วช.หนุนงานวิจัยเพิ่มมูลค่าปุ๋ยมูลไส้เดือนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ให้การสนับสนุนทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ในโครงการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นในการเพิ่มมูลค่าฉี่และมูลไส้เดือนดิน ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงโดยสร้างศูนย์การเรียนรู้ให้กับชุมชนในการพัฒนาเสริมศักยภาพปุ๋ยอินทรีย์จากมูลไส้เดือนเพิ่มมูลค่าทางการเกษตรให้กับเกษตรกรตามวิถีธรรมชาติ อีกทั้งยังสามารถสร้างรายได้จากการนำปุ๋ยอินทรีย์มีคุณภาพไปจำหน่าย เป็นการสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน เกิดการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน ซึ่งปัจจุบันมีการขยายผลต่อยอดให้กับชุมชนท้องถิ่นจำนวน 5 แห่งในจังหวัดกำแพงเพชร และพร้อมที่จะนำองค์ความรู้ด้านเกษตรอินทรีย์จากปุ๋ยมูลไส้เดือนไปถ่ายทอดสู่ชุมชนอื่น ๆ ที่สนใจ

ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. ภายใต้กระทรวง อว. เป็นองค์กรสำคัญของรัฐในการขับเคลื่อนเสริมศักยภาพงานวิจัย และนวัตกรรมต่างๆรวมถึงการสร้างองค์ความรู้สามารถนำมาต่อยอดใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันและในเชิงพาณิชย์ เพื่อเสริมสร้างรายได้และผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในภาคการเกษตรซึ่งปัจจุบันนี้ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติ ทาง วช. ได้ให้การสนับสนุนทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ในโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นในการผลิตปุ๋ยหมักจากฉี่และมูลไส้เดือนดินช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร และยังเป็นการสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชาวชุมชนตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ บัวเทศ อาจารย์จากภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมไฟฟ้า คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ในฐานะหัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นในการเพิ่มมูลค่าฉี่และมูลไส้เดือนดิน ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจากเดิมกลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงไส้เดือนดินจะจำหน่ายมูลไส้เดือนดินอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 บาท และฉี่ไส้เดือนดินลิตรละ 100 บาท แต่ถ้านำภูมิปัญญาท้องถิ่นในการนำเอาเชื้อราไตรโคเดอร์มาผสมลงในมูลและฉี่ไส้เดือนดิน จะเพิ่มมูลค่าของมูลไส้เดือนดินเป็นกิโลกรัมละ 150 บาท และฉี่ไส้เดือนดินเป็นลิตรละ 150 บาท ทำให้กลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงไส้เดือนดินมีรายได้เพิ่มขึ้น และเป็นการสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน เกิดการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยใช้ทรัพยากร หรือ วัตถุดิบทางเกษตรในพื้นที่ จำพวกเศษผัก ผลไม้ และเศษอาหารในครัวเรือนหรือตลาดสด นำไปใช้เป็นอาหารเลี้ยงไส้เดือนดิน ซึ่งองค์ความรู้ที่ถ่ายทอดให้กับชาวบ้านจะเป็นการเสริมภูมิปัญญาในการเพิ่มมูลค่าฉี่และมูลไส้เดือนดิน โดยใช้เชื้อราไตรโคเดอร์ รวมถึงเทคนิคการเลี้ยงไส้เดือนดินเพื่อเพิ่มมูลค่าฉี่และมูลไส้เดือนดิน

จากผลวิจัยโครงการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ กล่าวว่า ได้ผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจอย่างเป็นรูปธรรมเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นนอกจากจะลดค่าใช้จ่ายในการซื้อสารเคมีแล้วยังได้กำไรจากการจำหน่ายปุ๋ยมูลไส้เดือนคิดเป็นร้อยละ 50 ของต้นทุนเดิมและยังเป็นการเพิ่มคุณภาพให้สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของเกษตรกรในพื้นที่

ปัจจุบันนี้มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้จำนวน 5 แห่งในจังหวัดกำแพงเพชร ประกอบด้วย เทศบาลตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน ชุมชนบ้านคลองน้ำเย็นใต้ ตำบลโค้งไผ่ อำเภอขาณุวรลักษบุรี ชุมชนบ้านไทรงาม ตำบลหนองแม่แตง อำเภอไทรงาม วิสาหกิจชุมชนเกษตรอัตลักษณ์กำแพงเพชร อำเภอบึงสามัคคี และชุมชนท่าพุทรา อำเภอคลองขลุงสามารถผลิตปุ๋ยหมักมูลไส้เดือนจากขยะอินทรีย์ได้ประมาณ 1 ลิตรต่อสัปดาห์ โดยการเลี้ยงไส้เดือนดินประมาณ 1 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ซึ่งสามารถลดรายจ่ายในการซื้อจุลินทรีย์จากท้องตลาดที่ขายประมาณ 250-300 บาทต่อลิตร และหลังจากเสร็จสิ้นโครงการ คณะผู้ดำเนินงานได้นำเอาองค์ความรู้จากโครงการไปขยายผลสู่การปฏิบัติทำการอบรมให้แก่เกษตรกรของเทศบาลตำบลปากดง โครงการผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนดินเพื่อใช้ในเกษตรอินทรีย์

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อได้ที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิษณุ บัวเทศ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร ต.นครชุม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร โทรศัพท์ 095 626 4411 Email:[email protected]