ครู-นักเรียน โรงเรียนบ้านคลองคุ้ย ตรัง ปลูกองุ่นดำ ได้ผลผลิตเกินคาด

พูดถึงองุ่นของบ้านเรา ส่วนใหญ่ปลูกกันในภาคต่างๆ ยกเว้นภาคใต้ แต่ตอนนี้ภาคใต้ก็ปลูกได้แล้ว อย่างที่พังงา และตรัง ทว่ายังเป็นรายย่อยๆ และปลูกกันไม่มากนัก  โรงเรียนบ้านคลองคุ้ย ตำบลปากแจ่ม อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ปลูกองุ่นในโรงเรือน ซึ่งได้ผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ

สวนองุ่นแห่งการเรียนรู้

นายสุรินทร์ ส่งแสง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านคลองคุ้ย เล่าถึงที่มาที่ไปของการปลูกองุ่น ว่า ได้เห็นความสำเร็จของเกษตรกรรายหนึ่งที่ตำบลปากแจ่ม นำองุ่นมาปลูก อยู่ไม่ไกลจากโรงเรียน โดยโค่นต้นยางพาราเพื่อนำพื้นที่มาปลูกองุ่นแทน ถือเป็นรายแรกของจังหวัดตรัง ทางโรงเรียนจึงอยากจะทดลองปลูกบ้าง เริ่มจากซื้อต้นพันธุ์องุ่นดำ พันธุ์บิวตี้ ซีดเลส (Beauty Seedless) 8 ต้น มาทดลองปลูกภายในโรงเรือน ขนาดกว้าง 8 เมตร ยาว 12 เมตร เป็นการปลูกแบบระบบปิด พร้อมกับศึกษาหาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตด้วย

หลังจากปลูกได้ 7 เดือน องุ่นก็ออกลูก และเก็บผลผลิตได้จำนวน 100 กิโลกรัม ซึ่งเป็นที่น่าพอใจ เพราะแม้รสชาติจะไม่หวานเข้มเหมือนองุ่นทั่วไป แต่จะออกรสหวาน ผลกรอบกว่าองุ่นทั่วไป ผิวสีสวยเป็นมันวาว ไร้สารเคมี และเนื่องจากเป็นการออกผลผลิตครั้งแรกจึงไม่มีการจำหน่ายผลผลิต แต่ให้นักเรียน  ครู ผู้ปกครอง และชุมชน รับประทานและเป็นของฝากให้กับแขกที่มาเยี่ยมชม

นายสุรินทร์ บอกว่า ตอนนี้โรงเรียนกลายเป็นสวนองุ่นแห่งการเรียนรู้ คนในชุมชนและในบริเวณใกล้เคียงรวมถึงโรงเรียนต่างๆ ก็เข้ามาดู จากนี้ทางโรงเรียนจะต่อยอดเพื่อปลูกพืชผลเมืองหนาวชนิดอื่นๆ ด้วย เช่น กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก เมล่อน เพราะเชื่อว่าในภาคใต้ก็สามารถทำให้ผลผลิตที่ออกมามีคุณภาพได้เช่นกัน เพียงแต่ต้องใช้ความพยายามเท่านั้น

ผู้อำนวยการโรงเรียนท่านนี้ระบุด้วยว่า โรงเรียนมีครู 21 คน มีนักเรียน 300 คน ที่ผ่านมาครูสอนวิชาเกษตรจะสอนให้เด็กปลูกพืชผักสวนครัว อย่าง ผักบุ้ง ผักคะน้า แต่เมื่อเห็นเกษตรกรปลูกองุ่นได้จึงอยากให้นักเรียนได้ทดลองปลูกด้วย เพื่อให้ผู้สอนและผู้เรียนมีความสุข รวมทั้งนำวิชาความรู้ที่ได้รับไปต่อยอดในการประกอบอาชีพได้ในอนาคต จึงเริ่มต้นด้วยการสร้างโรงเรือนดีๆ เพราะภาคใต้นั้นมีฝนตกชุกตลอดทั้งปี แต่ทุกคนก็ช่วยกันศึกษาหาข้อมูลทั้งจากผู้รู้และในอินเตอร์เน็ต จนสามารถปลูกองุ่นได้สำเร็จ

เตือนระวังแมลง และเพลี้ยแป้ง

ด้าน นายสมหมาย มณีทับ อาจารย์ที่เป็นหลักในการดูแลองุ่นร่วมกับคณะครูและนักเรียนบางส่วน ให้รายละเอียดว่า ในการปลูกเริ่มด้วยการเตรียมหลุมเป็นร่องปลูก ขนาดกว้าง 1 เมตร ลึก 1 เมตร ยาว 12 เมตร พร้อมใช้ใบไม้แห้งผสมปุ๋ยคอก ประมาณ 30 กระสอบ (ขี้ไก่แกลบ) และปูนขาว ประมาณ 10 กระสอบ คลุกเคล้ากับดินเดิมถมลงไปในหลุมจนเต็ม เป็นการรองพื้นเพื่อเตรียมดินให้มีแร่ธาตุอาหารมาก โดยมีความห่างระหว่างต้น 3 เมตร แล้วนำต้นกล้าวางลงแล้วกลบด้วยดินดีผสมปุ๋ยคอก รดน้ำให้ชุ่ม ไม่ต้องทำร่มให้ต้นกล้า แต่ใช้เชือกเป็นค้างไปยังโครงเหล็ก

ในการดูแลช่วงแรกนั้น รากยังน้อย ดูดน้ำไม่เก่งควรรดน้ำบ่อยๆ ทั้งเช้าและเย็น เฉพาะโคนต้น สำหรับระยะเวลาการปลูก ประมาณ 180 วันนี้ ต้องคอยตัดแต่งกิ่งใบให้กิ่งสมบูรณ์มากที่สุด ใส่ปุ๋ยสูตร 15-15-15 กลบด้วยปุ๋ยคอกทุกสัปดาห์ เมื่อครบ 180 วัน ตัดแต่งใบและยอดออก ต้นจะแตกยอดอ่อนพร้อมออกดอก ระยะเวลาการเก็บเกี่ยวผลผลิต ประมาณ 100 วัน สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตออกจำหน่ายได้

นายสมหมาย บอกว่า มีบางช่วงต้องดูแลเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในช่วงคัดผล เพราะองุ่นในแต่ละช่อจะออกมาแน่นมากต้องอาศัยความละเอียดอ่อนในการตัดผลที่ไม่สมบูรณ์ทิ้ง มิฉะนั้นจะโดนผลอื่นทำให้เน่าได้ และถ้าไม่ตัดตกแต่งในแต่ละช่อจะทำให้ผลแน่นมาก เมื่อเวลาที่องุ่นโตเต็มที่จะดันกันจนผลองุ่นแตกและจะเน่า อีกทั้งต้องระวังจำพวกแมลงและเพลี้ยแป้งที่จะมากับมด

สำหรับการปลูกองุ่นรอบแรกนี้ทางโรงเรียนใช้เงินไปในการทำโรงเรือน และจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ ประมาณ 50,000 บาท แต่วัสดุอุปกรณ์ยังเหลือที่สามารถสร้างโรงเรือนได้อีก 1 หลัง และยังมีค่าต้นกล้า ต้นละ 250 บาท จำนวน 8 ต้น รวม 2,000 บาท และปุ๋ยคอก 400 บาท โดยเริ่มปลูกเมื่อเดือนกรกฎาคม และเก็บเกี่ยวผลได้ในช่วงปลายเดือนเมษายน

ฝึกให้นักเรียนขยายพันธุ์

การปลูกองุ่นครั้งนี้ ผู้บริหารโรงเรียนอยากให้นักเรียน ชั้นม.1 – ม.3 ได้ เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงในการนำพืชเมืองหนาวมาปลูกในภาคใต้ และสามารถนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับไปถ่ายทอดให้กับคนอื่นฟังได้

โดยเฉพาะการปลูกพืชผัก ผลไม้ ในโรงเรือน ซึ่งระหว่างที่องุ่นยังไม่โตเต็มที่ ด้านล่างจะมีการปลูกเมล่อนแซม และปลูกผักเมืองหนาวในกระถาง อย่าง กะหล่ำปลี สร้างโรงเรือนเพิ่มอีก 1 โรง คิดว่านักเรียนได้รับประโยชน์อย่างไร

“ ทางโรงเรียนมีการชำต้นกล้า ตอนกิ่ง โดยฝึกให้นักเรียนขยายพันธุ์โดยการตอน และปักชำ เพื่อบริการให้กับกลุ่มสนใจที่จะทดลองนำไปปลูก ซึ่งการปลูกองุ่นพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าดินและอากาศทางภาคใต้เหมาะสำหรับการปลูกพืชเมืองหนาวแต่ต้องควบคุมปริมาณน้ำฝนให้พอเหมาะ ดังนั้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่สายพันธุ์ ดิน หรือสภาพดินฟ้าอากาศ แต่น่าจะอยู่ที่วิธีการดูแลเอาใจใส่มากกว่า” นายสมหมาย กล่าวและว่า ที่ผ่านมามีการแบ่งนักเรียนออกเป็นกลุ่มๆ โดยเด็กเล็กๆ จะมีหน้าที่ในการดายหญ้า เก็บใบที่ร่วง ส่วนเด็กโตๆ จะรดน้ำ ตัดแต่งกิ่งและผลองุ่น”

สำหรับการปลูกองุ่น  เน้นตกแต่งในเรื่องของจำนวนลูกองุ่นในแต่ละช่อให้มีปริมาณพอเหมาะเพื่อจะปรับปรุงผลให้โตขึ้น ไม่ให้ผลแน่นเกินไป ซึ่งจะทำให้ผลไม่โตเต็มที่

นายสมหมาย มณีทับ

น้องฝ้าย เด็กหญิงกิตติยา เดชกมล แกนนำรุ่นพี่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ถ่ายทอดประสบการณ์ในการปลูกองุ่นว่า แม้องุ่นรุ่นแรกจะปลูกไปเพียงไม่กี่ต้น แต่ให้ผลผลิตน่าพอใจ คือประมาณ 100 กิโลกรัม จากการที่คณะครูและนักเรียนช่วยกันดูแลเอาใจใส่เป็นอย่างดี ทั้งหลังเลิกเรียนและในวันหยุด เมื่อมาสัมผัสจึงรู้ว่าการปลูกองุ่นไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแค่มีโรงเรือนเพื่อช่วยควบคุมเรื่องดินฟ้าอากาศและศัตรูพืช รดน้ำให้พอเหมาะ การปลูกพืชผลเมืองหนาวในภาคใต้ยังเป็นความท้าทายที่อยากทำ ประกอบกับองุ่นเป็นผลไม้ที่ทุกคนนิยมชอบรับประทานกันอยู่แล้ว

 

นายสุรินทร์ ส่งแสง

……………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 28 สิงหาคม พ.ศ.2561