คอสตาริกา : ประเทศเล็กๆ กับการพัฒนา สับปะรด MD-2 ก้าวสู่ความเป็นแชมป์ส่งออก

คอสตาริกา เป็นประเทศเล็กๆ พื้นที่ประมาณ 50,000 ตารางกิโลเมตร ประชากร 5 ล้านคน ตั้งอยู่ในเขตละตินอเมริกา จัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ซึ่งมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้านในแถบเดียวกัน ผลผลิตทางเกษตรที่เป็นหลักคือ กล้วยหอม กาแฟ และสับปะรด

ซึ่งมีบริษัทลงทุนข้ามชาติ (multinational) ยักษ์ใหญ่ 4 บริษัท คือ Del Monte, Dole, Chiquita และ Standard Fruits เป็นหลักในการทำธุรกิจ ทั้งผลิต แปรรูป และส่งออกผลผลิตทางการเกษตร โดยมีตลาดหลักอยู่ที่สหภาพยุโรป (European Union : EU) และประเทศสหรัฐอเมริกา ประมาณ ร้อยละ 90 ในปี 2010 (2553) ทั้ง 3 พืชนั้น ทำรายได้ให้กับประเทศคอสตาริกา คิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้จากการส่งออก นอกจากนี้ ยังมีพวกพืชอื่นๆ อีก เช่น ปาล์มน้ำมัน แตงโม อ้อย และไม้ประดับ แต่ปัจจุบันเมื่อมีการพัฒนาสับปะรดผลสด พันธุ์ MD-2 ซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค กลายเป็นพืชที่สร้างรายได้เป็น อันดับ 1 ของประเทศ และขึ้นครองแชมป์สับปะรดผลสดในตลาดโลกได้ในเวลาต่อมา

 

เทคโนโลยีที่พัฒนา ย่อมนำหน้าคู่แข่ง

ในโลกของการแข่งขัน ไม่มีใครที่จะครองแชมป์ได้ตลอด หากไม่มีการปรับเปลี่ยนแนวคิด/วิธีการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งสภาพแวดล้อมต่างๆ ทั้งปัจจัยภายในองค์กรเอง และปัจจัยภายนอกองค์กร ที่เข้มข้นในด้านการแข่งขัน โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากยุคโลกาภิวัตน์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของผู้คนทั่วโลก ที่ไปตามกระแสนวัตกรรม/เทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเกินกว่าที่จะคาดคิดกัน ในวงการสับปะรดก็หนีไม่พ้นวงจรแห่งการเปลี่ยนแปลง/แข่งขันนี้ ในอดีตประเทศไอวอรีโคสต์ เป็นยักษ์ใหญ่ของโลกด้านการผลิตและเป็นผู้ส่งออกสับปะรดผลสดพันธุ์สมูธ เคยีน (smooth cayenne) ที่ครองตลาดโลกมาอย่างยาวนาน แต่เมื่อมีการพัฒนาสับปะรด พันธุ์ MD-2 แล้วนำเข้าสู่ระบบตลาด กลับได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เป็นแบบมาแรงแซงมาตลอด เบียดเอาคู่แข่งแชมป์เก่าอย่าง พันธุ์สมูธ เคยีน สิ้นลายไปในช่วงเวลาไม่กี่ปี โดยมีแชมป์ผู้ผลิตและส่งออกรายใหม่ “ประเทศคอสตาริกา” ผู้ที่มากับสับปะรด พันธุ์ MD-2 ที่เป็นคู่จิ้นใหม่ในวงการสับปะรดผลสดของโลก

ขยายการผลิตได้ไว กอบโกยรายได้เข้าประเทศ

ในอดีตพันธุ์สับปะรดยอดนิยมที่ใช้ปลูกส่วนใหญ่ ที่เป็นพันธุ์ Smooth Cayenne (ปัตตาเวียบ้านเรา) ที่ให้ผลผลิตสูง ผลมีขนาดใหญ่ ต้นแข็งแรง และทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี แต่จากลักษณะเด่นของเนื้อสีเหลืองและรสชาติที่หวานกว่า มีกลิ่นหอม ฯลฯ เป็นที่ถูกใจ ช่วยสร้างความชอบ/ความนิยมของผู้บริโภคให้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นและเร่งเร้าให้เกษตรกรคอสตาริกาส่วนใหญ่เปลี่ยนมาปลูกสับปะรด พันธุ์ MD-2 กันทุกพื้นที่

ประเทศคอสตาริกา ได้พัฒนาขึ้นเป็นประเทศผู้ผลิตสับปะรดมากที่สุดของโลก แต่มุ่งการผลิตผลสด พันธุ์ MD-2 เพื่อการส่งออกเป็นหลัก โดยมีพื้นที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ร่วมกับประเทศบราซิล ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ในการผลิตสับปะรดผลสด แม้ว่าจะเป็นพืชเพื่อการค้าของคอสตาริกามานานกว่า 5 ทศวรรษ (50 ปี) แต่ก็ประมาณ 10 กว่าปีมานี้ที่มีการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี 1990 (2533) ประเทศคอสตาริกามีพื้นที่ปลูกประมาณ 8,000 เฮกตาร์ (50,000 ไร่) เท่านั้น ต่อมาในปี 2005 (2548) ได้เริ่มส่งสับปะรด พันธุ์ MD-2 เข้าสู่ตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการเพิ่มขึ้นตลอด จึงมีการขยายพื้นที่การผลิตและปริมาณการส่งออกเพิ่มขึ้นตามมา จากข้อมูลในช่วง 5-6 ปีล่าสุด พื้นที่ปลูก, ผลผลิตรวม และมูลค่าการส่งออกของประเทศคอสตาริกา เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยใน ปี 2552 มีพื้นที่ปลูก 40,000 เฮกตาร์ (250,000 ไร่) ผลผลิตรวม 1.68 ล้านตัน มูลค่าส่งออก 571 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (19,985 ล้านบาท), ในปี 2556 พื้นที่ปลูกเพิ่มขึ้นเป็น 43,000 เฮกตาร์ (268,750 ไร่) ผลผลิตรวม 2.36 ล้านตัน มูลค่าส่งออก 821 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (28,735 ล้านบาท) คิดเป็นพื้นที่ปลูก, ผลผลิตรวมและมูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.8, 42 และ 44 ตามลำดับ ใน ปี 2014 (2557) มีพื้นที่ปลูก 45,000 เฮกตาร์ (281,250 ไร่) ให้ผลผลิตรวมถึง 2.91 ล้านตัน และล่าสุด ปี 2016 (2559) สามารถส่งออกสับปะรดผลสดเป็นมูลค่าถึง 905.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (31,685 ล้านบาท) คิดเป็น ร้อยละ 45.1 ของมูลค่าการส่งออกสับปะรดผลสดของโลก

ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม

สถาบัน The Central American Institute of Business Administration (INCAE) ทำการศึกษาผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมสับปะรดในคอสตาริกา สรุปว่า สับปะรดมีความสำคัญอย่างมีนัยต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศคอสตาริกาเป็นอย่างมาก มีผลต่อการสร้างงานมากมาย โดยเฉพาะในช่วงที่ระบบเศรษฐกิจของโลกกำลังถดถอย ช่วยสร้างมูลค่าของผลผลิต โดยตลอดในระบบห่วงโซ่การผลิตสับปะรด ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ และสังคมโดยรวมของประเทศ

ภาคอุตสาหกรรมสับปะรดในประเทศคอสตาริกา ช่วยสร้างงานตรงให้กับเกษตรกร/คนงานในภาคการผลิต  32,000 คน และการสร้างงานกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอีกประมาณ 130,000 คน และในระบบอื่นๆ อีกราว 2 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 4.7-5 ล้านคน

ขณะที่มีการส่งออกสับปะรดปีละประมาณ 1.08 ล้านตัน เป็นมูลค่าระหว่าง 32,000-35,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10 ของมูลค่าสินค้าที่ส่งออก ส่งผลให้ประเทศคอสตาริกากลายเป็นประเทศหลักที่ส่งออกสินค้าเกษตรของโลก

 

กระบวนการผลิตสับปะรด พันธุ์ MD-2 ของเกษตรกร

จากการศึกษาข้อมูลการผลิตสับปะรด พันธุ์ MD-2 ของเกษตรกรที่ผลิตแบบการค้าในคอสตาริกา และใช้เป็นข้อมูลเพื่อศึกษาความสัมพันธ์/ผลกระทบของพืชต่อวิธีการปฏิบัติที่ทำกันอยู่ปัจจุบัน พบว่า จำนวนต้นต่อพื้นที่ปลูก และการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลผลิต จำนวนต้นการปลูกโดยเฉลี่ย คือ 10,000 ต้น/ไร่ ขณะที่ผลผลิตสูงสุดอยู่ที่ 11,200 กิโลกรัม/ไร่ ในแปลงปลูกต้นใหม่ผลผลิตเฉลี่ย 12.8 ตัน/ไร่ และแปลงสับปะรดตอ (ปีที่ 2) ผลผลิตเฉลี่ย 8.5 ตัน/ไร่ น้ำหนักผลสับปะรดอยู่ระหว่าง 1.5-2 กิโลกรัม/ผล ข้อสรุปด้านความสัมพันธ์พบแนวโน้มว่าผลผลิตที่สูงขึ้นเป็นผลกระทบจากจำนวนต้น/ไร่ และจากการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลจากเกษตรกร พบว่ามีการปฏิบัติในการใช้ปุ๋ยเคมี ดังนี้

 

การใช้ปุ๋ยเคมีของเกษตรกรคอสตาริกา (กิโลกรัม/ไร่)

 

รุ่นปลูก         ไนโตรเจน    ฟอสฟอรัส          โพแทสเซียม       รวม

ปลูกใหม่       101            20.6                  64                     185.6

สับปะรดตอ     83.2         14.8                  54.4                  152.5

ข้อสังเกตของเกษตรกรเห็นว่า การใส่ปุ๋ยไนโตรเจนควรจะลดลงอีก ร้อยละ 20, และฟอสฟอรัสควรจะลดลงอีก ร้อยละ 66 ซึ่งจะไม่กระทบต่อผลผลิตของสับปะรดแต่อย่างใด จากผลสำรวจให้ข้อคิดว่า การจัดการด้านการผลิต/ปฏิบัติในแปลงสับปะรดตอ (รุ่นที่ 2) ควรต้องมีการปรับใช้ปุ๋ยเคมี เพื่อไม่ให้ผลผลิตลดลงไปมากกว่าที่ทำแบบเดิม  จำนวนต้น/ไร่ และการใช้ปุ๋ยเคมีเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญ ที่มีผลต่อผลผลิตต่อพื้นที่ ดังนั้น วิธีการปฏิบัติที่เหมาะสมในพื้นที่ปลูกเป็นประเด็นสำคัญต่อผลผลิตที่เหมาะสม ขณะที่การผลิตสับปะรดแบบเก่า ปลูกด้วยจำนวนต้น/ไร่ ระหว่าง 4,800-5,000 ต้น เท่านั้น และใช้ปัจจัยการผลิตน้อยมาก แต่การปลูกแบบใหม่จะเพิ่มจำนวนต้น/ไร่ ระหว่าง 8,000-11,200 ต้น โดยเกษตรกรปลูกสับปะรดเป็นพืชหลัก แบบพืชเดี่ยว (monoculture  system) ซึ่งพื้นที่ปลูกสับปะรดมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบ ชนิดของดินเป็นดินเหนียว ร้อยละ 30, ดินร่วนเหนียว ร้อยละ 30, ดินร่วน ร้อยละ 12 และดินร่วนทราย ร้อยละ 14

ผลผลิต แปลงปลูกใหม่เฉลี่ย 12.5 ตัน/ไร่ จัดว่าเป็นผลผลิตที่สูงมาก และได้มาตรฐานคุณภาพเพื่อการส่งออก ผลผลิตจากฟาร์ม ประมาณร้อยละ 80-90 สามารถบรรจุเพื่อการส่งออกได้ ซึ่งมีความสัมพันธ์กันระหว่างพื้นที่ปลูกกับผลผลิต ผลผลิตเริ่มจาก 8,000 กล่อง/เฮกตาร์ (14,464 กิโลกรัม/ไร่) ขณะที่เกษตรกรบางรายได้ผลผลิต 8,696 กล่อง/เฮกตาร์ (15,300 กิโลกรัม/ไร่) ขณะที่แปลงผลิตที่มีพื้นที่ต่ำกว่า 100 เฮกตาร์ (625 ไร่) แนวโน้มผลผลิต/ไร่จะลดลง

หลังการเก็บเกี่ยว เกษตรกรต้องดูแลไปอีกประมาณ 7 เดือน ซึ่งจะได้ผลผลิตในแปลงสับปะรดตอ ประมาณ 8.6 ตัน/ไร่ อาจได้สูงถึง 10.8 ตัน/ไร่ ผลผลิตอาจจะแตกต่างจากรุ่นแปลงปลูกใหม่ ประมาณร้อยละ 35-50 เกษตรกรที่ได้รับผลผลิตต่ำในแปลงสับปะรดตอ เสนอข้อคิดว่า ควรมีการบริหารจัดการให้ต้นสับปะรดมีความสมบูรณ์/แข็งแรง และเกษตรกรส่วนหนึ่งที่ได้ผลผลิตสูงในแปลงตอระบุว่า มีการตัดแต่งต้นสับปะรดหลังการเก็บเกี่ยว และมีการให้ปุ๋ย/น้ำ ในปริมาณที่เหมาะสม ซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ไม่เหมือนกับการทำในอดีต

ส่วนการขยายพันธุ์ เกษตรกรใช้ส่วนขยายพันธุ์ โดยการแบ่งขนาดตามน้ำหนัก ดังนี้ 400-700 กรัม ร้อยละ 41, ต่ำกว่า 400 กรัม ร้อยละ 39, สูงกว่า 700 กรัม ร้อยละ 18, ซึ่งจะใช้ทั้งตะเกียง (slip) และหน่อข้าง (aerial sucker) ร้อยละ 90, ใช้หน่อดิน (ground sucker) ร้อยละ 75, และใช้จุก (crown) ร้อยละ 57 โดยจะแยกปลูกในแปลงตามขนาดที่คัดแยกไว้ เพื่อให้ต้นสับปะรดมีการเจริญเติบโตที่สม่ำเสมอ เป็นไปตามแผน/เป้าหมายการเก็บเกี่ยว ซึ่งตามปกติหน่อขนาดใหญ่จะเก็บเกี่ยวได้เร็ว ส่วนหน่อขนาดเล็กจะใช้ระยะเวลาที่นานกว่า

จำนวนต้น/ไร่ การปลูกโดยทั่วไป จะมีการยกแปลงปลูก ขนาดของแปลงกว้าง 90 เซนติเมตร ปลูกสับปะรด 2 แถว ระยะห่างของแถว 45 เซนติเมตร ส่วนจำนวนต้น/พื้นที่ จะขึ้นอยู่กับความห่างระหว่างต้นในแถว ผลการศึกษาพบว่า มีความสัมพันธ์ทางบวกระหว่างขนาดฟาร์มกับจำนวนต้น/ไร่ ซึ่งแตกต่างกันระหว่างฟาร์มขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก โดยมีจำนวนต้นปลูกเฉลี่ย 10,000 ต้น/ไร่ ขณะที่จำนวนต้นปลูกที่พบทั่วไป จะมีตั้งแต่ 5,600-11,800 ต้น/ไร่

สรุปว่า จำนวนต้น/ไร่ที่เหมาะสม เป็นปัจจัยสำคัญต่อผลผลิต โดยเฉพาะในรุ่นแปลงปลูกใหม่ ซึ่งผลผลิตจะได้คุณภาพตามความต้องการของตลาด ซึ่งมีรายงานผลเปรียบเทียบการปลูกสับปะรดพันธุ์สมูธ เคยีน ที่พบว่า การปลูกที่จำนวน 4,800 ต้น/ไร่ จะได้ผลขนาดใหญ่ประมาณ 2.42 กิโลกรัม และขนาดของผลจะลดน้อยลงมาเมื่อเพิ่มจำนวนต้น/ไร่ มากขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ขนาดผลที่ใหญ่เกินไป ไม่เป็นที่ต้องการของตลาดส่งออก ขนาดผลสับปะรดเพื่อการส่งออก และเป็นที่นิยม/ชอบของผู้บริโภคจะมีน้ำหนักของผลระหว่าง 1.6-1.9 กิโลกรัม

ในทางปฏิบัติเกษตรกรให้เหตุผลว่า ชอบที่จะปลูกให้มีระยะต้นต่อต้นที่ห่างไว้ เพื่อลดการแข่งขันระหว่างต้นสับปะรด ซึ่งจะได้ผลสับปะรดที่มีขนาดใหญ่ น้ำหนัก 1.8-2 กิโลกรัม/ผล จะขายได้เงินมากด้วย แต่ก็มีความกังวลที่ผลผลิตอาจลดลง แต่ไม่รู้ว่าปริมาณเท่าไร ผลการศึกษาและประเมินผลผลิตสับปะรด พันธุ์สมูธ เคยีน ที่ปลูกด้วยจำนวน 10,560 ต้น/ไร่ พบว่าได้ผลผลิต 13.76 ตัน/ไร่ น้ำหนักผล 1.8-2 กิโลกรัม/ผล และเมื่อเพิ่มจำนวนต้นปลูกเป็น 11,360 ต้น/ไร่ น้ำหนักของผลจะลงมาที่ 1.6 กิโลกรัม/ผล และหากปลูกด้วยจำนวน 12,480 ต้น/ไร่ จะได้น้ำหนักผลเฉลี่ยที่ 1.2 กิโลกรัม/ผล อย่างไรก็ตาม ผลผลิตสูงสุดที่ 14.15 ตัน/ไร่ ได้จากการปลูกที่ 10,880 ต้น/ไร่ ได้ขนาดของผล 1.75-1.9 กิโลกรัม/ผล ตรงจุดนี้ชี้ให้เห็นว่าการเพิ่มจำนวนต้น/ไร่ ได้ที่เหมาะสม จะส่งผลให้ได้ขนาดของผลสับปะรดตามที่ตลาดต้องการ

อย่างไรก็ตาม เกษตรกรให้ข้อคิดว่าอาจจะมีความเสี่ยงที่จะได้ผลสับปะรดที่มีขนาดเล็ก หากปลูกด้วยจำนวนต้น/ไร่ มากเกินไป และมีการปฏิบัติที่ไม่ดีพอ/ไม่เหมาะสม จะไม่ทันช่วงเวลาหรือช่วงมีวิกฤตของธรรมชาติ เช่น ฝนไม่ตกตามปกติ ศัตรูพืชระบาดรุนแรง สภาพอากาศแปรปรวน และการออกดอกเองตามธรรมชาติ เกษตรกรชี้ว่าข้อได้เปรียบของการปลูกแบบหนาแน่น คือการใช้ปุ๋ยแบบฉีดพ่นจะมีประสิทธิภาพมาก เพราะปุ๋ยจะตกลงไปตามร่องใบที่หนาแน่น นอกจากนี้ ทรงพุ่มที่หนาแน่น ยังช่วยลดการแข่งขันจากวัชพืชได้ดี แต่จุดที่สำคัญที่จะทำให้ได้ผลผลิตสูงสุด ยังจะขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่บังคับการออกดอกอีกด้วย ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ทราบดีว่าจะต้องพิจารณาน้ำหนักของต้นสับปะรดในช่วงที่บังคับดอก

 

อุตสาหกรรมสับปะรดที่ก้าวหน้า ยังมีปัญหาให้แก้ไข

ในช่วงเวลาที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน คอสตาริกามีการขยายพื้นที่ปลูกสับปะรดเป็นอย่างมาก ทำให้ต้องเผชิญกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม โดยบางกลุ่มมองว่าเป็นธุรกิจที่ทำลายป่าไม้ สร้างสิ่งปนเปื้อนในแหล่งน้ำ และทำลายสภาพแวดล้อมจากการใช้สารเคมีเกษตร ปัจจุบัน มีข้อขัดแย้งโดยรอบ ที่รุมเร้าเข้ามาในการผลิตสับปะรดกับโรงงาน/บริษัทที่ได้รับสัมปทาน/ส่งเสริมการลงทุน โดยเฉพาะทางตอนใต้ของคอสตาริกา ซึ่งอยู่ใกล้กับเขตอนุรักษ์ พื้นที่ลุ่มน้ำ และที่ตั้งโบราณสถาน ซึ่งมีกลุ่มผู้ไม่เห็นด้วย/ผู้ประท้วง หลายพันคนได้ออกมาเคลื่อนไหว เดินประท้วงในเมืองหลวง จนรัฐมนตรี Environment & Energy ต้องออกมาระงับโครงการขยายพื้นที่การผลิตสับปะรดอีกจำนวนหนึ่งไว้ก่อน และให้มีการทบทวน/พิจารณาทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติม

ผู้ผลิตหลายรายยังต้องมีการพัฒนา/ยกระดับการดำเนินงานบางอย่าง เช่น ประเด็นทางสังคม คือสภาพการทำงาน ความปลอดภัย ค่าแรงขั้นต่ำ, ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ระบบการบริหารจัดการน้ำเสีย ยังคงต้องได้รับการปรับปรุง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ผลิตขนาดเล็ก

การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของพื้นที่ปลูกสับปะรด ไม่สอดคล้องกับ/การสนับสนุนด้านข้อมูลเชิงเทคนิค และ/หรือการสนับสนุนด้านต่างๆ ให้กับเกษตรกรรายใหม่ที่หันมาปลูกสับปะรดแทนพืชอื่นๆ เช่น กล้วย มันสำปะหลัง มะละกอ ข้าว และถั่วต่างๆ จึงทำให้รูปแบบ/วิธีการผลิตสับปะรดมีความแตกต่างกันมาก และงานวิจัยส่วนใหญ่ที่นำเสนอ/จัดทำโดยบริษัทเอกชนจะไม่ค่อยนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์ออกสู่สาธารณะ ด้วยเหตุนี้จึงมีความหลากหลายในวิธีการผลิตของเกษตรกรในคอสตาริกา ทั้งๆ ที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกที่สำคัญของโลก

 

บทสรุป

ประเทศคอสตาริกา ประสบความสำเร็จในการพัฒนาการผลิตและส่งออกสับปะรดผลสด เป็นผู้นำการผลิตสับปะรด พันธุ์ MD-2 และยังส่งผลกระทบไปยังประเทศอื่นๆ เช่น กานา โคลัมเบีย ปานามา ฯลฯ การที่ก้าวเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออก อันดับ 1 ของโลก เพราะคุณภาพผลผลิตสับปะรดที่มีรสชาติหวาน จากเทคโนโลยีการผลิต และการจัดการคุณภาพตามมาตรฐานสากล รวมถึงสภาพของดินและภูมิอากาศที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม บทเรียนที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่งคือ การปรับเปลี่ยนในเชิงการบริหารจัดการ โดยใช้ผลงานวิจัยและพัฒนาเป็นเครื่องมือ แม้ว่าจะเป็นนวัตกรรมที่นำเข้าจากภายนอกประเทศ แต่เป็นความร่วมมือกับบริษัทข้ามชาติที่เอื้อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสังคมแก่ประเทศชาติอย่างมหาศาล การให้ความสำคัญโดยยกระดับสับปะรดเป็นพืชหลัก ภายใต้โครงการ National Pineapple Program ส่งผลต่อการก้าวสู่ความเป็นหนึ่งในวงการสับปะรดผลสดของโลก ที่ใช้ระยะเวลาไม่นานมากเมื่อเทียบกับหลายประเทศที่มีประวัติด้านการผลิตสับปะรดมาก่อนหน้านี้ คงไม่ใช่ความโชคดี และไม่มีดวงเฮง แต่เขาร่วมมือทำกันเอง จนได้เป็นหนึ่งของวงการสับปะรดผลสดได้อย่างน่าชื่นชม

…………………………………….

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

http://www.panoramas.pitt.edu/health-and-society/costa-ricas-pineapple-industry-sweet-or-sour

http://horttech.ashspublications.org/content/22/5/644.full Characterization of ‘MD-2’ Pineapple Planting Density and Fertilization Using a Grower Survey : Ramon G. Leon1,3 and Delanie Kellon2

– Chamber of Pineapple Producers and Exporter CCR, Central America Data.Com

– : https://th.wikipedia.org/wiki/ประเทศคอสตาริกา