เสริมฐานชีวิตด้วยเกษตรกรรม ปิดเทอมนอกเวลา เพิ่มรายได้ ของนักเรียนโรงเรียนบ้านนาหมอม้า อำนาจเจริญ

กว่า 100 ปี ของการก่อตั้งโรงเรียนบ้านนาหมอม้า หมู่ที่ 7 ตำบลนาหมอม้า อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ อาจบอกได้ไม่ละเอียดว่า โรงเรียนผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านประสบการณ์มากมายอะไรมาบ้าง แต่ก็พอจะบอกได้ว่า โรงเรียนนี้มีความสำคัญกับเด็กในพื้นที่มากพอ จึงได้รับการยอมรับจากชุมชน มีเด็กมาเรียนทุกปีอย่างต่อเนื่องจนยาวนานมากว่า 100 ปี ของการก่อตั้ง

โรงเรียนแห่งนี้เปิดรับเด็กในพื้นที่ 8 หมู่บ้าน ของตำบลนาหมอม้า หรือหากจะเดินทางมาจากแหล่งอื่นนอกเหนือจาก 8 หมู่บ้าน ดังกล่าว โรงเรียนก็ยินดีต้อนรับ เพราะถือเป็นสถานศึกษาที่ต้องเปิดกว้างทางการศึกษารับนักเรียนได้โดยไม่ปิดกั้น ซึ่งปัจจุบันเปิดการเรียนการสอนในระดับอนุบาลถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นจำนวนนักเรียนทั้งสิ้น 109 คน บุคลากรผู้สอน 15 คน พื้นที่ทั้งหมดของโรงเรียน 23 ไร่

เรื่องของอาหารกลางวัน โรงเรียนให้ความสำคัญมานาน ก่อนการก่อตั้งโครงการอาหารกลางวันอย่างยั่งยืน เพราะเข้าใจถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของเด็กนักเรียนและชาวบ้านที่อาศัยอยู่โดยรอบโรงเรียน ที่ให้ความสำคัญกับการประกอบอาชีพ เพื่อหารายได้มาใช้ในการดำรงชีวิต มากกว่าการทุ่มเทและตั้งใจให้กับการเรียน

อาจารย์พิทักษ์ ประสงค์ศิลป์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาหมอม้า

อาจารย์พิทักษ์ ประสงค์ศิลป์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาหมอม้า บอกกับเราว่า พื้นฐานโดยทั่วไปของเด็กนักเรียนทำเกษตรกรรม โดยเฉพาะการทำนา เด็กนักเรียนส่วนใหญ่จะมีความเคยชินกับการทำนาอยู่แล้ว แต่อาจไม่ได้ลงมือจริงจัง โรงเรียนจึงมีช่วงปิดภาคเรียนในช่วงระหว่างที่ผู้ปกครองดำนาและช่วงเกี่ยวข้าว เป็นเวลา 9 วัน โดยกำชับให้นักเรียนช่วยเหลือผู้ปกครองในการทำนา ให้ลงมือจริง เพื่อหาประสบการณ์ เป็นการช่วยผ่อนภาระของครอบครัว อีกทั้งยังเป็นการฝึกประสบการณ์การทำนาให้รู้จริง

ทั้งนี้ การปิดภาคเรียนในช่วงดังกล่าว ครู จะเป็นผู้ออกติดตามผล เพราะถือเป็นการฝึกประสบการณ์จริงให้กับเด็ก โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อย่างไรก็ตาม แม้โรงเรียนจะมีการปิดภาคเรียนนอกเหนือจากการปิดภาคเรียนปกติก็ตาม ครูก็ยังคงออกติดตามผล ถือว่าเป็นการฝึกประสบการณ์ของนักเรียน เพื่อนำมาเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินทักษะการดำรงชีวิตของนักเรียนด้วย

“โครงการอาหารกลางวัน มีมานานแล้ว งบประมาณที่ได้จากรัฐไม่เพียงพอ โครงการเกษตรในโรงเรียนจึงเกิดขึ้น เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายลง การปิดภาคเรียนนอกปิดเทอมในช่วงปกตินี้ ก็เป็นเทคนิคให้เด็กได้ลงมือช่วยพ่อแม่จริงจัง ได้ประสบการณ์จริงจากท้องนา ซึ่งเราจะสอบถามไปยังพ่อแม่ และตัวของเด็กเอง ถึงสิ่งที่ได้รับเมื่อโรงเรียนปิดภาคเรียนนอกเหนือจากปิดเทอมโดยปกติ”

อาจารย์พิทักษ์ บอกด้วยว่า นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ยังคงดำเนินตามรูปแบบที่โรงเรียนวางไว้ แต่เด็กนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษา ส่วนใหญ่อาจารย์บังคับไม่ได้ แต่ก็ต้องยอมให้ปิดภาคเรียนไปด้วย เนื่องจากเด็กโตเริ่มมองเห็นการหารายได้มากกว่าการฝึกหรือเก็บเกี่ยวประสบการณ์ รวมถึงปัญหาสังคมและปัญหาครอบครัวเกิดขึ้นในครอบครัวของเด็กนักเรียนในโรงเรียนจำนวนมาก ทำให้เด็กนักเรียนที่เริ่มโตในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ต้องช่วยเหลือตนเองด้วยการออกไปรับจ้างแบกอ้อย เกี่ยวข้าว มีรายได้วันละ 300-400 บาท และเป็นรายได้ที่ช่วยให้นักเรียนสามารถดูแลตนเองได้ โดยไม่ตกเป็นภาระของผู้ปกครอง

“เด็กหลายคน ช่วงปิดเทอมไม่ได้ไปช่วยที่บ้าน แต่กลับไปรับจ้าง ส่วนใหญ่เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เพราะมีพละกำลังมากพอในการรับจ้างแบกขนสินค้าเกษตร รายได้วันละ 300-400 บาท เป็นค่าใช้จ่ายที่ช่วยให้นักเรียนดูแลตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งผู้ปกครอง แต่นักเรียนกลุ่มนี้ก็ไม่ได้ทำเฉพาะปิดภาคเรียนนอกเหนือจากปิดเทอมปกติ เพราะในบางโอกาสถ้าหยุดเรียนได้ก็จะหายไปเพื่อรับจ้าง เพราะต้องการรายได้มาจุนเจือครอบครัวหรือดูแลตัวเอง ซึ่งเป็นปัญหาที่ครูไม่สามารถแก้ไขได้จริงๆ”

หลังจากปิดภาคเรียนในช่วงเปิดโอกาสให้เด็กฝึกประสบการณ์จากการทำนา โรงเรียนจะจัดทำผ้าป่าข้าวเปลือก โดยชุมชนเป็นผู้ทอดผ้าป่าข้าวเปลือกให้กับโรงเรียน โรงเรียนจะจัดเก็บไว้ เพื่อนำออกมาสีและนำมาหุงเป็นข้าวให้กับนักเรียนรับประทาน โดยไม่ต้องเสียเงินซื้อเพิ่ม

อาจารย์ละไม วรุณพงษ์ ครูสอนเกษตร โรงเรียนบ้านนาหมอม้า เล่าว่า แม้ว่านักเรียนส่วนใหญ่จะพอมีพื้นฐานด้านการเกษตรอยู่บ้าง แต่หากไม่ส่งเสริมเลยจะทำให้เด็กหยิบโหย่ง ทำอะไรไม่เป็น ดังนั้น การส่งเสริมให้มีเกษตรกรรมในโรงเรียน และนำผลผลิตที่ได้หมุนเวียนเข้าไปในโครงการอาหารกลางวัน จึงเป็นเรื่องจำเป็น เพราะนอกจากทำให้เด็กได้ฝึกความรับผิดชอบแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซื้อวัตถุดิบมาประกอบอาหารกลางวันอีกด้วย

ทุกสัปดาห์จะมีการเรียนการสอนวิชาการงานพื้นฐานอาชีพในคาบนั้นๆ ครูจะปล่อยให้นักเรียนลงแปลงเกษตร ได้สัมผัสกับการทำการเกษตรด้วยตนเองจริงทุกระดับชั้น แม้กระทั่งระดับชั้นอนุบาล ซึ่งครูจะปล่อยให้เด็กหยิบจับได้ตามสะดวก เพื่อให้เด็กมีความคุ้นชินกับพืช

สำหรับพื้นที่ทำเกษตรกรรมของโรงเรียน มีราว 3 ไร่ จากพื้นที่ของโรงเรียนทั้งหมด 23 ไร่ ประกอบไปด้วยแปลงเกษตรที่ปลูกพืชผักสวนครัว ไม้ผล โรงเรือนไก่ไข่ และการเลี้ยงปลา

การเลี้ยงปลา เป็นการเลี้ยงปลาดุกบ่อดิน ขนาดบ่อ 20×30 เมตร มีบ่อซีเมนต์ 2 บ่อ ขนาดย่อม ไว้สำหรับพักปลาหรืออนุบาลปลา เมื่อปลามีขนาดใหญ่มากพอจึงนำไปปล่อยยังบ่อดิน ซึ่งภายในบ่อมีปลาชนิดอื่นอีก เช่น ปลานิล ปลาตะเพียน ปลาช่อน ปลายี่สก เป็นต้น

ปลาทุกชนิดเมื่อปล่อยลงแหล่งน้ำ การให้อาหารจะมีอาหารเม็ดสำเร็จรูปให้ โดยจะเพิ่มเศษอาหารที่เหลือจากโรงอาหาร เศษผัก เพื่อลดค่าใช้จ่ายเรื่องของอาหารเม็ดสำเร็จรูปลงด้วย
ในการจับปลา จะใช้ยอลาก เมื่อได้ปลาตัวเล็กจะปล่อยลงสู่แหล่งน้ำตามเดิม ส่วนขนาดกินได้ ก็นำขึ้นไปประกอบอาหารกลางวันให้กับเด็กนักเรียน หรือนำไปจำหน่ายให้กับชุมชน

ไก่ไข่ เลี้ยงในโรงเรือน มีจำนวน 70 ตัว จากเดิมมีมากกว่า 100 ตัว ในทุกวันสามารถเก็บไข่ได้ประมาณ 70 ฟอง ต่อวัน โดยไข่ไก่ก็นำไปประกอบอาหารในโครงการอาหารกลางวันเช่นเดียวกัน

ผักสวนครัว เลือกปลูกเฉพาะพืชอายุการเก็บเกี่ยวสั้น และใช้ประจำ เช่น พริก โหระพา ตะไคร้ ข่า ใบกะเพรา เป็นต้น ส่วนไม้ผลก็เน้นที่ปลูกดูแลรักษาง่ายและให้ผลผลิตง่าย เช่น มะละกอ กล้วย มะม่วง เป็นต้น

การแบ่งความรับผิดชอบให้เด็กนักเรียน ครูเกษตรจะแบ่งตามชั้นเรียน และให้ครูประจำชั้นช่วยกำกับดูแลการลงแปลงของนักเรียน โดยไก่ไข่และปลา มอบหน้าที่นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น เพราะถือเป็นวัยที่มีความรับผิดชอบสูง ส่วนนักเรียนในระดับชั้นอื่นให้สลับสับเปลี่ยนกันดูแลแปลงพืชผักสวนครัวและไม้ผล

ผลผลิตที่ได้ส่วนใหญ่นำเข้าโครงการอาหารกลางวัน เพื่อให้นักเรียนทุกระดับชั้นมีอาหารกลางวันกิน ไม่เฉพาะนักเรียนระดับชั้นประถมที่ภาครัฐให้งบประมาณมาเท่านั้น

เด็กชายรัฐสยาม ขุมคำ หรือ น้องต้อม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 อายุ 14 ปี เล่าว่า ดูแลแปลงผักมาตลอดชั้นประถมศึกษา เมื่อขึ้นชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ก็ดูแลการเลี้ยงปลามาโดยตลอด ซึ่งในทุกครั้งการให้อาหารปลาสำคัญ เนื่องจากอาหารเม็ดสำเร็จรูปมีราคาแพง ให้มากจะเกิดต้นทุน จึงควรนำเศษอาหารที่เหลือทิ้งจากโรงอาหารมาให้ปลากินมากกว่า

ด้าน เด็กชายพงษ์ธร พันธุระ หรือ น้องคิว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 อายุ 13 ปี บอกว่า หน้าที่รับผิดชอบคือ โรงเรือนไก่ไข่ ดูแลไก่ไข่ทุกวัน เน้นที่การให้อาหาร เพราะน้ำมีรางน้ำที่เปิดปล่อยเองอยู่แล้ว ส่วนอาหารต้องให้วันละครั้ง เช้าหรือเย็น ขึ้นกับความสะดวกของเราเอง การเก็บไข่ก็เช่นกัน ให้เก็บในเวลาเดียวกับที่ให้อาหาร ในแต่ละวันสามารถเก็บไข่ได้มาก 80-90 ฟอง ทีเดียว และไข่ไก่เมื่อนำไปประกอบอาหารแล้ว ส่วนใหญ่เหลือ ก็จะนำไปขายในชุมชน สร้างรายได้กลับเข้าโรงเรียนในโครงการอาหารกลางวันด้วย

ส่วน เด็กหญิงจิราพร สาเลิศ หรือ น้องหมุ้น นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อธิบายว่า การดูแลไก่ไข่ไม่ถือเป็นเรื่องยาก แม้จะมีขี้ไก่และอื่นๆ ให้ดูแลหลายขั้นตอน เพราะทุกวันจะต้องให้น้ำและเก็บไข่ หากไม่ได้ทำ ภาระส่วนนี้จะตกไปที่เพื่อนและเกิดปัญหาความไม่สามัคคีเกิดขึ้นภายในกลุ่ม โดยไข่ไก่ที่เก็บได้ในแต่ละวัน หลังเหลือจากการนำไปประกอบอาหาร ก็สามารถนำไปขายให้กับชุมชนสร้างรายได้คืนให้กับโรงเรียนได้เช่นกัน

สำหรับ เด็กหญิงชีวานันท์ พันธ์เพ็ชร หรือ น้องอะตอม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อายุ 15 ปี บอกว่า การดูแลแปลงเกษตรในโรงเรียน เป็นหน้าที่ของน้องอะตอมเอง แม้ว่าจะขึ้นชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นแล้ว แต่ยังคงช่วยน้องๆ ดูแลแปลงผักและผลไม้ที่ปลูกในโรงเรียนซึ่งความรู้ทั้งหมดที่ได้รับจากโรงเรียน นำไปประยุกต์ใช้ที่บ้านและได้ผลด้วยเช่นกัน

ทั้งหมดนี้ เป็นข้อคิดเห็นและการเรียนการสอนในมุมเกษตรที่อาจไม่เหมือนกับโรงเรียนแห่งอื่น โดยเฉพาะการปิดเทอมนอกเหนือจากการปิดภาคเรียนปกติ เป็นเวลา 9 วัน เพื่อให้นักเรียนได้ประสบการณ์จริงจากการทำนา ทั้งยังมีนักเรียนส่วนหนึ่งรับจ้าง เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว ทำให้เห็นได้ว่า เด็กนักเรียนของโรงเรียนโดยพื้นฐานขาดปัจจัยสนับสนุนในเรื่องเรียน

ดังนั้น หากหน่วยงานใดเห็นความสำคัญของเยาวชนของชาติ ก็สามารถให้การสนับสนุนหรืออุปถัมภ์ได้ โดยติดต่อผ่านไปยังโรงเรียนบ้านนาหมอม้า หมู่ที่ 7 ตำบลนาหมอม้า อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ