อุปกรณ์วัดความสุกของทุเรียน รางวัลนวัตกรรมระดับประเทศ ฝีมือนักศึกษาวิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน

ช่วงนี้ เริ่มเข้าสู่ฤดูของ “ทุเรียน” ผลไม้ประจำชาติ เกินกว่าค่อนประเทศมั่นใจได้เลยว่า ชอบกินทุเรียนอย่างแน่นอน แต่ปัญหาเมื่อซื้อทุเรียนมาบริโภคและพบได้บ่อย หากซื้อมาเป็นผลแกะกินเอง ก็น่าจะเป็นเรื่องของความสุกของเนื้อทุเรียนที่นอกจากแต่ละพูอ่อนแก่ไม่เท่ากันแล้ว ยังประเมินไม่ได้ว่า ทุเรียนผลนั้นเนื้อจะมีความสุกในระดับที่ผู้บริโภคชอบหรือไม่

นายพันทิวา คำแก้ว อาจารย์จิตวัฒนา บุญเลิศ อาจารย์บรรยง วงศ์สกุล ผู้อำนวยการฯ และ นายเมธี ขำพวง (จากซ้ายไปขวา)

เหตุผลนี้ เป็นเหตุผลหลักที่ อาจารย์จิตวัฒนา บุญเลิศ หัวหน้าแผนกวิชาช่างกลโรงงาน วิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และครูที่ปรึกษาโครงงานอุปกรณ์วัดความสุกของทุเรียน นำมาเป็นตัวตั้งต้นของแนวคิด ในการประดิษฐ์ “อุปกรณ์วัดความสุกของทุเรียน” โดยให้แนวคิดกับนักศึกษาที่ต้องทำโครงงานนวัตกรรมและงานวิจัยก่อนจบระดับการศึกษา

“ที่วิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน ก่อนจบของนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จะต้องทำโครงงานนวัตกรรมหรืองานวิจัย กลุ่มละ 1 ชิ้น แต่ละกลุ่มมีสมาชิกได้ 2-3 คน ขึ้นกับนักศึกษาเลือก ซึ่งโครงงานนั้นจะเป็นงานชิ้นสำคัญก่อนจบการศึกษา และหากนำไปต่อยอดได้ จะเป็นงานนวัตกรรมที่มีคุณภาพมาก”

นายเมธี ขำพวง และ นายพันทิวา คำแก้ว

อาจารย์จิตวัฒนา เล่าให้ฟังว่า ในพื้นที่อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีทุเรียนขึ้นชื่อของพื้นที่ คือ ทุเรียนคลองลอย ซึ่งปัญหาของผู้บริโภคที่ชอบบริโภคทุเรียน คือ ไม่ทราบว่าทุเรียนสุกหรือดิบ หากสุก สุกระดับไหน เพราะความชอบในการบริโภคของแต่ละบุคคลก็แตกต่างกัน อาจจะชอบเนื้อทุเรียนแบบห่าม สุก หรือ สุกมาก และวิธีการพิสูจน์ว่าทุเรียนมีความสุกระดับไหน ก็ใช้วิธีบ้านๆ เช่น การเจาะเปลือกทุเรียนให้ถึงเนื้อเป็นรูปสามเหลี่ยม ใช้มือกดเนื้อทุเรียน ซึ่งการทำเช่นนี้ เมื่อเนื้อทุเรียนสัมผัสกับมือ ประกอบกับเปิดผิวทุเรียนออกให้เจอออกซิเจน มีโอกาสทำให้เนื้อทุเรียนบริเวณนั้นเสียหาย รสชาติเปลี่ยน หรือเน่าได้ แม้ว่าในบางรายจะใช้วิธีผ่าทั้งผลออกจากกัน หากทุเรียนไม่ได้ระดับความสุกที่ต้องการ ก็เกิดความเสียหายตามมาอย่างแน่นอน

อุปกรณ์วัดความสุกของทุเรียน

“ปัญหาอีกประการของทุเรียน คือ การสุกไม่พร้อมกันทุกพู ทำให้ผู้ค้าหรือชาวสวนบางรายใช้สารเคมีเร่งสุก แม้ว่าผลที่ได้ทุเรียนจะมีความสุกในระดับเดียวกัน แต่ก็เป็นการใช้สารเคมี ซึ่งไม่เป็นการดีแน่นอน”

อุปกรณ์วัดความสุกของทุเรียน เป็นโครงงานของนักศึกษาระดับชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ปีที่ 1 คือ นายเมธี ขำพวง นายพันทิวา คำแก้ว และ นายสมทรง แจ้งอักษร ทั้งหมดเป็นนักศึกษาแผนกวิชาเทคนิคการผลิต มี อาจารย์ธีรฉัตร วงค์แหวน อาจารย์องอาจ รุ่งเรือ อาจารย์พิเชษฐ์ อั้นคา และ อาจารย์วัลลภ กวีไกรนุช เป็นคณะครูที่ปรึกษาโครงงาน

นายเมธี ขำพวง อธิบายการทำโครงงานอุปกรณ์วัดความสุกของทุเรียนให้ฟังว่า กลุ่มเราคิดโครงงานนี้ขึ้นมา เพราะเชื่อว่าจะสามารถนำไปต่อยอดใช้ในปีการศึกษาสุดท้ายของระดับปวส. เมื่อได้แนวคิดจากอาจารย์ จึงนำมาหาวิธีพิสูจน์ความสุกดิบของทุเรียน โดยตั้งโจทย์ไว้ว่าต้องมีเครื่องมือที่วัดค่าได้แม่นยำที่สุด ทั้งยังต้องเป็นอุปกรณ์ที่พกพาสะดวก มีขนาดเล็ก ใช้งานง่าย

การขึ้นรูปวัสดุอุปกรณ์

“วัสดุทุกชิ้น ต้องขึ้นรูปใหม่เองทั้งหมด เพราะออกแบบใหม่ทุกชิ้น หากคิดมูลค่าเฉพาะอุปกรณ์ ต้นทุนเพียง 200 บาทเท่านั้น ผลการทดลองใช้อุปกรณ์วัดความสุกของทุเรียนที่ผ่านมา ความถูกต้องอยู่ที่ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น เมื่อเราผลิตอุปกรณ์นี้ออกจำหน่ายเราจึงตั้งราคาไว้ที่ 1,000 บาท”

ส่วน นายพันทิวา คำแก้ว ช่วยเสริมด้วยว่า รูปแบบของอุปกรณ์วัดวามสุกของทุเรียน ได้รับการปรับรูปแบบถึง 3 ครั้ง จนได้รูปร่างที่ถนัดมือ ใช้อะลูมิเนียมเป็นวัสดุหลัก ปลายใช้เข็มฉีดยา

วิธีการใช้ นำอุปกรณ์วัดความสุกของทุเรียนมาทิ่มลงไปในผิวทุเรียน ให้ตรงกับบริเวณที่มีเนื้อทุเรียน แล้วทิ่มส่วนปลายเข็มลงไปให้สุด แล้วกดตัววัดที่ติดไว้ด้านบนของอุปกรณ์ สเกลจะหยุดตรงค่าของเนื้อทุเรียนที่ได้ โดยมีสเกล 3 สี เขียว เหลือง และแดง

สีเขียว หมายถึง ทุเรียนสุก เนื้อนิ่ม

สีเหลือง หมายถึง ทุเรียนห่าม

สีแดง หมายถึง ทุเรียนดิบ

เปอร์เซ็นต์ความถูกต้องอยู่ที่ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่หากเกิดความคลาดเคลื่อน จะเกิดจากผลทุเรียนเอง ไม่ใช่เพราะอุปกรณ์ หรือการเจาะเข็มลงไปไม่ถูกเนื้อทุเรียน และถูกเปลือกทุเรียน หรือเม็ดทุเรียน ก็จะได้ค่าที่ไม่ถูกต้อง

แกนหลักที่ขึ้นรูปด้วยอะลูมิเนียมเสร็จแล้ว

ระยะเวลาตั้งแต่มีแนวคิด เริ่มเขียนโครงการ หาวัสดุอุปกรณ์ กระทั่งผลิตชิ้นงานออกมาได้ เป็นระยะเวลาประมาณ 3 เดือน

อุปกรณ์วัดความสุกของทุเรียนชิ้นนี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จากนั้น ได้รับรางวัลชนะเลิศระดับตัวแทนภาคกลาง และได้รับรางวัลด้านนวัตกรรมโดดเด่นระดับชาติ ในการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ และการแข่งขันหุ่นยนต์อาชีวศึกษาระดับชาติ ประจำปีการศึกษา 2560 ประเภทที่ 2 สิ่งประดิษฐ์ด้านการประกอบอาชีพ

การทดสอบค่าการวัด
รางวัลที่น่าภาคภูมิใจ

ผู้สนใจ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์จิตวัฒนา บุญเลิศ โทรศัพท์ (081) 195-0793 หรือประสานไปยังวิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน ตำบลทองมงคล อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในวัน และเวลาราชการ