“เมย์เมียว” ไม้ดอกนำโชค ของชาวไทยใหญ่ที่เมืองปาย

หากใครมีโอกาสไปเยือน “เมืองปาย…เสน่ห์แห่งเมืองสามหมอก” อำเภอเล็กๆ ที่โอบล้อมไปด้วยภูเขาสูงสลับทับซ้อน และป่าไม้นานาพันธุ์ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน คงจะติดใจในวิถีชีวิตเรียบง่าย สงบสุข ท่ามกลางธรรมชาติขุนเขา สายน้ำ และวัฒนธรรมพื้นเมืองอันดีงามของชาวเมืองปาย ซึ่งประชากรส่วนใหญ่มีเชื้อสายชาวไทยภูเขา และคนไทยเชื้อสายไทยใหญ่ ที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ริมแม่น้ำสาละวิน แถบรัฐฉาน บริเวณเมืองหมอกใหม่ เมืองนาย เมืองลานเคอ ฯลฯ ก่อนจะอพยพเข้ามาอาศัยในแผ่นดินไทย ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน (พ.ศ. 2374) ในช่วงรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

ทุกวันนี้ลูกหลานไทยเชื้อสายไทยใหญ่มีอยู่กระจัดกระจายทั่วทั้งจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีรายได้หลักจากการทำอาชีพเกษตรกรรม ปลูกพืช ทำไร่ ทำนาแล้ว พวกเขายังมีมรดกทางพันธุกรรมพืชที่สำคัญอีกอย่างคือ   “ดอกเมย์เมียว” บางคนเรียกว่า ดอกเมียววดี หรือดอกเมียวเมียว ในช่วงฤดูหนาว หากใครไปเดินเที่ยวแถวตลาดสดยามเช้า จะเห็น “ดอกเมย์เมียว” ดอกไม้ดอกเล็กๆ สีขาวและสีชมพูอ่อน กลีบดอกและก้านใบดูบอบบาง ถูกมัดรวมกันเป็นช่อมาวางขายให้แก่ผู้สนใจ

ชาวเมืองปายยังนิยมนำดอกเมย์เมียวไปไหว้สักการะที่เจดียอนุสรณ์สถานพระนางสุพรรณกัลยา พระเชษฐภคินีของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ในบริเวณวัดน้ำฮู เพราะเชื่อว่า ดอกเมย์เมียว เป็นดอกไม้ที่พระนางสุพรรณกัลยาทรงชื่นชอบเป็นพิเศษ “จรัล มโนเพ็ชร” ศิลปินชื่อดังชาวล้านนา มีความประทับใจดอกไม้ชนิดนี้มาก จนนำไปแต่งเป็นบทเพลงส่งเสริมให้กำลังใจ ชื่อว่า “เมียวเมียว มู…มู” โดย จรัล มโนเพ็ชร ขับร้องเพลงนี้ร่วมกับ สุนทรี เวชานนท์ ในอัลบั้มชุด ฉันมีความรักมาให้ บันทึกเสียง เมื่อปี 2531

ชมสวนดอกเมย์เมียว ที่บ้านป้าแหลง

“ป้าแหลง-คุณอาภรณ์ แสงโชติ” ประธานเครือข่ายคณะทำงานเสริมสร้างความเข้มแข็งองค์กรชุมชน อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน บอกว่า ดอกไม้ชนิดนี้ คนพม่าเรียกว่าดอกเมียววดี คนเมืองปายเรียกกันติดปากว่า ดอกเมย์เมียว แต่ภาษาไทยใหญ่เรียกว่า ดอกซะเทวะต๊ะ คำว่า “ซะเท” ในภาษาไทยใหญ่หมายถึง เศรษฐี ส่วนคำว่า “วะต๊ะ” หมายถึง วาระ คำว่า “ซะเทวะต๊ะ” มีความหมายว่า วาระแห่งเศรษฐี เมื่อดอกเมย์เมียวผลิบาน ผู้เฒ่าผู้แก่ชาวไทยใหญ่จะนิยมตัดดอกไม้ชนิดนี้ไปไหว้บูชาพระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต

ป้าแหลง เล่าอีกว่า โดยทั่วไปดอกไม้มงคลในความเชื่อของคนไทยใหญ่ มี 2 ชนิด คือ ดอกเมย์เมียว และดอกแก้วเมืองอินทร ที่มักจะผลิบานในช่วงเทศกาลออกพรรษา ดอกแก้วเมืองอินทร ในท้องถิ่นเมืองปายก็หายากใกล้สูญพันธุ์เช่นกัน ดอกแก้วเมืองอินทร มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า “จินจูฉ่าย” คนจีนนิยมเอายอดไปใส่ในเมนูต้มเลือดหมู แต่ชาวไทยใหญ่มีความเชื่อว่า หากนำดอกแก้วเมืองอินทรมาบูชาพระในช่วงเทศกาลออกพรรษา จะได้บุญมาก เมื่อตายไปแล้วจะได้ขึ้นสวรรค์

ป้าแหลง พาเดินไปชมแปลงปลูกดอกเมย์เมียว ที่มีก้านยาว ดอกเล็ก กลีบดอกบางเบา ทั้งสีขาวและสีชมพูกำลังบานสะพรั่งอยู่เต็มสวน แม้สายหมอกยามเช้าจะจางหายไปแล้ว แต่ยังมีหยาดน้ำค้างอาบชุ่มบนกลีบดอกเล็ก ที่สวยน่ารักเหมือนดอกจิปโซ กลีบดอกบอบบาง พลิ้วไหวเวลาต้องลม ช่างสวยงามเกินบรรยายจริงๆ

ป้าแหลง เล่าให้ฟังว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงโปรดดอกไม้ชนิดนี้มาก ทุกครั้งที่เสด็จฯ มาทรงงานที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จะมีดอกเมย์เมียวประดับแจกันไปถวายพระองค์ท่านฯ เสมอ ดอกเมย์เมียวจะเก็บได้นานถึง 10 วัน ดอกตูมจะทยอยค่อยผลิบานออกมาเรื่อยๆ ดอกเก่าก็จะค่อยแห้งเหี่ยวลงไป หากเก็บไว้เป็นดอกไม้แห้งใช้ประดับบ้านเรือนก็สวยแปลกตาน่าชม

การปลูก-ดูแล

ดอกเมย์เมียวจะเริ่มผลิบานเฉพาะช่วงฤดูหนาว ตั้งแต่เดือนธันวาคมไปถึงเดือนกุมภาพันธ์ ป้าแหลง บอกว่า ขั้นตอนการปลูกดอกเมียววดีทำได้ง่ายๆ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม จะเริ่มนำเมล็ดพันธุ์เมย์เมียว ออกมาหว่านในแปลงเช่นเดียวกับการปลูกผักกาด เปิดน้ำฉีดเช้า-เย็น แค่พอหน้าดินชุ่มชื้นเท่านั้น หากปีไหนโชคร้าย เจอฝนตก ต้นเมย์เมียวก็เสี่ยงเจอปัญหาเชื้อราเข้ารบกวน หากปีไหนไม่เจอฝนตก ก็เจริญงอกงามด้วยดี

ลักษณะเมล็ดพันธุ์ของดอกเมย์เมียว

เมล็ดพันธุ์ดอกเมย์เมียวจะงอกออกเป็นต้นกล้าเล็กๆ ภายในระยะเวลา 1 สัปดาห์ และค่อยเจริญงอกงามอย่างเต็มที่ในระยะเวลาประมาณ 75 วัน หลังจากเบ่งบานอย่างเต็มที่แล้วก็จะค่อยแห้งเหี่ยวลง ป้าแหลง จะปล่อยให้ดอกเมย์เมียวแห้งเหี่ยวคาต้นประมาณ 1 เดือน จึงค่อยเก็บดอกแห้งไว้ทำพันธุ์สำหรับปลูกขยายพันธุ์ในปีต่อไป

ต้นกล้าดอกเมย์เมียวที่งอกในระยะ 1 เดือน

เทคนิคสำคัญในการเก็บรักษาพันธุ์ดอกเมย์เมียวของป้าแหลงคือ ห้ามเก็บใส่ในขวดพลาสติกอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้เมล็ดพันธุ์ไม่งอก ป้าแหลงจะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ในขวดแก้วเท่านั้น วิธีนี้สามารถรักษาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ได้นาน 1-2 ปี หากเก็บดอกเมย์เมียวที่แห้งแล้วมาลองบีบบริเวณช่อดอก จะเจอเมล็ดพันธุ์สีดำ ขนาดเล็กเท่ากับเมล็ดแมงลักจำนวนมาก ป้าแหลง แบ่งปันเมล็ดพันธุ์ดอกเมย์เมียวให้เกษตรกรที่เป็นเครือข่ายได้ร่วมกันปลูกอนุรักษ์สายพันธุ์ดอกเมย์เมียวให้เป็นมรดกแก่แผ่นดินเมืองปาย

 

ลักษณะลำต้นของดอกเมย์เมียว

ด้านตลาด

ทุกปีจะมีแม่ค้าดอกไม้จากจังหวัดเชียงใหม่มารับซื้อดอกเมย์เมียวถึงสวนป้าแหลง ในราคากิโลกรัมละ 500 บาท สำหรับเนื้อที่ปลูก 1 แปลง ขนาด 8 เมตรx 60 เซนติเมตร เมื่อเก็บดอกเมย์เมียวออกขายจะมีรายได้สูงถึงแปลงละ 20,000 บาท ทีเดียว ป้าแหลงบอกว่า ชาวไทยใหญ่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนและเชียงใหม่นิยมใช้ดอกเมย์เมียวจัดพุ่มดอกไม้มงคลถวายพระหรือมอบให้เป็นของขวัญให้กับผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ เพราะความหมายของชื่อ ซะเทวะต๊ะ ที่แปลว่า ดอกไม้เศรษฐี เป็นนามมงคลเสมือนเป็นคำอวยพรให้มีโชคลาภทั้งผู้ให้และผู้รับ

ดอกเมียววดี ผลิบานเพียงช่วงสั้นๆ ปีละครั้ง ในช่วงฤดูหนาว ประมาณเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ของทุกปี หากใครสนใจอยากชื่นชมดอกไม้พันธุ์นี้ ป้าแหลงขอเชิญชวนให้แวะเข้ามาเยี่ยมชมได้ที่สวนของป้าแหลง ตั้งอยู่เลขที่ 212 หมู่ที่ 2 ตำบลเวียงใต้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน 58130 โทรศัพท์   081-893-3649  และ 053-698-149

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ “ดอกเมย์เมียว”   

ดอกเมย์เมียว หรือที่เรียกว่า ดอกเมียวเมียว หรือดอกเมียววดี มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Vaccaria pyramidata สกุล Caryophyllaceous ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ พืชล้มลุก ใบเดี่ยวรูปสามเหลี่ยมแคบ ปลายใบแหลม ขนาดประมาณกว้าง 0.5-2 เซนติเมตร ยาว 2-4 เซนติเมตร กลีบเลี้ยง 5 กลีบ สีเขียว กลีบดอก 5 กลีบ สีขาว-ชมพู ผลแห้งแตกได้ขนาดเล็ก เมล็ดขนาดเล็กสีดำ-น้ำตาล ดูจากลักษณะดอกเมย์เมียวที่เป็นไม้ดอกเมืองหนาว คาดว่ามีถิ่นกำเนิดอยู่ในโซนเขตหนาวอย่างยุโรป และถูกนำมาปลูกในภูมิเอเชียตั้งแต่ในสมัยอดีต

คุณโดม วุฒิชัย  เคยเขียนเรื่อง “เมย์เมียวในสายหมอก” ตีพิมพ์ในคอลัมน์ “โลกในเม็ดทราย” ของนิตยสาร กุลสตรี คุณโดม ได้รับการบอกเล่าจากไกด์ชาวพม่าว่า ประเทศพม่ามีดอกไม้ชื่อว่า ดอกเมย์เมียว ถูกตั้งตามชื่อเมือง “เมย์เมียว” ซึ่งเป็นเมืองขนาดเล็กแห่งหนึ่งในพม่า อยู่ใกล้ๆ กับเมืองมัณฑะเลย์

เมืองเมย์เมียว มีชื่อเดิมในภาษาพม่าว่า เมือง “ปินอูลวิน” หลังจากพม่าตกเป็นอาณานิคมของอังกฤษ พันเอกเมย์ ฟลาวเวอร์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบอังกฤษ ได้รับมอบหมายให้มาดูแลความสงบเรียบร้อยในประเทศพม่า เนื่องจากผู้พันเมย์ เป็นคนชอบดอกไม้ เขาจึงนำพันธุ์ดอกไม้ในเมืองหนาวเข้ามาปลูกที่เมืองแห่งนี้ ต่อมาเมืองปินอูลวินถูกเรียกว่า เมืองเมย์เมียว หมายถึง เมืองของผู้พันเมย์ และกลายเป็นชื่อดอกไม้พันธุ์เมืองหนาวที่ปลูกในเมืองแห่งนี้

แม้ว่าจะชื่อ ดอกเมย์เมียวเหมือนกัน แต่เมย์เมียวที่ปลูกในพม่ามีลักษณะคล้ายดอกเบญจมาศเล็กๆ แตกต่างจากดอกเมย์เมียวที่พบในจังหวัดแม่ฮ่องสอน อย่างไรก็ตาม คุณโดม มีความเชื่อว่า เมย์เมียวอาจจะใช้เรียกดอกไม้ชนิดต่างๆ ที่ผู้พันเมย์นำมาจากบ้านเกิดเพื่อมาปลูกที่พม่า ต่อมาจึงพากันเรียกชื่อดอกไม้ตามชื่อเมืองเมย์เมียว ที่ปลูกก็เป็นได้ คุณโดม กล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ดอกเมย์เมียว ไม่ได้เป็นของชนชาติใด แต่เป็นดอกไม้ของมวลมนุษยชาติ เพราะดอกไม้มีอิสระเสรีที่จะเติบโตและแพร่พันธุ์ ดอกไม้ไม่เคยหวงความงามไว้เฉพาะสำหรับผู้ปลูกเท่านั้น แต่มันเบ่งบานเพื่อเผยความงามให้แก่ทุกคนที่ได้พบเห็น” เชื่อว่า ผู้อ่านทุกท่านคงจะเห็นด้วยเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ …จริงไหมคะ