วิทยาลัยสารพัดช่างตราด ถอดบทเรียน : การจัดการศึกษา “ทวิศึกษา” จบสายอาชีพแล้วมีงานทำ

คณะผู้จัดงาน-ร่วมงานถอดบทเรียนทวิศึกษา

การจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วม ”แบบคู่ขนาน-ทวิศึกษา” ระหว่างโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย กับวิทยาลัยสารพัดช่างตราด ร่วมกับภาคเอกชนผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรม เพื่อสร้างการรับรู้ว่าเมื่อเรียนจบแล้วสามารถเลือกเรียนต่อสายสามัญ สายอาชีพ หรือทำงานในสถานประกอบการได้ ซึ่งวิทยาลัยสารพัดช่างตราด ได้ดำเนินการมาแล้วตั้งแต่ปีการศึกษา 2559 และปี 2561 จะมีนักศึกษาที่จบมาเป็นรุ่นแรก ได้รับวุฒิการศึกษา 2 ใบ คือ มัธยมศึกษาตอนปลายและหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)

เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา วิทยาลัยสารพัดช่างตราดได้จัดกิจกรรม “การถอดบทเรียนจากแนวคิดสู่การปฏิบัติ พัฒนาการจัดการเรียนการสอนคู่ขนาน-ทวิศึกษา” ณ ห้องประชุม วิทยาลัยสารพัดช่างตราด โดยผู้มีส่วนร่วมการจัดการศึกษาแบบทวิศึกษาร่วมงาน 3 ภาคส่วน คือ หน่วยงานภาคการศึกษาที่เกี่ยวข้อง อาทิ ศึกษาธิการจังหวัดตราด โรงเรียนมัธยมศึกษา วิทยาลัยอาชีวศึกษา ผู้ประกอบการภาคเอกชน สมาคมพ่อครัวไทยเกาะช้าง บริษัท ร้านค้า และองค์กรชุมชนต่างๆ ของจังหวัดตราด เพื่อเป็นการถอดบทเรียน

การมีส่วนร่วม

 ทวิศึกษา เพิ่มทางเลือกให้นักเรียน

อาจารย์จิรพงษ์ ร่มเงิน รองผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างตราด กล่าวถึงโครงการจัดการเรียนการสอนแบบคู่ขนานมัธยมศึกษาตอนปลาย-ปวช. (ทวิศึกษา) ว่าดำเนินการมาเมื่อปีการศึกษา 2559 เป็นปีแรก มีโรงเรียนมัธยมศึกษาที่เข้าร่วม 3 แห่ง จำนวน 11 คน คือ โรงเรียนสตรีประเสริฐศิลป์ 7 คน ตราดสรรเสริญวิทยาคม 3 คน และเกาะช้างวิทยาคม 1 คน ซึ่งรุ่นแรกจะจบการศึกษาในปีการศึกษา 2561 และมีสถานประกอบการร่วมทำข้อตกลง สาขาโรงแรม 11 แห่ง

รูปแบบของการบริหารจัดการเรียนการสอน “แบบคู่ขนาน-ทวิศึกษา” เป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายกับวิทยาลัยสารพัดช่างตราด ที่ทำไว้เมื่อปี 2558 นักเรียนที่เรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายจะต้องลงทะเบียนเรียน 2 แห่ง คือ หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนปลายและหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) โดย 2 สถาบันได้ตกลงร่วมกันให้นักเรียนเรียนที่โรงเรียนมัธยมศึกษา วันจันทร์-พุธ และเรียนที่วิทยาลัยสารพัดช่างตราด วันพฤหัสบดี-ศุกร์ เมื่ออยู่ ปวช.ปี 2 ต้องฝึกงานที่โรงแรมและรีสอร์ทที่ทำข้อตกลงไว้เป็นระยะเวลา 45 วันในภาคฤดูร้อน เมื่อจบการศึกษา ได้ 2 วุฒิ คือ มัธยมศึกษาตอนปลายและประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) สามารถเลือกเรียนต่อระดับอุดมศึกษาหรือเลือกเรียนต่อสายอาชีวศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ได้

คณะผู้จัดงาน-ร่วมงานถอดบทเรียนทวิศึกษา

อาจารย์เกริกไกร นนทลักษณ์ หัวหน้าแผนกการโรงแรม วิทยาลัยสารพัดช่างตราด กล่าวว่า การจัดการเรียนแบบคู่ขนาน-ทวิศึกษา ปีแรกมีปัญหาทั้งโรงเรียนมัธยมศึกษาที่อยู่ห่างไกลเดินทางมาเรียนไม่สะดวก ตัวนักเรียนเกรงว่าจะเป็นการเรียนที่มีภาระหนักเกินไป รวมทั้งยังเข้าใจการเรียนระบบนี้อย่างชัดเจน วิทยาลัยสารพัดช่างตราดเองยังไม่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานอาชีวศึกษา การรับนักศึกษาในปีแรกเข้ามาเรียนแล้วลาออกกลางคัน ปัจจุบันมีนักศึกษาเรียนอยู่ปี 3 จำนวน 11 คน เมื่อเข้าปีที่ 2-3 เริ่มเข้าระบบ สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษาได้จัดงบประมาณรายหัวสนับสนุน ตัวนักเรียนเองปรับตัวได้และชื่นชอบสาขาการโรงแรมที่เรียน

“นักศึกษาที่มาเรียน 2 หลักสูตร ส่วนใหญ่ทำเกรดได้ระดับดีเยี่ยมทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และ ปวช. และมีหลายคนที่ตัดสินใจเรียนต่อสายอาชีพระดับ ปวส. เราจะได้คนเก่งมาทำงานในสายอาชีพมากขึ้น ลบค่านิยมเดิมๆ ที่คิดว่าเรียนไม่เก่งต้องเรียนสายอาชีพ ผลจากการจัดการศึกษา “คู่ขนานมัธยมศึกษาตอนปลาย-ปวช. (ทวิศึกษา) ซึ่งเป็นทางเลือกให้นักเรียนได้ค้นพบตัวเองและเป็นผู้เลือกเองอาจารย์เกริกไกร กล่าว

เชฟอภิวัตร ดาราศร (ขวา)

ขานรับสบช่องสายอาชีพ

ทำงาน เรียนต่อ ปวส. ปริญญาตรี

จากการพูดคุยกับนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย ม.6 หรือ ปวช. สาขาการโรงแรม วิทยาลัยสารพัดช่างตราดปี 3 “ทวิศึกษา” ทั้ง 3 แห่ง คือโรงเรียนตราดสรรเสริญวิทยาคม สตรีประเสริฐศิลป์ และเกาะช้างวิทยาคม ได้ข้อสรุปตรงกันว่ามี 2 สาเหตุที่ตัดสินใจมาเรียนแบบคู่ขนาน-ทวิศึกษา คือ 1. ได้ 2 วุฒิการศึกษา มัธยมศึกษาตอนปลาย และ ปวช. มีช่องทางที่จะเลือกเรียนต่อสายสามัญ หรือสายอาชีพ 2. เป็นโอกาสทางเลือกให้นักเรียนที่ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจบการศึกษามัธยมศึกษาตอนปลายจะเรียนต่อระดับอุดมศึกษาหรือสายอาชีพ รวมทั้งเห็นว่าจังหวัดตราดเรียนสาขาโรงแรมจบแล้วหางานทำได้ง่าย หรือทำงานเก็บเงินก่อนเรียนปริญญาตรีภายหลังได้

นางสาวยมาภรณ์ แผ้วอำพันธุ์ “น้องเนต” จากโรงเรียนตราดสรรเสริญวิทยาคม เล่าว่า การที่ยังไม่ได้ตัดสินใจจะเรียนต่ออะไร ทำให้ตัดสินใจมาเรียนทวิศึกษา มีเพื่อนๆ ที่มาด้วยกันอีก 2 คน มีเหตุผลเดียวกัน แต่เมื่อมาเรียนสายอาชีพและได้ไปฝึกงานในโรงแรมสถานที่จริงโดยเลือกอยู่แผนกอาหารตามที่ชอบและมีใจรัก เห็นความแตกต่างของการเรียนสายสามัญที่ส่วนใหญ่เรียนวิชาการ ส่วนสายอาชีพได้ปฏิบัติงานจริง คิดว่าหลังจบ ม.6 หรือ ปวช. จะเรียนต่อ ปวส. สาขาโรงแรม และปริญญาตรี

ดร.ประดิษฐ์ ฮกทา ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างตราด

“เรียนปี 1 ค่อนข้างกังวลเกรงว่าเป็นงานหนัก กลัวจะเรียนไม่ไหวเพราะเรียนสายสามัญเรียนวิทย์-คณิต แต่เมื่อรู้จักการบริหารเวลา กลับไปตามงานกับอาจารย์บางวิชาที่ไม่ได้เข้าห้องเรียนอาจารย์ให้การดูแลดี และเรียนที่วิทยาลัยสารพัดช่างตราดอาจารย์จะให้งานทำในห้องมีการบ้านน้อย ขึ้นปี 2 หรือขึ้น ม. 5 ไม่รู้สึกว่าเรียนหนักมาก ซึ่งผลการเรียนทั้งสองแห่ง ทั้งสายสามัญ และ ปวช.ทำเกรดได้ 3.6-3.8 ช่วงที่ได้ฝึกงานในแผนกอาหาร คิดว่าการทำงานจากการปฏิบัติจริงทำให้มีความสุข สนุกกับงาน คาดว่าจะเรียนต่อ ปวส. และปริญญาตรี สาขาการโรงแรม หรือหลังจบ ปวส. อาจจะทำงานก่อน ข้อดีของการเรียนสายอาชีพสาขาการโรงแรมคือหางานง่าย ไม่ว่าจะจบวุฒิอะไรอยู่ที่ความตั้งใจและความสามารถในการทำงาน” น้องเนต กล่าว

ดร.ประธาน สุรกิจบวร รองผู้ว่าราชการจังหวัดตราด เยี่ยมชม (เสื้อฟ้า)

นางสาวดารณี อยู่นัดที “น้องดา” โรงเรียนสตรีประเสริฐศิลป์ เล่าว่า กับเพื่อนๆ โรงเรียนเดียวกันมาเรียน 7 คน ช่วงที่เรียนหนักที่สุดคือ ม.5 หรือ ปวช.2 เพราะโรงเรียนให้นักเรียนชั้น ม.5 เป็นผู้นำทำกิจกรรมกับน้องๆ แทบทุกอย่าง ทำให้ต้องบริหารเวลาค่อนข้างลำบาก โชคดีที่ทุกคนเรียนสายสามัญโปรแกรมศิลป์ทั่วไป โรงเรียนได้จัดห้องเรียนเฉพาะให้ เรียนที่โรงเรียนวันจันทร์-พุธได้ครบในห้องเรียน ม.4-5 และ ปวช.1-2 เกรดเฉลี่ย 3.6-3.9 เมื่อฝึกงานที่โรงแรมเลือกอยู่ส่วนหน้าแผนกต้อนรับ (Front) เพราะชอบการใช้ภาษาและการบริการ ช่วงฝึกงานสนุกกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ทำให้ตัดสินใจได้ว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะเรียนต่อ ปวส. และปริญญาตรี ซึ่งการเรียนสายอาชีพสาขาโรงแรมจบแล้วหางานทำได้ง่าย

อาจารย์จิระพงษ์ ร่มเงิน

นางสาวปิยธิดา ลิ้มประภา “น้องนัท” หนึ่งเดียวของโรงเรียนเกาะช้างวิทยาคม เล่าว่า เดิมมีผู้สมัครเรียน 5-6 คน แต่วันมอบตัวเหลือเพียงคนเดียว แต่ได้ตัดสินใจเรียนทวิศึกษาแล้ว จึงเดินหน้าต่อแม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายเดินทางมาเรียนวันละ 150-200 บาท เพราะต้องลงเรือเฟอร์รี่จากเกาะช้าง ต่อรถยนต์โดยสารมาวิทยาลัยสารพัดช่างตราด ซึ่งพ่อแม่ยินดีเรื่องค่าใช้จ่ายจึงตั้งใจเรียน เสาร์-อาทิตย์ต้องมาพบอาจารย์โรงเรียนเพื่อติดตามทำงานจากชั่วโมงที่ไม่ได้เข้าเรียนจันทร์-พุธ เนื่องจากเรียนโปรแกรมวิทย์-คณิตมีวิชาพื้นฐานมาก ช่วง ม.4 หรือ ปวช.ปี 1 ค่อนข้างยุ่งยากสับสน และเริ่มดีขึ้นเมื่อขึ้น ม.5/ปวช.ปี 2 ผลการเรียนอยู่ในระดับ 3.6.-3.8

ต้มโคล้งหอยนางรมมะพร้าวอ่อน

“ช่วงที่ฝึกงานที่โรงแรมเลือกอยู่แผนกอาหารและเครื่องดื่ม (Food and Beverage) เพราะชอบงานบริการที่พบปะพูดคุย สื่อสาร และชอบการใช้ภาษาต่างประเทศ คิดว่าจะต่อ ปวส. สาขาโรงแรม และทำงานเก็บเงินในช่วงปิดเทอม เพื่อเรียนต่อปริญญาตรี ซึ่งวุฒิ ปวส.เทียบสามารถเรียนจบได้ภายใน 2 ปี จบแล้วมีงานทำแน่นอนเพราะจังหวัดตราดเป็นจังหวัดท่องเที่ยว การเรียนทวิศึกษาทำให้ได้เลือกเรียนในสิ่งที่ชอบ ใจรัก ได้เรียนจากการปฏิบัติจริง ประสบการณ์ฝึกงานที่โรงแรมภาษาอังกฤษและภาษาจีนจำเป็นต้องเรียนรู้ เพื่อนำมาใช้กับการทำงานเพราะนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ที่เกาะช้างเป็นชาวยุโรป จีน”

 ผู้ประกอบการ : สถานศึกษา วิน วิน

คุณอภิวัตร ดาราศร เชฟชำนาญการด้านอาหาร (Executive Chef) โรงแรมเคซีแกรนด์ เกาะช้างรีสอร์ทแอนด์สปา กล่าวว่า โรงแรมมีความยินดีที่มีโครงการทวิศึกษา เพราะปกติรับนักศึกษาฝึกงานระดับ ปวช. ปวส. อยู่แล้ว และรับระดับปริญญาตรีจากต่างจังหวัดด้วย แต่ระดับทวิศึกษาถือว่าวัยวุฒิยังน้อยกว่า แต่อย่างน้อยได้เข้ามาฝึกประสบการณ์ฝึกทักษะและมองหาไอดอล สิ่งจูงใจ อาจจะสำรวจความถนัด ความต้องการของตัวเองได้ว่าใช่หรือไม่ และเมื่อจบทวิภาคีเขามีโอกาสที่จะเปลี่ยนเส้นทางได้เพราะมีทางเลือกทั้งสายสามัญและสายอาชีพ หรืออาจจะหางานทำหากครอบครัวยังมีภาระเรื่องค่าใช้จ่าย โดยสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมให้ตำแหน่งและเงินเดือนสูงขึ้นได้ ขออย่างเดียวให้มีใจรักในอาชีพที่ทำ และโรงแรมที่ทำข้อตกลงกับวิทยาลัยเมื่อรับพนักงานจะพิจารณานักศึกษาที่มาฝึกประสบการณ์ก่อน ตอนนี้เราต้องใช้แรงงานต่างชาติ จริงๆ แล้วโรงแรมต้องการแรงงานคนไทยมากกว่า ส่วนภาษาอังกฤษ ภาษาจีนเป็นเรื่องที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติมเพราะนักท่องเที่ยวในจังหวัดตราดส่วนใหญ่ จีนและยุโรป

ผลงานนักเรียน

ดร.ประดิษฐ์ ฮกทา ผู้อำนวยการวิทยาลัยสารพัดช่างตราด กล่าวเพิ่มเติมว่า การถอดบทเรียนจากการจัดทวิศึกษา สาขาโรงแรมและการท่องเที่ยว โรงเรียนมัธยมศึกษา ผู้ประกอบการ เห็นชอบที่จะให้มีโครงการทวิศึกษาต่อไป ด้านผู้ประกอบการโรงแรมยินดีที่จะร่วมมือยินดีที่จะรับนักศึกษาเข้าทำงาน สอนประสบการณ์การเรียนรู้จากการทำงานจริง ส่วนนักศึกษาเองได้เรียนรู้และมีทักษะการทำงาน พร้อมที่จะเลือกประกอบอาชีพตามความถนัด ใจรักหลังจบการศึกษา และเรียนต่อระดับ ปวส. หรือปริญญาตรีได้ในอนาคต ซึ่งสามารถตอบโจทย์การจัดการศึกษาในพื้นที่จังหวัดตราด เพื่อการมีงานทำได้ชัดเจน โดยเฉพาะอัตราการเติบโตด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดตราดมีแนวโน้มที่จะมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น

อาจารย์เกริกไกร นนทลักษณ์

การเรียนแบบคู่ขนาน-ทวิศึกษา เป็นตัวอย่างของการจัดการศึกษาแบบมีส่วนร่วม ประสบการณ์จากการเรียนรู้และปฏิบัติจริง เป็นเครื่องมือช่วยให้เด็กๆ และเยาวชนตัดสินใจเลือกเรียนสายอาชีพ จบแล้วมีงานทำ ไม่ได้มุ่งเรียนเพื่อใบปริญญาเพียงอย่างเดียว จะยั่งยืนต่อเนื่องหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของโรงเรียนมัธยมศึกษา และภาคเอกชน…และสำคัญที่สุด “การสนับสนุนจากนโยบายรัฐบาล”