“หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด” แมลงต่างถิ่นที่ปักหลักแล้วในไทย เกษตรกรผวาทั้งประเทศ

หนอนชนิดนี้ นอกจากข้าวโพดที่มันชอบมากแล้ว มันยังสามารถเข้าโจมตีพืชได้อีกกว่า 80 ชนิด ได้แก่ ข้าว อ้อย พืชตระกูลผักทั้งหมด ไม้ดอกไม้ประดับ และปักหลักแพร่ระบาดแล้วเกือบทั่วประเทศ

ในวงการผู้ปลูกข้าวโพด ณ ขณะนี้ ไม่มีเรื่องไหนจะฮ็อตเท่าเรื่อง หนอนกระทู้ระบาดอีกแล้ว

และไม่ใช่ว่าเฉพาะเกษตรกรชาวไทย แต่เป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเกือบครึ่งโลก เพราะหนอนตัวนี้ เดิมทีเป็นหนอนเฉพาะถิ่นทวีปอเมริกา แต่ปัจจุบันระบาดลามไปทั่ว เริ่มที่แอฟริกา เข้ามาเอเชีย อินเดีย พม่า ไทย ส่วนทางยุโรปก็มีพบ แต่ไม่มากเพราะทางยุโรปมีอากาศหนาวและมีเทคโนโลยีการจัดการที่ดี

แมลงศัตรูพืชตัวนี้เป็นหนอนผีเสื้อกลางคืน ชื่อหนอนกระทู้ ฟอลล์ อาร์มีวอร์ม (fall armyworm) เรียกย่อๆ ว่า FAW เนื่องจากหนอนตัวนี้เป็นแมลงศัตรูพืชสำคัญที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทย ตอนแรกจึงเรียกทับศัพท์ว่า “หนอนกระทู้ ฟอลล์ อาร์มีวอร์ม” (fall armyworm) ล่าสุดเพิ่งมีการตั้งชื่อสามัญภาษาไทยว่า “หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด”

และเหตุที่เรียกว่า อาร์มี หรือที่แปลว่า กองทัพ นั่นก็คือเป็นเพราะว่าช่วงการระบาดหนักของหนอน มันเดินไปเป็นกองทัพ บุกหน้ากระดานมาจำนวนมหาศาล

อย่างที่บอก หนอนตัวนี้ทำสะเทือนไปครึ่งโลก เริ่มเข้าไทยปลายปีที่แล้ว ผ่านมาทางอินเดีย พม่า โดยเจ้าแมลงศัตรูพืชที่สามารถบินได้ไกลเฉลี่ยคืนละ 100 กิโลเมตร ขยายพันธุ์ได้รวดเร็ว ใช้เวลาแค่ รุ่นละ 30-40 วัน (ระบาดเร็ว เพราะวงจรชีวิตมันสั้นมาก ไข่-หนอน-ดักแด้- ตัวเต็มวัย ใช้เวลา 31 วัน) และเป็นแมลงศัตรูพืชที่กินพืชได้มากกว่า 80 ชนิด

นักวิชาการกรมวิชาการเกษตร คุณศรุต สุทธิอารมณ์ ผู้อำนวยการกลุ่มบริหารศัตรูพืช สำนักวิจัยพัฒนาการอารักขาพืช กรมวิชาการเกษตร ถึงกับบอกว่า หนอนชนิดนี้ สร้างการระบาดที่รุนแรงและรวดเร็ว เผลอๆ จะที่สุดในโลกด้วยซ้ำ

นอกจากนี้ เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ ยังได้พูดคุยกับ ดร. ณิชานันท์ เกินอาษา อาจารย์ประจำภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เพิ่มเติม จนสามารถประมวลข้อควรรู้ต่างๆ พร้อมกับทำความรู้จักกับหนอนตัวนี้เป็นข้อๆ ดังนี้

  1. เป็นแมลงต่างถิ่นที่เรียกว่า เป็นเอเลี่ยนสปีชี่ส์ จากทวีปอเมริกา
  2. การระบาดในทวีปอเมริกา จะหยุดการระบาดเป็นพักๆ หากเข้าฤดูหนาว เนื่องจากแมลงจะตายที่อุณหภูมิต่ำกว่า 10 องศาเซลเซียส
  3. องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (อังกฤษ : Food and Agriculture Organization of the United Nations หรือ FAO) เคยออกมาเตือน ตั้งแต่ปี 2016 ว่าแมลงตัวนี้ เริ่มข้ามจากทวีปอเมริกามาแอฟริกาแล้ว
  4. ความสามารถพิเศษคือ ช่วงเป็นผีเสื้อ บินได้ไกลคืนละนับ 100 กิโลเมตร ฉะนั้น ไม่ต้องแปลกใจที่มันสามารถแพร่ระบาดจากแอฟริกาผ่านมาทางอินเดีย พม่า และไทย โดยการข้ามพรมแดนประเทศมาเรื่อย ในลักษณะ transboundary
  5. พบการระบาดที่ประเทศไทย เมื่อปลายปี 2561 ในช่วงต้น ระบาดหนักในบางพื้นที่ จนถึงปัจจุบัน (พฤษภาคม 2562) พบการระบาดหนักเกือบทุกภาคของประเทศ
  6. หนอนชนิดนี้ นอกจากข้าวโพดที่มันชอบมากแล้ว มันยังสามารถเข้าโจมตีพืชได้อีกกว่า 80 ชนิด ได้แก่ ข้าว อ้อย พืชตระกูลผักทั้งหมด ไม้ดอกไม้ประดับ
  7. ในช่วงที่เป็นผีเสื้อ มันจะชอบข้าวโพดต้นอ่อนมากที่สุด อายุ 10-20 วัน โดยเข้าไปวางไข่ในต้นข้าวโพด ตรงที่เป็นส่วนกรวย แล้วฝังตัวอยู่ในนั้น ซึ่งทำให้เกษตรกรมองไม่เห็น ฉีดพ่นสารเคมีที่สัมผัสตัวตายก็ไม่ได้ผล
  8. เนื่องจากวงจรชีวิตสั้น ราว 30 วัน ทำให้เกิดการดื้อยาสูงมาก สารเคมีที่ใช้ทั่วไปในกลุ่มคาร์บาเมต ออร์กาโนฟอสเฟต หรือไพริทอย มักไม่ได้ผล (ดื้อยามาตั้งแต่ผ่านจากอินเดีย พม่าแล้ว) ต้องสารเคมีกลุ่มใหม่ๆ จัดการ
  9. แม่ผีสื้อ 1 ตัว วางไข่ได้ราว 2,000 ฟอง ใน 1 ชั่วชีวิต ทำให้การระบาดเร็วและแรง ยิ่งได้ภูมิอากาศแบบร้อนชื้นในบ้านเรา ทำให้เป็นสวรรค์ของหนอนตัวนี้
  10. ถ้ายังนึกถึงความรุนแรงของการระบาดไม่ออก ลองนึกถึง ตั๊กแตนปาทังก้า ที่บุกทำลายข้าวโพดเมื่อราวปี 2525-2530 แต่ปัจจุบันปัญหานี้หมดไป เพราะคนไทยจับมากินจนหมด กระทั่งต้องนำเข้ามาจากกัมพูชาจำนวนมากในแต่ละปี
  11. สรุป ถ้ายังควบคุมไม่ได้ หรือรับมือไม่ได้ หนอนตัวนี้จะสร้างปัญหาให้กับเกษตรกรอย่างยิ่ง และส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจอีกมหาศาล เพราะไม่ใช่แค่ข้าวโพดคนกิน แต่รวมถึงข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อันหมายถึงอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ทั้งประเทศ

เมื่อเร็วๆ นี้ นักวิชาการ ข้าราชการ นักธุรกิจเคมีเกษตร เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในประเทศไทย และผู้สื่อข่าว จากหลายประเทศในเอเชีย มารวมตัวกันในงาน Fall armyworm Education Forum ที่ โรงแรมเซ็นทารา ลาดพร้าว จัดโดย สภาหอการค้าสหรัฐอเมริกา-อาเซียน, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน และ Corteva Agriscience

คุณชัยสรรค์ อภัยนอก เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เล่าในงานสัมมนาว่า หนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุด ได้เข้าโจมตีแปลงข้าวโพดที่ทำอยู่ จำนวน 500 ไร่ ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ราวๆ เกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ คือจากเดิมที่มีต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 5,000 บาท ต่อไร่ แต่เมื่อต้องใช้สารเคมีกำจัดหนอน ทำให้เพิ่มต้นทุนการผลิตขึ้นไปอีก 1,500 บาท ต่อไร่

ในขณะที่ คุณสมชาติ รักษาลิกร เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด จำนวน 30 ไร่ ที่ อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ก็บอกว่า ครั้งแรกที่เจอหนอนตัวนี้ ยังไม่ทราบว่าเป็นหนอนอะไร กระทั่งได้รับการแจ้งเตือนจากกรมวิชาการเกษตร และพยายามหาทางรับมือกับหนอนตัวนี้อยู่

ทางด้าน คุณสมศักดิ์ สมานวงศ์ หัวหน้าทีมฝ่ายถ่ายทอดเทคโนโลยี ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คอร์เทว่า อะกริซายน์ เผยว่า ในเบื้องต้นได้ให้คำแนะนำเกษตรกรให้เพิ่มการเฝ้าระวัง และใช้สารเคมีให้ถูกต้องตามเวลาและตามสถานการณ์ ไม่ใช่เจอปุ๊บใช้สารเคมีเลย จุดคุ้มทุนต่อการใช้สารเคมีในการกำจัดหนอน อยู่ที่การเข้าทำลาย 20 เปอร์เซ็นต์

นอกจากนี้ ยังอาจเริ่มต้นด้วยการใช้สารคลุกเมล็ด หรือซื้อเมล็ดข้าวโพดที่คลุกสารป้องกันหนอน ก็จะช่วยป้องกันหนอนไปได้ตั้งแต่เริ่มปลูก ไปจนถึง 18-20 วัน จากนั้นก็เฝ้าระวัง หากต้องใช้สารเคมี ก็ใช้สารเคมีตามที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำ จะดีที่สุด

ซึ่งในส่วนของ คอร์เทว่า อะกริซายน์ ก็แนะนำ สารสไปนีโทแรม ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ตัวเดียวกับที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำ รวมทั้งสารชีวภัณฑ์จากแบคทีเรีย อย่าง บาซิลัส ทรูรินจิเอนซิส อีกด้วย (Bacillus thruringiensis var.aizawai  และ Bacillus thruringiensis var.Kurstaki)