วิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน ประจวบคีรีขันธ์ สร้างเครื่องตอนจุกสับปะรด ลดแรงงาน ประหยัดเวลา

เป็นเรื่องน่ายินดีที่เยาวชนไทย สามารถประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร ช่วยพัฒนาและต่อยอดให้การทำการเกษตรราบรื่น รวดเร็ว และประหยัดเวลารวมถึงแรงงาน ที่ปัจจุบันแรงงานในภาคเกษตรเหลือน้อย จนเรียกได้ว่า หายาก และเข้าขั้นวิกฤต

ในงานประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่ ที่จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ประจำปีการศึกษา 2559 ที่ผ่านมา มีรางวัลหนึ่งที่เป็นสิ่งประดิษฐ์ด้านการประกอบอาชีพ ซึ่งตรงกับกระดูกสันหลังของชาติมากที่สุด

เครื่องมือตอนจุกสับปะรด เป็นสิ่งประดิษฐ์โดยเยาวชนของชาติ จากนักศึกษาของวิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับรางวัลแบบคุณลักษณะ “สุดยอดนวัตกรรมอาชีวศึกษา” ระดับภาคกลาง ประเภทที่ 2 คือ สิ่งประดิษฐ์ด้านการประกอบอาชีพ

อันที่จริง การคิดค้นสิ่งประดิษฐ์โดยนักศึกษาของวิทยาลัยการอาชีพแต่ละแห่งทั่วประเทศ มีขึ้นเป็นประจำอยู่แล้ว การจัดการประกวดก็เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนแนวคิดของนักศึกษาหรือเยาวชน ให้ชัดเจนและเป็นไปไม่ได้ ไม่ได้เป็นเพียงกระดาษหรือโครงงานที่เก็บไว้ในตู้หนังสือ

สิ่งประดิษฐ์ ชื่อ เครื่องมือตอนจุกสับปะรด เป็นฝีมือและแนวคิดของนักศึกษา 6 คน ประกอบด้วย นายบัญชา เชิดชม นายชาญวิทย์ โพธิ์ทอง นายวศิน ถิ่นหนองจิก นายคมชาญ อำนวยพร นายกฤษดา ทองศิริ และนายนนทชัย เชิดชูโดยมีอาจารย์ที่ปรึกษา นำโดยหัวหน้าทีมอาจารย์ที่ปรึกษา คือ นายเทอดศักดิ์ ชมเชย หัวหน้าแผนกช่างเชื่อม และอาจารย์อีก 4 ท่าน ได้แก่ นายนิวัฒ์ วิฑูรย์พันธุ์ นายธีรฉัตร วงศ์แหวน นายพสุรัตน์ พงสา และ นายองอาจ รุ่งเรือง

นายเทอดศักดิ์ หัวหน้าทีม อธิบายที่มาว่า การคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ของนักศึกษา อยู่ในส่วนของการทำโครงงานเพื่อการศึกษาในวิชาก่อนเปลี่ยนชั้นเรียนหรือจบการศึกษา และเปิดโอกาสให้นักศึกษาต่างระดับชั้น รวมกลุ่มเพื่อคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ขึ้นมาได้ เพราะผลงานการประดิษฐ์หรือชิ้นงาน จะได้รับการส่งเข้าประกวดในระดับภาคและระดับชาติ

แนวคิดทั้งหมด ต่อยอดมาจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ มีพื้นที่ปลูกสับปะรดไม่น้อย เกษตรกรทำไร่สับปะรดจำเป็นต้องตอนจุกสับปะรด เพื่อให้ผลสับปะรดมีขนาดใหญ่ ได้น้ำหนักตามต้องการ โดยการใช้ด้านหนึ่งของช้อนสแตนเลสแคะจุกสับปะรด อายุ 2-3 เดือน ออกทิ้ง การแคะจุกสับปะรดต้องเดินตามร่องหรือแถวปลูกสับปะรดเรียงลำดับไป และต้องใช้แรงงานคนในการตอนจุก

นักศึกษาทั้งหมดนำเสนอแนวคิด สร้างอุปกรณ์การตอนจุกสับปะรดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครื่องมือตอนจุกสับปะรดที่มีประสิทธิภาพสูง เพื่อหาประสิทธิภาพของเครื่องมือตอนจุกสับปะรด และเพื่อศึกษาความพึงพอใจของผู้ใช้เครื่องมือตอนจุกสับปะรด เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพของเกษตรกรชาวไร่สับปะรด

โดยมีคิดค้นและทดลองมาประมาณ 1 เดือน ได้อุปกรณ์การตอนจุกสับปะรด แบบแมนนวล คือ ใช้มือหมุนเพื่อควบคุมการตอนจุกสับปะรดเอง จากนั้นพัฒนาและต่อยอดอุปกรณ์ชิ้นเดิมให้มีการทำงานที่สะดวกรวดเร็วขึ้น โดยเพิ่มสว่านแบตเตอรี่ ซึ่งสว่านแบตเตอรี่จะทำหน้าที่หมุนเอง เพื่อตอนจุกสับปะรดทิ้ง ไม่ต้องใช้แรงงานในการหมุน

ผลจากการสร้างเครื่องมือตอนจุกสับปะรดครั้งนี้ พบว่า ผลการทดลองเปรียบเทียบการตอนจุกสับปะรด โดยใช้มือกับใช้เครื่องมือตอนจุกสับปะรด เมื่อนำเครื่องมือไปให้เกษตรกรทดลองตอนจุกสับปะรด เปรียบเทียบ กับ เกษตรกรที่ใช้มือตอนจุกแบบเดิม โดยใช้ช้อนสแตนเลส จำนวน 100 ต้น เก็บรวบรวมข้อมูลจำนวนเวลาจากการทดลอง 5 ครั้ง พบว่า การใช้มือตอนจุกแบบเดิมโดยใช้ช้อนสแตนเลส ใช้เวลาเฉลี่ย 20 นาที ต่อจำนวนสับปะรด 100 ต้น ในขณะที่ใช้เครื่องมือตอนจุกสับปะรดใช้เวลาเฉลี่ย 15 นาที ต่อ 100 ต้น

“จริงๆ เรามี 2 แบบ แบบแรกเราพัฒนาให้เกษตรกรใช้มือหมุน เพื่อบิดเอาจุกสับปะรดทิ้ง ต่อมาเรานำสว่านแบตเตอรี่เข้ามาต่อกับแกนหมุน ทำให้สว่านทำหน้าที่หมุนแทนมือคน ประหยัดแรงงานไปได้มาก”

วัสดุที่ใช้ ทำจากสแตนเลสทั้งหมด คือ เพลา ท่อ สปริง และต้องขึ้นรูปใบตัดขึ้นใหม่ 1 ชิ้น นำมาเชื่อมประกอบกัน เป็นชิ้นงาน

คุณภาพของเครื่องมือ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อำนวยความสะดวกในการทำงานให้แก่เกษตรกร ลดแรงงาน ประหยัดเวลา และมีผลต่อการตอนจุกที่มีคุณภาพ

เครื่องมือตอนจุกสับปะรด โครงสร้างมีความเหมาะสม น้ำหนักพอดี รูปแบบกะทัดรัด ง่ายต่อการถอดประกอบ มีความปลอดภัยต่อการใช้งาน เครื่องมือตอนจุกสามารถทำงานได้เร็วกว่าการตอนจุกสับปะรดแบบเดิมที่ใช้ช้อนสแตนเลสเป็นตัวแคะ หรือตอนจุก จุดเด่นของเครื่องมือตอนจุกสับปะรด คือ ลดการบาดเจ็บที่มือของเกษตรกรและใช้แรงในการทำงานที่น้อยกว่า

การเลือกใช้ขึ้นอยู่กับเกษตรกรผู้ทำไร่สับปะรด เลือกใช้ได้ทั้งแบบใช้มือบิดเอง และต่อด้วยสว่านแบตเตอรี่ ไม่ต้องใช้แรงในการบิด

ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ราคาเครื่องละ 390 บาท ไม่รวมสว่านแบตเตอรี่ ขึ้นกับเกษตรกรผู้ใช้สะดวกเลือกใช้แบบใด
ปัจจุบัน มีผู้สนใจสั่งจองเข้ามาจำนวนมาก แต่ด้วยวิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน มีบุคลากรในการผลิตไม่เพียงพอ ทำให้การผลิตล่าช้าออกไป

อย่างไรก็ตาม ผู้สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ นายเทอดศักดิ์ ชมเชย หัวหน้าทีมอาจารย์ที่ปรึกษา โครงงาน เครื่องมือตอนจุกสับปะรด โทรศัพท์ (081) 901-6494 หรือ ติดต่อไปที่ วิทยาลัยการอาชีพบางสะพาน เลขที่ 101 หมู่ที่ 1 ตำบลทองมงคล อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โทรศัพท์ (032) 697-061 ในวัน และเวลาราชการ