มทร. ศรีวิชัย คิดค้น เครื่องกะเทาะเปลือกลูกหยี ลดเวลา สร้างรายได้ ให้วิสาหกิจชุมชน

ผลิตภัณฑ์ลูกหยีสามรส เป็นผลิตภัณฑ์เด่นและขึ้นชื่อของ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ผลิตโดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ลูกหยี ปัจจุบัน มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง อาทิ ลูกหยีปรุงรส ลูกหยีกวนไร้เมล็ด ลูกหยีแดงแห้งกรอบ ลูกหยีสดสุก เป็นต้น

ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้มาตรฐานสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และมาตรฐานฮาลาลแห่งชาติ โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ลูกหยีจะรับซื้อผลลูกหยีจากชาวบ้าน นำมาผลิตลูกหยีแปรรูปเพื่อส่งออกและจำหน่ายจนได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และสร้างรายได้ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและชาวบ้านในพื้นที่ กระบวนการในการผลิตให้ได้ผลิตภัณฑ์จำนวนมากเพื่อให้ทันตามที่ตลาดแรงงานต้องการนั้น ยังคงไม่สามารถจัดส่งได้ทันที ยังคงใช้กระบวนการผลิตแบบท้องถิ่น โดยอาศัยแรงคนเป็นหลัก โดยเฉพาะขั้นตอนในการกะเทาะเปลือกและการแยกเปลือก ต้องใช้เวลา แรงงาน และต้นทุนที่ค่อนข้างสูง

อาจารย์วิมล บุญรอด

นายนันทยศ ซากรี นายธนภพ แซ่ซ่ำ และ นางสาวญาณาธิป พันธุ์แก้ว นักศึกษา ชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
(มทร.) ศรีวิชัย ร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลิตภัณฑ์ลูกหยี อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา คิดค้นเครื่องกะเทาะเปลือกลูกหยี ซึ่งจะช่วยลดเวลา ลดแรงงาน และลดต้นทุน ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชน

การสร้างเครื่องกะเทาะเปลือกลูกหยีโดยใช้แรงลม ระบบการทำงานของตัวเครื่องจะกดสวิตช์เพื่อเปิดเครื่อง มีระบบควบคุมการทำงานโดยใช้หลักการของไซโคลนและแรงลมเป่า การออกแบบเครื่องกะเทาะเปลือกลูกหยีโดยใช้แรงลม ประกอบด้วยชุดสำหรับรองรับลูกหยี เป็นชุดสำหรับรองรับลูกหยีที่ผ่านการกะเทาะเปลือกเรียบร้อยแล้ว มีการออกแบบให้มีลักษณะเหมือนลิ้นชัก ใช้สำหรับกั้นเพื่อไม่ให้ลูกหยีตกหล่นขณะเครื่องทำการกะเทาะเปลือก และประกอบด้วยถังสำหรับกะเทาะเปลือกลูกหยี มีการออกแบบให้เป็นทรงกระบอก มีช่องสำหรับเป่าลมเข้าของตัวเครื่อง และช่องสำหรับใส่ลูกหยีสุก และมีตะแกรงกั้นเพื่อรองรับลูกหยีที่ผ่านการกะเทาะเปลือกเรียบร้อยแล้ว ตัวเครื่องสามารถบรรจุลูกหยีได้ปริมาณ 150-200 กรัม ใช้ระยะเวลาในการกะเทาะ 90 วินาที ต่อครั้ง

ผศ.ปิยะ ประสงค์จันทร์ ร่วมชื่นชมผลงาน

ซึ่งมีต้นทุนในการผลิต ประมาณ 15,000 บาท ผลจากการนำเครื่องกะเทาะเปลือกลูกหยีมาใช้ในกลุ่มวิสาหกิจชุมชนนั้น สามารถกะเทาะเปลือกลูกหยีหลุดออกจากเปลือกได้ ลดเวลา ลดแรงงาน และลดต้นทุนในการผลิตผลิตภัณฑ์ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสามารถแปรรูปผลิตภัณฑ์ได้รวดเร็วตามที่ตลาดต้องการ เป็นการสร้างรายได้ สร้างอาชีพให้แก่ชาวบ้านในพื้นที่ ทั้งยังช่วยลดการนำเข้าเครื่องมือมาจากต่างประเทศ

อาจารย์วิมล บุญรอด อาจารย์ที่ปรึกษาคอยให้คำแนะนำและเทคนิคต่างๆ ในการพัฒนาเครื่องกะเทาะเปลือกลูกหยี กล่าวว่า ในอนาคตจะมีการพัฒนาเครื่องกะเทาะเปลือกลูกหยีโดยใช้แรงลม และเพียงพอต่อกำลังในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ มีขนาดที่เหมาะสมในภาคอุตสาหกรรม มีการพัฒนาระบบในการควบคุมการทำงานของเครื่องให้มีคุณภาพประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  อาจารย์วิมล บุญรอด อาจารย์ประจำสาขาวิศวกรรมแมคคาทรอนิกส์ คณะครุศาสตร์อุตสาหกรรมและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ศรีวิชัย โทรศัพท์ (082) 438-9951

Advertisement