ชาวตรังปลูก “ขึ้นฉ่าย” ไฮโดรโปรนิกส์ รายได้ดี-ราคาแน่นอน ทดแทนทำสวนยาง ยุค 4 กิโลฯ 100

ชาวสวนยางอำเภอหาดสำราญ เลิกให้ความหวังกับราคายางพารา หันมาปลูกพืชผักไฮโดรโปรนิกส์ ราคาแน่นอน ตลาดชัดเจน ส่งห้างดัง อีกทั้งช่วงหลังทุกหน่วยงานรณรงค์บริโภคผักปลอดสารพิษ ส่งผลให้ราคาพุ่งอย่างต่อเนื่อง เตรียมโค่นยางที่เหลือ สร้างเป็นแปลงผักปลอดสารพิษเพิ่มเติม

นางภัชรวดี เจริญฤทธิ์ อายุ 42 ปี เกษตรกร ต.ตะเสะ อ.หาดสำราญ จ.ตรัง เล่าว่า ตนเองนั้นให้สนใจการปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ ยึดอาชีพนี้มากว่า 10 ปีแล้ว โดยใช้เนื้อที่ประมาณ 2 ไร่ หันมาทำโรงเรือนปลูกผักขึ้นฉ่าย จนประสบความสำเร็จผลผลิตไม่พอส่งต่อความต้องการของตลาด และเตรียมขยายพื้นที่อีก 2 ไร่ เพื่อเพิ่มผลผลิตและปลูกผักชนิดอื่น ๆ เช่น ผักชี ซึ่งปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกทั้งในต่างจังหวัด กระบี่ ตรัง เขาน้ำเต้า จ.สตูล

“ตนเองมีความสนใจการปลูกผักไฮโดรโปรนิกส์ จึงหันมาศึกษาข้อมูลจากกูเกิล และเพื่อนๆ ก่อนที่จะลงมือทำเริ่มจากการนำเมล็ดผักขึ้นฉ่ายมาลงแปลงเพาะปลูก ทดลองผิดทดลองถูกอยู่หลายครั้ง จนประสบความสำเร็จจากนั้นก็ทำต่อมาเรื่อยๆ ซึ่งการให้ปุ๋ย 6-7 วัน/ครั้ง ใช้ระยะเวลาเพียง 55-60 วัน ก็เก็บได้ ซึ่งจะเก็บไปส่งให้พ่อค้าแม่ค้าโดยตรง” นางภัชรวดี กล่าว

ทั้งนี้ ผักขึ้นฉ่ายตลาดมีความต้องการตลอดและราคาดี ราคาจะขึ้นลงอย่างไรก็ไม่ขาดทุน ทำให้มีรายได้เป็นหลัก ราคาต่ำสุดก็ 50 บาท ราคาสูงสุด 180-200 บาท ซึ่งราคาช่วงนี้อยู่ที่ 80-100 บาท จะเห็นได้ว่าคนตรังนิยมปลูกยางพาราและทำสวนปาล์ม หากจะหันมาปลูกผักขึ้นฉ่ายตนมองว่าคุ้มทุน แต่เริ่มแรกลงทุนค่อนข้างสูงในเรื่องของอุปกรณ์ พออยู่ตัวทำไปเรื่อยๆ ถึงอย่างไรก็ไม่ขาดทุน เพราะราคาต่ำสุดอยู่ที่ 50 บาท หากใครสนใจเข้ามาศึกษาเรียนรู้ได้โดยไม่หวงความรู้สอนฟรี ทั้งนี้หากใครอยากเปลี่ยนอาชีพจากชาวสวนมาปลูกพืชผักก็ยินดีสนับสนุน มาส่งที่ตนก็ได้เพราะตนเองก็ส่งให้แม่ค้าอยู่แล้ว ทั้งนี้มีตลาดแน่นอนตลาดไม่ตาย