โรงเรียนเทศบาลวัดอมฤตวารี อุทัยธานี ปั้นเด็กทำเกษตร สอนเศรษฐกิจพอเพียง

เกือบครบ 10 ทศวรรษ ของการก่อตั้งโรงเรียนเล็กๆ ที่ตั้งอยู่กลางทุ่ง ในพื้นที่ตำบลอุทัยใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี และถึงปัจจุบัน ก็ยังคงเป็นโรงเรียนเล็กๆ อยู่เช่นเดิม เพราะมีการเรียนการสอนในระดับปฐมวัย และ ระดับประถมศึกษาเท่านั้น

อาจารย์วนิดา พิพัฒน์วัฒนะกุล ผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนเทศบาลวัดอมฤตวารี ผู้ดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อยและการเรียนการสอนทั้งหมดของโรงเรียน พานักเรียนจำนวนหลายสิบคนให้การต้อนรับ พร้อมกับน้ำกระเจี๊ยบ ฝีมือนักเรียน จากวิชาเรียนการงานพื้นฐานอาชีพ มาเสิร์ฟคลายร้อน

นักเรียนทั้งหมดของโรงเรียน มีทั้งสิ้น 231 คน มีบุคลากรทางการศึกษา 18 คน

เมื่อเปรียบเทียบพื้นที่โรงเรียนที่มีอยู่ไม่มากนัก กับ จำนวนนักเรียนและบุคลากร ก็ถือว่าเหมาะสม ซึ่งพื้นที่โดยรอบถูกบริหารจัดการเป็นอาคารเรียนส่วนใหญ่ รองลงมาเป็นอาคารอเนกประสงค์ โรงอาหาร และมีสนามหญ้าเล็กๆ พื้นที่ที่เหลือนอกจากนั้นเป็นพื้นปูนซีเมนต์ แต่ถึงอย่างนั้นโรงเรียนก็ยังให้ความสำคัญกับการเกษตร ยังคงทำแปลงผักสวนครัวและปลูกไม้ผล เลี้ยงปลา ไว้ในพื้นที่ส่วนหนึ่ง

อาจารย์วนิดา บอกว่า โรงเรียนก่อตั้งมานาน บุคลากรไม่มาก และไม่มีความถนัดเรื่องของการทำการเกษตรแม้แต่น้อย ทำให้การเกษตรในโรงเรียนมีเพียงการทำแปลงผักสวนครัว โดยเฉพาะพืชอายุสั้น ไว้สำหรับให้นักเรียนได้ศึกษาตามรายวิชาการงานพื้นฐานอาชีพ เพื่อให้นักเรียนได้มีโอกาสลงมือปฏิบัติจริงบ้างเท่านั้น เพราะโดยพื้นฐานเดิมของนักเรียนส่วนใหญ่ มีพื้นฐานจากครอบครัวที่ทำการเกษตรอยู่แล้ว เมื่อโรงเรียนเห็นความสำคัญแต่ขาดงบประมาณในการบริหารจัดการส่วนนี้ จึงทำให้แปลงเกษตร ยังคงเป็นแปลงเกษตรสำหรับรองรับการเรียนการสอนวิชาการงานพื้นฐานอาชีพเท่านั้น

“ปัญหาการขาดแคลนงบประมาณสำหรับบริหารจัดการเป็นปัญหาใหญ่ของโรงเรียน” อาจารย์วนิดา บอก

เมื่อปี 2558 ที่ผ่านมา เป็นความโชคดีของโรงเรียนที่มีหน่วยงานเอกชนเห็นความสำคัญ จัดสรรงบประมาณและวัตถุดิบในการทำแปลงเกษตรมาให้กับโรงเรียน จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการสานต่อกิจกรรมการเกษตรของโรงเรียนเป็นต้นมา

การปลูกผักสวนครัวลงแปลง เป็นกิจกรรมที่ต้องมีอยู่แล้ว เพราะเดิมปฏิบัติมาก่อน สิ่งที่เพิ่มขึ้นหลังจากได้รับงบประมาณ คือ การทำแปลงปลูกพืชไร้ดิน การเพาะเห็ดนางฟ้า การเลี้ยงปลาดุก และการปลูกไม้ผล

กล้วย เป็นไม้ผลชนิดเดียวที่โรงเรียนเลือกมาปลูก เพราะดูแลง่าย ค่าใช้จ่ายในการดูแลไม่สูง มีเพียงการทำน้ำหมักชีวภาพมาใช้รดต้นกล้วย และการรดน้ำในทุกๆ วันเท่านั้น

การทำแปลงปลูกพืชไร้ดิน เป็นสิ่งที่โรงเรียนเลือกทำเป็นอันดับแรก เพราะเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่นักเรียนยังไม่เคยทำมาก่อน และเป็นเรื่องของเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรสมัยใหม่ ที่จะทำให้เด็กนักเรียนได้รับประโยชน์มากกว่าการอ่านในจากหนังสือเรียน และเด็กนักเรียนจะมีแนวคิดในเรื่องของการทำการเกษตรสมัยใหม่ประยุกต์ได้จากกิจกรรมนี้

การเพาะเห็ด โรงเรียนเลือกทำโรงเรือนเพาะเห็ดนางฟ้า เพราะเป็นเห็ดที่ง่ายต่อการจำหน่าย เป็นเห็ดในทางการตลาด ซื้อขายง่าย ราคาไม่สูง การดูแลง่ายกว่าเห็ดชนิดอื่น และเมื่อนำมาประกอบอาหารเด็กจะเลือกรับประทานไม่เหลือทิ้ง

การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ เป็นการเลี้ยงสัตว์ชนิดเดียวในโรงเรียน เพราะโรงเรียนมีบุคลากรน้อยและไม่มีความถนัดทางการเกษตร การเลือกเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพราะการดูแลไม่มีขอบเขตกว้างมากนัก และอุปกรณ์หาซื้อได้ง่าย อีกทั้งการให้อาหารปลาหรือการทำความสะอาดบ่อซีเมนต์เลี้ยงปลาก็สามารถทำได้โดยง่าย

ปลาดุกในบ่อซีเมนต์ มีทั้งหมด 3 บ่อ บ่อละ 200-300 ตัว การให้อาหารทำในเวลาเช้าและเย็น และจับไปประกอบอาหารกลางวัน หากได้จำนวนมากเกินกว่าความต้องการสำหรับประกอบอาหารก็นำไปจำหน่าย

อาจารย์วนิดา บอกว่า การเลี้ยงไก่ไข่ ก็เป็นสิ่งที่โรงเรียนเคยมีแนวคิด แต่เมื่อพิจารณาจากต้นทุนแล้ว ไม่สามารถดำเนินการได้ และแม้ว่าจะมีผู้สนับสนุนงบประมาณ จำนวนนักเรียนและบุคลากรในการดูแลไก่ไข่ ก็ไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดปัญหา ดังนั้น การเลี้ยงไก่ไข่จึงไม่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมสำหรับโรงเรียน

ในการเรียนการสอนวิชาการงานพื้นฐานอาชีพของทุกระดับชั้น อาจารย์ในวิชาจะพานักเรียนลงแปลงเกษตร เป็นเรื่องปกติ และเป็นส่วนหนึ่งของวิชา ให้นักเรียนได้ลงมือเพาะกล้า ถอนวัชพืช ให้อาหารปลาดุก เป็นการเก็บคะแนน แต่การดูแลพื้นที่เกษตรของโรงเรียน มีการจัดเวรนักเรียนไว้เรียบร้อย

การจัดเวรนักเรียนเพื่อดูแลกิจกรรมเกษตร แบ่งออกเป็น 5 กิจกรรม กิจกรรมละ 2 คน สลับเปลี่ยนหมุนเวียนทุกวันในรอบสัปดาห์ การทำหน้าที่ส่วนนี้เป็นหน้าที่ของเด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลายเท่านั้น เพราะความรับผิดชอบมีมากกว่า

เมื่อถึงรอบเก็บผลผลิตจากกิจกรรมเกษตรในโรงเรียน เด็กนักเรียนที่เป็นเวรรับผิดชอบดูแล จะเก็บผลผลิตนำส่งเข้าโรงครัวก่อน จากนั้นเมื่อเหลือจากโรงครัว จึงจะนำมาคัด แล้วนำไปฝากแม่ค้าในชุมชนจำหน่าย แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีลูกค้าซื้อ เพราะผลผลิตที่เหลือนำไปฝากจำหน่าย แม่ค้าที่รับฝากจะซื้อไปทั้งหมด

เด็กหญิงศุภากร คนดี หรือ น้องฟ้า นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อายุ 11 ปี และ เด็กหญิงจันทร์จิรา บุญธัญกิจ หรือ น้องน้ำตาล นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อายุ 11 ปี ช่วยกันเล่าว่า ทั้งน้องฟ้าและน้องน้ำตาล มีหน้าที่ดูแลปลาดุก จำเป็นต้องให้อาหารเช้าและเย็น และต้องสังเกตว่าปลากินอาหารมากน้อยแค่ไหน เมื่อถึงสัปดาห์ก็ต้องเปลี่ยนน้ำให้กับปลาดุก ต้องขัดขี้ตะไคร่น้ำที่เกาะขอบบ่อซีเมนต์ออกให้หมด ซึ่งทั้งน้องฟ้าและน้องน้ำตาล ต้องลงไปในบ่อซีเมนต์เพื่อล้างบ่อให้สะอาด เป็นการเปลี่ยนน้ำให้กับปลาดุก และน้องทั้งสองคน ระบุว่า แม้จะดูเหมือนเป็นงานสกปรก แต่จริงๆ แล้ว ได้ประสบการณ์ในการประกอบอาชีพที่ดีมาก และเป็นการเจริญรอยตามการทำเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ รัชกาลที่ 9 ด้วย

ด้าน น้องนัททิกานต์ เรืองผึ้ง หรือ น้องแบม นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อายุ 11 ปี และ เด็กหญิงอรัญญา อุ่นใจ หรือ น้องออม นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อายุ 11 ปี ทั้งคู่รับผิดชอบการเพาะเห็ดนางฟ้า เล่าให้ฟังว่า การดูแลเห็ดไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องรักษาความชื้นและต้องหมั่นรดน้ำสม่ำเสมอ เมื่อเห็ดเริ่มติดดอก ต้องรีบเก็บไปจำหน่ายก่อนเห็ดจะบาน หากบานแล้วจะขายได้ราคาถูก เมื่อเก็บเห็ดมาแล้วต้องนำมาคัดดอกยังไม่บานและดอกบานออกจากกัน แล้วนำเห็ดที่บานแล้วไปจำหน่ายก่อน โดยฝากขายกับแม่ค้าในราคากิโลกรัมละ 60-70 บาท

สำหรับ เด็กหญิงนภัสสร สันป่าแก้ว หรือ น้องภัส นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อายุ 11 ปี และ เด็กหญิงกณิศ นุ่มโต หรือ น้องข้าว นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อายุ 11 ปี ทั้งคู่มีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลผักสวนครัวในแปลง บอกว่า การปลูกผักสวนครัว เป็นการทำการเกษตรที่ง่ายที่สุด เพราะรดน้ำเช้าและเย็น เมื่อมีเวลาจะเก็บวัชพืชในแปลงออก และให้ปุ๋ยบ้างตามสมควร เพราะผักส่วนใหญ่เป็นพืชระยะสั้น การดูแลก็สั้นตามไปด้วย เช่น มะนาว ตะไคร้ กะเพรา มะม่วงหาวมะนาวโห่ ผักบุ้ง และมะเขือ

เด็กหญิงธนพรพรรณ ตระกูลอินทร์ หรือ น้องฟิว นักเรียนชั้นประถมปีที่ 6 อายุ 11 ปี และ เด็กหญิงบุษรา คำพา หรือ น้องเฟิร์ส นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อายุ 11 ปี บอกถึงการเพาะถั่วงอกคอนโดฯ ว่า เป็นการทำกิจกรรมการเกษตรที่แปลกกว่าเพื่อน แต่ได้ผลดี ซึ่งน้องฟิวและน้องเฟิร์ส เล่าว่า หากต้องการเพาะถั่วงอกก็สามารถทำได้ง่าย โดยการนำอุปกรณ์ทุกชิ้นไปลวกน้ำเป็นการฆ่าเชื้อ ป้องกันเชื้อราที่อาจเกิดขึ้นและทำให้ผักเน่า จากนั้นนำอุปกรณ์ถังมาวาง นำตะแกรงเหล็กขนาดความสูง 2 นิ้ว มาวาง นำกระสอบตัดเป็นรูปวงกลม นำตะแกรงพลาสติกมาวาง แล้วนำเมล็ดถั่วเขียวที่แช่น้ำไว้นาน 24 ชั่วโมง มาโรยทิ้งไว้ เพียง 1 สัปดาห์ ถั่วเขียวจะงอกขึ้นมา ก็สามารถนำไปรับประทานหรือจำหน่ายได้

ทั้งหมดเป็นแนวคิดทางการเกษตรของเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษา ที่เป็นผู้ลงมือปฏิบัติเอง มีอาจารย์ที่พอมีความรู้แนะนำ ซึ่งถือว่าเป็นโอกาสทางการศึกษาของเด็กนักเรียนที่หาที่ไหนได้ยาก หากผู้สนใจสนับสนุนงบประมาณหรือส่งเสริมความรู้ทางการเกษตรให้กับโรงเรียน สามารถติดต่อได้ที่โรงเรียนเทศบาลวัดอมฤตวารี ตำบลอุทัยใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี ในวัน และเวลาราชการ