โรงเรียนกินผัก แบบอย่างดีๆ ที่อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี

อุปนิสัยในการกินของคนเราเชื่อว่าเป็นเรื่องที่ต้องปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก การกินในช่วง 30-40 ปีที่ผ่านมา เราหันมากินตามชาติตะวันตกโดยเห็นว่าเป็นของโก้หรู เพราะเห็นว่าเขาเป็นชาติที่พัฒนาแล้ว โดยไม่คำนึงถึงปัจจัยอื่น เช่น รายได้ วัฒนธรรมประเพณี สภาพแวดล้อมทางกายภาพ ดินฟ้าอากาศของเรา ทั้งที่เมื่อเวลาผ่านการบริโภคแบบชาวตะวันตกก็ส่งผลถึงโรคภัยที่เกิดจากวัฒนธรรมการกิน

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เริ่มตระหนักในเรื่องนี้ แต่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคเมื่อผ่านชีวิตมา 30-40 ปีแล้วเปลี่ยนแปลงค่อนข้างยาก นอกจากประสบโรคภัยที่เกิดกับตัวซึ่งก็เกือบสายเกินไปแล้ว เหมือนสุภาษิตของนักเล่นบอนไซที่ว่า “ไม้แก่ดัดยาก” ดังนั้น จึงทำให้ต้องมุ่งเน้นไปที่เด็กๆ ที่เราสามารถสร้างเสริมพฤติกรรมในการบริโภคที่ถูกต้องเหมาะสมให้ติดตัวเขาไปตลอดจนตราบสิ้นชีวิต

โครงการ “โรงเรียนกินผัก” เปิดให้ทุนเพื่อสนับสนุนให้เกิดการสร้างปัจจัยแวดล้อมด้านอาหารสุขภาวะ หรือการจัดการเชิงบูรณาการที่ส่งเสริมให้เกิดการบริโภคผักผลไม้ที่ปลอดภัย และลดภาวะน้ำหนักตัวเกินหรือโรคอ้วนของเด็ก โดยมีแนวทางการรับข้อเสนอโครงการตามเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้

เป็นโครงการที่มีการสนับสนุนและพัฒนากระบวนการเพื่อให้เกิดพื้นที่เกษตรและอาหารภายในโรงเรียน เช่น การปลูกผักเพื่อการเรียนรู้และการบริโภคภายในโรงเรียน

เป็นโครงการที่มีการพัฒนาการผลิตสื่อที่ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้สำหรับเด็กวัยเรียนในเรื่องอาหาร เกษตรและธรรมชาติ เช่น สื่อหลักสูตรการเรียนรู้เรื่องอาหารและการเกษตร

เตรียมถาดเพาะ
เมล็ดผักอินทรีย์
เด็กๆช่วยกันเพาะ
ร่วมกิจกรรมปลูกผัก

เป็นโครงการที่มีการสร้างสรรค์ออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ภายในโรงเรียนเพื่อส่งเสริม กระตุ้นและให้ความรู้แก่เด็กนักเรียนได้บริโภคผักผลไม้ให้เพียงพอต่อความต้องการ วันละ 400 กรัม เช่น นักสำรวจน้อยสำรวจผักผลไม้ในมื้ออาหารที่บ้านหรือที่โรงเรียน การเพิ่มปริมาณผักผลไม้กับผู้ค้าอาหารหน้าโรงเรียน ละครสร้างสรรค์แกนนำเด็กกินผัก เป็นต้น

เป็นโครงการที่มีการสร้างสรรค์ ออกแบบกิจกรรมทางกายเพื่อลดภาวะน้ำหนักเกินในเด็กวัยเรียน เช่น ชั่วโมงการออกกำลังกาย การทำแปลงเกษตร การบันทึกน้ำหนักก่อน-หลัง อีโร่ลดพุง เป็นต้น

โรงเรียนบ้านโป่งหวาย ตั้งอยู่ที่บ้านโป่งหวาย ตำบลด่านแม่แฉลบ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี เป็นโรงเรียนประถมศึกษาที่เข้าร่วมกับโครงการโรงเรียนกินผักของปี พ.ศ. 2561 นี้ โรงเรียนนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ห่างไกลการคมนาคมไม่ค่อยสะดวกนัก

ปกติโรงเรียนบ้านโป่งหวายได้ปลูกพืชผักเพื่อใช้ประกอบอาหารมื้อเที่ยงให้นักเรียนในโรงเรียนอยู่แล้ว แต่ยังไม่เพียงพอนัก ต่อมาทราบข่าวเรื่องการให้เงินทุนและความรู้ในโครงการโรงเรียนกินผักของสวนเงินมีมา ด้วยการสนับสนุนของ ส.ส.ส. ทำให้ท่าน ผอ.สายหยุด ห้าวเจริญ ได้สมัครเข้าร่วมโครงการและได้รับการคัดเลือกจากหน่วยงานพร้อมการสนับสนุนทุนเนื่องจากโรงเรียนมีความพร้อมที่จะดำเนินการโครงการนี้

ผักบุ้ง
ตัดมาประกอบอาหาร

โรงเรียนนานาชาติโป่งหวาย

โรงเรียนบ้านโป่งหวายเป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงประถมศึกษาปีที่ 6 มีบุคลากรทางการสอนและครูผู้สอนอยู่จำนวน 13 คน และนักเรียนชั้นอนุบาล 30 คน นักเรียนชั้น ป.1-ป.6 จำนวน 110 คน

เนื่องจากเป็นโรงเรียนแถบชายแดนเพื่อนบ้านจึงทำให้มีนักเรียนประมาณ 20% เป็นนักเรียนต่างชาติ นับว่าเป็นโรงเรียนนานาชาติอีกแห่งหนึ่ง ในชั้นเรียนของชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 กระทรวงศึกษาธิการได้บรรจุหลักสูตรวิชาเกษตรกรรมอยู่แล้วทุกชั้นเรียน จึงทำให้สะดวกในการทำกิจกรรมปลูกผักนี้ซึ่งนอกจากเป็นการสันทนาการให้กับนักเรียนซึ่งเคร่งเครียดกับการเรียนให้ผ่อนคลายกับกิจกรรมการปลูกผัก

ทางโรงเรียนแบ่งนักเรียนที่มีอายุกับขนาดร่างกายใกล้เคียงกันเป็นกลุ่มๆ 3 กลุ่ม คือนักเรียน ป.1 กับ ป.2 นักเรียน ป.3-ป4. นักเรียน ป.5-ป.6 และมอบหมายกิจกรรมการปลูกผักดูแลสวนตามความยากง่ายของชั้นนักเรียน

เด็กๆชอบการเษตร
เริ่มตั้งแต่อนุบาล

คุณครูปิยวดี มหาวัตร ซึ่งสอนชั้นอนุบาลในโรงเรียนบ้านโป่งหวาย เล่าว่า “ในชั้นอนุบาลเป็นการเตรียมความพร้อมของนักเรียน การเรียนการสอนจึงไม่เคร่งเครียด การให้เด็กอนุบาลมาดูแลเรื่องผักเป็นการให้เด็กเกิดความรักในกิจกรรมที่ทำ มีส่วนร่วมในการปลูกผัก ซึ่งจะทำในงานง่ายๆ เช่น รดน้ำ การเก็บผักที่ให้เด็กอนุบาลมีส่วนร่วม ทำให้เด็กที่ไม่ชอบผักมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป เด็กจะกลายเป็นเด็กที่ชอบกินผักเนื่องจากเด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมตั้งแต่เริ่มต้น”

เด็กนักเรียนในโรงเรียนโป่งหวายมาจากครอบครัวที่ทำเกษตรกรรมในหมู่บ้าน จากผู้คนที่อยู่ในหมู่บ้านประมาณ 200 ครัวเรือน ส่วนใหญ่จะปลูกพืชไร่คือข้าวโพด พ่อแม่ต้องทำงานหนัก และไม่มีความรู้ด้านโภชนาการ

โรงเรียนจึงมีส่วนสำคัญเนื่องจากเด็กจะต้องได้รับอาหารกลางวันทุกมื้อ ซึ่งจะมีข้าวและกับข้าว 2 อย่าง โดยคุณครูและแม่ครัวซึ่งเป็นชาวบ้านแถบนั้นที่จ้างมาทำอาหาร เมนูอาหารที่นี่จะคำนึงถึงหลักโภชนาการ และพืชผักที่ได้จากการปลูกในพื้นที่ของโรงเรียน นอกจากนี้ ยังมีผลไม้ที่ให้ผลผลิตเร็ว ที่ปลูก เช่น กล้วย มะละกอ แก้วมังกร ซึ่งทางโรงเรียนปลูกไว้เป็นหลัก แต่จะมีผลไม้อย่างอื่นบ้างตามฤดูกาลวันละ 2 ครั้ง ให้นักเรียนรับประทานกัน

เกษตรอินทรีย์วิถีชาวบ้าน

การปลูกพืชผักในโรงเรียน คุณครูพิมพ์พร นครอนันต์ ซึ่งสอนนักเรียน ป.5 รับผิดชอบเกี่ยวกับโครงการนี้โดยตรง บอกว่า “พืชผักที่นี่ไม่ได้ใช้สารเคมีเลยแม้แต่ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยที่ใช้เป็นปุ๋ยหมักจากมูลสัตว์ส่วนใหญ่จะเป็นมูลวัว มูลไก่มีไม่มากหมักกับเศษหญ้า ซังข้าวโพด หรือใบไม้แห้ง รดด้วย พด.1 หมักด้วยวิธีการไม่กลับกองเพราะต้องใช้แรงงานผู้ใหญ่ เนื่องจากซังข้าวโพดเป็นวัสดุที่แข็งและย่อยยากจึงต้องใช้เวลาเกือบ 2 ปีในการหมักกองปุ๋ย ซึ่งทางโรงเรียนได้เตรียมการโดยการหมักปุ๋ยไว้อย่างต่อเนื่องเพื่อให้ใช้ได้อย่างพอเพียงโดยไม่พึ่งปุ๋ยเคมี”

เนื่องจากทางโรงเรียนจะได้เงินอุดหนุนค่าอาหารกลางวันแก่เด็กในรายหัวละ 20 บาท จากองค์การบริหารส่วนตำบลที่สังกัด เมื่อผักที่ปลูกพร้อมเก็บเกี่ยวก็จะนำมาจำหน่ายให้กับโรงครัว ประมาณ 8-10 กิโลกรัม ต่อวัน เพื่อนำมาปรุงให้กับเด็กนักเรียน เงินที่ได้ก็จะเก็บไปไว้สำหรับซื้อเมล็ดพันธุ์ในรุ่นต่อๆ ไป

สอนในชั้นเรียนด้วย
ร่วมแรงร่วมใจ

ในกรณีที่ผักผลิตได้มากเกินจำนวนก็จะแจกให้นักเรียนที่มีส่วนดูแลนำกลับบ้าน หรือนำไปจำหน่ายในตลาดนัดเย็นที่บ้านโป่งหวายแต่ก็มีจำนวนไม่มาก ส่วนใหญ่จะใช้ในโรงครัวมากกว่า

นอกจากพืชผักที่ปลูกในพื้นที่ปกติแล้ว ทางโรงเรียนยังมีโรงเรือนปลอดภัยอีก 4 หลัง ขนาดความกว้าง 5 เมตร ยาว 8 เมตร ซึ่งได้จากการร่วมแรงร่วมใจของครูและผู้ปกครองแล้ว ยังมีส่วนหนึ่งได้จากสำนักงานเขื่อนศรีนครินทร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

ซึ่งโรงเรือนกางมุ้งทำให้ไม่ต้องคอยกำจัดแมลงที่มารบกวนได้ดี นอกจากพืชผักแล้วทางโรงเรียนยังมีโรงเรือนเลี้ยงไก่ซึ่งสามารถเลี้ยงไก่ไข่ได้จำนวนคราวละ 200 ตัว ซึ่งได้ไข่ไก่มาเป็นอาหารอย่างดีของนักเรียน

กิจกรรมที่นักเรียนได้ทำแปลงเกษตรซึ่งโรงเรียนได้ทำต่อเนื่องมาเกือบสิบปีแล้ว ทำให้ถือเป็นเรื่องสำคัญที่นักเรียนและโรงเรียนโป่งหวายจะดำเนินกิจกรรมนี้ต่อไป ถึงแม้จะเป็นโรงเรียนตามตะเข็บชายแดนและมีการคมนาคมไม่สะดวก แต่โรงเรียนโป่งหวายก็มีอาหารกลางวันที่ถูกหลักโภชนาการไม่น้อยหน้ากว่าโรงเรียนในเมือง

ช่วยกันปรุงอาหาร
ต้องกินได้น่า

อาหารของโรงเรียนโป่งหวายน่าจะดีกว่าโรงเรียนอื่นๆ อีกหลายร้อยโรงเรียน เพราะเด็กนักเรียนที่นี่มีผักปลอดสารพิษกิน ถึงแม้จะไม่ได้รับรองจากหน่วยงานใดก็ตาม แต่ผักที่ปลูกขึ้นจากมือนักเรียนเองและเป็นผู้ดูแลตั้งแต่เริ่มต้นเป็นสิ่งยืนยันถึงเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดี

โรงเรียนบ้านโป่งหวาย มีชัยภูมิคล้ายเกาะที่อยู่บนสันเขื่อนศรีนครินทร์ เพราะต้องอาศัยการคมนาคมทางเรือแพขนานยนต์จากฝั่งประมาณ 15-20 นาที ซึ่งถ้าจะใช้การสัญจรทางบกจะยุ่งยากและเสียเวลามาก การคมนาคมที่สะดวกที่สุดคือทางน้ำ ซึ่งแพขนานยนต์สามารถรับรถได้ 6-8 คัน สนนราคา รถยนต์ 60 บาท รถตู้ 70 บาท ส่วนคนให้ข้ามฟรี เที่ยวหนึ่งๆ ใช้ระยะเวลาประมาณ 30 นาที ส่วนกลางคืนก็มีบริการแต่รอนานหน่อย

สนใจไปพักผ่อนแถบนั้นแล้วแวะเข้าไปดูแปลงผักโรงเรียนกินผัก ติดต่อคุณครูพิมพ์พร โทรศัพท์ (091) 062-8206 ครูปิยวดี (092) 526-4550