ชี้ช่องทำกิน จากสาวเมืองเลย เสริมรายได้เพาะเห็ดหูหนูขาย รอบแรกได้เงินเฉียดแสน

ในสภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจช่วงนี้ ที่สืบเนื่องมาจากการแพร่ระบาดเชื้อไวรัส โควิด-19 กระทบในหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นภาคเกษตรกร ผู้ประกอบการ โรงงานที่ปรับลดพนักงาน หรือปิดตัวลงถาวร หลายคนคงคิดแล้วว่า “ไม่มั่นคง” กับการดำเนินชีวิตแน่นอน คงต้องหาอาชีพเสริมทำควบคู่กับอาชีพหลักเป็นแน่แท้ เพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้

คุณณัฐรียา จันทะเสน

“สุขใดเล่า จะเท่าบ้านเรา”… คำนี้คงจะโผล่ขึ้นในหัวทันที ยิ่งคนที่ออกไปทำงานต่างจังหวัดด้วยแล้ว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงว่าจะคิดถึงท้องถิ่น ที่เราเคยอยู่มามากขนาดไหน อย่าง คุณณัฐรียา จันทะเสน อายุ 29 ปี หมู่ที่ 5 บ้านงามวงศ์วาน ตำบลท่าสวรรค์ อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย ที่เธอหันมาเพาะเห็ดหูหนูขายเป็นอาชีพเสริม ควบคู่กับการทำสวนยางพารา ไร่อ้อย ฯลฯ ซึ่งก่อนหน้านี้สามีเธอได้ไปทำงานที่ต่างประเทศ ก่อนจะกลับมาช่วยกันดูแลโรงเห็ดด้วยกัน และยังชวนคนในชุมชนมาร่วมกันด้วย โดยยึดคำว่า “หากเราทำได้ ชุมชนต้องเดินไปกับเราได้”

ช่วยกัน

คุณณัฐรียา เล่าว่า การเพาะเห็ดหูหนู เราทำกันเป็นครอบครัว ทุกคนช่วยกัน และดึงคนในชุมชนมาร่วมทำกับเราด้วย ลองผิดลองถูกมาเยอะ แต่ไม่ล้มเลิกความตั้งใจ จนปัจจุบันถือได้ว่ารู้หัวใจสำคัญของการเพาะเห็ดชนิดนี้มากพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง อากาศ อุณหภูมิ โรคต่างๆ ที่เกิดกับเห็ด

ดกมาก

การเพาะเห็ดหูหนู ก่อนอื่นต้องสร้างโรงเรือน หลังคามุงด้วยหญ้าคา เพื่อให้อุณหภูมิภายในโรงเรือนเย็นเสมอ พื้นเทด้วยทราย ช่วยความชุ่มชื้นเมื่อเรารดน้ำ ส่วนเสาโรงเรือนจะเป็นไม้หรือปูนตามสะดวก และต้องมีผ้าใบพลาสติกดำ และซาแรน 80% สำหรับคลุมรอบข้างโรงเรือน

ดอกสวย

ส่วนการซื้อก้อนเชื้อเห็ด ได้สั่งมาจากอำเภอภูเรือ จำนวน 8,000 ก้อน ในราคา ก้อนละ 6.60 บาท ซึ่งถ้าหากพบก้อนเห็ดเสียหาย เชื้อไม่เดิน เป็นโรค ทางฟาร์มที่เราสั่งจะเคลมให้เราทั้งหมด ทั้งนี้เมื่อได้รับก้อนเชื้อแล้วจะต้องแขวนก้อนเชื้อเห็ดให้เสร็จภายใน 2 วัน งานนี้ถือได้ว่าต้องเร่งมืออย่างมาก ทุกคนต้องช่วยกัน ภายหลังได้ 50 วัน เมื่อเชื้อเดินเต็มก้อน สังเกตได้จากก้อนเชื้อจะมีใยสีขาวเต็มถุง เป็นสัญญาณบอกถึงพร้อมกรีดก้อนเห็ดแล้ว โดยใช้มีดกรีดแนวเฉียงให้ถึงขี้เลื่อย ขนาด 2 เซนติเมตร ด้านข้าง 6 แผล ก้นถุงอีก 2 แผล เพื่อให้เห็ดออกตามแผลที่เรากรีด จากนั้นก็รดน้ำที่พื้นให้ชุ่มทุกวัน ห้ามให้โดนก้อนเชื้อเห็ดที่เราแขวนไว้ ประมาณ 7 วัน รอยแผลเริ่มปิดค่อยรดน้ำได้ หลังแผลเริ่มมีลักษณะคล้ายปลิงแต่ละวันจะต้องเร่งให้น้ำ 4 เวลา และ 75 วัน ก็รอเก็บผลผลิตชุดแรกได้เลย

ภูมิใจ
โรงเรือน
สม่ำเสมอ

คุณณัฐรียา เล่าว่า การทำเห็ดหูหนูต้องดูแลอย่างมาก ราวกับเลี้ยงเด็กแรกเกิดเลยก็ว่าได้ เพราะในแต่ละวันต้องดูทั้งเรื่องการรดน้ำ การเปิด-ปิด โรงเรือน เพื่อเอาอากาศเข้าภายในโรงเรือน แถมหากวันไหนมีลมพัด แดดจ้า หรือแดดส่องเยอะ ต้องคลุมผ้าฝั่งที่แดดส่องด้วย เพราะจะทำให้เห็ดแห้ง ไม่สมบูรณ์ ส่วนเรื่องโรคที่มากับเห็ด หลักๆ จะเป็นโรคไรไข่ปลา และโรคราเขียว ต้องสังเกตให้ดีหากรักษาไม่ทัน เชื้อโรคเหล่านี้จะกระจาย ทำลายดอกเห็ดเราเป็นวงกว้าง

ถามว่า คุ้มไหมกับการทำเห็ด ตอบได้เลยว่า “คุ้ม” เพราะขณะเราเก็บรอบแรกก็เห็นกำไรแล้ว แถมมีตลาดรองรับอีกด้วย ล่าสุดเพิ่งเก็บไปรอบแรก ได้ทั้งหมด 1.7 ตัน ขายส่งให้แม่ค้า ในราคากิโลกรัมละ 50 บาท เป็นเงิน 85,000 บาท (ขึ้นอยู่กับกลไกราคาของตลาดในช่วงนั้นๆ) ซึ่งการเพาะเห็ดแต่ละครั้งจะเก็บได้ 4 รอบ โดยประมาณ ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของเห็ดด้วย คาดโรงเห็ดโรงนี้จะเก็บได้ประมาณ 2.5 ตัน

เอาใจใส่

หากพูดถึงเสน่ห์ที่เห็นจากฟาร์มเห็ด คงจะเป็นการช่วยเหลือกันของคนในชุมชน รวมถึงญาติพี่น้อง เมื่อถึงคราวที่เห็ดพร้อมเก็บไปขาย ทุกคนก็จะเรียกกันมาช่วยเก็บ โดยไม่มีการว่าจ้างแต่อย่างใด ถึงมีก็ส่วนน้อย เป็นการ “เอาแรง” ช่วยกัน เมื่อเก็บเห็ดฟาร์มนี้เสร็จ ครั้งต่อไปก็ออกไปช่วยอีกฟาร์มหนึ่ง หมุนเวียนเปลี่ยนกันจนครบทุกคน และเมื่อเก็บเสร็จเรียบร้อย เจ้าของฟาร์มยังแบ่งเห็ดให้คนที่มาช่วยได้นำไปประกอบอาหารอีกด้วย แถมพอตอนเย็น เจ้าของฟาร์มก็จะทำอาหารเลี้ยงผู้ที่มาช่วยงาน ล้อมวงรับประทานอาหารร่วมกัน ถือเป็นการตอบแทนเล็กๆ น้อยๆ แต่สิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นความสุขทางใจอีกอย่างเลยก็ว่าได้ กับการใช้ชีวิตในชนบทแบบนี้ ดั่งคำที่เคยกล่าวในข้างต้นไว้ว่า “…สุขใดเล่า จะเท่าบ้านเรา…”

 

วันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2563