ข้าวเวียดนาม กำลังแซงไทย (ตอนจบ)

ฉบับที่แล้ว เราได้ไปดูการพัฒนาพันธุ์ข้าวคุณภาพดีที่เหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูก ซึ่งเป็นดินเค็มที่จังหวัดซ็อคตรัง ฉบับนี้ผมจะพาท่านไปพบกับการพัฒนาพันธุ์ข้าวและเทคโนโลยีการทำนาแบบลดต้นทุนการผลิตแบบง่ายๆ ของบริษัทยักษ์ใหญ่ที่เวียดนาม

คณะของเราได้เดินทางไปดูงานการพัฒนาและผลิตพันธุ์ข้าว ของ บริษัท ล็อค เจ่ย กรุ๊ป (Loc Troi Group Jiont Stock Company) หรือ บริษัท อันยาง อารักขาพืช (An Giang Plant Protection Joint Stock Company) เดิม ที่จังหวัดอันยาง ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เยือง วัน จิ๋น (Assoc. Prof. Dr. Duong Van Chin) เพื่อนเก่าแก่กว่า 15 ปี อดีตรองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยข้าวที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขง (Cuu Long Delta Rice Research Institute) ปัจจุบันท่านเกษียณราชการแล้ว และมาปฏิบัติงานในตำแหน่งผู้อำนวยการศูนย์วิจัยการเกษตรดิ่นห์ ถั่นห์ บริษัท ล็อค เจ่ย กรุ๊ป จังหวัดอันยาง ได้ให้การต้อนรับ บรรยายสรุปและนำคณะดูงานการวิจัย ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวพันธุ์ดี และการวิจัยพัฒนารูปแบบการทำนาเพื่อลดต้นทุนการผลิต

ดร. Duong Va Chin

ดร. จิ๋น กล่าวว่า ปัจจุบัน ล็อค เจ่ย กรุ๊ป มีพื้นที่ผลิตขยาย และแปลงทดลองพันธุ์พืชชนิดต่างๆ ของบริษัท รวม 800 เฮกตาร์ (5,000 ไร่) และมีเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวทั้งเมล็ดพันธุ์หลัก และเมล็ดพันธุ์ขยาย ที่ทำสัญญากับบริษัททุกๆ ปี จำนวน 3,000 ราย และไม่ได้ทำสัญญา จำนวน 7,000 คน เป็นพื้นที่ จำนวน 5,000 เฮกตาร์ (31,250 ไร่) สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวทั้งเมล็ดพันธุ์หลักและเมล็ดพันธุ์ขยาย รวมปีละกว่า 40,000 ตัน จัดว่าเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวรายใหญ่ที่สุดในเวียดนาม ซึ่งความต้องการเมล็ดพันธุ์ข้าวของเกษตรกรในพื้นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขง มีประมาณ 50,000 ตันเศษ ต่อปี

ปัจจัยที่ทำให้ ล็อค เจ่ย กรุ๊ป ประสบผลสำเร็จในการผลิตพันธุ์ข้าวคือ เพื่อนเกษตรกร (Farmer Friend) หรือเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรของบริษัทที่มีอยู่ทั้งสิ้น 1,300 คน และเกษตรกรผู้นำ ซึ่งบ้านเราอาจจะเรียกว่า “ปราชญ์ชาวบ้าน” (Key Farmers) หรือ เกษตรกรหัวก้าวหน้า โดยมียุทธศาสตร์ในการทำงานกับเกษตรกรแบบ “3 ร่วม” (3 Together/3 Cung) คือ

  1. ร่วมคิด (Thinking Together) คือ การทำงานแบบให้เกษตรกรได้แสดงความคิดเห็นและตัดสินใจในการดำเนินงานใดๆ ร่วมกัน (ไม่ใช่ทำตามที่นายสั่ง)
  2. ร่วมอยู่ (Live Together) คือ ให้เพื่อนเกษตรกรเข้าไปใช้ชีวิตคลุกคลีร่วมกับเกษตรกรในท้องถิ่น เรียนรู้พฤติกรรม วัฒนธรรม ความเชื่อของท้องถิ่น และปัญหาที่แท้จริงของเกษตรกร อีกทั้งเพื่อให้เกษตรกรมีความรู้สึกเหมือนญาติพี่น้อง และให้ความไว้วางใจ (ไม่ใช่ทำตัวเป็นเจ้านาย)
  3. ร่วมทำ (Working Together) คือ เพื่อนเกษตรกรต้องทำงานในนาและเรียนรู้ร่วมกับเกษตรกร โดยใช้ท้องนาเป็นห้องเรียน ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการทำนา และยอมรับวิธีปฏิบัติใหม่ๆ หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้ง่ายและเร็วขึ้น (ไม่ใช่ดีแต่พูด แต่ปฏิบัติไม่เป็น)

ปัจจุบันนี้ ล็อค เจ่ย กรุ๊ป มีพันธุ์ข้าวเจ้าขาวเมล็ดยาวที่ได้ขึ้นทะเบียนรับรองพันธุ์แล้ว จำนวน 5 พันธุ์ คือ ล็อค เจ่ย (Lc Tri)  เบอร์ 1-5 และพันธุ์ข้าวที่มีปริมาณน้ำตาลต่ำ (Low GI: Glycemic Index) ชื่อ BN1 ซึ่งมีค่า GI น้อยกว่า 50 เหมาะสำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวาน ความหมายคือ หลังจากที่กินอาหารชนิดนั้นๆ 1-2 ชั่วโมง อาหารที่มี GI สูง จะถูกดูดซึมได้เร็วกว่า และเป็นเหตุให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นสูงกว่าอาหารที่มี GI ต่ำ อาหารที่มี GI ต่ำ จะถูกย่อยช้า จึงทำให้กลูโคสถูกปล่อยเข้าไปในกระแสเลือดอย่างช้าๆ ระดับน้ำตาลในเลือดก็จะขึ้นช้าไปด้วย ในปี พ.ศ. 2558 ข้าวหอมพันธุ์ AGPPS 103 ของ ล็อค เจ่ย กรุ๊ป ได้รับรางวัลที่ 3 ของการประกวดข้าวหอมโลก โดยลำดับที่ 1 คือ ข้าวหอมแคลิฟอร์เนีย และลำดับที่ 2 คือ ข้าวหอมมะลิของกัมพูชา

ข้าวจัสมิน 85

นอกจากนี้ ล็อค เจ่ย กรุ๊ป ยังเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์พันธุ์ข้าวหอมมะลิ 85 (Jasmine 85) ของสหรัฐอเมริกาในเวียดนามอีกด้วย (ข้าวพันธุ์นี้ประเทศไทยเคยฟ้องร้องสหรัฐอเมริกาในเรื่องลิขสิทธิ์ชื่อพันธุ์) และยังผลิตขยายพันธุ์ข้าวจากสถาบันวิจัยข้าวที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขง ที่ใช้ชื่อนำหน้าว่า OM ด้วย ปัจจุบันพันธุ์ข้าวที่ ล็อค เจ่ย กรุ๊ป ผลิตจำหน่าย และเกษตรกรในพื้นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขงนิยมปลูกมากที่สุดคือ OM 5451, Jasmine 85, IR 50404 และ OM 6976 มีอายุเก็บเกี่ยวอยู่ระหว่าง 90-110 วัน ซึ่งเกษตรกรเวียดนามจะนิยมปลูกข้าวที่มีอายุเก็บเกี่ยวปานกลางมากที่สุด ดร. จิ๋น ยังได้กล่าวถึงโครงการศึกษาวิจัย ทดลองการพัฒนาการทำนาของ ล็อค เจ่ย กรุ๊ป ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด 3 โครงการ คือ

  1. การทำนาแบบไม่เผาตอซังที่มีประสิทธิภาพ และเกษตรกรยอมรับโดยไม่ต้องใช้กฎหมายควบคุมการห้ามเกษตรกรเผาฟาง ด้วยการติดตั้งเครื่องสับฟางหลังเครื่องเกี่ยวข้าวและพ่นฟางให้กระจายในแปลงนา หลังจากนั้นจะติดตั้งเครื่องฉีดพ่นไตรโครเดอร์มา ที่หน้าชุดจานไถ และจะฉีดพ่นไตรโครเดอร์มาบนฟางที่สับไปพร้อมกับการไถ ซึ่งวิธีการนี้นอกจากจะเพิ่มอินทรียวัตถุในดินแล้ว ยังทำให้ฟางข้าวเปื่อยยุ่ยเร็ว ทำให้สามารถปลูกข้าวได้เร็วกว่าการหมักฟางโดยไม่ฉีดพ่นไตรโครเดอร์มา นอกจากนี้ ยังป้องกันโรคข้าวที่เกิดจากเชื้อราในดิน เช่น โรคกาบใบแห้ง อีกด้วย
ไถกลบหลังเก็บเกี่ยว

การสับฟางไม่จำเป็นต้องทำกับข้าวที่ปลูกในฤดูนาปรัง เพราะฟางอ่อนนุ่มและมีความชื้นสูงอยู่แล้ว เพียงใช้เครื่องกระจายฟางอย่างเดียวก็พอ จากการศึกษาวิจัย ประมาณการว่าในการทำนาของเวียดนามจะมีฟางที่ได้จากการเก็บเกี่ยวข้าวอยู่ในนา ปีละประมาณ 42 ล้านตัน ซึ่งจะให้ปริมาณปุ๋ย ไนโตรเจน 336,000 ตัน ฟอสฟอรัส 42,000 ตัน และโพแทสเซียม 1,218,000 ตัน ช่วยลดเงินค่าปุ๋ยเคมีได้ถึงปีละ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 33,000 ล้านบาท) ช่วยประหยัดเงินค่าซื้อปุ๋ยเคมีไปได้ ประมาณ 150 เหรียญสหรัฐ/เฮกตาร์/ฤดู (790 บาท/ไร่/ฤดู)

  1. การติดตั้งเครื่องหยอดปุ๋ยเม็ดกับเครื่องดำนา ล็อค เจ่ย กรุ๊ป ได้ร่วมกับ บริษัท ยันมาร์ ประเทศญี่ปุ่น ติดตั้งเครื่องหยอดปุ๋ยก่อนหน้าชุดปักดำกล้า หยอดปุ๋ยพร้อมกับการปักดำต้นข้าว ให้ลึกในระดับรากข้าว ประมาณ 3-5 เซนติเมตร จากการศึกษาโดยใช้ปุ๋ยสูตร 20-20-16 ที่เกษตรกรเวียดนามใช้ในนาข้าวมากที่สุด พบว่ารากข้าวสามารถดูดกินปุ๋ยไนโตรเจน ถึง 70 เปอร์เซ็นต์, ฟอสฟอรัส 100 เปอร์เซ็นต์ และโพแทสเซียม 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งวิธีการนี้ช่วยให้ต้นข้าวดูดกินปุ๋ยที่ใส่ลงไปได้หมด ช่วยลดปริมาณการใช้ปุ๋ย และไม่มีปุ๋ยเหลือตกค้างในดิน นับว่าเป็นประโยชน์กับเกษตรกรเวียดนามอย่างใหญ่หลวง โดยเครื่องดำนานี้สามารถปรับตั้งจำนวนต้นข้าวที่ปักดำ ตั้งแต่ 1 ต้นขึ้นไป และปรับตั้งปริมาณการหยอดปุ๋ยได้ตามต้องการ
  2. มีการพัฒนาการทำนาอีกแบบหนึ่งที่ช่วยลดต้นทุน และเวลาในการทำนาอีกเป็นอันมาก คืองานวิจัยที่ ล็อค เจ่ย กรุ๊ป ร่วมกับนักวิจัยชาวเกาหลี ผลิตเครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวงอก พร้อมหยอดปุ๋ยเม็ด และพ่นสารเคมีคลุมวัชพืชพร้อมกัน ในเวลาเดียวกัน โดยเครื่องหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวงอกนี้สามารถปรับตั้งจำนวนเมล็ดพันธุ์ข้าวงอกที่หยอด ตั้งแต่ 1 เมล็ดขึ้นไป และปรับตั้งปริมาณการหยอดปุ๋ยได้ตามต้องการ

อย่างไรก็ดี วิธีที่ 2 และ 3 ก็ยังมีข้อจำกัด กล่าวคือ เหมาะกับการทำนาในเขตพื้นที่ชลประทานที่ควบคุมระดับน้ำได้เท่านั้น และเกษตรกรต้องปรับพื้นที่นาให้เรียบ ได้ระดับเสมอเท่ากันทั้งแปลงนา

งานเก็บเกี่ยว

นอกจากนี้ ล็อค เจ่ย กรุ๊ป ยังได้ทำสัญญาร่วมกันพัฒนาพันธุ์ข้าวลูกผสม กับสถาบันพัฒนาพันธุ์ข้าว หยวน ลองปิง ของอาจารย์ ดร. หยวน ลองปิง (Yuan Longping) ซึ่งเป็นบิดาแห่งพันธุ์ข้าวลูกผสม (Hybrid rice) หรือ Super rice ของประเทศจีน มากว่า 3 ปีแล้ว ซึ่งปัจจุบันในภาคเหนือของเวียดนามปลูกข้าวลูกผสมเป็นพื้นที่ รวม 500,000 เฮกตาร์ (3,125,000 ไร่) โดยร้อยละ 80 นำเข้าเมล็ดพันธุ์จากจีน

เหล่านี้เป็นข้อมูลที่พอจะฟันธงได้หรือยังว่า เวียดนามได้มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวและเทคโนโลยีในการทำนาแซงหน้าประเทศไทยไปแล้ว แต่ที่แน่ๆ เพื่อนชาวเวียดนามบอกผมเองว่า “การที่คนไทยมาดูงานบ้านเขา แสดงว่าเขาดีกว่าเราแล้ว” เหมือนที่เขาเคยมาดูงานบ้านเราเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว จริงไหม? ทั้งนี้ ทั้งนั้น อยู่ที่ว่าเราจะยอมรับความจริงกันไหม

คณะดูงาน

ผลจากการแอบไปศึกษาดูงานครั้งนี้ สรุปได้ว่า การที่ผลผลิตข้าวเวียดนามสูงกว่าไทย และเกษตรกรหรือชาวนาเวียดนามรวยกว่าชาวนาไทย เพราะ

  1. ดินดี มีความอุดมสมบูรณ์กว่าบ้านเรา เพราะเป็นพื้นที่ราบลุ่มปากแม่น้ำโขง ได้รับอินทรียวัตถุที่น้ำพัดพามาทับถม
  2. เกษตรกรขยันและเอาใจใส่มากกว่าเกษตรกรไทย
  3. พันธุ์ข้าวส่วนใหญ่เป็นลูกผสม ที่ตอบสนองต่อการใช้ปุ๋ย ส่วนมากผลผลิตเกินกว่า 1,000 กิโลกรัม/ไร่
  4. เกษตรกรใช้ปุ๋ยมากกว่า และมีความรู้เรื่องการเลือกใช้ปุ๋ยมากกว่าเกษตรกรไทย
  5. เกษตรกรทำนาพร้อมกันตามคำแนะนำของทางราชการ จึงลดปัญหาเรื่องการระบาดของศัตรูพืช และช่วยให้เวียดนามมีข้อมูลปริมาณผลผลิตข้าวที่คาดว่าจะได้รับในฤดูการผลิตที่ค่อนข้างแม่นยำ ทำให้สามารถซื้อขายล่วงหน้าได้อย่างมั่นใจ และช่วยให้ราคาข้าวในประเทศไม่แกว่งเหมือนไทย
  6. หนี้สินในครัวเรือนน้อยกว่าเกษตรกรไทย เขาใช้จ่ายน้อยกว่ารายได้ ส่วนเกษตรกรไทยใช้จ่ายเกินกว่ารายได้
  7. เกษตรกรส่วนใหญ่ไม่สนใจเรื่องซื้อรถยนต์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือสิ่งของที่ไม่จำเป็นต่อการประกอบอาชีพ แต่จะให้ความสนใจในการซื้อเครื่องจักรกลเกษตร เพื่อใช้ในการประกอบอาชีพมากกว่า
  8. เวียดนามมีความร่วมมือกันระหว่างภาคเอกชน ภาคราชการ และสถาบันการศึกษาต่างๆ ที่รับผิดชอบในการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตและคุณภาพสูง และศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีการทำนาที่เข้มแข็งกว่าบ้านเรา
  9. ระบบชลประทานดี และมีมากกว่าประเทศไทย มีการขนส่งทางน้ำ ถึงร้อยละ 65 ทำให้ต้นทุนในการขนส่งข้าวต่อตันถูกกว่าไทยมากๆ
  10. มีสมาคมอาหาร (VINA FOOD) ที่คอยดูและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรและประเทศที่เข้มแข็ง
  11. ที่สำคัญคือ เขาไม่มีโครงการ รับจำนำข้าว ประกันราคาข้าว และไม่แจกเงิน หรือสอนให้เกษตรกรเสียนิสัยรอความช่วยเหลือ หรือการยัดเยียดจากรัฐ เหมือนบ้านเรา แม้แต่เอกสารคำแนะนำในการปลูก ดูแลรักษาพืชก็ไม่มีฟรี อยากได้เกษตรกรต้องซื้อเอง
บรรจุภัณฑ์

ปัจจุบัน บางโครงการของรัฐบาลไทยแทนที่จะช่วยเหลือเกษตรกร กลับกลายเป็นซ้ำเติมสร้างภาระหนี้สินทับทวีคูณให้กับเกษตรกรจนไม่สามารถสลัดความยากจนออกจากตัวได้ ที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ กองทุนหมู่บ้าน หมู่บ้านละ 500,000 บาท บางหมู่บ้านนำเงินไปซื้อปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยเคมี หรือปุ๋ยอินทรีย์เคมี ให้เกษตรกรในหมู่บ้านตนเองซื้อเงินเชื่อ ซึ่งก็ดูดีอยู่ถ้าหากว่าปุ๋ยที่คณะกรรมการหมู่บ้านซื้อมามีคุณภาพดีตามมาตรฐานกรมวิชาการเกษตรจริง ไม่ใช่จริงแต่เอกสาร แต่หาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะการจัดซื้อดำเนินการโดยผู้ที่ไม่มีความรู้ หรืออะไรก็แล้วแต่ ปรากฏว่าปุ๋ยที่จัดซื้อไม่มีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด เพราะไม่มีการส่งตัวอย่างให้กรมวิชาการเกษตรตรวจวิเคราะห์ก่อนนำไปใช้ เกษตรกรที่ซื้อแล้วนำไปใช้ผลผลิตที่ได้ก็ไม่ดี หรือผลผลิตต่ำ

แปลงทดลอง

ซ้ำร้ายกว่านั้นราคาของผลผลิตในท้องตลาดก็ต่ำอยู่แล้ว เกษตรกรเลยโดนไม่รู้กี่เด้ง จนซับจนซ้อน จนแบบไม่มอง แท้จริงแล้วเกษตรกรไทยไม่ได้โง่ บางคนก็จำใจต้องซื้อเพราะเกรงใจ หรือถูกกดดันให้ช่วยซื้อ แต่ส่วนมากเขาไม่ซื้อเพราะเขารู้ทัน ปุ๋ยจึงเหลือกองบานเบอะอยู่ทุกหมู่บ้านที่จัดซื้อ บางหมู่บ้านขายได้ไม่ถึง 50 กระสอบ ปุ๋ยที่เหลืออยู่กระสอบบรรจุหมดอายุ เปื่อยแตก น่าเสียดายเงินงบประมาณ แต่ก็เป็นเรื่องที่น่าแปลกมาก กรรมการหมู่บ้านก็คนละชุดกัน แต่ทำไมใจตรงกัน บางอำเภอ หรือบางจังหวัด ซื้อปุ๋ยยี่ห้อเดียวกัน เหมือนกันทั้งหมด นี่คือ ตัวอย่างหนึ่งที่ทำร้ายเกษตรกรและประเทศชาติ จนชาติอื่นรอบๆ บ้านเขาจะแซงหน้าเราไปกันหมดแล้ว “ฤๅเราจะเป็นมอดเป็นปลวกกัดกินไม้ที่เราอยู่อาศัย”