โรงเรียนเทศบาลบ้านกิโลสอง อรัญประเทศ ทำสวนส่งเสริมอาชีพ วิถีเศรษฐกิจพอเพียง

ห่างออกไปราว 2-3 กิโลเมตร จากโรงเรียนเทศบาลบ้านกิโลสอง ถนนสุวรรณศร ตำบลอรัญประเทศ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ก็จะถึงตลาดชายแดนบ้านคลองลึก หรือตลาดโรงเกลือ ตลาดการค้าชายแดนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ก่อนหน้านี้ โรงเรียนเทศบาลบ้านกิโลสอง เป็นโรงเรียนที่มีนักเรียนไม่มากนัก รองรับนักเรียนที่อาศัยอยู่ละแวกรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร และขึ้นตรงกับเทศบาลตำบลอรัญประเทศ ก่อตั้งมานานเกือบ 70 ปี มีบุคลากรทางการศึกษาทั้งสิ้น 62 คน และนักเรียน 1,179 คน เปิดการเรียนการสอนในระดับอนุบาล ถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น

เพราะที่ตั้งของโรงเรียนที่อยู่ไม่ห่างจากตลาดโรงเกลือมากนัก ทำให้อดีตพื้นฐานครอบครัวของเด็กนักเรียนที่เรียนในโรงเรียนเทศบาลบ้านกิโลสอง เป็นพื้นฐานเกษตรกรรม ถูกปรับเปลี่ยนไปเป็นการค้าและอุตสาหกรรมไปเกือบหมด การเติมพื้นฐานในเชิงเกษตรแบบผิวเผินจึงไม่ได้ประโยชน์นัก โรงเรียนเทศบาลบ้านกิโลสอง จึงจำเป็นต้องลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ และให้น้ำหนักการสอนวิชาชีพเสริมให้กับเด็กในเชิงเกษตรกรรมมากขึ้น

อาจารย์ณภัค ปิยภัทร์กิติ ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาลบ้านกิโลสอง เปิดเผยว่า สภาพพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เด็กนักเรียนเกือบทั้งหมดไม่มีพื้นฐานทางด้านเกษตรกรรม ประกอบกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการให้นำศาสตร์พระราชาแทรกเข้าไปในการสอนให้กับเด็กนักเรียน และต้องการให้ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงใช้กับเด็กนักเรียน ทำให้โรงเรียนจัดหลักสูตรสถานศึกษาให้ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ให้กับเด็กนักเรียน ซึ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งของโรงเรียนเดิมไม่ได้ใช้ประโยชน์ จึงตั้งใจจัดสรรให้เป็นแปลงเกษตรทั้งหมด บนพื้นที่ประมาณ 1 ไร่

“ในจำนวนนักเรียนพันกว่าคน เป็นนักเรียนที่ข้ามฝั่งมาจากกัมพูชากว่า 100 คน ส่วนหนึ่งเป็นชาวกัมพูชาที่มีเชื้อสายเวียดนาม แต่ทั้งหมดก็ได้รับการศึกษาและถ่ายทอดความรู้เทียบเท่ากับเด็กไทย รวมถึงสิทธิประโยชน์ในการเพิ่มเติมความรู้ด้านอื่นๆ ที่นอกเหนือจากหลักสูตรการสอน เช่นเดียวกัน”

อาจารย์อำไพ ชาวโยธา อาจารย์ที่มารับบทบาทบริหารจัดการการดำเนินกิจกรรมการเกษตรทั้งหมดของโรงเรียน เล่าให้ฟังว่า ใน 1 สัปดาห์ มีคาบเรียนในวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ รวม 2 คาบ เด็กใช้เวลาในชั่วโมงแรกเรียนทฤษฎี และใช้เวลาในชั่วโมงที่สองเป็นภาคปฏิบัติ ซึ่งนักเรียนทุกระดับชั้นจะได้ลงแปลงเกษตร ได้หยิบจับและทดลองทำทุกอย่างที่เป็นกิจกรรมทางการเกษตรของโรงเรียน แต่ความรับผิดชอบหลักจริงๆ จะเป็นหน้าที่ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 แบ่งการดูแล ชั้นละ 1 วัน โดยรับผิดชอบกิจกรรมเกษตรทั้งหมดในวันนั้นๆ

“เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 มีทั้งหมด 8 ห้อง แบ่งความรับผิดชอบให้เท่าๆ กัน ในแต่ละวัน โดยครูไม่จำเป็นต้องคอยตามดูความเรียบร้อย ส่วนใหญ่นักเรียนที่นี่สามารถบริหารจัดการในแปลงเกษตรได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องบอก”

กิจกรรมในภาคเกษตร แบ่งออกเป็น

  1. การเลี้ยงปลาดุกในบ่อดิน บริเวณบ่อดินมีขนาดไม่มากนัก อยู่ภายในเล้าเป็ดและไก่พื้นเมือง ทุกครั้งปล่อยปลาดุก ประมาณ 400 ตัว เลี้ยงด้วยอาหารเม็ดสำเร็จรูปในระยะแรก จากนั้นเมื่อปลาดุกเริ่มโต จะนำเศษอาหารส่วนเนื้อนำมาให้ปลาดุกกินแทนอาหารเม็ดสำเร็จรูป เป็นการประหยัดต้นทุน และใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 4 เดือน ก็จับขายได้
  2. การเลี้ยงไก่ไข่ มีไก่ไข่ทั้งสิ้น 20 ตัว เลี้ยงปล่อย แต่ไม่ได้ให้อาหารเม็ดสำเร็จรูป ให้เป็นเศษอาหารที่เหลือทิ้งจากโรงอาหาร ซึ่งแม้จะไม่ได้ทำให้ไก่ได้รับสารอาหารครบถ้วนเหมือนการได้รับอาหารเม็ดสำเร็จรูป แต่ก็มั่นใจได้ว่า ไก่ไม่ได้รับสารตกค้างใดๆ จากอาหารเม็ดสำเร็จรูปเลย
  3. การเลี้ยงเป็ด มีทั้งสิ้น 40 ตัว ในทุกวันเก็บไข่เป็ดนำไปจำหน่ายไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งยังสามารถขายเนื้อได้ หากมีลูกค้าต้องการ
  4. ไก่พื้นเมือง มีหลายสายพันธุ์ เลี้ยงอยู่บริเวณเดียวกับเป็ดและปลาดุก การเลี้ยงไก่พื้นเมืองเลี้ยงง่าย โดยให้อาหารจากเศษอาหารที่เหลือทิ้งจากโรงอาหาร ทั้งยังเก็บไข่ขาย รวมถึงขายเนื้อเมื่อมีลูกค้าต้องการ
  5. การเลี้ยงกบในกระชังบก มีจำนวน 300-500 ตัว ต่อครั้ง ใช้เวลาไม่นานก็สามารถจับขายได้
  6. การปลูกผักสวนครัว เลือกผักที่เจริญเติบโตในระยะสั้น เช่น กวางตุ้ง ผักบุ้ง ผักกาดขาว ผักคะน้า เป็นต้น โดยพืชสวนครัวส่วนใหญ่จะปลูกวนไปในแปลงที่มีขนาดประมาณ 1 งาน
  7. ต้นอ่อนงอก โรงเรียนเห็นว่าการเพาะต้นอ่อนงอกสำหรับขาย ใช้เวลาไม่นาน เพียง 7-10 วัน ก็สามารถตัดขายได้ราคา ทั้งยังมีระยะการปลูกสั้น เช่น ต้นอ่อนทานตะวันงอก ต้นอ่อนผักบุ้งงอก เป็นต้น
  8. โรงปุ๋ยหมัก และการทำน้ำหมักชีวภาพ ทั้งสองส่วนอยู่บริเวณเดียวกัน เพื่อนำผลผลิตที่ได้จากการทำปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพไปใช้ไล่แมลงและป้องกันศัตรูพืช
  9. ไม้ผล ปัจจุบันเหลือเพียง กล้วย ชนิดเดียว

ในการเก็บผลผลิต อาจารย์อำไพ บอกว่า สามารถเก็บผลผลิตขายได้เกือบทุกวัน โดยมีผู้ปกครองนักเรียน อาจารย์ เป็นลูกค้า จะมีบ้างก็เป็นแม่ค้าที่สัมปทานการประกอบอาหารของโรงเรียน ซื้อไว้เพื่อประกอบอาหาร เพราะผลผลิตจากโรงเรียนปลอดสาร ทั้งยังราคาถูกกว่าท้องตลาด

รายได้จากการจำหน่ายผลผลิต อาจารย์อำไพ เล่าว่า แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก เก็บเข้ากองกลาง ไว้ใช้ในการบริหารจัดการกิจกรรมทางการเกษตรทั้งหมด อีกส่วนนำไปฝากธนาคารโรงเรียนของแต่ละห้อง เมื่อจบการศึกษาแต่ละปี นักเรียนจะประชุมและสรุปความเห็นว่าจะนำเงินดังกล่าวมาแบ่งให้เท่าๆ กัน หรือจะนำเงินไปใช้จ่ายอย่างใดก็ขึ้นกับความเห็นที่พ้องกันของเด็กนักเรียนห้องนั้นๆ

ด้าน เด็กหญิงวาสนา เจริญนาม หรือ น้องบิ้ง นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อายุ 12 ปี เล่าให้ฟังว่า สนใจและจับงานเกษตรมาตั้งแต่เรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 สิ่งที่ชอบมากคือ การปลูกผัก และการเก็บผลผลิตไปจำหน่าย ซึ่งตนเองเคยซื้อกลับบ้านเพื่อนำไปให้ครอบครัวประกอบอาหารขาย แต่ก็ไม่ได้ผักกลับไปทุกครั้ง เนื่องจากผักของโรงเรียนขายในราคาถูกและได้ปริมาณมาก จึงจำเป็นต้องแบ่งให้ลูกค้าคนอื่นๆ ไปบ้าง

ส่วน เด็กชายสมจิต องอาจ หรือ น้องบอส นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อายุ 12 ปี เล่าว่า ตนเองไม่มีพื้นฐานด้านเกษตรแม้แต่น้อย เพราะครอบครัวประกอบอาชีพค้าขายเครื่องจักสานทางการเกษตร แต่ก็ได้เรียนรู้จากการเรียนการสอนในโรงเรียน จึงอาศัยครูพักลักจำนำไปปลูกเองที่บ้าน ซึ่งผักบุ้งเป็นผักที่ปลูกและดูแลง่ายที่สุดในบรรดาผักทั้งหมดที่เคยทดลองปลูกมา นอกจากนี้ การทำการเกษตรยังช่วยให้เรียนรู้เรื่องการไม่เอาเปรียบเพื่อน ว่าจะมีเพื่อนบางคนที่ไม่ช่วยดูแลแปลงเกษตรบ้าง แต่ก็ทำให้เราได้อดทนและฝึกเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่น

สำหรับ เด็กหญิงกัลยาณี ก่อเกิด หรือ น้องใบหม่อน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อายุ 12 ปี กล่าวว่า ส่วนตัวชอบเกษตรมาก ชอบการปลูกผักและขุดดิน ในขั้นตอนของการเก็บ เมื่อเก็บแล้วก็ต้องนำไปล้างให้สะอาด ก่อนนำไปจำหน่าย

“ขั้นตอนการปลูกผักสวนครัว เราควรเตรียมดินให้เรียบร้อยก่อน โดยนำแกลบและปุ๋ยหมักธรรมชาติมาใส่ที่ดินที่เราใช้ปลูก แต่ถ้าไม่มีแกลบหรือปุ๋ยหมักธรรมชาติ ก็ควรนำน้ำมารดให้ดินมีความร่วนซุย ก่อนจะลงปลูกผัก”

ส่วน เด็กชายบุญส่ง ซุยกระโทก หรือ น้องเท่ง นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อายุ 12 ปี บอกว่า ชอบการปลูกผักมากที่สุด ซึ่งการทำปุ๋ยหมักเพื่อช่วยในการเตรียมดินสำหรับปลูกผักมีความจำเป็น เพราะจะช่วยให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้รวดเร็ว ดินอุดมสมบูรณ์และมีความซุยในดินมาก นอกจากนี้ ยังควรทำน้ำหมักไว้สำหรับฉีดพ่นแมลงไม่ให้มารบกวนผัก โดยทำน้ำหมักชีวภาพจากสะเดา ใบตะไคร้หอม และยาฉุน ปราศจากสารเคมี ความรู้เหล่านี้ได้มาจากการเรียนรู้ภายในโรงเรียน

เด็กชายบุญส่ง บอกด้วยว่า อยากเรียนรู้ให้มากกว่าที่โรงเรียนมีกิจกรรมให้ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ เป็นต้น

เห็นความตั้งใจของเด็กนักเรียนโรงเรียนเทศบาลบ้านกิโลสองแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ทั้งอาจารย์และเด็กนักเรียนมีความพยายามมากเพียงใด กับการจัดการแปลงเกษตรของโรงเรียนที่มีพื้นที่ทั้งหมดรวมกันเพียง 1 ไร่ เท่านั้น หากหน่วยงานใดต้องการสนับสนุนความตั้งใจของเด็กนักเรียนโรงเรียนเทศบาลบ้านกิโลสอง ติดต่อได้ที่ โรงเรียนเทศบาลบ้านกิโลสอง เลขที่ 5 ถนนสุวรรณศร ตำบลอรัญประเทศ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โทรศัพท์ (037) 231-711 ในวัน และเวลาราชการ