อุปกรณ์ตัดสับปะรดในไร่ ของ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ลดต้นทุน แก้ปัญหาแรงงาน

เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี กระบี่ และจังหวัดใกล้เคียง ส่วนใหญ่ทำไร่สับปะรด เมื่อได้เวลานำผลผลิตออกจำหน่ายต้องใช้มีด หรือตะขอพร้า ตัดก้านของผลสับปะรด แล้วใช้แรงงานคนนำตะกร้อมาเดินเก็บใส่เข่งยกขึ้นรถอีกทอด

ขั้นตอนการเก็บสับปะรดที่เป็นอยู่เรียกได้ว่า เป็นการทำงานที่ทำซ้ำ 2 ขั้นตอน นอกจากเสียเวลาแล้ว ยังมีต้นทุนเรื่องของการจ้างแรงงานสำหรับเก็บผลสับปะรดที่ตัดแล้วจากไร่อีก

วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ถนนดอนนก ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เล็งเห็นถึงปัญหานี้ ทั้งยังมี รายวิชาสำหรับนักศึกษาที่กำลังจะจบการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และ ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ที่นักศึกษาต้องทำผลงานวิจัยกลุ่มละ 1 ชิ้น โดยให้มองจากปัญหาภายในท้องถิ่นหรือชุมชน ในการวิจัยเพื่อคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมาตอบโจทย์หรือแก้ปัญหานั้นๆ ทำให้นักศึกษากลุ่มหนึ่งได้คิดประดิษฐ์ “อุปกรณ์ตัดสับปะรดในไร่” ขึ้นมา

การเก็บสับปะรดในไร่ของเกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียง ใช้มีด หรือตะขอพร้าตัดก้านของผลสับปะรด แล้วมีแรงงานคนนำตะกร้อมาเดินเก็บใส่เข่งยกขึ้นรถอีกทอด ตามที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งการตัดสับปะรดดังกล่าว นอกจากจะทำให้ล่าช้าแล้ว เกษตรกรอาจได้รับอันตรายจากใบสับปะรดที่มีหนามแหลมคม ทั้งยังหาแรงงานภาคเกษตรในการเก็บสับปะรดได้ค่อนข้างยาก

นอกจากนี้ ปัญหาคือการเก็บผลผลิตคือผลของสัปปะรด เมื่อชาวไร่เก็บผลของสับปะรดทำให้ใบของสับปะรดตำ หรือบาดมือของชาวไร่ทำให้เจ็บหรือเป็นแผล การป้องกันของชาวไร่สับปะรดคือต้องใส่เสื้อแขนยาว หรือไม่สะดวกในการเก็บเกี่ยว และอีกปัญหาคือการเก็บเกี่ยว ชาวไร่ต้องก้มเก็บซึ่งทำให้ปวดหลังเพราะต้องก้มลงเก็บผลสับปะรด ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้ผู้คิดค้นจึงมีแนวคิดที่จะช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกชาวไร่สับปะรดที่สะดวก ปลอดภัย ในการเก็บเกี่ยวของผลสับปะรด

จากปัญหาดังกล่าว นักศึกษากลุ่มหนึ่ง ประกอบด้วย นายณรงค์ศักดิ์ ทิพย์มาก นายธรรมนูญ รุจิญาติ และ นายรัตนพงค์ แก้วนรา มีความคิดริเริ่มในการสร้างอุปกรณ์ตัดสับปะรดในไร่ โดยเน้นเครื่องที่สร้างขึ้นให้มีขนาดกะทัดรัด เล็ก สะดวก และเน้นความปลอดภัยเป็นสำคัญ

ในการดำเนินการวิจัย นักศึกษาทั้ง 3 คน ได้ทดลองสร้างนวัตกรรมอุปกรณ์ตัดสับปะรดในไร่ โดยศึกษาตามรายละเอียดทีละจุด 6 ตำแหน่ง ได้แก่ ตำแหน่งล็อกลูกสับปะรด ตำแหน่งด้ามจับในการตัดเก็บ ตำแหน่งบังคับใบมีด ตำแหน่งมีดตัดก้านสับปะรด ตำแหน่งบังคับการหนีบลูกสับปะรด และตำแหน่งด้ามจับที่สามารถล็อกใบมีดได้

หลักการ วิธีการ และขั้นตอนการทดลองของนวัตกรรม

  1. ศึกษาปัญหาของกลุ่มเกษตรกรปลูกสับปะรด มีปัญหาอะไรบ้างที่ส่งผลต่อการทำอาชีพปลูกสับปะรด
  2. ปัญหาที่พบสำหรับเกษตรกรปลูกสับปะรด การเก็บผลผลิตเป็นอันดับต้นๆ คือการเกิดอันตรายและล่าช้า
  3. สร้างนวัตกรรม อุปกรณ์ตัดสับปะรดในไร่ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรปลูกสับปะรด เพื่อช่วยในการเก็บมีความปลอดภัยมากขึ้นและรวดเร็วในการเก็บผลผลิต
  4. นำนวัตกรรมอุปกรณ์ตัดสับปะรดในไร่ที่สร้างขึ้นไปทดลองกับเกษตรกรปลูกสับปะรด ณ ไร่ปลูกสับปะรดเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานี และกลุ่มเกษตรกรบ้านปากน้ำ อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ จำนวน 30 คน
  5. หาประสิทธิภาพของนวัตกรรมที่สร้างขึ้นอุปกรณ์ตัดสับปะรดในไร่
  6. หาความพึงพอใจของนวัตกรรมที่สร้างขึ้นอุปกรณ์ตัดสับปะรดในไร่ กับกลุ่มตัวอย่าง มีความพึงพอใจระดับใด
  7. สรุปผลการทดลอง แล้วนำไปทำวิจัยขั้นตอนต่อไป

และ 8. สามารถพัฒนาต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงชุมชน/กลุ่มเกษตรกรและเชิงพาณิชย์ต่อไป

อุปกรณ์ตัดสับปะรดในไร่ ทำจากเหล็กสแตนเลสเหนียว ไม่เป็นสนิม ประกอบด้วย ท่อนเหล็กกลวง ยาว 1 เมตร ด้านปลายมีกรรไกรหนีบ ทำหน้าที่ตัดผลสับปะรด และมีสายบังคับเป็นสายสลิงทำมาจากสายเบรกรถจักรยาน โยงมาถึงด้ามมือจับที่ก้านบังคับให้ตัดผลสับปะรด

ด้านบนของปลายตัวตัดมีฐานวางรองรับตะกร้อ ทำมาจากเหล็กเส้น ขนาด 2 มิลลิมเตร ทำหน้าที่เป็นคีมคอยประคองเก็บผลสับปะรดที่ถูกตัดแล้ว โดยมีสายสลิงโยงมาที่แกนบังคับ ซึ่งอยู่บริเวณส่วนกลางของแกนท่อนเหล็ก ให้ตะกร้อเหล็กประคองผลสับปะรดออกจากต้นและหย่อนลงเข่ง

ก่อนหน้านี้ งานวิจัยได้ออกแบบอุปกรณ์มาทดลองใช้แล้วในระยะแรก เป็นการตัดผลสับปะรด แต่ไม่ได้เก็บผลสับปะรดใส่เข่ง ยังต้องใช้แรงงานคนในการเดินเก็บ จึงมีการพัฒนาต่อมาอีกขั้นเป็นการล็อกผลสับปะรดก่อน จากนั้นตัด แล้วนำไปใส่เข่ง ต่อมามีการพัฒนาอีก โดยเครื่องล็อกไปที่ผลสับปะรดแล้วตัดก่อนนำไปใส่เข่ง ซึ่งเป็นการพัฒนาในขั้นตอนสุดท้าย

ในงานวิจัยครั้งนี้ มี อาจารย์ชาญชัย แฮวอู เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา โดยอาจารย์ชาญชัย อธิบายขั้นตอนการทำงานว่า ใช้มือซ้ายจับส่วนกลางของท่อนเหล็ก ดันคันบังคับปากตะกร้อเหล็กให้เปิดออก เพื่อเข้าไปตัดผลสับปะรด แล้วปล่อยคันบังคับให้ปากตะกร้อเหล็กปิดหนีบผลสับปะรด จากนั้นใช้มือขวาจับด้ามบังคับตัดก้านผล ยกขึ้นมาวางใส่เข่ง แล้วใช้มือซ้ายปล่อยคันบังคับให้ปากตะกร้อเหล็กเปิดออก เพื่อปล่อยผลสับปะรดลงใส่ในตะกร้า

อาจารย์ชาญชัย กล่าวถึงคุณลักษณะเฉพาะและขอบเขตการใช้งานของอุปกรณ์ตัดสับปะรดในไร่ ว่า เป็นนวัตกรรมใช้ตัดและเก็บลูกด้วยใช้การทำงาน 2 จังหวะสามารถตัดแต่งใบได้ด้วย ไม่มีอันตรายต่อผู้ใช้ ไม่ทำให้ผู้ใช้สะดวกใช้ได้ทุกในการตัดและเก็บสับปะรดทุกสายพันธุ์ ทำกับเหล็กไร้สนิม มีความปลอดภัยสูงมาก เหมาะสมใช้ได้ทุกเพศ ทุกวัย สามารถเก็บได้ 30-35 ไร่/คน/วัน

ทั้งนี้ ประโยชน์ของอุปกรณ์ตัดสับปะรดในไร่ ได้ถูกไปทดลองใช้กับเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรด บ้านปากน้ำ อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ และเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดในจังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมทั้งสิ้น 30 ราย

ประโยชน์ที่เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดได้รับ

  1. 1. ทำให้ชาวไร่สับปะรดได้มีอุปกรณ์ที่ใช้ตัดสับปะรดในไร่ได้เร็วมากขึ้น
  2. 2. ทำให้ชาวไร่สับปะรดได้มีอุปกรณ์ที่ใช้ตัดสับปะรดในไร่ได้อย่างปลอดภัย
  3. 3. ทำให้ชาวไร่สับปะรดได้มีอุปกรณ์ที่ใช้ตัดสับปะรดในไร่สะดวกมากยิ่งขึ้น

อุปกรณ์ตัดสับปะรดในไร่ ได้รับรางวัลระดับชนะเลิศระดับภาค ประเภทพัฒนาคุณภาพชีวิต ในปี 2559 และยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในงานประกวดสิ่งประดิษฐ์คนรุ่นใหม่ระดับชาติ เป็นผลงานสุดยอดนวัตกรรมอาชีพด้านพัฒนาคุณภาพชีวิต และได้รับรางวัลเหรียญทอง ในงานวันนักประดิษฐ์ ของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในปี 2561 อีกด้วย

ปัจจุบัน อุปกรณ์ตัดสับปะรดในไร่ ได้รับการตอบรับอย่างดี มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ราคาชิ้นละ 3,900 บาท ซึ่งนักศึกษาของวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ใช้เวลาหลังเลิกเรียนผลิตส่งจำหน่ายตามออเดอร์ไปแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร อย่างไรก็ตาม เกษตรกรที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี เลขที่ 143 ถนนดอนนก ตำบลตลาด อำเภอเมือง จังหวัดสุราษฎร์ธานี หรือติดต่อที่ นายรัตนพงค์ แก้วนรา โทรศัพท์ (093) 779-8711