เจ้าของร้านกาแฟเมืองพะเยาปลูกเมล่อน ทำได้คุณภาพ ส่งขายทั่วประเทศ

ร้านกาแฟ Golden Bowl Coffee ตั้งอยู่เลขที่ 102 หมู่ที่ 12 ตำบลสบบง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา เจ้าของใช้พื้นที่ว่างหลังร้านทำฟาร์มปลูกเมล่อน สายพันธุ์จากประเทศญี่ปุ่น มีพันธุ์อิซิบะโคจิ และนิฮาโรกิ ซึ่งนำเข้าเมล็ดจากฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ขายเป็นลูกและชั่งน้ำหนัก…รวมถึงทำเมนูต่างๆ ให้กับลูกค้าในร้าน ยอดสั่งจองออนไลน์มีออเดอร์สั่งเพียบ

เมล่อนพันธุ์คิโมจิ คูนามิ และโมมิจิ นั้นได้รับการปรับปรุงสายพันธุ์มาอย่างยาวนานกว่า 3 ชั่วอายุคนในประเทศญี่ปุ่น และปรับปรุงเพื่อให้ปลูกในประเทศไทยมามากกว่า 10 ปี ทำให้เมล่อนญี่ปุ่น คิโมจิ คูนามิ และโมมิจิ สามารถปลูกได้อย่างดีทั่วทุกภูมิภาคของไทย

นำลูกค้าเข้าเยี่ยมชมแปลง

ขั้นตอนในการปลูกเมล่อน

การเพาะเมล็ด เพาะในกระบะเพาะ หรือถุงเพาะเมล็ดก่อน ถ้าอยากให้เมล็ดงอกได้ดีและเร็วขึ้น ให้แช่ในน้ำหรือน้ำอุ่น 3-4 ชั่วโมง หุ้มด้วยผ้าเปียกหมาดๆ ต่ออีก 1 คืน แล้วจึงค่อยนำไปเพาะต่อในวัสดุเพาะ

การเตรียมแปลงปลูกและย้ายกล้า

การปลูกภายนอกโรงเรือน ก่อนอื่นควรมีการเก็บตัวอย่างดินจากแปลงที่จะปลูกไปตรวจเพื่อให้ทราบคุณสมบัติทางกายภาพและทางเคมี (โครงสร้างดิน ความเป็นกรด-ด่าง ความเค็ม และปริมาณธาตุอาหารที่มีอยู่ในดิน) การเตรียมพื้นที่ควรเริ่มต้นด้วยการไถดะในระดับความลึกไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร ซึ่งเป็นความลึกที่อย่างน้อยต้องมีให้รากเมล่อนชอนไชหาอาหารได้สะดวก

จากนั้นจึงไถแปร เพื่อย่อยดินให้ละเอียด แต่ถ้าในกรณีที่เนื้อดินเป็นดินเหนียวจัด ไม่ควรย่อยดินให้ละเอียดมากเกินไป แล้วจึงใส่ปูนขาวตามคำแนะนำของผลการวิเคราะห์ดิน (ถ้ามี) ต่อมาให้ใส่ปุ๋ยอินทรีย์ ได้แก่ ปุ๋ยคอก หรือปุ๋ยหมัก ในอัตรา 1,500-2,000 กิโลกรัม ต่อไร่ พรวนดินอีกครั้งเพื่อคลุกเคล้าให้ปุ๋ยคอกผสมกับดินให้ทั่ว ยกแปลงสูง 30 เซนติเมตร หรือ 40 เซนติเมตร

สำหรับฤดูฝน กว้างประมาณ 1-1.20 เมตร มีความยาวตามของพื้นที่สำหรับการปลูกแบบแถวคู่ เว้นร่องน้ำกว้าง 0.80 เมตร ก่อนปลูกใส่ปุ๋ยรองพื้นด้วยปุ๋ยเคมี 15-15-15 จำนวน 50 กิโลกรัม ต่อไร่ โดยโรยเฉพาะบนแปลง และพรวนดินเพื่อพลิกให้ปุ๋ยลงสู่ดินล่าง

หากต้องการป้องกันวัชพืช ควรคลุมแปลงด้วยพลาสติกคลุมแปลงกลบชายพลาสติกด้วยดินข้างแปลงให้เรียบร้อย เจาะรูบนพลาสติกเป็น 2 แถว ตามความยาวแปลง ระหว่างแถวห่างกัน 80 เซนติเมตร และระหว่างหลุมในแถวห่างกัน 0.5 เซนติเมตร

ในพื้นที่ 1 ไร่ หรือ 1,600 ตารางเมตร จะสามารถปลูกได้ 3,200 ต้น สำหรับในพื้นที่ที่หาฟางข้าวได้ง่าย อาจใช้ฟางข้าวคลุมแปลงแทนการใช้พลาสติกเพื่อการประหยัด ยกเว้นในฤดูฝนควรหลีกเลี่ยงการใช้ฟางคลุมดิน เพราะเสี่ยงต่อการเกิดโรคเน่าที่โคนต้นและระบบรากจากเชื้อราที่ติดมากับฟาง

การปลูกในโรงเรือน

การปลูกเมล่อนในโรงเรือนช่วยให้สามารถปลูกเมล่อนได้ในฤดูฝนโดยที่ไม่ต้องกลัวการระบาดของโรคทางใบ แต่ก็ต้องใช้การลงทุนที่สูงกว่า จึงควรใช้เป็นวิธีการปลูกเมล่อนพันธุ์ที่มีราคาแพง เพื่อผลตอบแทนคุ้มค่ากับการลงทุน

วิธีการปลูกในโรงเรือนนั้นสามารถปลูกลงในดินหรือปลูกในวัสดุปลูกที่อยู่ในภาชนะหรือกระถาง แต่การปลูกลงในกระถางจะมีข้อดีกว่าตรงที่สามารถใช้ระยะปลูกที่ชิดกว่าการปลูกลงดินและวิธีนี้ยังช่วยให้สามารถปลูกเมล่อนต่อเนื่องในฤดูติดกันได้ เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องของการระบาดของโรคทางดิน

เนื่องจากปลูกในกระถางที่ใช้วัสดุปลูกที่มีความสะอาดหรือผ่านการฆ่าเชื้อให้ปลอดภัยมาแล้ว กรณีที่ปลูกในกระถาง ขนาด 12 นิ้ว ให้วางกระถางแบบแถวคู่ ภายในแถวคู่ที่ระยะห่างระหว่างกระถางในแถว 50 เซนติเมตร ระยะห่างภายในแถวคู่ 80 เซนติเมตร และระยะระหว่างแถวคู่เท่ากับ 1.5 เมตร ในโรงเรือนที่มีพื้นที่ 360 ตารางเมตร จะปลูกได้ 1,000 ต้น

วัสดุปลูกที่ใช้สามารถใช้ได้หลายชนิด ถ้าใช้วัสดุจากต่างประเทศ ได้แก่ พีทมอสส์ หรือ ภูมิส สามารถใช้วัสดุชนิดใดชนิดหนึ่งแต่เพียงอย่างเดียว หรือถ้าใช้วัสดุภายในประเทศ เช่น ขุยมะพร้าว ถ่านแกลบ ทราย ให้นำมาผสมกันเสียก่อน ในอัตรา เช่น ขุยมะพร้าว : ถ่านแกลบ : ทราย : ในอัตรา 1 : 1 : 1 เป็นต้น ไม่ควรใช้ขุยมะพร้าว แกลบดิบ ทราย หรือถ่านแกลบ เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะวัสดุภายในประเทศเหล่านี้โดยตัวเองเพียงอย่างเดียว ยังไม่เหมาะสำหรับการปลูกพืช

เมื่อเตรียมแปลงและหลุมปลูก หรือกระถางบรรจุวัสดุปลูกเรียบร้อยแล้ว ให้ย้ายต้นกล้าเมล่อนที่เตรียมไว้ลงปลูก หลังปลูก รดน้ำให้ชุ่ม เพื่อให้ความชื้นแก่ต้นกล้าและให้ดินกระชับรากต้นกล้า

กรณีปลูกในโรงเรือน ต้องวางระบบน้ำหยดและติดตั้งหัวน้ำหยดที่แต่ละกระถางปลูก การปฏิบัติดูแลรักษา เมล่อนเป็นพืชที่ต้องการการปฏิบัติเป็นพิเศษแตกต่างจากพืชอื่นๆ ในหลายขั้นตอน นับตั้งแต่การให้น้ำและใส่ปุ๋ย การขึ้นค้าง การตัดแต่งกิ่ง

การดูแลรักษาระหว่างการพัฒนาของผล

ทำได้คุณภาพดี

การขึ้นค้าง เมล่อนเป็นพืชที่มีลำต้นเป็นเถาเลื้อย ในการใช้ระยะปลูกชิดแบบปัจจุบันจึงต้องบังคับให้เถาเมล่อนเลื้อยขึ้นด้านบนโดยการจัดค้างให้เถาเมล่อนได้เกาะ โดยหลังจากปลูกได้ประมาณ 14 วัน ต้องมีการปักค้างให้กับต้นเมล่อน ไม้ค้างควรมีความสูงจากผิวดินหลังการปักลงดินแล้วไม่น้อยกว่า 1.80 เซนติเมตร

กรณีปลูก 2 แถว อาจผูกไม้ค้าง 2 ฝั่ง เข้าหาเป็นกระโจมเพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้มากขึ้นก็ได้ และระหว่างไม้ค้างที่ปักในแนวตั้งให้ยึดด้วยไม้ค้างตามแนวนอนทั้งบนและล่างอีกตลอดความยาวของแปลง ไม้ค้างที่ใช้อาจเป็นไม้ไผ่รวก ไม้กระถิน หรือไม้อื่นๆ ที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นและมีราคาถูก

ต้นเมล่อนทุกต้นต้องมีที่ยึดเกาะให้ลำต้นเลื้อย หากไม่สามารถลงทุนซื้อไม้ค้างให้กับต้นแตงทุกต้นได้ สามารถลดต้นทุนโดยการปักไม้ค้างเป็นช่วงห่างกัน 2- 2.5 เมตร และหาเชือกไนลอนหรือเชือกอื่นที่มีความแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักต้นเมล่อนได้ โดยจะแนะนำให้ใช้เชือกฝ้าย เพราะจะไม่ทำให้บาดกับลำต้นของต้นเมล่อนจนเกิดแผล ซึ่งอาจเป็นสาเหตุการเกิดเชื้อราเข้าสู่ลำต้น

ผูกโยงที่บริเวณปลายของไม้ค้างแต่ละอันให้ตึง และบนเส้นเชือกตำแหน่งที่ตรงกับต้นเมล่อนให้ผูกเชือกห้อยลงมายาวจรดดิน ในการเริ่มต้นให้ต้นแตงเกาะกับหลักหรือเชือกจะต้องช่วยบังคับโดยการผูกต้นเมล่อนกับหลักหรือเชือก ทุกๆ ข้อเว้นข้อก่อนในระยะแรก ถ้าเป็นเชือกให้เวียนเชือกรอบเมล่อนด้วย เพื่อให้เชือกสัมผัสและรับน้ำหนักและพยุงเมล่อนไว้ได้

การเลี้ยงลำต้นและกิ่งแขนง หลังจากปลูกเมล่อนได้ระยะหนึ่ง เมล่อนจะเริ่มมีการแตกกิ่งแขนงออกมา ให้ปลิดกิ่งแขนงที่เกิดขึ้นต่ำกว่า ข้อที่ 8 และสูงกว่า ข้อที่ 12 ออกเสีย โดยปลิดแขนงออกตั้งแต่ยังมีขนาดเล็กและปล่อยกิ่งแขนงที่เกิดขึ้นระหว่าง ข้อที่ 8-12 ไว้ ให้เป็นที่เกิดของดอกตัวเมียที่จะติดเป็นผลต่อไป

การแต่งกิ่งแขนง

โดยตัดปลายยอดทิ้งให้เหลือใบเพียง 2 ใบ เท่านั้น คือใบที่ใกล้กับข้อแรกที่จะเกิดดอกตัวเมียหรือดอกสมบูรณ์เพศ และใบที่ข้อถัดขึ้นไป ปล่อยให้มีดอกตัวเมียหรือดอกสมบูรณ์เกิดขึ้นเพียงแขนงละ 1 ดอก เท่านั้น

เมื่อต้นเมล่อนเจริญเติบโตจนถึง 25 ข้อ ให้ตัดปลายยอดของต้นออกเสีย เพื่อหยุดการเจริญเติบโตทางด้านลำต้น นอกจากนี้ ให้เด็ดใบล่างสุดออกอีก 3-5 ใบ ที่ไม่ค่อยได้รับแสงแดดออกไป เพื่อทำให้ต้นโปร่ง เพิ่มการถ่ายเทของอากาศ ไม่ให้เกิดการสะสมของความชื้นที่ชักนำให้เกิดโรคราต่างๆ

การผสมเกสรและการไว้ผล

เมล่อนเป็นพืชที่มีดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่กันคนละดอก แต่เกิดอยู่บนต้นเดียวกัน หรือบางพันธุ์มีดอกเพศผู้และดอกสมบูรณ์เพศอยู่บนต้นเดียวกันก็มี โดยดอกเพศผู้จะเกิดก่อนและเกิดเป็นช่อที่มุมระหว่างก้านใบกับลำต้น หรือลำต้นกับกิ่งแขนง

ส่วนเพศเมียหรือดอกสมบูรณ์เพศจะเกิดทีหลังและเกิดเป็นดอกเดี่ยว ที่ข้อแรกหรือข้อที่ 2 ของกิ่งแขนง โดยปกติเมล่อนเป็นพืชผสมข้าม จำเป็นที่ต้องมีการผสมเกสรจากภายนอกโดยแมลงหรือมนุษย์จึงจะติดเป็นผลได้

ดังนั้นการปลูกเมล่อนจึงจำเป็นต้องมีการช่วยผสมเกสรให้กับดอกตัวเมียหรือดอกสมบูรณ์เพศ การผสมเกสรต้องกระทำเมื่อดอกบานในตอนเช้า ตั้งแต่เวลา 06.00-10.00 น. ในขณะที่อากาศยังมีอุณหภูมิไม่ขึ้นสูง หลังจากนั้นดอกตัวเมียจะหุบไม่รับการผสมอีกต่อไป

วิธีการผสมเกสรทำโดย เด็ดดอกตัวผู้ที่บานในวันนั้นจากต้นใดก็ได้ นำมาปลิดกลีบดอกออกให้หมดเหลือแต่ละอองเกสรตัวผู้ที่สังเกตเห็นว่ามีละอองเกสรตัวผู้เกาะติดอยู่เต็มไปหมด แล้วนำมาคว่ำและเตาะลงที่ยอดของดอกตัวเมียหรือดอกสมบูรณ์เพศที่บานในวันนั้นให้ทั่วโดยรอบดอก

ทยอยผสมเกสรให้ดอกตัวเมียหรือดอกสมบูรณ์เพศที่เกิดอยู่บนกิ่งแขนงที่เกิดบน ข้อที่ 8-12 ซึ่งจะบานไม่พร้อมกัน ต้องใช้เวลาหลายวัน จึงจะผสมครบทั้ง 5 ดอก เมื่อเริ่มติดเป็นผลอ่อนขนาดเท่าไข่ไก่ จึงเลือกผลที่สมบูรณ์ที่สุดไว้เพียงผลเดียว โดยดูจากผลที่รูปร่างสมบูรณ์ไม่บิดเบี้ยว และมีขั้วผลที่มีขนาดใหญ่ที่สุด ที่เหลือให้ปลิดทิ้ง

หลังติดผล 2 สัปดาห์ ให้เริ่มใช้เชือกผูกที่ขั้วผลโยงไว้กับค้างเพื่อช่วยพยุงและรับน้ำหนักผลที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่อไปจากนั้นให้รีบห่อผลด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์ให้มิดชิด เพื่อป้องกันการเข้าทำลายของแมลงวันทอง

การให้น้ำ ต้นเมล่อนเป็นพืชที่มีใบใหญ่คายน้ำมาก จึงต้องการน้ำมากในแต่ละวัน นับหลังจากย้ายปลูกแล้ว ความต้องการน้ำของต้นเมล่อนจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเมล่อนเริ่มออกดอกและติดผลจะเป็นช่วงที่เมล่อนมีปริมาณความต้องการน้ำสูงที่สุด

การให้น้ำแก่เมล่อนจึงต้องเพิ่มปริมาณการให้น้ำแก่ต้นเพิ่มมากขึ้นทุกสัปดาห์ จนถึงระยะออกดอกและติดผล จึงให้น้ำในปริมาณที่คงที่ได้ ปริมาณน้ำที่ต้องให้แก่ต้นเมล่อนนั้นขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ถ้าปลูกเมล่อนในช่วงที่อากาศร้อนจัด ในฤดูร้อนจัดและอากาศแห้งแล้ง ความต้องการน้ำของต้นเมล่อนในช่วงเริ่มต้นหลังย้ายกล้าอาจอยู่ในช่วง 0.5-1 ลิตร/ต้น/วัน และในช่วงที่กำลังออกดอกและติดผล อาจสูงถึงวันละ 2-3 ลิตร/ต้น/วัน

อย่างไรก็ตาม ความต้องการน้ำของเมล่อนสามารถเปลี่ยนแปลงไป ในฤดูกาลเดียวกันยังแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ สำหรับวิธีการให้น้ำแก่เมล่อนสามารถทำได้หลายวิธี เช่น การปล่อยน้ำเข้าข้างร่องปลูกและปล่อยให้น้ำซึมเข้าสู่แปลงจากด้านข้าง ซึ่งเป็นวิธีดั้งเดิมที่สิ้นเปลืองน้ำและแรงงาน

การให้น้ำและปุ๋ยแก่เมล่อน

การให้น้ำ ปัจจุบันนิยมใช้ระบบการให้น้ำแบบหยด ซึ่งเป็นการให้น้ำแก่ต้นแตงที่ในบริเวณรากของต้นแตงแต่ละต้นโดยตรง ซึ่งเป็นวิธีที่ประหยัดน้ำกว่า และยังสามารถผสมปุ๋ยและสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชบางชนิดลงไปในระบบน้ำหยดได้ด้วย แต่ต้องใช้การลงทุนสูงในครั้งแรก แต่สามารถเก็บไว้ใช้ในฤดูกาลปลูกต่อๆ ไป

การให้ปุ๋ย การใส่ปุ๋ยให้แก่เมล่อนที่ถูกวิธีและประหยัดนั้น ก่อนการให้ปุ๋ยแก่ต้นเมล่อนควรมีการตรวจวิเคราะห์ดิน เพื่อหาความอุดมสมบูรณ์ของดินเสียก่อนว่ามีอินทรียวัตถุ ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุโพแทสเซียม ธาตุแคลเซียม และแมกนีเซียม ที่เป็นประโยชน์ต่อพืชอยู่ในปริมาณเท่าใดก่อน แล้วจึงค่อยกำหนดปริมาณปุ๋ยที่จะใส่ให้แก่ดินที่ปลูกนั้นอีกครั้ง

เนื่องจากความอุดมสมบูรณ์ของดินในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน
เมื่อผลเมล่อนสุกแก่ จะมีการเปลี่ยนแปลงลักษณะภายนอก คือ ในพันธุ์ที่ผิวมีร่างแหจะพบว่าร่างแหเกิดขึ้นเต็มที่ครอบคลุมทั้งผล ผิวเริ่มเปลี่ยนสีและอ่อนนุ่มลง และในบางพันธุ์เริ่มมีกลิ่นหอมเกิดขึ้น เกิดรอยแยกที่ขั้วจนในที่สุดผลจะหลุดออกจากขั้ว

การเก็บเกี่ยวผลเมล่อนเพื่อการจำหน่ายจึงต้องเก็บเกี่ยวในระยะที่พอดี หากเก็บเร็วเกินไปจะได้ผลเมล่อนที่อ่อนเกินไป รสชาติยังไม่หวานและมีน้ำหนักน้อย หากเก็บเกี่ยวล่าช้าไป ผิวและเนื้อภายในจะอ่อนนุ่มเกินไป ไม่เหมาะสำหรับการเก็บรักษาและการจำหน่าย

อายุเก็บเกี่ยวของเมล่อนที่เหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับพันธุ์ ซึ่งมีทั้งพันธุ์เบา ที่มีอายุการเก็บเกี่ยว 60-65 วัน หลังหยอดเมล็ด หรือ 30-35 วัน หลังดอกบาน พันธุ์ปานกลางมีอายุเก็บเกี่ยว 70-75 วัน หลังหยอดเมล็ด หรือ 40-45 วัน หลังดอกบาน พันธุ์หนักที่มีอายุเก็บเกี่ยวเกินกว่า 80-85 วัน หลังเพาะเมล็ด หรือ 50-55 วัน หลังดอกบาน

นอกจากการนับจำนวนวันแล้ว การเก็บเกี่ยวเมล่อนยังสามารถดูจากลักษณะภายนอกได้ด้วย เมล่อนที่เริ่มสุกแก่เก็บเกี่ยวได้จะเริ่มมีกลิ่นหอมในพันธุ์ที่มีกลิ่มหอมและมีรอยแยกที่ขั้วผลเกิดขึ้น แสดงว่าผลแตงกำลังจะหลุดร่วงจากต้น

โดยทั่วไปมักจะเก็บเกี่ยวเมื่อเกิดรอยแยกประมาณ 50% หรือครึ่งหนึ่งของรอบขั้วผล ซึ่งเป็นระยะที่ผิวของผลแตงยังไม่อ่อนนุ่มจนเกินไป สามารถเก็บรักษาหรือขนส่งไปจำหน่ายในตลาดได้โดยไม่กระทบกระเทือน และอยู่ตลาดได้อีกระยะหนึ่ง

ผลเมล่อนที่ปลูกใกล้เก็บจำหน่ายได้

เคล็ดลับการเพิ่มความหวานในผลก่อนการเก็บเกี่ยว

ก่อนการเก็บเกี่ยว 1 สัปดาห์ ให้ค่อยๆ ลดปริมาณการให้น้ำแก่ต้นเมล่อนลงทีละน้อย จนถึง 2 วัน ก่อนเก็บเกี่ยว ให้ลดน้ำลงจนกระทั่งต้นแตงปรากฏเกิดอาการเหี่ยวในช่วงกลางวัน การทำเช่นนี้จะช่วยเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำตาลในผลเมล่อนและลดปัญหาการแตกของผลเมล่อนก่อนการเก็บเกี่ยว

เมล่อนที่จัดว่ามีความหวานอยู่ในเกณฑ์ที่ดี เป็นที่ต้องการของตลาด ควรมีค่าความหวานอยู่ที่ประมาณ 14 องศาบริกซ์ขึ้นไป หรืออย่างน้อยต้องไม่ต่ำกว่า 12 องศาบริกซ์ โดยสามารถวัดได้โดยใช้เครื่องวัดความหวานคลิก ยิ่งมีค่ามากยิ่งหวานมาก และเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้น

การเก็บรักษาเมล่อน

เมล่อน เป็นผลไม้สามารถเก็บเกี่ยวในระยะที่ผลพัฒนาเต็มที่แต่ยังไม่ถึงระยะสุกงอมและนำมาบ่มให้สุกก่อนการบริโภคได้เช่นเดียวกับมะม่วง กล้วย และมะละกอ ดังนั้น ถ้าหากเก็บเกี่ยวเมล่อนที่แก่แล้วนำมาวางเก็บไว้ในสภาพอุณหภูมิห้อง (ประมาณ 27-30 องศาเซลเซียส) ผลเมล่อนจะเกิดการสุกงอม เนื้อผลอ่อนและเน่าเสียในที่สุด ในเวลาอันสั้น

หากต้องการเก็บรักษาเมล่อนให้คงสภาพเดิมไว้ให้นานที่สุด เพื่อรอการจำหน่ายหรือขนส่งไปจำหน่ายในสถานที่ห่างไกล ควรจะต้องเก็บเมล่อนในสภาพที่มีอากาศเย็น ประมาณ 2-5 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์สูงถึง 95% จะสามารถยืดอายุการเก็บรักษาเมล่อนออกไปได้นานถึง 15 วัน ในระหว่างการขนส่งและวางจำหน่ายหากสวมผลเมล่อนไว้ในถุงตาข่ายโฟมจะช่วยป้องกันการกระแทกระหว่างกัน กันไม่ให้เกิดรอยช้ำได้

คุณขันทอง สบบง เจ้าของร้านกาแฟและผู้ปลูกเมล่อน

เจ้าของร้านกาแฟ Golden Bowl Coffee ในพื้นที่ตำบลสบบง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา นำผู้เขียนเข้าชมแปลงปลูกเมล่อนในโรงเรือนที่ทำไว้หลังร้านกาแฟของตนเอง โดยเป็นโรงเรือนปิดเพื่อป้องกันแมลง และปลูกแบบปลอดภัยจากสารพิษ โดยที่ไม่มีการใช้สารเคมีใดๆ และให้ผลผลิตที่มีคุณภาพ สำหรับการปลูกเมล่อน ใช้พื้นที่ 1 งาน ในการทำโรงเรือน 2 โรงเรือน และปลูกต้นเมล่อน ประมาณ 100 ต้น

คุณขันทอง สบบง บ้านเลขที่ 102 หมู่ที่ 12 ตำบลสบบง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา เจ้าของร้านกาแฟ Golden Bowl Coffee ใช้ชีวิตที่เรียบง่าย เดินตามรอยวิถีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ใช้พื้นที่หลังร้านลงทุนสร้างโรงเรือนปลูกเมล่อนญี่ปุ่นสายพันธุ์อิซิบะโคจิ และนิฮาโรกิ ซึ่งนำเข้าเมล็ดจากฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่นมาปลูก และเรียนรู้เองจาก Google ในการศึกษาลองผิดลองถูกจนประสบความสำเร็จและได้ผลผลิตเมล่อนออกสู่ท้องตลาด

สำหรับพื้นที่ปลูกเมล่อนที่ปลูกในโรงเรือนที่มิดชิด ปราศจากแมลงรบกวน ทำให้เมล่อนที่ปลูกมีรสชาติหวานหอมกรอบอร่อย ลูกค้าส่วนใหญ่ไว้วางใจว่าปราศจากสารเคมี 100% ส่วนราคาขายจากปกติราคา 150 บาท ช่วงนี้ก็ตกอยู่ กิโลกรัมละ 120 บาท เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19

สำหรับการปลูกเมล่อนใช้เวลาในการเจริญเติบโตประมาณสองเดือนครึ่ง และผสมเกสรแล้วนับไปอีก 45 วัน ลูกเมล่อนจะโตเต็มที่และเก็บเมล่อนได้ สำหรับเมล่อนที่ลายไม่สมบูรณ์ ปริมาณความหวานจะน้อย รสชาติไม่อร่อย เมล่อนญี่ปุ่นที่ตัดมาใหม่ๆ ขอแนะนำว่าอย่าผ่ากินทันที ต้องปล่อยให้ขั้วสีเขียวเหี่ยวแห้งลงสักเล็กน้อย จึงค่อยนำไปผ่ากิน เนื้อเมล่อนจะนุ่ม รสชาติหวานฉ่ำตามต้องการ

ท่านใดสนใจผลผลิตเมล่อนจากร้าน ติดต่อได้ที่ คุณขันทอง สบบง โทรศัพท์ 086-183-4588 หรือสั่งออนไลน์ Facebook ชื่อ Golden Bowl Coffee โดยสามารถส่งผลิตภัณฑ์ได้ทั่วประเทศ จนกว่าผลผลิตจะหมด