อิ่มบุญฟาร์ม เกษตรผสมผสาน แหล่งเรียนรู้เกษตรกรรุ่นใหม่ ของอำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา

เมื่อพูดถึงการทำการเกษตร หลายๆ คนจะนึกถึงชาวไร่ ชาวนา หรือชาวสวน แต่มีใครบ้างที่จะรู้ว่า กลุ่มพี่น้องเกษตรกรในหลายๆ พื้นที่ของประเทศไทย มีการรวมตัวกันตั้งกลุ่ม รวบรวมสมาชิกเพื่อทำการเกษตรแบบผสมผสาน “ฟาร์มอิ่มบุญ” ก็เป็นอีกหนึ่งของแหล่งเรียนรู้ เพราะว่ามีการรวมตัวชาวบ้านกว่า 30 คนตั้งเป็นกลุ่ม โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า “วิสาหกิจชุมชน สบบงเกษตรผสมผสานและแปรรูปทางการเกษตร” ซึ่งตั้งอยู่เลขที่ 100 หมู่ที่ 10 บ้านสบบง ซอยที่ 7 ตำบลสบบง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา

คุณณิชกมล ปาริน หรือ เพนนี และผู้เขียน

ระบบเกษตรผสมผสาน (Integrated Farming System) เป็นระบบการเกษตรที่มีการเพาะปลูกพืชหรือการเลี้ยงสัตว์ต่างๆ ชนิดอยู่ในพื้นที่เดียวกันภายใต้การเกื้อกูล ประโยชน์ต่อกันและกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยอาศัยหลักการอยู่รวมกันระหว่างพืช สัตว์ และสิ่งแวดล้อม การอยู่รวมกันอาจจะอยู่ในรูปความสัมพันธ์ระหว่างพืชกับพืช พืชกับสัตว์ หรือสัตว์กับสัตว์ก็ได้ ระบบเกษตรผสมผสานจะประสบผลสำเร็จได้จะต้องมีการวางรูปแบบและดำเนินการ โดยให้ความสำคัญต่อกิจกรรมแต่ละชนิดอย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม มีการใช้แรงงาน เงินทุน ที่ดิน ปัจจัย การผลิตและทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนรู้จักนำวัสดุเหลือใช้จากการผลิตชนิดหนึ่งมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์กับการผลิตอีกชนิดหนึ่งกับการผลิตอีกชนิดหนึ่งหรือหลายชนิดภายในไร่นาแบบครบวงจร ตัวอย่างกิจกรรมดังกล่าว เช่น การเลี้ยงไก่หรือสุกรบนบ่อปลา การเลี้ยงปลาในนาข้าว การเลี้ยงผึ้งในสวนผลไม้ เป็นต้น

สมาชิกร่วมกันดูแลผักในโรงเรือน

ตามแนวคิดดังกล่าวมีหลักการพื้นฐานที่สำคัญ 2 ประการ คือ ต้องมีกิจกรรมการเกษตรตั้งแต่ 2 กิจกรรมขึ้นไป และต้องเกิดการเกื้อกูลประโยชน์ระหว่างกิจกรรมต่างๆ

ระบบไร่นาสวนผสม เป็นระบบการเกษตรที่มีกิจกรรมการผลิตหลายๆ กิจกรรมเพื่อตอบสนองต่อการบริโภคหรือลดความเสี่ยงจากราคา ผลิตผลที่มีความไม่แน่นอนเท่านั้น โดยมิได้มีการจัดการให้กิจกรรมการผลิตเหล่านั้นมีการผสมผสานเกื้อกูลกันเพื่อลดต้นทุนการผลิต และคำนึงถึงสภาพแวดล้อม เหมือนเกษตรผสมผสานการทำไร่นาสวนผสมอาจมีการเกื้อกูลกันจากกิจกรรมการผลิตบ้าง แต่กลไกการเกิดขึ้นนั้นเป็นแบบ “เป็นไปเอง” มิใช่เกิดจาก “ความรู้ ความเข้าใจ” อย่างไรก็ตาม ไร่นาสวนผสมสามารถพัฒนาความรู้ความสามารถของเกษตรกรผู้ดำเนินการให้เป็นการดำเนินการในลักษณะของระบบเกษตรผสมผสานได้

ไก่ไข่อารมณ์ดี

เหตุผลที่มาของรูปแบบการเกษตรผสมผสาน จากการทำเกษตรกระแสหลักโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำเกษตรเชิงเดี่ยวหรือการผลิตสินค้า เกษตรชนิดเดียว เกิดปัญหาหลายๆ ด้านคือ รายได้ของครัวเรือนไม่มีเสถียรภาพ เศษวัสดุจากพืชและมูลสัตว์ไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ การผลิตสินค้าเดี่ยวบางชนิดใช้เงินลงทุนมาก ครัวเรือนต้องพึ่งพิงอาหารจากภายนอก

ดังนั้น จึงเกิดแนวคิดในการที่หาระบบการผลิตในไร่นา ที่สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทำกินขนาดเล็ก เพื่อลดความเสี่ยงจากการผลิต ลดการพึ่งพิงเงินทุน ปัจจัยการผลิตและอาหารจากภายนอก เศษพืชและมูลสัตว์ ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกิจกรรมการผลิต ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในไร่นาและทำให้ผลผลิตและรายได้เพิ่มขึ้น ระบบการผลิตดังกล่าวคือ เกษตรผสมผสาน โดยมีวัตถุประสงค์ของการเกษตรผสมผสานเพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านรายได้ เพื่อลดการพึ่งพาด้านเงินทุน ปัจจัยการผลิต และอาหารจากภายนอกเพื่อให้เกิดการประหยัดทางขอบข่าย เพิ่มรายได้จากพื้นที่เกษตรขนาดย่อยที่จำกัด

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ลดการทำลายสิ่งแวดล้อม ทำให้เกษตรกรมีความเป็นอิสระในการดำรงชีวิต

สมาชิกในกลุ่ม

จุดเด่นของการเกษตรผสมผสาน คือการลดความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของรายได้ รายได้สม่ำเสมอ การประหยัดทางขอบข่าย ค่าใช้จ่ายในไร่นาลดลง มีรายได้สุทธิเพิ่มมากขึ้น ลดการพึ่งพิงจากภายนอก ลดการว่างงานตามฤดูกาล มีงานทำทั้งปี ทำให้ลดการอพยพแรงงาน

ประโยชน์ที่ได้รับจากการทำเกษตรผสมผสานระบบเกษตรผสมผสานเป็นรูปแบบหนึ่งของระบบเกษตรกรรมที่มีกิจกรรมตั้งแต่ 2 กิจกรรมขึ้นไปในพื้นที่เดียวกัน และกิจกรรมเหล่านี้จะมีการเกื้อกูลประโยชน์ซึ่งกันและกันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้น จึงเป็นระบบที่นำไปสู่การเกษตรแบบยั่งยืน จึงก่อให้เกิดผลดีและประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้

ช่วยลดความเสี่ยงจากความแปรปรวนของสภาพลม ฟ้า อากาศ จากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่มีความแปรปรวนในแต่ละปี ซึ่งมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้น เช่น เกิดภาวะฝนแล้ง ฝนทิ้งช่วง น้ำท่วมฉับพลัน เป็นต้น จึงเป็นปัญหาที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเกษตรกรที่มีกิจกรรมการเกษตรเพียง อย่างเดียว เช่น ข้าว หรือพืชไร่ ดังนั้น หน่วยงานวิจัยและพัฒนาของกรมวิชาการเกษตร รวมทั้งเกษตรกรบางส่วนจึงได้พยายามศึกษาและพัฒนาการแปรเปลี่ยนพื้นที่นาหรือไร่นาบางส่วนมาดำเนินการระบบเกษตรผสมผสานที่มีหลายๆ อย่าง ปลูกพืชสวน (ไม้ผล พืชผัก) การเลี้ยงสัตว์ หรือการเลี้ยงปลาทดแทนรายได้จากการปลูกข้าวหรือพืชไร่ที่อาจเสียหาย จากสภาวะฝนแล้งหรือน้ำท่วม

ระบบให้น้ำแบบอัจฉริยะ

ลดความเสี่ยงจากความผันแปรของราคาผลผลิต ในการดำเนินระบบการเกษตรที่มีเพียงกิจกรรมเดียว ที่มีการผลิตเป็นจำนวนมาก ผลผลิตที่ได้เมื่อออกสู่ตลาดพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นข้าว พืชไร่ ไม้ผล หรือพืชผัก เมื่อมีปริมาณเกินความต้องการของตลาดย่อมทำให้ราคาของผลผลิตต่ำลง การแปรเปลี่ยนพื้นที่นาหรือไร่บางส่วนมาดำเนินการ ระบบเกษตรผสมผสานจะสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากความผันแปรของราคาผลผลิตในตลาดลงได้ เนื่องจากเกษตรกรสามารถจะเลือกชนิดพืชปลูกและเลือกกิจกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดได้เป็นอย่างดี

ลดความเสี่ยงจากการระบาดของศัตรูพืช ในการดำเนินกิจกรรมการปลูกข้าวหรือพืชไร่เพียงอย่างเดียว เกษตรกรจะมีความเสี่ยงอย่างมากเมื่อเกิดการระบาดของศัตรูพืชขึ้น เช่น กรณีการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และโรคใบหงิกอย่างรุนแรงในปี 2532-2533 ทำให้พื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขตภาคกลางได้รับความเสียหายอย่างมาก เกษตรกรต้องประสบความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ โดยไม่มีรายได้จากกิจกรรมอื่นมาเจือจุนครอบครัวได้

ช่วยเพิ่มรายได้และกระจายรายได้ตลอดปี การดำเนินระบบเกษตรผสมผสานซึ่งมีกิจกรรมหลายกิจกรรมในพื้นที่เดียวกันจะก่อประโยชน์ในด้านทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีรายได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งอาจจะเป็นรายได้ รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน และรายได้ประจำฤดูกาล ตัวอย่างเช่น มีรายได้ประจำวันจากการขายพืชผัก รายได้ประจำสัปดาห์จาการเพาะเห็ดฟางในช่วงฤดูแล้ง (มกราคม-เมษายน) รายได้ประจำเดือนจากไม้ผลอายุสั้น ได้แก่ กล้วย ฝรั่ง ละมุด และรายได้ประจำฤดูกาลจากข้าว ข้าวโพดหวาน ถั่วลิสง ถั่วเขียว ที่ปลูกหลังนา

ผู้เขียนกับสมาชิก

ช่วยก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวพันธุ์ การดำเนินระบบเกษตรผสมผสาน ซึ่งจะมีกิจกรรมหลากหลายในพื้นที่เดียวกัน พบว่าทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวพันธุ์เกิดขึ้นในพื้นที่

ช่วยกระจายการใช้แรงงาน ทำให้มีงานทำตลอดปี เป็นการลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานออกนอกภาคการเกษตร และในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำของประเทศขณะนี้ ทำให้เกิดปัญหาคนว่างงานจำนวนมาก ระบบเกษตรผสมผสานจะรองรับแรงงานเหล่านี้ได้ ทั้งนี้ เนื่องมาจากระบบเกษตรผสมผสานมีกิจกรรมหลายกิจกรรมแต่ละกิจกรรมมีการใช้แรงงานแตกต่างกันไป เมื่อรวมกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ไว้ด้วยกันในระบบเกษตรผสมผสานจึงมีการใช้แรงงานมากขึ้น มีการกระจายแรงงานไปตามกิจกรรมต่างๆ ตลอดปี เมื่อเปรียบเทียบกับระบบเกษตรที่มีกิจกรรมเดียว ดังเช่น ข้าวหรือพืช ไร่ และสามารถลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานออกจากพื้นที่ได้ถึงร้อยละ 87

ช่วยก่อให้เกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมต่างๆ ในระดับไร่นา เป็นการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรในระดับไร่นา ไม่ให้เสื่อมสลายหรือถูกใช้ให้หมดไปอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ เนื่องจากระบบเกษตรผสมผสานจะมีการเกื้อกูลประโยชน์ต่อกัน เช่น ปลูกไม้ผลรอบบ่อปลาและเลี้ยงไก่เนื้อบนบ่อปลา แล้วพบว่ามูลและอาหารของไก่ที่ตกลงไปในบ่อปลา จะช่วยเพิ่มธาตุอาหารให้แก่พืชอาหารของปลา ทำให้ปลามีอาหารอุดมสมบูรณ์ แต่เมื่อมีมากเกินไปจะแย่งอากาศในน้ำกับปลา (น้ำจะมีสีเขียวเข้ม) ทำให้ปลาขาดอากาศ จึงจำเป็นต้องมีการระบายน้ำออกจากบ่อปลาโดยปล่อยลงนาข้าว จากผลการดำเนินงานนี้จะพบว่าเกษตรกรสามารถลดปริมาณการใช้ปุ๋ยในนาข้าวได้ จากผลการสุ่มตัวอย่างผลผลิตพบว่า แปลงของเกษตรกรที่มีการใส่ปุ๋ยอัตรา 50 กิโลกรัม ต่อไร่ จะได้ผลผลิต 764 กิโลกรัม ต่อไร่ แต่แปลงที่ใส่น้ำจากบ่อเลี้ยงปลา ร่วมกับการใช้ปุ๋ย 21.4 กิโลกรัม ต่อไร่ จะได้ผลผลิต 759 กิโลกรัม ต่อไร่ ซึ่งแตกต่างกันไม่มากนัก ช่วยให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิตข้าวลงได้

ช่วยให้เกษตรกรมีอาหารเพียงพอต่อการบริโภคภายในครัวเรือน ในการดำเนินระบบเกษตรผสมผสานที่มีหลายกิจกรรมช่วยทำให้เกษตรกรสามารถมีอาหารไว้บริโภคในครอบครัวครบทุกหมู่ โดยอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตจะได้จากข้าว ข้าวโพด อาหารประเภทโปรตีนจะได้จากไก่ ปลา พืชตระกูลถั่ว อาหารประเภทวิตามิน เส้นใยจากพืชผักผลไม้และเห็ดฟาง ช่วยทำให้เกษตรกรสามารถลดค่าใช้จ่ายค่าอาหารและมีการปรับปรุงคุณภาพโภชนาการและสุขภาพของเกษตรกรในท้องถิ่นให้ดีขึ้น

ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น การดำเนินกิจกรรมในระบบเกษตรผสมผสานช่วยทำให้มีการกระจายการใช้แรงงานทำให้มีงานทำตลอดทั้งปีและมีการกระจายรายได้จากกิจกรรมต่างๆ เป็นการลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานออกจากภาคการเกษตรไปสู่ภาคอื่นๆ เช่น ภาคอุตสาหกรรม ภาคการขายบริการต่างๆ เมื่อไม่มีการอพยพแรงงานออกจากท้องถิ่น ทำให้ครอบครัวได้อยู่กันพร้อมหน้าทั้งพ่อ แม่ ลูก ช่วยทำให้สภาพจิตใจดีขึ้น สภาพทางสังคมในท้องถิ่นดีขึ้น ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น

คุณณิชกมล ปาริน หรือ เพนนี อายุ 40 ปี ประธานกลุ่มวิสาหกิจสบบงเกษตรผสมผสานและแปรรูปผลผลิตการเกษตร ได้เล่าว่า ตอนนี้ภายในกลุ่มมีสมาชิกอยู่ 15 คน และที่กำลังจะเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกอีกกว่า 20 คน โดยทางกลุ่มจะมีการรวมตัวกันทุกวันอาทิตย์ เพื่อปลูกผักสวนครัว และมาคอยดูแลผลผลิตที่ปลูกไว้ ซึ่งภายในฟาร์มอิ่มบุญ มีเนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน เราก็มีการทำเกษตรแบบผสมผสาน ซึ่งมีการทำนาข้าว ปลูกไม้ยืนต้นประเภทผลไม้หลากหลายชนิด มีการปลูกพืชผักสวนครัวหลายๆ ชนิด เพื่อที่จะนำผลผลิตที่ได้มาแบ่งปันให้สมาชิกนำไปประกอบอาหารเพื่อลดรายจ่ายในแต่ละครอบครัว ซึ่งหากผลผลิตมีเหลือกินก็จะนำไปขายเพื่อต่อยอด นำรายได้ไปซื้อเมล็ดพันธุ์พืชชนิดอื่นมาปลูกหมุนเวียนใหม่เพื่อไม่ให้เกิดความเบื่อในการนำมาปรุงอาหาร

นอกจากการปลูกพืชผักสวนครัวและผลไม้ยืนต้นชนิดต่างๆ แล้ว ภายในฟาร์มก็ยังมีการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่และไก่พันธุ์พื้นเมือง ซึ่งเป็นการเลี้ยงแบบอินทรีย์ ไม่ใช้หัวอาหารหรืออาหารเม็ดเลย แต่ทางฟาร์มจะใช้หยวกกล้วย ปลายข้าว และรำข้าว หมักผสมกันมาให้ไก่ได้กิน และการเลี้ยงแบบปล่อยให้ไก่ได้เดินไปหากินหญ้าที่ขึ้นอยู่ภายในพื้นที่ได้อีกด้วย ในส่วนของการปลูกพืชผัก ก็มีการใช้ปุ๋ยมูลไก่และ ปุ๋ยมูลไส้เดือน ที่เลี้ยงไส้เดือนสายพันธุ์ AF เอาไว้เพื่อนำมูลไส้เดือนมาผลิตเป็นปุ๋ย

คุณเพนนี ยังกล่าวอีกว่า ฟาร์มอิ่มบุญแห่งนี้เริ่มแรกที่มาเริ่มทำ ตนเองก็ชักชวนชาวบ้านให้มาปลูกข้าวแบบอินทรีย์ ปลูกพืชผักแบบอินทรีย์ แต่ไม่มีใครมาทำด้วยเลย ตนเองก็ทำมาเรื่อยๆ และก็ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานเกษตรอำเภอภูซาง โดย นายการุณย์ มะโนใจ เกษตรอำเภอภูซาง ได้เข้ามาช่วยแนะนำให้ความรู้และสนับสนุนการสร้างโรงเรือน ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตร รวมถึงเมล็ดพันธุ์ผักต่างๆ ทำเรื่อยมาจนผลผลิตออกและได้ผล จนชาวบ้านเขาเห็นว่าเราทำได้ มีผลผลิตที่ดี ก็เลยเริ่มมีเกษตรกรในละแวกใกล้เคียงเข้ามาทำนาข้าวและปลูกพืชผักแบบอินทรีย์ทีละแปลงๆ ซึ่งตอนนี้ตนเองมีความคิดที่จะทำเป็นเกษตรผสมผสานเชิงท่องเที่ยว เพื่อให้ชุมชนแถวนี้มีการดำเนินกิจกรรมอย่างยั่งยืน จะมีบริการที่พักแบบโฮมสเตย์ ให้นักท่องเที่ยวได้มาร่วมทำกิจกรรมการเกษตร ร่วมกับเกษตรกรสมาชิกของกลุ่ม

จากที่ชาวบ้านมีรายได้น้อยก็จะทำให้ชาวบ้านมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งแต่เดิมชาวบ้านก็จะทำแต่เกษตรแบบเชิงเดี่ยว เช่น ปลูกข้าวก็ข้าวอย่างเดียว ปลูกข้าวโพดก็ข้าวโพดอย่างเดียว ตนเองจึงได้ชักชวนชาวบ้านที่รู้จักมาทำเกษตรผสมผสาน เพื่อให้ชุมชนในหมู่บ้านสบบงมีความสามัคคี และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งนอกจากนี้ คุณเพนนี ยังเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ที่เป็นประธานกลุ่ม แล้วคุณเพนนี ยังเป็นเครือข่าย Young Smart Farmer จังหวัดพะเยา (YSF) ในนาม ศูนย์บ่มเพาะเกษตรกรรุ่นใหม่ แถมยังเดินหน้าเข้าอบรมหาความรู้ในเรื่องการเกษตร เพื่อนำมาต่อยอดทางความคิด และนำมาใช้ภายในฟาร์มอิ่มบุญ คุณเพนนี ยังฝากทิ้งท้ายว่า

หากท่านใดจะมาศึกษาดูงานสามารถเข้ามาเยี่ยมชมได้ตลอด หรือโทร.สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ (092) 892-4991

………………………….

เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2563