ส่องตลาด “ปาล์มน้ำมัน” วิกฤตหรือโอกาส

“ปาล์มน้ำมัน” เป็นพืชยืนต้นในตระกูลปาล์ม มีหลายสายพันธุ์ ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ให้ผลผลิตน้ำมันต่อหน่วยพื้นที่ปลูกสูงกว่าพืชน้ำมันชนิดอื่นทุกชนิด สามารถผลิตน้ำมันได้สูงถึงประมาณ 520 กิโลกรัม/ไร่ สูงกว่าถั่วเหลืองถึงเกือบ 10 เท่า แถมยังมีต้นทุนการผลิตน้ำมันต่อกิโลกรัมยังถูกกว่าพืชน้ำมันชนิดอื่น ทำให้หลายประเทศหันมาปลูกปาล์มน้ำมันเป็นพืชเศรษฐกิจกันอย่างกว้างขวางเพื่อใช้ประโยชน์จากปาล์มน้ำมันใน 3 ช่องทาง คือ พืชอาหาร (แปรรูปเป็นน้ำมันปาล์มเพื่อการบริโภค) โอลีโอเคมี (สำหรับอุปโภคและบริโภค) และเป็นพืชพลังงาน (ผลิตเป็นไบโอดีเซล)


ปาล์มน้ำมัน ถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกดูแลง่าย เพราะทนต่อสภาพแวดล้อมรุนแรงได้ดีกว่าพืชน้ำมันอื่นๆ สามารถใช้เป็นพืชพลังงานได้เหมาะสม เป็นพืชที่ไม่มีการปรุงแต่งพันธุกรรมแปลกปลอมในปัจจุบัน เป็นพืชอายุยืนปลูกแล้วเก็บเกี่ยวได้เป็นเวลานาน เป็นพืชที่มีตลาดอุตสาหกรรมรองรับได้หลายชนิดทำให้มีการขยายพื้นที่การปลูกปาล์มน้ำมันอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี นอกจากนี้ ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่สามารถนำเอาส่วนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทางใบ ลำต้น ทะลายเปล่า กะลา เส้นใย น้ำเสียจากโรงงานมาใช้ประโยชน์ได้อย่างสมบูรณ์ ไม่มีส่วนเหลือใช้

กล่าวได้ว่า “ปาล์มน้ำมัน” เป็นพืชที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะปาล์มน้ำมันทำให้เกิดการกระจายรายได้ทั้งระบบ เช่น เกษตรกร โรงงานหีบสกัดน้ำมันปาล์มดิบ โรงงานกลั่นบริสุทธิ์น้ำมันปาล์มดิบ อุตสาหกรรมผลิตอาหาร และเครื่องอุปโภค

ขณะเดียวกันปาล์มน้ำมันมีบทบาทเป็นพืชพลังงาน ที่ผ่านมารัฐบาลได้สนับสนุนการเพิ่มพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันเพื่อผลิตและนำน้ำมันปาล์มไปแปรรูปผลิตเป็นไบโอดีเซลเพื่อทดแทนน้ำมันดีเซล เพื่อประหยัดเงินงบประมาณจากการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ และส่งเสริมการสร้างงานภายในประเทศให้เกิดความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคม

แหล่งผลิตปาล์มน้ำมัน

ปาล์มน้ำมันเป็นพืชยืนต้น มีร่มเงาของพุ่มใบช่วยรักษาป้องกันอุณหภูมิร้อนจากแสงแดด ทำให้ชะลอการระเหยของน้ำจากดินชั้นล่างได้ สภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของปาล์มน้ำมันคือ ปลูกในแหล่งที่มีปริมาณฝน 1,800-2,400 มิลลิเมตร/ปี มีปริมาณแสงแดดต้องไม่ต่ำกว่า 5 ชั่วโมง ต่อวันโดยเฉลี่ย อุณหภูมิโดยเฉลี่ย 28-32 องศาเซลเซียส และไม่ควรมีฤดูแล้งติดต่อกันเกิน 90 วัน

ปัจจุบัน “อินโดนีเซีย” นับเป็นแหล่งผลิตปาล์มน้ำมัน อันดับ 1 ของโลก ขณะที่ “มาเลเซีย” รั้งตำแหน่งผู้ปลูกปาล์มน้ำมันมากเป็น อันดับ 2 ของโลก หากเปรียบเทียบในบทบาทผู้นำตลาดน้ำมันปาล์ม รวมทั้งผลประกอบการแล้ว มาเลเซียกินขาดทุกประเทศ เพราะมาเลเซียมีขยายพื้นที่ปลูกและพัฒนานวัตกรรมด้านการแปรรูปเพื่อสร้างเพิ่มมูลค่าปาล์มน้ำมันอย่างต่อเนื่อง

ทุกวันนี้ มาเลเซียมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันสูงกว่าไทย 7-8 เท่า นอกจากนี้ คณะกรรมการปาล์มมาเลเซีย (MPOB) ได้กำหนดนโยบายว่า ภายใน 2563 มาเลเซียจะขยายพื้นที่ปลูกปาล์ม 100,000 เฮกตาร์/ปี (625,000 ไร่) จากปัจจุบันที่มีพื้นที่ปลูกรวม 35.27 ล้านไร่ และเพิ่มผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยปีละ 5% จาก 3 เป็น 4.1 ตัน/ไร่ และเพิ่มอัตราการสกัดน้ำมัน (OER) จาก 20.49% เป็น 23%

หันกลับมามองอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันของประเทศไทยที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ประกาศยุทธศาสตร์พัฒนาปฏิรูปปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม 6 ด้าน ระยะเวลา 20 ปี (2559-2579) โดยวางแผนเพิ่มผลผลิตปาล์มน้ำมันจาก 2.6 ตัน/ไร่เป็น 3.51 ตัน/ไร่ และพัฒนาคุณภาพปาล์มให้มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูงขึ้น จาก 17% เป็น 20% เพื่อสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรไทย จากปีละ 90 ล้านบาท เป็น 300 ล้านบาท ภายในปี 2579

ผลผลิตปาล์มน้ำมัน ปี 2560

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรคาดว่า ผลผลิตปาล์มน้ำมัน ปี 2560 จะมีปริมาณ 12.47 ล้านตัน ใกล้เคียงกับ ปี 2557-2558 หากเปรียบเทียบกับปี 2559 ซึ่งมีผลผลิต 10.997 ล้านตัน ถือว่าปีนี้มีผลผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.39 อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ถือว่าประเทศไทยมีปริมาณสต๊อกน้ำมันปาล์มน้ำมันค่อนข้างมาก สืบเนื่องมาจากปริมาณผลปาล์มที่ออกสู่ตลาดมีมากเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 ปริมาณผลปาล์ม อยู่ที่ 1.11 ล้านตัน จนถึงเดือนตุลาคม 2560 อยู่ที่ 1.57 ล้านตัน ประกอบกับมีการส่งเสริมให้เกษตรกรทำปาล์มคุณภาพโดยการตัดปาล์มสุก เปอร์เซ็นต์น้ำมันเพิ่มขึ้น จาก 15-16% เป็น 17-18% ทำให้มีปริมาณน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นตามไปด้วย


ถือว่า กระทรวงพาณิชย์ประสบความสำเร็จในการพัฒนาคุณภาพผลปาล์มน้ำมันเพื่อเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมันในการตัดปาล์มสุก โดยใช้วิธีการสร้างเครือข่ายในวงจรการค้าปาล์มน้ำมัน จัดอบรมเกษตรกรผู้ตัดปาล์ม จัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างเกษตรกร ลานเท และโรงงานสกัด รณรงค์เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ทางสื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ โซเชียลมีเดีย และป้ายประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรตัดปาล์มสุกเพื่อเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมันเป็นการเพิ่มรายได้เกษตรกร รวมทั้งขอความร่วมมือผู้ว่าราชการจังหวัดแหล่งผลิตปาล์มน้ำมัน

นอกจากนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ใช้วิธีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำกับดูแลตรวจสอบการรับซื้อผลปาล์มน้ำมันคุณภาพตามเปอร์เซ็นต์น้ำมันอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งกำหนดมาตรการเพื่อไม่ให้นำผลปาล์มน้ำมันที่ไม่ได้คุณภาพ กลับเข้าสู่โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มได้อีก และขอให้สภาเกษตรกรจังหวัดชี้แจงทำความเข้าใจเกษตรกรในพื้นที่เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพปาล์มน้ำมัน

ซึ่งผลการสร้างเครือข่ายดังกล่าว ส่งผลให้เกษตรกรสามารถเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์ม โดยมีการทดสอบเปอร์เซ็นต์น้ำมันเพื่อหาค่าเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มที่สกัดได้ ณ บริษัท สหอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์ม จำกัด (มหาชน) จังหวัดกระบี่ โดยการรวบรวมผลปาล์มน้ำมันคุณภาพจากเกษตรกร 129 คน ใน 7 จังหวัดแหล่งผลิต ได้แก่ สุราษฎร์ธานี กระบี่ ชุมพร นครศรีธรรมราช พังงา ตรัง และสระบุรี มาทดสอบจำนวน 696.46 ตัน เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2560 ได้น้ำมันปาล์มดิบ จำนวน 140.565 ตัน เปอร์เซ็นต์น้ำมันที่สกัดได้อยู่ที่ 20.18% เพิ่มขึ้นจากครั้งแรกที่ได้เปอร์เซ็นต์น้ำมัน 19.77%

ความร่วมมือร่วมใจของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันที่ช่วยกันพัฒนาคุณภาพผลปาล์ม โดยเน้นตัดปาล์มสุกเพื่อให้ได้เปอร์เซ็นต์น้ำมันเพิ่มขึ้น ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้มากขึ้นเพราะทุกๆ 1% น้ำมันที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น กิโลกรัมละ 0.30 บาท หากเปอร์เซ็นต์น้ำมันเพิ่มขึ้นเป็น 2% จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก ไร่ละ 1,800 บาท เรียกว่า โครงการดีๆ เช่นนี้ ทำให้เกษตรกรและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องมีผลกำไรกันทั่วหน้า เรียกว่าเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมันทั่วประเทศจะมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 2.95 ล้านบาท แถมได้ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบเพิ่มขึ้นอีก 230,000 ตัน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์คาดหวังว่า ในอนาคตเกษตรกรจะเพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมันให้สูงขึ้นถึง 20% ได้ โดยอาศัยเทคนิคการดูแลบริหารจัดการสวนปาล์ม ตั้งแต่การใช้พันธุ์ ดิน น้ำ และปุ๋ย รวมทั้งเก็บเกี่ยวผลปาล์มทะลายสุก ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนเกษตรกรผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ให้หันมาทุ่มเทแรงกายแรงใจพัฒนาการปลูกปาล์มน้ำมันให้มีคุณภาพให้ตรงกับความต้องการของตลาด เน้นตัดปาล์มสุกก่อนนำไปขาย เพื่อเพิ่มพูนรายได้และสร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในอนาคต

 

หวั่นผลผลิต “ปาล์มน้ำมัน” ล้นตลาดในปี 61


ด้าน คุณพันศักดิ์ จิตรรัตน์ ประธานคณะกรรมการด้านปาล์มน้ำมันและพืชพลังงาน สภาเกษตรกรแห่งชาติ เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ปริมาณตัวเลขพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันที่หน่วยงานภาครัฐ เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ฯลฯ เก็บรวบรวมได้ในทุกวันนี้ ก็ยังไม่ได้ครบถ้วน 100% ทั้งหมด เพราะเกษตรกรบางรายแจ้งตัวเลขพื้นที่ปลูกต่ำกว่าความเป็นจริง นอกจากนี้ บางพื้นที่ก็ไม่ได้ขึ้นทะเบียนแหล่งปลูกปาล์มน้ำมัน เพราะปลูกในพื้นที่ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ เป็นต้น
สถานการณ์ผลผลิตปาล์มน้ำมัน ปี 2560/2561 คาดว่าจะมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ไม่ต่ำกว่า 15% เนื่องจากผลกระทบจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำในช่วงที่ผ่านมา มีการตัดโค่นต้นยางในพื้นที่ภาคใต้ ภาคตะวันออก เพื่อหันมาปลูกปาล์มน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา

ประกอบกับปาล์มน้ำมันจะให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นทุกปี จึงฝากเป็นการบ้านให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งวางแผนการรับมือผลผลิตปาล์มน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปีหน้า เช่น พัฒนาคุณภาพการสกัดน้ำมันปาล์มน้ำมันให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อผลักดันน้ำมันปาล์มของไทยสู่การตลาดส่งออกในอนาคต ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาผลผลิตล้นตลาดได้อีกแนวทางหนึ่ง