“ข้าว” ในเมืองไทย มาจากไหน?

ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2562 ที่ผ่านมา ข่าวคราวของประธานมูลนิธิข้าวขวัญ-อาจารย์เดชา ศิริภัทร กับน้ำมันกัญชา ปรากฏโด่งดังทั่วประเทศ ในเวลานี้ไม่มีใครอีกแล้ว ที่ไม่รู้จักงานด้านกัญชากับอาจารย์เดชา ทั้งที่ก่อนหน้านี้ตลอด 30 กว่าปี อาจารย์เดชาทำงานเรื่องข้าวมายาวนานมากๆ หากนอกแวดวงเกษตรธรรมชาติแล้ว แทบไม่มีใครรู้จักท่าน

ดิฉันเองได้เคยเป็นลูกมือเก็บเมล็ดพันธุ์พืชพื้นเมืองกับท่านมาตั้งแต่เรียนจบปริญญาตรีใหม่ๆ และยังได้ทำงานเรื่องข้าว-แม่โพสพกับอาจารย์ ที่ดิฉันเรียกท่านว่า “พี่เดชา” ได้เดินทางไปไต้หวันไปทำงานเกี่ยวกับข้าวและปุ๋ยจุลินทรีย์กับพี่เดชาอยู่หลายครั้ง ที่มีเรื่องหลากหลายเกี่ยวกับข้าวอันน่าสนใจยิ่ง
คนเพชรบุรีบ้านเรา ไม่เพียงแต่ชำนาญสุดๆ ในเรื่องการปลูกกัญชา ทำเกลือ ทำน้ำตาลโตนด ทำประมง ทำสวนผลไม้ แต่คนเมืองเพชรยังทำนาปลูกข้าว เลี้ยงวัวกันทั่วทุกอำเภอ ดิฉันเคยคิดเล่นๆ ว่า หากมีสงคราม ปิดจังหวัด ปิดประเทศ คนเพชรจะสบายมาก เผชิญภาวะสงครามได้สบายมาก เพราะอาหารการกินมีครบทุกอย่าง เกลือ ข้าว น้ำตาล กุ้ง ปู ปลา หมู วัว ไก่ เป็ดมีหมด ไม่ต้องอดอยากขาดแคลนอาหารใดๆ เลยก็ว่าได้

ว่าเฉพาะเรื่องข้าวนั้น ดิฉันได้ความรู้จากพี่เดชามามาก จึงขอบันทึกไว้ในงานเขียนชิ้นนี้

น้องลิลลี่ กับ อาจารย์ล้อม เพ็งแก้ว ทะเลน้อย พัทลุง เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

คนไทยปลูกข้าวมาตั้งแต่เมื่อใด?

ในพื้นที่ทั่วไปของทวีปเอเชีย ผู้คนส่วนใหญ่นิยมปลูกและบริโภคข้าวตระกูล Oryza Sativa มาแต่โบราณ โดยเฉพาะข้าวเมล็ดยาว (Indica) ซึ่งแบ่งเป็น 2 ชนิด คือข้าวเหนียวและข้าวเจ้า

สำหรับเมล็ดข้าวอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ระบุไว้ในคำนำเสนอในหนังสือ “ข้าวปลาหมาเก้าหาง : ประชุมคำบอกเล่าเก่าแก่เกี่ยวกับกำเนิดต้นข้าว” ว่า “นักโบราณคดีได้ขุดค้นพบแล้วในถ้ำเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีอายุราว 7,000 ปีมาแล้ว นับว่าเก่าแก่กว่าที่อื่นใดในโลก”

นอกจากนี้ ยังมีหลักฐานเก่าแก่ทางด้านโบราณคดีปรากฏชัดเจนว่า ในปี พ.ศ. 2512 เมื่อมีการขุดค้นที่โนนนกทา ตำบลบ้านโคก อำเภอภูเขียว จังหวัดขอนแก่น (ใกล้กับแหล่งขุดค้นที่อำเภอบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี) ทางคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากรและมหาวิทยาลัยฮาวาย ได้ขุดค้นพบเศษ

เครื่องปั้นดินเผา มีรอยแกลบข้าวติดอยู่ เมื่อนำไปตรวจสอบหาอายุด้วยเรดิโอคาร์บอนหรือคาร์บอน 14 โดยวัดแสงกัมมันตภาพ (Radioactivity) ของคาร์บอนที่หลงเหลืออยู่ในอินทรียวัตถุโบราณพบว่า รอยแกลบข้าวในเศษเครื่องปั้นดินเผาโนนนกทามีอายุประมาณ 3,500 ปี ก่อนคริสตกาล หรือประมาณ 4,500 ปีที่ผ่านมา

หลักฐานการกินข้าวของผู้คนบนผืนแผ่นดินไทยจึงมีมาแล้วตั้งแต่ 5,000-7,000 ปีที่ผ่านมา
สำหรับพันธุ์ข้าวในเมืองไทยนี้ คุณสุจิตต์ วงษ์เทศ กล่าวไว้ในหนังสือ “ข้าวปลาหมาเก้าหาง : ประชุมคำบอกเล่าเก่าแก่เกี่ยวกับกำเนิดต้นข้าว” ว่า

“พันธุ์ข้าว ยุคแรกๆ ในประเทศไทยมาจากข้าวป่า มีขึ้นทั่วไป แต่เมล็ดมีลักษณะอ้วน ป้อม จัดอยู่ในตระกูลข้าวเหนียว ถือเป็นต้นตระกูลแห่งข้าวเหนียวของภูมิภาคนี้ และอาจเกี่ยวข้องกับตระกูลข้าวญี่ปุ่นด้วย

ยุคแรกเริ่มของภูมิภาคอุษาคเนย์ คนทุกเผ่าพันธุ์กินข้าวป่ามาก่อน ซึ่งเป็นตระกูลข้าวเหนียว พบแกลบข้าวเหนียวอยู่ในแผ่นอิฐตามศาสนสถานยุคทวารวดีทั่วทั้งประเทศไทย รวมทั้งที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่สุโขทัย นครปฐม ลงไปถึงนครศรีธรรมราช แสดงว่าคนกินข้าวเหนียวเป็นอาหารหลักตั้งแต่เหนือจรดใต้

นักโบราณคดีไทยขุดพบเมล็ดข้าวเหนียวที่หุงหรือนึ่งแล้ว ตกอยู่ในดินบริเวณศาลาโถงวัดมหาธาตุเมืองสุโขทัยด้วย แสดงว่าคนทั่วไปและพระสงฆ์ยุคนั้นกินและฉันข้าวเหนียวในชีวิตประจำวันเป็นอาหารหลัก
ราว พ.ศ. 1500 มีพันธุ์ข้าวเมล็ดเรียวยาวจากอินเดียในตระกูลอินดิกา (Indica) แพร่เข้ามาพร้อมกับพระสงฆ์ พราหมณ์ และพ่อค้าจากชมพูทวีป แล้วเป็นที่นิยมก่อนในกลุ่มชนชั้นสูงของรัฐลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา จึงเรียกข้าวเจ้า หมายถึงข้าวที่เจ้าเสวย หลังจากนั้น พันธุ์ข้าวชนิดนี้จึงแพร่กระจายทั่วไปในชุมชนหมู่บ้าน บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา สืบมาจนถึงข้าวหอมมะลิยุคปัจจุบัน

ชุมชนหมู่บ้านเก่าที่สุดในประเทศไทยพบที่ภาคอีสาน มีอายุราว 5,000 ปีมาแล้ว เช่น ชุมชนที่บ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี ฯลฯ คนในชุมชนปลูกข้าวอยู่ริมหนองน้ำธรรมชาติ นับเป็นชาวนาชาวไร่ยุคแรก พบเครื่องมือเครื่องใช้หลายอย่างทำด้วยสัมฤทธิ์และเหล็กใช้ทำนาทำไร่และล่าสัตว์ รวมทั้งทำเครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสี มีแกลบหรือข้าวเปลือกเป็นส่วนผสม และรู้จักทอผ้าด้วย”

ท้องทุ่งนาเพชรบุรี ในเขตอำเภอบ้านลาด

ข้าวในเมืองไทยมาจากไหน?

ในเรื่องที่มาของข้าวเมืองไทยนี้ พี่เดชาให้ความรู้กับดิฉันว่า

“วัฒนธรรมเกี่ยวกับข้าวในประเทศไทยใกล้ชิดอย่างยิ่งกับวัฒนธรรมข้าวของคนจ้วง มณฑลกวางสี ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นไปได้อย่างมากที่เมื่อพันกว่าปีที่แล้ว วัฒนธรรมไทยใต้กับจ้วง น่าจะใกล้ชิดเป็นหนึ่งเดียวกันมาก่อน

เมื่อต้นปี พ.ศ. 2557 ผมได้ไปที่พิพิธภัณฑ์ชนชาติกวางสี ไปดูห้องของแต่ละชนเผ่า มีห้องจ้วง เขาทำบ้านจ้วงแบบโบราณ เป็นเรือนใต้ถุนสูงเหมือนเรือนชาวบ้านไทย ที่เด่นชัดของจ้วงคือเสาเรือนวางบนก้อนหิน ไม่ได้ฝังลงในดิน หากพัฒนาขึ้นมาหน่อยก็ใช้หินสกัดเป็นรูปเสา รองไว้เป็นฐาน

ฐานเสาเรือนจ้วงโบราณจะเป็นหินทั้งนั้น ไม่มีไม้เสาฝังลงดิน เหมือนกับเรือนไม้ใต้ถุนสูงที่ผมเห็นอยู่แถบตอนใต้ของกวางสี เวียดนามเหนือ พื้นที่นั้นเป็นถิ่นอาศัยของคนไทดำหลายล้านคน แถบเมืองแถง ซอนลา นาน้อยอ้อยหนู ชาวบ้านไทดำปลูกเรือนไม้ใต้ถุนสูง เสาวางบนก้อนหินทั้งนั้น ไทดำน่าจะได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมการปลูกเรือนมาจากจ้วง เพราะมีพื้นที่ติดกัน

คนไทดำกับคนจ้วงใต้สามารถพูดคุยสื่อสารกันรู้เรื่อง แล้วไทดำยังรักษาวัฒนธรรมปลูกเรือนไม้บนเสาหินไว้ได้ แต่คนไทย-ไท ในลาว อีสาน เหนือ กลางของเมืองไทย ไม่ได้ปลูกบ้านวางเสาไว้บนหินอีกแล้ว เห็นมีแต่เรือนไทยภาคใต้ที่ยังวางเสาบนหินกันไว้อยู่

อีกอย่างของคนจ้วงที่เหมือนกับคนไทยใต้คือเครื่องมือในการเกี่ยวข้าวชนเผ่าจ้วงดั้งเดิมในกวางสีเขาใช้ “แกระ” เกี่ยวข้าวเหมือนกับชาวบ้านไทยภาคใต้ ซึ่งมีแต่คนไทยใต้เท่านั้นที่ใช้แกระ คนไทยภาคอื่นใช้แต่เคียวเกี่ยวข้าว ไม่มีใครเขาใช้แกระแบบคนไทยใต้ แต่คนจ้วงยุคปัจจุบันนี้คงไม่ใช้แกระแล้ว เพราะวิถีชีวิตเปลี่ยนไปมาก

คนไทยภาคใต้ยังใช้แกระเกี่ยวข้าวอยู่ ผมคิดว่าน่าจะเป็นวัฒนธรรมเดียวกับจ้วง รับจากจ้วงโดยตรง เหมือนที่คนไทยใต้ปลูกเรือนใต้ถุนสูง วางเสาบนหิน นี่ก็คงรับมาจากจ้วงโดยตรงเช่นกัน ไทยภาคอื่นจึงไม่มีแบบนี้ เป็นไปได้ว่าคนไทยภาคใต้น่าจะอพยพทางเรือจากกวางสีมาขึ้นฝั่งภาคใต้ โดยไม่ได้ผ่านวัฒนธรรมอื่น จึงไม่มีวัฒนธรรมอื่นมาเจือปน ทำให้หลายสิ่งยังคงรักษาลักษณะแบบจ้วงไว้ได้โดยไม่เปลี่ยนแปลง

ดังนั้น ผมเห็นว่าน่าจะได้เข้าไปตรวจสอบศึกษาพันธุ์ข้าวดั้งเดิมของชาวบ้านภาคใต้ เปรียบเทียบกับพันธุ์ข้าวที่อยู่ในมณฑลกวางสีของจ้วงด้วย ควรจะมีการตรวจดู DNA ของข้าวทั้ง 2 พื้นที่ ผลที่ได้น่าจะบ่งชี้ว่าพันธุ์ข้าวจ้วงและพันธุ์ข้าวไทยใต้มีแหล่งกำเนิดเดียวกัน มีความใกล้เคียงกันมากกว่าพันธุ์ข้าวจ้วงกับพันธุ์ข้าวในภาคอื่นๆ ของไทย

พี่เดชา ศิริภัทร ช่วงสอนการคัดพันธุ์ข้าวให้กับหนุ่มสาวรุ่นใหม่ชาวไต้หวัน เมื่อวันที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

หากมีการศึกษาเช่นนี้อาจได้เห็นความใกล้ชิดระหว่างคนไทยใต้กับจ้วงอยู่มาก ที่ผ่านมาเราศึกษากันแต่ว่า คนไทยภาคใต้ได้รับวัฒนธรรมต่างๆ ค่อนข้างมากจากอินเดีย อย่างเช่น เรื่องของพันธุ์ข้าว เราพบว่าข้าวบางพันธุ์ของภาคใต้ได้รับมาจากอินเดียโดยตรง เช่น “ข้าวช่อใบไผ่” ที่ขั้วหนึ่งจะมี 2-3 เมล็ด ลักษณะแบบนี้พบแต่ในอินเดียกับในไทยภาคใต้ ไทยภาคอื่นไม่มีแบบนี้ ข้าวไทยภาคอื่นๆ ขั้วหนึ่งจะมีเพียง 1 เมล็ด ลักษณะเด่นแบบนี้ทำให้รู้ว่าข้าวช่อใบไผ่ต้องรับมาจากอินเดียผ่านทางทะเลมาอย่างแน่นอน เพราะมีลักษณะเฉพาะชัดเจนจนไม่จำเป็นต้องตรวจ DNA ก็สามารถรู้ได้

แต่ข้าวจ้วงไม่มีลักษณะเด่นเช่นนี้ ดูจากภายนอกไม่รู้ จำเป็นต้องตรวจ DNA เปรียบเทียบกับข้าวพื้นบ้านดั้งเดิมของภาคใต้ คงจะพบได้ว่าบางพันธุ์มีต้นกำเนิดมาจากจ้วง เพราะข้าวคือสิ่งจำเป็นของชีวิต ขนาดแกระเกี่ยวข้าวยังเอามา ทำไมจะไม่เอาเมล็ดพันธุ์ข้าวมาด้วย แต่เรื่องนี้ต้องศึกษาอย่างละเอียด อย่างเช่น เรื่องของภาษาก็ต้องเอาคนชำนาญภาษาถิ่นใต้มาตรวจเลยว่า ศัพท์แต่ละคำเกี่ยวข้องกับภาษาจ้วงอย่างไร มากแค่ไหน

ในพิพิธภัณฑ์ชนชาติกวางสี ในห้องของคนจ้วงมีข้อมูลบ่งบอกไว้ เขาเชื่อกันว่าข้าวป่าได้กลายมาเป็นข้าวบ้านที่คนปลูก เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่กวางสี โดยพวกจ้วงนี้แหละเป็นคนกลุ่มแรกที่ปลูกข้าว ทั้งยังเป็นคนที่พัฒนาให้เกิดวิธีปลูกข้าวในนา นาคือพื้นที่ที่ยกด้านรอบทั้ง 4 ด้านเพื่อให้กักน้ำได้ การยกคันนาทั้ง 4 ด้านเพื่อกักน้ำไว้ภายในจะทำให้ไม่มีวัชพืชขึ้นรบกวนกอข้าว และจะทำให้มีน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าวไว้ตลอดเวลา
จะเห็นได้ว่า พื้นที่ที่จ้วงอยู่แม้จะเป็นพื้นที่ภูเขา คนจ้วงก็ยังทำนาขั้นบันไดทั้งหมด จ้วงไม่ปลูกข้าวไร่ ซึ่งอันนี้คนพูดภาษาไท-ลาว จะไปอยู่ที่ใดก็จะยังมีวัฒนธรรมปลูกข้าวในนา ไม่ปลูกข้าวไร่ เชื่อว่าคนพูดภาษาไท-ลาวมีจุดเริ่มมาจากจ้วง และคนปลูกข้าวกลุ่มแรกก็คือจ้วง คนที่พัฒนาการปลูกข้าวในน้ำ โดยยกคันนาขังน้ำไว้ก็คือจ้วง

ดังนั้น คนพูดไท-ลาวจะไปอยู่ที่ใดก็เอาวัฒนธรรมปลูกข้าวในน้ำไปด้วย เพราะเป็นวัฒนธรรมของคนกลุ่มนี้ ภาษาก็เป็นวัฒนธรรม การปลูกข้าวในน้ำก็เป็นวัฒนธรรมเช่นกัน แต่เรื่องนี้ต้องมีการศึกษาต่อ เพราะนี่เป็นเพียงการสันนิษฐานจากการเห็นข้อมูลจากห้องจ้วงในพิพิธภัณฑ์ชนชาติกวางสี ในนั้นมีหลักฐานว่าจ้วงอาศัยอยู่ที่กวางสีตั้งแต่ยุคหินเก่า ยุคหินใหม่ ยุคเหล็ก ยุคสำริด มาถึงปัจจุบันโดยไม่ได้ย้ายไปไหน

ข้าวที่เรากินกันอยู่ทุกวันนี้ เกิดจากข้าวป่ามากลายเป็นข้าวบ้านโดยคนไปคัดเลือก คนกลุ่มแรกที่พัฒนาข้าวป่าให้เป็นข้าวบ้านก็คือคนจ้วงกวางสี จากนั้นจึงกระจายไปทั่ว แต่เดิมเคยมีนักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นเข้าไปสำรวจทำวิจัยเรื่องข้าว แล้วคิดว่าข้าวเกิดที่ยูนนาน เพราะที่ยูนนานมีข้าวหลากหลายสายพันธุ์มาก

เรือนจ้วงที่กวางสี เสาเรือนตั้งอยู่บนหินแบบเรือนไทยใต้ (ภาพจากมหาสุรารินทร์-คุณชินวัฒน์ ตั้งสุทธิจิต)

แหล่งกำเนิดข้าว พิจารณาจากเหตุ-ผล เช่นใด
การจะสรุปว่าที่ใดเป็นแหล่งกำเนิดข้าว เราจะดูว่า พื้นที่นั้นมีข้าว 3 กลุ่ม ครบทุกประเภทหรือไม่ ซึ่งข้าว 3 กลุ่มนั้นก็คือ

1. ข้าวอินดิกา (Indica) เป็นข้าวเมล็ดยาวรี ลำต้นสูง ตั้งชื่อตามแหล่งที่ค้นพบครั้งแรกในประเทศอินเดีย นิยมเพาะปลูกในทวีปเอเชียเขตมรสุม ตั้งแต่ จีน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ไทย อินโดนีเซีย ไปจนถึงอินเดียและศรีลังกา

2. ข้าวจาปอนิกา (Japonica) เป็นข้าวเมล็ดสั้นป้อม เนื้อเหนียว พบมากในจีน ญี่ปุ่น เกาหลี

3. ข้าวจาวานิกา (Javanica) เป็นข้าวลักษณะเมล็ดป้อมใหญ่ พบที่เกาะชวา เกาะไต้หวัน เป็นข้าวดั้งเดิมในท้องถิ่นนั้น

ประติมากรรม รูปปั้นแม่โพสพ ที่อำเภอชะอำ จังหวัดเพชรบุรี

โดยทั่วไปในแต่ละพื้นที่จะมีข้าวอยู่ชนิดเดียว แต่นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นพบว่า ที่ยูนนานมีข้าว 3 ชนิดอยู่ในพื้นที่เดียวกัน จึงเชื่อว่ายูนนานเป็นแหล่งกำเนิดข้าวป่า แล้วพัฒนามาเป็นข้าวบ้าน จึงได้มีข้าวหลากหลายชนิด แต่ล่าสุดคนจีนพบว่าที่กวางสีน่าจะเป็นแหล่งกำเนิดข้าวดั้งเดิมมากกว่ายูนนาน เพราะมีพันธุ์ข้าวนานาชนิดหลากหลายกว่ายูนนาน จึงเชื่อว่าข้าวเกิดที่กวางสีก่อน จากนั้นจึงแพร่ไปที่ยูนนาน
หากเป็นเช่นนี้ก็ทำให้สันนิษฐานได้ว่า คนพูดภาษาไท-ลาว เมื่ออพยพไปที่ใดก็จะพาข้าวไปด้วย ภาษาไทกับเมล็ดข้าวไปไหนไปด้วยกัน เกิดที่เดียวกันกระจายไปด้วยกัน เหมือนดังเช่นคนจากยูนนานก็ไปจากกวางสี ข้อสันนิษฐานมีมาเช่นนี้ และยังรอการพิสูจน์อยู่

การพิสูจน์ทำได้ไม่ยาก เพราะเราสามารถตรวจ DNA ข้าวได้ ว่าแต่ละสายพันธุ์มีความผูกพันใกล้ชิดกันแค่ไหน เรื่องนี้ตรวจไม่ยาก เหมือนอย่างที่เราตรวจ DNA มนุษย์จนรู้ว่าแหล่งกำเนิดมนุษย์อยู่ที่แอฟริกา แล้วอพยพกระจายไปทั่วโลก ข้าวก็เช่นกัน เมื่อเราตรวจ DNA ก็สามารถรู้ได้ไม่ยากว่ามีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมที่ไหน ตอนนี้เรารู้แล้วว่าภาษาไทที่หลากหลายและเก่าแก่มากที่สุด ดั้งเดิมสุดอยู่ที่กวางสี ข้าวก็อยู่กับคนพูดภาษาไท คนพูดภาษาไทกับเมล็ดข้าวมาจากแหล่งกำเนิดเดียวกัน”

ข้อคิดเห็นเรื่องข้าวบ้านกับคนจ้วงของพี่เดชาที่อธิบายให้ฟังนี้ กระจ่างชัด และยังรอการพิสูจน์ได้โดยไม่ยาก ด้วยการตรวจ DNA ของข้าวกวางสีและการศึกษาทางภาษาศาสตร์ ส่วนในเรื่องของแกระเก็บข้าวนั้น ดิฉันได้สอบถามไปทาง น้องเฝิง เชี่ยวลี่ ล่ามภาษาไทย-จีน ที่สนิทสนมกันครั้งที่ดิฉันไปเยือนกวางสี และน้องสาวชาวจ้วงคนนี้ยังได้เดินทางมาสำรวจชุมชนลาวโซ่งเมืองเพชร เขียนวิทยานิพนธ์จบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยชนชาติกวางสีไปหลายปีแล้ว

แกระเก็บข้าวของชาวจ้วง พี่เดชา ศิริภัทร ถ่ายภาพมาจากชุมชนชาวจ้วงใต้ ที่กวางสี คนจ้วงใต้เรียกเครื่องมือเก็บข้าวชนิดนี้ว่า “แถบ”

ที่มาของแกระเก็บข้าว

น้องเฝิง เชียวลี่ เป็นหญิงจีนเชื้อสายจ้วง เกิดที่กวางสี เมื่อปี พ.ศ. 2530 เรียนจบปริญญาตรี สาขาวิชาการบริหารการท่องเที่ยว จากมหาวิทยาลัยชนชาติกวางสีในปี พ.ศ. 2551 ระหว่างนั้นในช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2549 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2550 เธอมาอยู่เมืองไทย 10 เดือน เพื่อเข้าเรียนทางด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา หลังจากนั้น เธอได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโท สาขาภาษาและวรรณกรรมไทย ที่มหาวิทยาลัยชนชาติกวางสี และเรียนจบในปี พ.ศ. 2554 ด้วยวิทยานิพนธ์หัวข้อการเปรียบเทียบพิธีการเรียกขวัญระหว่างชนเผ่าจ้วงกับชนชาติไทย

น้องเฝิง เชียวลี่ ได้ตอบอีเมลให้ความรู้กับดิฉันมาว่า ปัจจุบันนี้คนจ้วงในพื้นที่ชนบทยังใช้แกระอยู่เป็นปกติ แต่ไม่ได้ใช้เก็บข้าวแล้ว โดยในภาษาจ้วงใต้ บริเวณอำเภอเทียนเติ่ง บ้านเกิดของคุณเฝิง เชียวลี่ เรียก “แกระ” ว่า “แถบ” (แต่ต้องออกเสียงเป็นเสียงจัตวาของภาษาไทย)

จากข้อมูลต่างๆ ที่ อาจารย์เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญและคุณเฝิง เชี่ยวลี่ นักวิชาการชาวจ้วงจากมหาวิทยาลัยชนชาติกวางสี ให้ความรู้มานี้ จึงพอเป็นต้นเค้าให้เห็นได้ว่า ข้าวมีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมที่แผ่นดินมณฑลกวางสี ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน อันเป็นถิ่นฐานเก่าแก่ของคนจ้วงผู้พูดภาษาตระกูลไท-ลาว แล้วแพร่กระจายไปกับคนจ้วงที่อพยพโยกย้ายขยายชุมชนไปในพื้นที่ต่างๆ คนจ้วงได้นำพันธุ์ข้าว-เครื่องมือเก็บข้าวติดตัวมาด้วย จนได้เข้ามาสู่แผ่นดินอุษาคเนย์และผืนแผ่นดินไทย
จึงมิเพียงแต่เรื่องกัญชา ที่พี่เดชาได้ให้ความรู้กับสังคมและชุมชนคนเพชรบุรีเท่านั้น ในเรื่องที่มาของข้าว อาหารหลักของคนไทย และคนพูดภาษาไต-ไท อันเป็นข้อมูลที่ดิฉันสืบค้นมาจากพี่เดชานี้ ก็มีคุณค่าอย่างยิ่งๆ ด้วยเช่นกัน