมาในปี พ.ศ. 2536 บริษัท เฮงเค็ล (ประเทศไทย) จำกัด เข้ามาให้การสนับสนุนในการสร้างอาคารเรียนให้ จึงเปลี่ยนชื่อเป็น โรงเรียน ตชด.เฮงเค็ลไทย

ซึ่งครั้งนั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เปิด และจัดตั้งโครงการตามพระราชดำริ ให้ทรงเป็นแนวทางและแบบอย่างในการจัดการ ทั้งยังเสด็จฯ เพื่อทรงติดตามผลการดำเนินงานในโครงการพระราชดำริ ที่ผ่านมาแล้วรวม 6 ครั้ง

“พระองค์ท่านมีพระดำริให้ปลูกผลไม้ เช่น กล้วย มะละกอ ให้พอเพียงกับความต้องการของเด็กนักเรียน โรงเรียนจึงปลูกกล้วยเป็นหลัก จำนวน 3 ไร่ และแทรกไม้ผลอื่นๆ ไประหว่างกลาง เช่น ขนุน มะม่วง ส้มโอ ซึ่งทั้งหมดทยอยให้ผลผลิตแล้ว เป็นผลไม้ไว้ให้เด็กได้กิน”

สำหรับประมง โรงเรียนมีพื้นที่กว้าง การขุดบ่อดินจึงมีมาตั้งแต่ระยะแรกเริ่มก่อตั้งโรงเรียน ปัจจุบัน มีบ่อดินขุดจำนวน 3 บ่อ แต่ละบ่อพื้นที่ไม่เท่ากัน พื้นที่รวมประมาณ 3 ไร่ ในทุกปีได้รับความอนุเคราะห์พันธุ์ปลากินพืชจากสำนักงานประมงอำเภอ ทำให้มีพันธุ์ปลาปล่อยเลี้ยงไว้ในทุกบ่อ ปีละ 2-3 ครั้ง เป็นปลายี่สก ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาสวาย

ส่วนการจับขึ้นมาบริโภค ร.ต.อ. มนัส บอกว่า ขึ้นกับว่าต้องการนำมาบริโภคในช่วงไหนก็นำตาข่ายจับปลาไปลากขึ้นมา หรือในบางครั้งใช้อวนตี ก็ทำให้ได้ปลาจำนวนมากเช่นกัน และแต่ละครั้งที่จับปลาขึ้นมาได้ ก็นำไปส่งขายให้กับสหกรณ์โรงเรียนในราคาย่อมเยา จากนั้นโรงอาหารจะซื้อจากสหกรณ์ในราคาที่สหกรณ์โรงเรียนได้กำไรนิดหน่อย นำไปประกอบอาหารให้กับเด็ก ส่วนปลาที่เหลือก็ขายให้กับสมาชิก หรือผู้ปกครองของนักเรียน และคนในชุมชน ในราคาย่อมเยาเช่นกัน

พื้นที่ราว 2 ไร่ มีไว้สำหรับปลูกพืชผักโดยเฉพาะ เป็นผักทุกชนิดปลูกหมุนเวียนตามฤดูกาล ส่วนใหญ่เป็นผักกินใบ ไม้เถา และผักยืนต้น
นอกจากนี้ ยังมีโรงเรือนเลี้ยงไก่ไข่ จำนวน 150 ตัว ต่อรุ่น ดำเนินกิจกรรมไปแล้ว 3 รุ่น เฉลี่ยเก็บไข่ไก่ได้มากถึง วันละ 120 ฟอง และต้องให้นักเรียนได้รับสารอาหารจากไข่ สัปดาห์ละ 3 ฟอง ต่อคน

ซึ่งที่ผ่านมาก็มีไข่ไก่บริโภคได้ตามโภชนาการที่กำหนดไว้ ทั้งยังมีไข่เหลือจากการบริโภคอีกจำนวนมาก ทั้งหมดถูกขายผ่านระบบสหกรณ์ของโรงเรียน ทำให้สหกรณ์โรงเรียนมีกำไร และยังได้เป็นเงินทุนกลับมาในทุกๆ กิจกรรมด้วย

การเลี้ยงเป็ด เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมของปศุสัตว์ ที่ได้ผลดีเกินคาด
โรงเรียนตชด.เฮงเค็ลไทย เลี้ยงเป็ดบาบารีและเป็ดไข่ เก็บไข่เป็ดไว้กินได้ไม่น้อย แต่เป็ดบาบารีเลี้ยงไว้เพื่อกินเนื้อ

สิ่งที่ประสบความสำเร็จในการเลี้ยงเป็ด คือ การขยายพันธุ์แล้วส่งต่อให้กับครอบครัวของนักเรียนนำไปเลี้ยง เมื่อขยายพันธุ์ต่อได้อีก ก็นำพ่อแม่พันธุ์มาคืนให้กับโรงเรียน ส่วนเป็ดที่ขยายพันธุ์ได้เองก็เลี้ยงไว้เพื่อจำหน่ายต่อไป ทั้งนี้ การขยายพันธุ์เป็ดเพื่อส่งต่อให้กับชุมชน เป็นหนึ่งในโครงการพระราชดำริ ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ด้วย

การเลี้ยงหมู โรงเรียนเลือกเลี้ยงหมูขุน ที่เลี้ยงประมาณ 5-6 เดือน ก็สามารถจำหน่ายได้ ซึ่งการเลี้ยงหมูขุน ใช้เวลาน้อย ทั้งยังชำแหละเพื่อบริโภคและจำหน่ายเองอีกด้วย

การเลี้ยงกบ และการเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ ปัจจุบัน เพิ่งเริ่มดำเนินการ ยังไม่ได้รอบการจับ แต่ทุกๆ กิจกรรมให้ความสำคัญไปที่สิ่งที่นักเรียนจะได้รับในระหว่างดำเนินกิจกรรม

นอกจากนี้ ยังมีโรงเรือนเพาะเห็ด ประกอบด้วยเห็ดนางฟ้าและเห็ดภูฎาน เพราะเห็ดทั้งสองชนิดดูแลง่าย ทำอาหารได้หลากหลาย แต่สิ่งหนึ่งที่โรงเรียนยังเป็นห่วง คือ การเพาะเห็ดไม่ได้เป็นการทำกิจกรรมที่ครบทุกขั้นตอน เพราะควรมีการทำก้อนเชื้อเห็ด แต่การทำก้อนเชื้อเห็ดเอง โรงเรียนมองว่ายังยุ่งยากเกินไปสำหรับเด็กนักเรียน จึงจำเป็นต้องให้มีกิจกรรมการเพาะเห็ด โดยยังคงซื้อก้อนเชื้อเห็ดอยู่

การทำปุ๋ยหมัก เป็นกิจกรรมที่นำมูลไก่แห้งมาหมักไว้ เป็นปุ๋ยกลับกอง แล้วนำไปใช้กับแปลงผักและพืชทุกชนิดภายในแปลงเกษตร

ด.ต. สมเกียรติ ภู่เทศ ครูผู้รับผิดชอบโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน อธิบายถึงการทำกิจกรรมการเกษตรให้นักเรียนในโรงเรียนว่า ความรับผิดชอบหลักของการทำการเกษตรของโรงเรียน มอบให้กับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย คือ ประถมศึกษาปีที่ 4-6 โดยใช้เวลาหลังเลิกเรียน ประมาณ 15.00 น. ของทุกวันในการลงแปลงไปดูแลกิจกรรมที่รับผิดชอบ

โดยครูจะเป็นผู้พิจารณาเองว่า เด็กเหมาะสมกับกิจกรรมใด อย่างไรก็ตาม หากนักเรียนรู้ตัวว่าชอบกิจกรรมใด เด็กก็สามารถเปลี่ยนจากกิจกรรมที่ครูเลือกให้ไปเป็นกิจกรรมที่ชอบได้

นักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนปลาย มีทั้งสิ้นราว 70 คน ส่วนนักเรียนชั้นประถมศึกษาตอนต้น ยังถือว่าอยู่ในวัยที่ศักยภาพการทำงานและความรับผิดชอบยังไม่เต็มที่ จึงให้เรียนรู้กิจกรรมเกษตรเฉพาะในชั่วโมงเรียนวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ

ด.ต. สมเกียรติ บอกด้วยว่า กิจกรรมการเกษตรที่โรงเรียน เป็นเพียงส่วนกระตุ้นให้เด็กรักในการเกษตรเท่านั้น ไม่ได้คาดหวังว่าเด็กจะต้องรักหรือชอบในการเกษตร เพราะธรรมชาติในการดำรงชีวิตของเด็กทุกวัน ก็มีพื้นฐานการเกษตรจากบ้านเกือบทุกครัวเรือน แต่ต้องการให้เด็กคุ้นชินและเรียนรู้วิธีการทำเกษตรในเชิงประยุกต์ ทั้งยังฝึกวินัยและความรับผิดชอบ เพื่อโตขึ้นสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

“เรายึดโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นหลัก ที่ต้องการให้เด็กคนหนึ่งเจริญเติบโตได้อย่างสมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ และสมอง การมาเรียนหนังสือ โรงเรียนควรมอบให้ทั้งความรู้ และวางแผนเกี่ยวกับอาชีพไว้ให้เด็กมีทางเลือก ตอนนี้วงจรการดำเนินกิจกรรมการเกษตรที่โรงเรียน หากมีอย่างง่ายก็คือ เลี้ยงไก่ไข่ กินไข่ เอามูลไก่ทำปุ๋ย นำปุ๋ยใส่ต้นไม้ ผลจากต้นไม้นำมากิน กินเหลือก็ขาย”

เด็กหญิงสุดาพร จำปางทอง หรือ น้องเกต นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อายุ 12 ปี เล่าว่า ตอนเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-5 รับผิดชอบดูแลแปลงผัก แต่ตอนนี้รับผิดชอบไก่ไข่ ซึ่งไก่ไข่ดูแลง่าย อาจเป็นเพราะที่บ้านเลี้ยงไก่ไข่เช่นเดียวกัน ในทุกๆ วัน ต้องสวมหน้ากากอนามัยเพื่อทำความสะอาดโรงเรือน เก็บมูลไก่นำไปให้กับกิจกรรมปุ๋ยหมัก ให้อาหารไก่ไข่ในตอนเช้าและบ่าย ทั้งยังเก็บไข่ไก่ในตอนบ่ายของทุกวัน ราคาขายไข่ไก่ขนาดเล็ก แผงละ 81 บาท ไข่ไก่ขนาดใหญ่ราคาแผงละ 85 บาท

เด็กหญิงสุภาพร ไม่มีนามสกุล หรือ น้องพร นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อายุ 12 ปี บอกว่า ที่บ้านทำการเกษตรเป็นอาชีพหลัก ทั้งยังเลี้ยงไก่และเลี้ยงแพะ ทำให้มีประสบการณ์มาจากที่บ้านพอสมควร ส่วนที่โรงเรียนรับผิดชอบแปลงผัก ในทุกวันจะพาเพื่อนไปถอนวัชพืช ผักที่เก็บได้ทุกวันจะนำไปส่งยังสหกรณ์โรงเรียน เพื่อขายให้กับโครงการอาหารกลางวัน และถ้ามีจำนวนมากก็ขายให้กับผู้ปกครอง ครู และชุมชนที่สนใจ

ด้าน เด็กหญิงชวัลลักษณ์ สุวรรณชาตรี หรือ น้องวิว นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อายุ 12 ปี กล่าวว่า ครอบครัวทำไร่ข้าวโพดหวาน ช่วยครอบครัวทำไร่ข้าวโพดตลอด เวลาเข้าไปช่วยพ่อและแม่ทำไร่ข้าวโพด จะเข้าไปช่วยปลูก รดน้ำและพรวนดิน ส่วนความรับผิดชอบที่โรงเรียนต้องรับผิดชอบการเลี้ยงเป็ด ต้องให้อาหาร ตัวละ 16 กรัม ด้วยวิธีการตวงจากถ้วย และขอฝากถึงนักเรียนที่ไม่มีโอกาสได้ลงมือทำเกี่ยวกับการเกษตรว่า หากมีโอกาสควรรีบไขว่คว้าไว้ เพราะอนาคตเราอาจจำเป็นต้องพึ่งพาการเกษตร โดยเฉพาะเมื่อไม่มีงานทำ การเกษตรจะช่วยให้เราสามารถดูแลตัวเองให้อยู่รอดได้

แม้ว่าโรงเรียนตชด.เฮงเค็ลไทย จะอยู่ไกลจากตัวเมืองและอำเภอมาก แต่ความเอาใจใส่ของครูผู้ตั้งใจมอบความรู้และประสบการณ์ชีวิตให้กับนักเรียน ทำให้นักเรียนที่มีอยู่เกือบ 200 ชีวิต ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างเต็มที่ แม้จะไม่สมบูรณ์เทียบเท่าโรงเรียนที่อยู่ใกล้ความเจริญ แต่ก็พร้อมแบ่งปันประสบการณ์จากการทำการเกษตรให้กับผู้สนใจ
ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โรงเรียนตชด.เฮงเค็ลไทย บ้านทุ่งมะเซอย่อ ตำบลบ้องตี้ อำเภอไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี ในวัน เวลาราชการ