สุภาพ โนรีวงศ์ ชาวนา ป.4 ปราชญ์ชาวนา ป.4 แห่งเมืองแปดริ้ว

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปพบปะพูดคุยสัมภาษณ์กับ คุณสุภาพ โนรีวงศ์ คนเก่งแห่งอำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ก็เลยได้ความจริงว่า ความรู้จากโรงเรียนแค่ ป.4 ก็จริง แต่คุณสุภาพ ไม่เคยหยุดความรู้ตัวเองไว้เพียงแค่นี้ แม้ไม่ได้เรียนมัธยมศึกษา หรือระดับปริญญา จากมหาวิทยาลัยไหน แต่ปรากฏว่าความรู้ของคุณสุภาพกลับมากมาย เพราะเขาไม่เคยหยุดตัวเอง ต้องขวนขวายหาแหล่งความรู้ต่างๆ ใฝ่หาความรู้ใส่ตัวในการเกษตร ที่ไหนใครเปิดอบรมสอนวิชาเกษตร คุณสุภาพต้องไปศึกษามาทุกแห่ง เพื่อหาความรู้เรื่องดิน น้ำ อากาศ มาเพื่อประกอบการทำนาให้ได้ผลผลิตดี

คุณสุภาพ บอกกับผู้เขียนว่า “อาชีพพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย ของผมมาจากตระกูลชาวนา ผมก็ต้องสืบสานอาชีพนี้ให้ตลอดไป”

คุณสุภาพ โนรีวงศ์ ปราชญ์ชาวนา ป.4 แห่งเมืองแปดริ้ว

คุณสุภาพ บอกว่า ทำนาทั้งหมด 80 ไร่ โดยเข้าร่วมกับโครงการของ ธ.ก.ส. ทาง ธ.ก.ส.ได้จัดส่งนักวิชาการมาอบรมให้เกษตรกรได้เรียนรู้เรื่องปุ๋ย เรื่องดิน ดินที่ไหนก็แล้วแต่ถ้าใส่ปุ๋ยเคมีเยอะเกินไป ดินจะเสียหายหมด จนทำให้เกษตรกรต้องล่มจม ตัวอย่างง่ายๆ ที่เห็นกันก็คือ สวนส้ม แห่งทุ่งรังสิต ในอดีตแต่ก่อน ละแวกอำเภอหนองเสือ อำเภอธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี เป็นแหล่งผลิตส้มที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ตอนหลังก็เจ๊งหมดตัว เพราะดินเสื่อมจากการใช้ปุ๋ยเคมีเยอะเกินไป เชื้อโรคต่างๆ เข้าทำลายจนเกษตรกรชาวสวนส้มหมดตัว โยกย้ายหนีขึ้นภาคเหนือไปหาแหล่งปลูกกันใหม่ เพราะไม่มีนักวิชาการคนไหนมาแก้ปัญหาให้ได้

แต่แท้จริง มันเป็นปัญหาเส้นผมบังภูเขา ส้มเสียหายเพราะใช้สารเคมีเยอะเกิน โดยเฉพาะปุ๋ยเคมีทั้งหลายแหล่ เกษตรกรแก้ปัญหาไม่ได้มืดแปดด้าน

การใส่ปุ๋ยเคมีมากเกินไปนอกจากจะเพิ่มค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นแล้ว การเติมฟอสฟอรัสลงไปมากจะทำให้ดินแข็งและเกิดสภาพความเป็นกรดด้วย

นอกจากทำนา 80 ไร่ คุณสุภาพ โนรีวงศ์ ยังปลูกผักสวนครัวไว้กินเอง คุณสุภาพ อายุได้ 70 ปี แต่ดูแข็งแรง เพราะสุขภาพดี

พืชบำรุงดินช่วยได้มาก

คุณสุภาพ เล่าถึงหลักการทำนาว่า ก่อนทำนาในปีต่อๆ มา มีการตรวจสภาพดินตลอด หลังจากที่สามารถลดค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่งลงได้แล้ว จึงเกิดความคิดต่อยอดที่จะลดปริมาณปุ๋ยเคมีที่ให้ลงแล้วหันมาปลูกพืชบำรุงดินชนิดอื่นๆ แทน โดยเลือกปลูกปอเทืองและถั่วพร้า แต่ในปัจจุบันนี้เหลือเพียงการปลูกปอเทืองเพียงอย่างเดียว เพราะเป็นพืชที่ปลูกง่ายและมีความแข็งแรง ทนทาน เหมาะแก่การปลูกในฤดูแล้ง หลังจากปลูกปอเทือง 3-4 ปี ค่าความเป็นกรด-ด่าง ของดินเพิ่มขึ้นจาก 4.5 เป็น 6.5 ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่เหมาะสมที่ใช้ในการปลูกข้าว

คุณสุภาพ บอกว่า ปอเทืองเป็นพืชที่ปลูกง่าย ดูแลง่าย ไม่จำเป็นต้องให้น้ำ อาศัยเพียงน้ำค้างในการเจริญเติบโตเท่านั้น โดยจะเริ่มหว่านเมล็ดในช่วงเดือนมกราคมที่อากาศยังหนาวอยู่ เพราะฤดูหนาวจะมีน้ำค้างมาช่วยเลี้ยงต้นเยอะ ในช่วงแรกนั้นเพียงปลูกเพื่อบำรุงดินเท่านั้น เพราะนอกจากจะช่วยเพิ่มอาหารแล้ว ยังช่วยเพิ่มค่าอินทรียวัตถุในดินได้อีกด้วย แต่ในปัจจุบันนี้ได้มีการทดลองปลูกเพื่อเก็บเมล็ด เพื่อนำไปขายและเก็บตุนไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ที่ใช้ปลูกในรอบถัดไป

โรงสีข้าวอยู่ใกล้บ้าน นา 80 ไร่ ใกล้โรงสีข้าว

“การได้ทดลองและสังเกตลักษณะข้าว ทำให้ได้รับความรู้เพิ่มขึ้นมาก รวมไปถึงเรื่องข้าวที่กลายพันธุ์ไม่ได้ตามมาตรฐานทั้งหลายนั้น เกิดขึ้นได้เพราะชาวนาใช้ปุ๋ยเคมีเพื่อเร่งกระบวนการโตให้สามารถเก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น การพัฒนาดินในที่นายังคงทำมาเรื่อยๆ โดยการปลูกปอเทืองผสมกับการให้ปุ๋ย จนเมื่อปีที่แล้วได้มีการตรวจดิน ผลออกมาว่าดินมีคุณภาพดีแล้วไม่จำเป็นต้องเติมอะไรไปอีก แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังต้องคอยตรวจเช็กสภาพดินก่อนปลูกข้าวทุกครั้ง เพื่อที่จะได้ปรับเปลี่ยนวิธีการปลูกและปริมาณอาหารให้เหมาะสมถูกต้อง” คุณสุภาพ บอก

คุณสุภาพ บอกว่า หลังจากที่ทดลองปลูกข้าวพันธุ์ปทุมธานี 1 แบบกึ่งอินทรีย์สำเร็จแล้ว จึงลองนำวิธีการนี้มาปลูกข้าวเพื่อบริโภคชนิดอื่นบ้าง โดยได้เริ่มปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ เมื่อประมาณ 3 ปีที่แล้ว สาเหตุที่เลือกปลูกข้าวชนิดนี้ก็เพราะเป็นพันธุ์ที่มีความต้องการทางการตลาดสูง ปัจจุบัน แบ่งที่นาออกเป็น 4 ส่วน เพื่อการปลูกข้าวทั้งหมด 3 สายพันธุ์ คือ ปทุมธานี 1 ไรซ์เบอร์รี่ และหอมมะลิ 105 โดย 2 ส่วนแรก ปลูกข้าวปทุมธานี 1 เพื่อส่งโรงสีข้าว ส่วนข้าวไรซ์เบอร์รี่และหอมมะลิ 105 ปลูกเพื่อจำหน่ายเอง อย่างละ 1 ส่วน โดยข้าวไรซ์เบอร์รี่และหอมมะลิ 105 ออกจำหน่ายในลักษณะของการแพ็กสุญญากาศ กิโลกรัมละ 60 และ 50 บาท ตามลำดับ

ข้าวหอมสีม่วง หรือข้าวไรซ์เบอร์รี่ แพ็กถุงละ 1 กิโลกรัม ราคา 60 บาท

ปลูกแบบอดน้ำ ช่วยลดต้นทุน เหลือน้ำไว้ใช้ในครั้งถัดไป

นอกจากจะมีการปลูกปอเทืองเพื่อช่วยบำรุงดินแล้ว เพื่อลดค่าใช้จ่ายในเรื่องปุ๋ยแล้ว คุณสุภาพยังใช้วิธีการแกล้งข้าวหรือการปลูกข้าวแบบอดน้ำ เพื่อลดปริมาณน้ำให้เหลือเพียงพอสำหรับใช้ในการปลูกพืชชนิดอื่นได้ การปลูกข้าวแบบอดน้ำคือ การทำนาแบบเปียกสลับแห้ง คอยให้น้ำเมื่อถึงเวลาที่ต้นต้องการ นอกจากจะช่วยลดปริมาณน้ำแล้วยังสามารถช่วยแก้ปัญหาศัตรูพืชได้อีกด้วย เช่น เพลี้ยกระโดดจะไม่ชอบต้นข้าวที่ไม่อิ่มน้ำ เพราะฉะนั้น การปลูกแบบนี้จะทำให้มีแมลงมารบกวนข้าวน้อยมาก

“ผมเรียนรู้เรื่องนี้มาจากวิกฤตน้ำแล้ง ปกติแล้วในพื้นที่อำเภอนี้สามารถทำได้ทั้งนาปีและนาปรัง แต่ในปีหนึ่งได้เริ่มการทำนาปรัง โดยหว่านข้าวในช่วงเดือนมีนาคม เมื่อผ่านไปเดือนหนึ่งประสบภาวะแล้ง คลองแห้ง ไม่มีน้ำมาคอยหล่อต้นข้าว ทำให้ใบข้าวเริ่มห่อ ตอนนั้นคิดว่าต้นข้าวต้องตายแน่นอน แต่เมื่อฝนตกมาปรากฏว่าต้นข้าวมีลักษณะดีขึ้น ใบที่เคยห่อไม่ห่อแล้ว ตอนนั้นจึงได้เข้าใจว่า ปลูกข้าวไม่จำเป็นต้องคอยหล่อน้ำไว้ตลอด และข้าวรุ่นนั้นก็ให้ผลผลิตดี เนื้อนุ่ม ไม่อวบน้ำด้วย จึงได้ศึกษาและนำมาทดลองปลูก ผลที่ได้ก็ออกมาดีอย่างที่หวังไว้ และยังช่วยประหยัดน้ำไปได้เยอะมาก” เจ้าของเล่า

หลานสาวมาช่วยแพ็กข้าวไรซ์เบอร์รี่ใส่ถุงเพื่อจำหน่ายแก่ลูกค้า ใช้แรงงานในครอบครัว

คุณสุภาพ บอกว่า การอดน้ำต้องทำให้ถูกจังหวะ หากทำไม่ถูกจังหวะวัชพืชจะขึ้นมาก และต้องใช้สารเคมีมาช่วยในการกำจัดหญ้าอีก วิธีการที่ถูกต้องคือ หลังจากหว่านเมล็ดแล้วให้เอาน้ำออกเพื่อให้เมล็ดข้าวจับดิน หลังจากนั้น 3 วัน จึงเอาน้ำเข้านา หากเป็นการปลูกเพื่อขายส่งโรงสีข้าว สามารถใช้ยาคุมหญ้ามาช่วยได้ หลังจากการหว่านเมล็ดแล้วใส่ยาได้ 2 วัน ก็ปล่อยน้ำเข้านา คอยหล่อน้ำในนาห้ามให้ดินโผล่เป็นเวลา 30-35 วัน เพื่อกันวัชพืชขึ้น จากนั้นจึงปล่อยน้ำให้ดินแห้ง จนข้าวหิวน้ำจึงให้น้ำอีกครั้ง วิธีสังเกตว่าข้าวหิวน้ำคือ ใบธงข้าวจะมีปลายใบเหี่ยว หลังจากต้นโตแล้วสามารถให้น้ำแบบเปียกสลับแห้งได้ตลอด เพราะเมื่อต้นโตแล้วจะมีใบทึบคอยปิดไม่ให้แสงลงดิน เมื่อไม่มีแสงต้นหญ้าจะไม่ขึ้น หรือถ้าขึ้นก็จะไม่โต

“วิธีการปลูกแบบอดน้ำนี้สามารถนำไปใช้ในการทำนาได้ทุกพื้นที่ของประเทศ ตอนนี้มีเกษตรกรสิงห์บุรี มาเรียนรู้ดูงานแล้วนำกลับไปทำก็ประสบผลสำเร็จได้ผลผลิตดี ไม่ต่างจากการปลูกข้าวแบบเดิมๆ เกษตรกรควรจะพัฒนาความรู้อยู่ตลอด และนำความรู้เหล่านั้นมาพัฒนาพื้นที่ของตนเอง เช่น เรื่องแมลงศัตรูพืชที่รบกวนข้าว ควรศึกษาชนิดของแมลงให้ดี เพราะยังมีแมลงบางชนิดที่ช่วยชาวนากำจัดศัตรูพืช ได้แก่ แตนเบียน แมลงปอ และแมงมุม ที่ช่วยในการกำจัดไข่และตัวอ่อนของเพลี้ยกระโดด หากรู้จักสมดุลทางธรรมชาติของแมลงเหล่านี้ดีก็สามารถช่วยลดค่าต้นทุนในเรื่องยาพ่นกำจัดแมลงและทำให้ข้าวที่ผลิตออกมาปลอดสารเคมีเต็มตัว” เจ้าของนาอธิบาย

แต่แท้จริงแล้ว ดินเสียหายเพราะเคมีนั่นเอง คุณสุภาพ ได้รับการอบรมมาว่า ทำนาให้ใช้ปุ๋ยเคมีให้น้อยที่สุด จะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ก็ราคาแพง ก็เลยใช้ปุ๋ยสด ปุ๋ยสดคือต้นปอเทือง หว่านปอเทืองทิ้งไว้ประมาณ 2 เดือน แล้วไถกลบให้เน่าเป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยสดชั้นดีวิเศษ ต้นข้าวจะชอบปุ๋ยสด นา 80 ไร่ ถ้าใช้ปุ๋ยอินทรีย์กระสอบละ 300 บาท จะหมดเงินหลายแสน เป็นต้นทุนที่สูง ชาวนาที่ชาญฉลาดเขาไม่ค่อยทำ ทำไปก็เหนื่อยเปล่า ต้องลงทุนให้ต่ำเข้าไว้ ที่ทางออกที่ดีที่สุดของชาวนาผู้เก่งกาจอย่างคุณสุภาพ แห่งตำบลดอนเกาะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว ทุกวันนี้คุณสุภาพ ปลูกข้าวหอมสีม่วง หรือเรียกว่าข้าวไรซ์เบอร์รี่ ถือว่าสารสีม่วงในข้าวหอมชนิดนี้มีสารอาหารที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกาย โดยเฉพาะสารสีม่วงที่หมอยืนยันว่าช่วยบำรุงเรื่องสายตา เพราะเป็นข้าวที่มีประโยชน์มากมายนี้เอง ข้าวสีม่วงนี้จึงมีราคาแพง ชาวนาไม่ต้องยากจนอีกต่อไป ยิ่งคนรุ่นใหม่ใส่ใจในสุขภาพต่างก็ต้องการ ราคาจึงสูงถึง กิโลกรัมละ 70-100 บาท

ข้าวเพื่อสุขภาพของคุณสุภาพ ชื่อ โนรี

คุณสุภาพ ปลูกข้าวสีม่วง 40 ไร่ ปลูกแล้วตากให้แห้งสีเอง แพ็กใส่ถุงขายเองในราคา กิโลกรัมละ 60 บาท โดยทำตลาดเองด้วย ถ้าชาวนาขายข้าวได้ราคาอย่างนี้ ก็คงจะหมดไปกับคำพูดที่ว่า ชาวนายากจน อีกต่อไป

ข้าวเปลือก 800 กิโลกรัม สีแล้วเป็นข้าวสาร ได้ 600 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 60 บาท ชาวนาก็ได้ 36,000 บาท ต่อ 1 ไร่

ต้องการข้อมูลหรืออยากเรียนรู้เรื่องการทำนาให้ประสบความสำเร็จ ติดต่อคุณสุภาพ โนรีวงศ์ ได้ที่ ศูนย์เรียนรู้เรื่องการเกษตร บ้านเลขที่ 31/2 หมู่ที่ 4 ตำบลดอนเกาะกา อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา โทร.ไปก่อนได้เลย (092) 654-8040

กำลังจะปลูกไผ่หวาน ในที่ดินอีก 3 ไร่ เพื่อเป็นไร่นาสวนผสม