โรงเรียนรวมไทยพัฒนา 3 พบพระ เพิ่มเวลาสีเขียว สอนเด็กปลูกและวิเคราะห์

เกือบ 24 ปีแล้วของการก่อตั้งโรงเรียนรวมไทยพัฒนา 3 ตำบลรวมไทยพัฒนา อำเภอพบพระ จังหวัดตาก หากเปรียบเป็นชีวิตของคน ก็อยู่ในช่วงวัยรุ่นที่กำลังเจริญเติบโต หากได้รับการพัฒนาส่งเสริมไปในทางที่ถูกที่ควร ก็จะเจริญเติบโตเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาชุมชน สังคม และประเทศชาติ

ก่อนหน้าของการก่อตั้งโรงเรียน เป็นที่ทราบดีอยู่แล้วว่า พื้นที่สูงแห่งนี้เมื่อต้องปรับพื้นที่เพื่อรองรับการเข้ามาอยู่ใหม่ของประชากร ส่งผลให้ความอุดมสมบูรณ์ของผืนดินค่อนข้างน้อย ยิ่งเมื่อได้พูดคุยกับ อาจารย์เดชา แสงท้าว ผู้อำนวยการโรงเรียนรวมไทยพัฒนา 3 ทำให้ทราบว่า ผืนดินก่อนการก่อตั้งโรงเรียนเป็นพื้นที่โล่ง ช่วงฤดูแล้งจะเกิดฝุ่นละอองจำนวนมาก เพราะไม่มีพืชคลุมดิน หลังจากมีการปรับผืนดินเพื่อการก่อตั้งโรงเรียนและหมู่บ้านใกล้เคียง เมื่อก้าวเข้ามาบริหารงาน ปัญหาฝุ่นละอองที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบไม่น้อย จึงจำเป็นต้องหาทางแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

17-6-768x513

“ตอนนั้นฝุ่นละอองเยอะมาก เพราะไม่มีพืชคลุมดินเลย วิธีแก้ปัญหาของผมก็คิดได้แต่เพียงว่า เราควรทำให้ผืนดินเป็นสีเขียวด้วยการปลูกต้นไม้ เมื่อมองย้อนไปถึงพื้นฐานของนักเรียนแล้ว พบว่า แต่ละครอบครัวล้วนมีพื้นฐานเกษตร เป็นการทำเกษตรแบบดั้งเดิมทุกบ้าน อีกทั้งแนวโน้มการศึกษาของเด็กนักเรียน จะพุ่งเป้าการศึกษาไปสายวิชาชีพเกือบทั้งหมด จึงปรับเวลาเรียนในเชิงวิชาการให้ลดลง แล้วเพิ่มเวลาเรียนในส่วนของการงานพื้นฐานอาชีพมากขึ้น”

พื้นที่โรงเรียนทั้งหมด 50 ไร่ ครึ่งหนึ่งของพื้นที่ คือ 25 ไร่ ถูกจัดสรรให้เป็นพื้นที่สีเขียว

นับจากวันแรกที่เริ่มคิดปรับพื้นที่ให้เป็นสีเขียว ทยอยปลูกเล็กผสมน้อย ถึงปัจจุบันมีแปลงผักสวนครัว ไม้ยืนต้น สวนสมุนไพร ไม้ดอก ทำปุ๋ยหมัก เลี้ยงสัตว์ เพาะเห็ด บนพื้นที่ 25 ไร่ ซึ่งจัดสรรได้อย่างลงตัว

การเลี้ยงไก่ ให้ความสำคัญไปที่ไก่พื้นเมือง โดยเลี้ยงไก่พันธุ์ประดู่หางดำ เพราะเจริญเติบโตเร็ว ในประเพณีของม้งจะใช้นิยมรับประทานไก่ดำมากกว่าไก่เนื้อขาว เพราะความเชื่อว่าเป็นยา และเนื้อนุ่มกว่า

8-11-768x432

การเลี้ยงหมู มี 2 สายพันธุ์ คือ หมูพันธุ์เหมยซาน ซึ่งเป็นหมูพันธุ์พื้นเมือง และหมูทั่วไป การเลี้ยงหมูจะเริ่มเลี้ยงพร้อมกัน เพื่อให้เด็กได้ศึกษาเปรียบเทียบการเลี้ยงหมู 2 ชนิด และวัตถุประสงค์แรกของการเลี้ยงหมู คือ การกำจัดเศษอาหารเหลือทิ้ง แต่เมื่อสานต่อการเลี้ยงหมูเพื่อเปรียบเทียบต่อมาแล้ว ทำให้เด็กนักเรียนได้รับความรู้มาก จึงเลี้ยงอย่างต่อเนื่อง

อาจารย์เกษร แสงท้าว ครูเกษตร ดูแลการเรียนการสอนการงานพื้นฐานอาชีพ ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น อธิบายว่า การเลี้ยงหมูจะเริ่มในช่วงเปิดภาคเรียน โดยการซื้อลูกหมูหลังหย่านมมาขุน ระยะเวลาการเลี้ยงประมาณ 4 เดือน หมูจะได้น้ำหนักมากพอขายก็จับขาย จากนั้นเมื่อปิดเทอมก็พักการเลี้ยงไว้ก่อน จนกว่าจะเริ่มเทอมใหม่ จะซื้อลูกหมูหลังหย่านมมาขุนใหม่ และจับขายเมื่อครบปีการศึกษาของเทอมนั้น

“เรายังไม่คิดถึงการเพาะลูกหมูเอง เพราะเป็นเรื่องยากสำหรับเรา โรงเรียนที่ไม่มีอุปกรณ์และความรู้เรื่องการเกษตรเลย ที่ทำได้คือการซื้อมาขุนแล้วขายไปในช่วงเปิดภาคเรียน แต่เมื่อปิดภาคเรียนก็ต้องหยุดไว้ก่อน เพราะไม่มีเศษอาหาร และถ้าต้องซื้ออาหารก็จะเป็นต้นทุนที่สูง”

13-8-768x576

โรงเรือนเห็ดนางฟ้าภูฏาน มีมากถึง 1,500 ก้อน อาจารย์เกษร บอกว่า เหตุที่เลือกเพาะเห็ดภูฏาน เนื่องจากเป็นเห็ดที่ขายได้ราคาดีกว่าเห็ดชนิดอื่น แต่การดูแลต้องละเอียดรอบคอบกว่าเห็ดชนิดอื่น ซึ่งการดูแลในที่นี้มอบหมายให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เป็นผู้ดูแล แบ่งความรับผิดชอบเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 5-6 คน หมุนเวียนทุกสัปดาห์ และที่ผ่านมาพบว่า ดอกเห็ดที่ได้มีคุณภาพและได้ผลผลิตที่มากพอแก่ความต้องการซื้อของโครงการอาหารกลางวันของโรงเรียน แต่ไม่เหลือพอจำหน่ายภายนอก

ครูเกษร บอกว่า ความรับผิดชอบในแปลงผัก ไม้ยืนต้น แปลงดอกไม้ และพืชสมุนไพร เป็นความรับผิดชอบของเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษา ซึ่งมี อาจารย์พิษณุ ใจบุญ ครูเกษตรอีกท่านเป็นผู้ดูแล ส่วนตนรับผิดชอบงานเกษตรของเด็กนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งแบ่งความรับผิดชอบ ดังนี้ มัธยมศึกษาปีที่ 1 รับผิดชอบการขยายพันธุ์พืช ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 2 รับผิดชอบโรงเรือนเห็ด ส่วนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 รับผิดชอบการเลี้ยงหมู และการเลี้ยงไก่

10-12-768x574

เมื่อถามถึงการเลี้ยงปลา ซึ่งหากมีจะเป็นการทำการเกษตรแบบครบวงจร อาจารย์พิษณุ กล่าวว่า ปัญหาคือดินบริเวณโรงเรียนเป็นดินห่าง ไม่สามารถอุ้มน้ำได้ แม้จะใช้ผ้าพลาสติกปู แต่ก็พบปัญหาต่อมา คือ สภาพอากาศที่เย็น ส่งผลให้ปลาไม่โต จึงจำเป็นต้องยุติโครงการเลี้ยงปลาลง

อาจารย์ พิษณุ บอกด้วยว่า เด็กนักเรียนระดับชั้นปฐมวัย ประถมศึกษา ทั้งหมด จะได้สัมผัสกับการลงแปลงเกษตรจริง  แม้ว่าจะแค่การกำจัดวัชพืช รดน้ำต้นไม้ หรือการปลูกพืชล้มลุกหรือผักสวนครัว แต่สังเกตเห็นได้ว่า เด็กนักเรียนทุกคนจะภูมิใจและมีความสุขทุกครั้งที่พาลงแปลงในวิชาเรียน

แปลงอะโวกาโด เป็นแปลงเกษตรที่โรงเรียนมีความภูมิใจ โดยผู้อำนวยการโรงเรียน เล่าว่า โรงเรียนปลูกต้นอะโวกาโดมาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโรงเรียน ทำให้แปลงอะโวกาโดในโรงเรียนรวมไทยพัฒนา 3 เป็นแห่งแรก ที่นำต้นอะโวกาโดเข้ามาปลูก ระยะเวลาถึงปัจจุบันเกือบ 24 ปีแล้ว ทำได้ผลผลิตเป็นผลอะโวกาโดจำหน่ายหลายรุ่น และทุกปีจะมีพ่อค้า แม่ค้า ติดต่อเข้ามาขอซื้อผลอะโวกาโดจากโรงเรียนเป็นประจำ ซึ่งถือเป็นรายได้เข้าโรงเรียนและให้กับนักเรียนเป็นรายได้เสริมในการดูแล

12-10-768x513

ทุกๆ กิจกรรม ครูเกษตรจะปล่อยให้นักเรียนดูแลรับผิดชอบกันเอง โดยมีครูเกษตรทำหน้าที่ดูแลความเรียบร้อย หากเกิดปัญหายาก นักเรียนจะรายงานตรงกับครู เพื่อเข้าไปช่วยแก้ไข

อีกกิจกรรมการเกษตรที่ครูเกษตรและนักเรียนภูมิใจ คือ การทำปุ๋ยคอก ซึ่งเริ่มต้นจากการให้เด็กนักเรียนนำมาจากบ้าน เพราะทุกบ้านเลี้ยงโคอยู่แล้ว และปุ๋ยคอกที่ได้ก็นำไปใช้กับแปลงเกษตรภายในโรงเรียน ได้ผลผลิตดี ปลอดสารเคมี ทั้งยังลดต้นทุนการผลิต แต่ปัจจุบันปุ๋ยคอกที่ได้จากขี้วัวที่นักเรียนนำมาลดน้อยลง เนื่องจากขี้วัวแต่ละบ้านเหลือน้อยลง ตรงนี้โรงเรียนถือว่าเป็นเรื่องดี เพราะจากการสอบถามนักเรียน ทราบว่า เหตุที่ขี้วัวลดน้อยลง เนื่องจากนักเรียนเรียนรู้การใช้ปุ๋ยคอกจากโรงเรียน แล้วนำไปใช้กับแปลงเกษตรที่บ้าน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า การถ่ายทอดให้นักเรียนได้ซึมซับความรักในการเกษตรได้ผลดีไม่น้อย

เด็กชายพีรวิชญ์ แซ่ม้า หรือ น้องจื้อ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 กล่าวว่า เข้าเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ตั้งแต่ชั้นปฐมวัย ในทุกๆ วันกิจกรรมที่ขาดไม่ได้ คือ ตอนเช้าพาน้องชั้นปฐมวัยไปเดินเก็บขยะ ส่วนหน้าที่รับผิดชอบของตน คือ การเลี้ยงหมู ต้องเข้าไปทำความสะอาดคอก อาบน้ำให้หมู ให้อาหาร ซึ่งการทำความสะอาดหมูถือเป็นเรื่องยาก เพราะต้องใส่ใจมาก หากปล่อยให้หมูสกปรก โดยเฉพาะกีบเท้า จะทำให้หมูป่วยในที่สุด แต่ที่ผ่านมายังไม่พบหมูเป็นโรค เพราะคิดว่าเกิดจากการที่เอาใจใส่ดูแลสุขภาพหมูมาโดยตลอด

ด้าน เด็กหญิงติชิลา แซ่ม้า หรือ น้องป้างโชง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เล่าว่า ครอบครัวทำการเกษตรปลูกถั่ว เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ส่วนตัวแล้วชอบการเลี้ยงไก่ เพราะง่าย แต่สิ่งสำคัญคือต้องทำเล้าไก่ และให้อาหาร น้ำ ตามความเหมาะสม ไม่ควรให้มากเกินไป เพราะจะเพิ่มต้นทุน ส่วนการดูแลการเกษตรที่โรงเรียน ได้รับมอบหมายให้รดน้ำต้นไม้และขยายพันธุ์พืช ซึ่งเป็นการดูแลที่ไม่ยาก

6-13-768x513

เด็กหญิงติชิลา เล่าถึงวิธีการเพาะกล้าให้ฟังว่า การเพาะกล้าที่ครูสอนเป็นวิธีเพาะกล้าที่เรียนในหนังสือเรียนวิชาการงานพื้นฐานอาชีพอยู่แล้ว เป็นวิธีที่ง่ายสำหรับเด็ก ซึ่งแม้ว่าตนเองจะชอบการเลี้ยงไก่มากกว่าการเพาะกล้า แต่ก็สามารถเพาะกล้าได้ หากใครต้องการทำตามก็ไม่ยาก ให้เตรียมกระถาง ดิน และเมล็ดพันธุ์ที่ต้องการปลูก จากนั้นนำดินใส่กระถาง ทำตรงกลางดินให้เป็นรู จากนั้นนำเมล็ดพันธุ์พืชหยอดลงไป กลบดิน รดน้ำ เพียงเท่านี้ก็จะได้ต้นไม้ตามต้องการ

4-33-684x1024

ส่วน เด็กหญิงสุวันนา แซ่หาญ หรือ น้องจอย นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 บอกว่า มีพื้นฐานการทำการเกษตรจากครอบครัวในการทำไร่พริก เมื่อว่างจากการเรียนก็จะลงแปลงพริกช่วยพ่อกับแม่ สิ่งที่ทำเป็นประจำคือการใส่ปุ๋ยให้กับต้นพริก หากมีโอกาสได้บอกเพื่อนที่ไม่มีโอกาสเข้ามาสัมผัสการทำการเกษตรเหมือนตน จะบอกว่า ควรลอง เพื่อเพิ่มประสบการณ์ให้กับตนเอง และถ้าเลือกได้จะเลี้ยงไก่ เพราะเรียนรู้ขั้นตอนการเลี้ยงไก่จากโรงเรียนมาแล้ว

สำหรับ เด็กหญิงนภสร มิ่งมานิต หรือ น้องพั้ว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 บอกว่า ครอบครัวทำการเกษตรทำไร่ข้าวโพด ไร่มันฝรั่ง เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ส่วนตัวแล้วชอบการเลี้ยงหมู มีความสุขทุกครั้งที่นำอาหารมาให้หมูกิน การให้อาหารหมูแม้ว่าจะเป็นผักที่เหลือทิ้งจากไร่ ก็ควรนำไปลวกน้ำร้อนให้สุก เพราะถ้าดิบ อาจทำให้หมูมีปัญหาในระบบการย่อยอาหาร จึงต้องป้องกันไว้ก่อนด้วยการให้หมูกินผักสุก ส่วนกิจกรรมเกษตรภายในโรงเรียนรับผิดชอบการเลี้ยงไก่ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องยากเช่นเดียวกัน

“สำหรับหนูแล้ว การเกษตรเปรียบเสมือนสิ่งที่เราต้องเจอทุกวัน เราสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้ และเป็นผลดีกับตนเอง เช่น ประสบการณ์จากการเลี้ยงไก่ที่โรงเรียน ทำให้สามารถนำมาวิเคราะห์กับไก่ที่เลี้ยงเองที่บ้านได้ และหาวิธีป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาลักษณะเดียวกับที่เกิดขึ้นที่โรงเรียนอีก”

16-8-768x432

ในตอนท้ายมีโอกาสคุยกับผู้อำนวยการโรงเรียน ทราบว่า โรงเรียนมีความพร้อมเรื่องพื้นที่ แต่สิ่งที่ยังบกพร่องและหาเติมไม่ได้ คือ ด้านวิชาการ อาจารย์เดชา บอกว่า บุคลากรผู้สอน นักเรียน มีความพร้อมเปิดรับความรู้และวิทยาการใหม่ๆ ด้านการเกษตร แต่ติดปัญหาที่ไม่มีเครื่องมือและอุปกรณ์ รวมถึงความรู้ในเชิงวิชาการ ดังนั้น หากมีหน่วยงานใดต้องการเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนหรือส่งเสริมในเชิงวิชาการและอุปกรณ์ทางการเกษตร ทางโรงเรียนยินดีเปิดกว้างรับน้ำใจนั้น

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม โรงเรียนรวมไทยพัฒนา 3 ตำบลรวมไทยพัฒนา อำเภอพบพระ จังหวัดตาก หรือติดต่อ อาจารย์เดชา แสงท้าว ผู้อำนวยการโรงเรียนรวมไทยพัฒนา 3 โทรศัพท์ (093) 134-4519